xs
xsm
sm
md
lg

กระทุ้งรัฐทบทวน “ประชานิยม” ทีดีอาร์ไออัดนโยบาย “คลัง” เอื้อคนรวย แฉจำนำข้าวแสนล้านเงินถึงมือชาวนาครึ่งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” เปิดผลวิจัย ศก.ไทย ติดกับดักรายได้ปานกลาง การขยายตัว ศก. สกปรกมากขึ้น แนะรัฐทบทวน “ประชานิยม” เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ชี้การใช้นโยบายการคลัง เอื้อภาษีให้คนรวย แต่กลับละเลยดูแลคนจนทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มสูงขึ้น อัดจำนำข้าวติดมายาคติ ละลายเงินปีละหลายแสนล้าน แต่ถึงมือชาวนาแค่ครึ่งเดียว แนะยกเลิกแล้วนำเงินมาเพิ่มสวัสดิการให้คนจนแทน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลวิจัย “โฉมหน้าและแนวทางสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ” โดยจากการศึกษาพบว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงการขยายตัวมาประมาณ 15 ปีแล้ว ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจบ่อยครั้งขึ้น และผลประโยชน์ของการขยายตัวตกแก่คนไทยน้อยลง ภาพรวมแล้วความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ติดกับดักรายได้ปานกลาง

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจสกปรกเพิ่มขึ้น วัดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อจีดีพี ผลวิจัยที่มีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน บราซิล ซึ่งพบว่า ไทยตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกปัจจัยในแง่มิติคุณภาพ คือ ด้านการศึกษาและการวิจัย และพัฒนา หรืออาร์แอนด์ดี

ส่วนด้านปริมาณพบว่า มีปัญหาบางปัจจัย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา ทีดีอาร์ไอเสนอว่าการแก้ปัญหาโครงสร้างต้องดำเนินการหลายด้าน เช่น การจริงจังกับอาร์แอนด์ดี ซึ่งงบประมาณของภาครัฐน้อย และสัดส่วนที่เอกชนให้ความสำคัญก็น้อยเช่นกัน ต้องปฏิรูปการศึกษาให้ถูกทาง

โดยพบว่า ที่ผ่านมาไทยไม่ประสบความสำเร็จ มีความเหลื่อมล้ำสูง และผลสอบนักเรียนไทยในทุกวิชาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทย ขณะเดียวกัน ต้องเสริมทักษะแรงงาน การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ไทยต้องปฏิรูปการคลังเพื่อสังคม และลดความเหลื่อมล้ำ โดยต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ดีว่าใครคือ คนจน ซึ่งพบว่านโยบายประชานิยมไม่ได้แก้โจทย์เรื่องนี้ต้องทบทวน เช่น นโยบายจำนำข้าว เกิดจากมายาคติ หรือความเชื่อว่าชาวนา คือ คนจน แต่ข้อเท็จจริงคือ ชาวนาเพียงครึ่งหนึ่งเป็นคนจน และเงินขาดทุนจำนำข้าวแต่ละปี 150,000 ล้านบาท ถึงมือคนจนเพียง 35,000 ล้านบาท ที่เหลือ 120,000 ล้านบาท ไปยังกลุ่มข้าราชการ โรงสี ชาวนาที่ร่ำรวย และชาวนาต่างประเทศ และอื่นๆ ขณะที่หากนำงบส่วนนี้ไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำก็จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ด้านนายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายประชานิยมไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ นอกจากเรื่องจำนำข้าวแล้ว เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ก็พบว่าผู้รับไม่ได้เป็นคนจนทั้งหมด นับเป็นนโยบายเหวี่ยงแหจึงควรทบทวน

นอกจากนี้ ในเรื่องร่าง พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน ตนก็ไม่เห็นด้วยที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ. เพราะไม่สามารถคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมได้ ขณะที่ประเทศไทยติดปัญหากับดักรายได้ และอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ต่ำ เพราะฉะนั้นในระยะยาวจึงคาดว่ารายได้ของประเทศจะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น ในที่สุด หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากกว่าสัดส่วนร้อยละ 50 ของจีดีพี


กำลังโหลดความคิดเห็น