ศธ.หวังไทยเป็น “ฮับอาชีวศึกษาภูมิภาคอาเซียน” เร่งผลักดันอาชีวะไทยร่วมมือสร้างเครือข่ายกับอาชีวะต่างประเทศ พร้อมเร่งทำกรอบระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเกิดการจ้างงานที่ได้ค่าตอบแทนตามความสามารถไม่ใช่ตามวุฒิ ย้ำต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ ดึงศิษย์เก่าถ่ายทอดประสบการณ์ดึงเด็กมาเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นเดินสู่เป้าหมายสัดส่วน 51:49 ในปี 58 ให้ได้
วันนี้ (20 พ.ย.) ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนา เรื่อง “อาชีวะสร้างสรรค์สังคมไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเติบโต และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ตลอดจนมีการเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบคมนาคมขนส่ง และระบบทรัพยากรน้ำ แต่ไทยกลับขาดแคลนกำลังคนสายอาชีพจำนวนมากที่จะเข้ามารองรับงานเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเรียนด้านอาชีวศึกษามาก เพราะฉะนั้นถ้าไทยจะพัฒนาประเทศก็ควรจะต้องให้ความสำคัญกับเรียนสายอาชีวศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งเป้าจะทำให้เด็กที่จบ ม.3 หันมาเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น และตัองเพิ่มสัดส่วนนักเรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญให้เป็น 51:49 ภายในปี 2558
“การจะเพิ่มผู้เรียนได้นั้น สอศ.จะต้องเปลี่ยนค่านิยม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับคนในสังคม อีกทั้งต้องดึงศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดให้แก่สังคมได้รับทราบมากขึ้น เพราะทุกวันนี้พูดถึงอาชีวะก็จะนึกถึงแต่เด็กตีกัน ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดทุกวิทยาลัยเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ต้องมีการแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีวศึกษาอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ให้อาชีวะทำแบบโดดเดี่ยว ซึ่งโรงเรียนจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องมีการจัดแนะแนว และจัดกิจกรรมทัศนศึกษาไปยังวิทยาลัยอาชีวะด้วย โดยหลายประเทศได้กำหนดไว้เลยว่า นักเรียนแต่ละคนต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปสังเกตการเรียนด้านอาชีวศึกษา” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังดำเนินการปฏิรูปอาชีวศึกษาคือ เร่งผลักดันให้เกิดระบบกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยให้เกิดระบบการจ้างงานตามความรู้ ทักษะตามวิชาชีพซึ่งจะเป็นตัดสะท้อนและเชื่อมไปถึงการให้ค่าตอบแทนตามความสามารถ ไม่ใช่วุฒิการศึกษา นอกจากนี้จะขยายและยกระดับการเรียนการสอนระบบทวิภาคี โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาตลอดกระบวนการ ไม่ใช่ร่วมมือเพียงแค่ส่งเด็กไปฝึกงานเท่านั้น ขณะเดียวกันจะพัฒนาระบบความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยจะสร้างเครือข่ายอาชีวศึกษาอาเซียน เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง (HUB) อาชีวศึกษาภูมิภาค ตลอดจนจะมีการแก้ไขกฎระเบียบเงื่อนไขให้เอื้อต่อการมาเรียนสายอาชีพมากขึ้นด้วย