xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ คาดการเมืองเริ่มผ่อนคลาย แต่อาจมีจุดเปลี่ยน ยอมรับยากที่จะคาดการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บล.เอเซีย พลัส คาดการเมืองผ่อนคลาย แต่อาจมีจุดเปลี่ยนแต่ก็ยังยากที่คาดการณ์ได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด พร้อมเชื่อ กนง. คงดบ. 2% แม้ดัชนีฯ ชี้วัด ศก.ไทยยังไม่โงหัว การบริโภคทรุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ขณะที่เงินเฟ้อปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.4% จากราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมถึงราคาพลังงาน และก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (21-25 เม.ย.) โดยมองว่า ประเด็นหลักที่ต้องจับตาสัปดาห์นี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าจะขยายช่วงเวลาในการเข้าชี้แจงข้อกล่าวหา กรณีโยกย้าย เลขาธิการ สมช. หรือไม่ โดยศาลจะมีคำสั้งออกมาในวันที่ 23 เม.ย.2557

ทั้งนี้ ในกรณีที่ดีที่สุดคือ ศาลฯ ขยายระยะเวลาให้ 15 วัน (นับจาก 18 เม.ย.57) ก็จะเห็นการเข้าชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นเดือน พ.ค.2557 หลังจากนั้นก็น่าจะเห็นคำวินิจฉัยออกมาในอีกไม่นาน ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ก็ยังยากที่คาดการณ์ได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

อีกประเด็นหนึ่ง ได้แก่ การหารือระหว่าง กกต. กับพรรคการเมืองทั้งหมด ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการหารือในวันที่ 22 เม.ย.2557 เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นการเลือกตั้งช่วงปลายเดือน ก.ค.2557 แต่ก็ต้องติดตามดูผลการหารืออีกครั้งหนึ่ง โดยภาพรวมของการเมืองในสัปดาห์นี้ยังไม่น่าจะเห็นพัฒนาการของเหตุการณ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ตลาดลดแรงกดดันลงไปได้อย่างน้อยในระยะสั้น

นอกจากนี้ สำหรับการประชุม กนง. วันที่ 23 เม.ย. ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี ฝ่ายวิจัยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ตามเดิม แม้ว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจไทยจะบ่งบอกถึงการชะลอตัว เฉพาะอย่างยิ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง 12 เดือนติดต่อกัน จากผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่เป็นปัญหายืดเยื้อ

ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญให้ กนง. ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าภาพรวมทั้งปี 2557 อาจปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.4% จากราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมถึงราคาพลังงาน และก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ) ติดลบ
กำลังโหลดความคิดเห็น