xs
xsm
sm
md
lg

กนง. มีมติหั่น ดบ.นโยบาย 0.25% เซอร์ไพรส์ตลาดฯ พร้อมปรับลดเป้า “จีดีพี” เหลือ 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กนง. มีมติหั่น ดบ.นโยบาย 0.25% เซอร์ไพรส์ตลาดฯ เผยที่ประชุมลงมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 1 เนื่อจาก ศก.ไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น พร้อมปรับลดคาดการณ์ “จีดีพี” ปี 56 เหลือเพียง 3% ส่วนแนวโน้มปี 57 คาดโตได้ 4%

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากเดิม 2.50% เหลือเป็น 2.25% ด้วยมติ 6 : 1 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ และมีความเสี่ยงมากกว่าการประชุมครั้งก่อน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีมติปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 3% จากเดิมคาด 3.7% ส่วนแนวโน้มปี 2557 คาดขยายตัวเพียง 4% กว่าๆ จากเดิมคาด 4.8%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. แถลงว่า ที่ประชุม กนง.ครั้งสุดท้ายของปี 56 มีมติ 6 ต่อ 1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากเดิม 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคณะกรรมการ 1 ท่านเห็นว่าให้คงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว

โดยสาเหตุหลักที่ กนง.ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด จากการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนชะลอลง การบริโภคในประเทศและการส่งออกไม่ฟื้นตัวชัดเจน เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากความล่าช้าในการลงทุนของภาครัฐ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเปราะบางจากความไม่สงบทางการเมือง ทำให้คณะกรรมการ กนง.ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี ) เหลือgrup' 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7~ แต่จีดีพีดังกล่าวยังไม่ได้รวมความเสี่ยงทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและยังเป็นความเสี่ยงหลักในระยะสั้นนี้

แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ กนง.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะมีแนวโน้มดีกว่าปีนี้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ต่ำกว่าอัตราการคาดการณ์เดิมเหลือขยายตัวเพียง 4% จากเดิม 4.8% โดยหวังให้การลงทุนภาครัฐเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก แต่เม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ระบบจะน้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่เศรษฐกิจก็ยังมีทิศทางค่อยๆ ฟื้นตัว

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้คงไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายคือสถานการณ์การการเงินโลก ซึ่งธปท.มีเครื่องมือพร้อมและทุนสำรองเพียงพอในการดูแลค่าเงินบาทผันผวน และก็เชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดพันธบัตรและราคาสินทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น