xs
xsm
sm
md
lg

KBANKชี้กนง.คงดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง.พุธนี้คงดอกเบี้ย เหตุเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแรง พร้อมคาดการณ์จีดีพีลดลงจาก 4% เหลือ 3.7% ยอมรับกังวลปัญหาวิกฤติการคลังของสหรัฐฯ ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ท่ามกลางโมเมนตัมของเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำและคงยังไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวลในระยะข้างหน้า ก็คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทางการสามารถประคองแรงส่งการผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีช่องว่างเพียงพอที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปดังที่คาด
ท่ามกลางการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นวิกฤติด้านการคลังของสหรัฐฯ ที่ยังไม่คลี่คลาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การปิดตัวลงบางส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนมากต้องหยุดงานชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง นอกเหนือไปจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ภาคเอกชนอาจต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดการเงิน
หากผลกระทบของปัญหาวิกฤติการคลังของสหรัฐฯ ยืดเยื้อออกไป และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ก็เชื่อว่า กนง.ยังคงมีช่องว่างทางนโยบายเพียงพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกหากจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีโอกาสทยอยตึงตัวขึ้น หากทางการต้องการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ก็คงต้องเผชิญกับข้อจำกัดของการส่งผ่านนโยบายการเงินในระดับที่เข้มข้นขึ้น
"กนง.ยังคงต้องรักษาความต่อเนื่องของสภาวะผ่อนคลายทางการเงินผ่านการคงดอกเบี้ยนโยบาย เพราะการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้าของการส่งออก การใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 56 ขยายตัวได้ราว 3.7% จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4.0% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาวที่ประมาณ 4.5% "
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวน และผลกระทบที่มีต่อค่าเงินและตลาดทุนของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย นอกเหนือจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงก็คงจะเป็นปัจจัยท้าทายการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากจะสร้างความซับซ้อนให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเลือกการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากสถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าหลักไม่สามารถประคองทิศทางทรงตัวหรือทยอยดีขึ้นได้ตามคาด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น