xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สิ้น “รัชนี ศรีไพรวรรณ” ผู้ประพันธ์บทเรียนแห่งตำนาน “มานะ มานี ปิติ ชูใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เชื่อว่า ใครที่เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2521-2537 คงยังจำกันได้ดีกับเรื่องราวของ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” รวมถึงตัวละครอีกหลายต่อหลายตัวที่โลดแล่นอยู่ในแบบเรียนภาษาไทยอย่างไม่ลืม อาทิ วีระ,ดวงแก้ว,สมคิด,เพชร,คุณครูไพลิน เป็นต้น

แบบเรียนภาษาไทยแห่งตำนานเล่มนี้คือ แบบเรียนที่ทำให้เด็กๆ ในสมัยนั้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสมัยนี้อ่านออกเขียนได้ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต กระทั่งประทับอยู่ในความทรงจำอย่างไม่รู้ลืม

อย่างไรก็ตาม วันนี้ เรื่องราวของมานะ มานี ปิติและชูใจได้เดินทางมาถึงตอนสำคัญ เมื่อผู้ประพันธ์คือ “อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ” ถึงแก่กรรมอย่างสงบในวัย 82 ปีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความอาลัยให้กับผู้ที่ได้รับรู้ ตลอดรวมถึงผู้ที่เคยใช้แบบเรียนของอาจารย์ในการศึกษาเล่าเรียนทั้งประเทศ

พรพรรณ ศรีไพรวรรณ บุตรสาว เปิดเผยว่า แม้จะเกษียณอายุราชการมาหลายปีแต่คุณแม่ก็ยังช่วยงานที่กระทรวงศึกษาธิการอยู่บ้าง เพิ่งมาระยะ 2-3 ปีหลังที่หยุดไปเพราะมีปัญหาทางด้านสุขภาพ และปวดเข่าหากเดินมาก ๆ อีกทั้งช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้นคุณแม่ป่วยเข้าโรงพยาบาลมีอาการภูมิแพ้ตนเอง และเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.เข้าโรงพยาบาลเพราะล้มและกระดูกเชิงกรานร้าวและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลงานล่าสุดของคุณแม่ที่ปรากฏก็คือ หนังสือ “ทางช้างเผือก” ที่ทำร่วมกับทางนิตยสารอะเดย์

“ในฐานะลูกสาวรู้สึกภูมิใจแทนคุณแม่ ที่ทุกคนรักและชื่นชอบแบบเรียนมานี-มานะ ซึ่งแบบเรียนนี้คุณแม่ภูมิใจและท่านมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบการศึกษาภาษาไทย ท่านทำโดยที่ไม่ได้หวังกอบโกยผลประโยชน์ ส่วนตัวแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้แบบเรียนนี้เพียงแค่ได้ดูได้อ่านบ้าง แต่เพื่อนที่เป็นครูสอนหนังสือเด็กจะพูดให้ฟังเสมอ ๆ ว่าชื่นชอบแบบเรียนนี้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กเข้าใจในภาษาไทยด้วยคำพูดง่าย ๆ และทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว ๆ ไม่สลับซับซ้อนซึ่งก็รู้สึกดีใจ”นางพรพรรณกล่าวถึงคุณแม่ด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งเปิดเผยด้วยว่าจะไม่มีพิธีรดน้ำและสวดพระอภิธรรมศพเนื่องจาก อาจารย์รัชนีได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดลได้เรียนรู้

เรียกว่า ตลอดชีวิตของท่านมีความผูกพันกับความเป็นครู ตั้งใจสร้างคุณูปการทางการศึกษาตลอดแม้กระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิตเลยทีเดียว

กล่าวสำหรับอาจารย์รัชนี นักเขียนเจ้าของรางวัลนราธิป ปี 2556 นั้น เป็นชาวอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่จังหวัดมหาสารคม ก่อนจะย้ายมาเรียนระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนหัดครูมัธยมวังจันทรเกษมและวิทยาลัยวิชาการศึกษา ถนนประสานมิตร โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงก็คือหนังสือเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6(ชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ) ซึ่งเป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศระหว่าง พ.ศ.2521-2537 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม ขณะที่ผลงานล่าสุดก็คือ หนังสือ “ทางช้างเผือก” ที่ทำร่วมกับนิตยสารอะเดย์

มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ

ทั้งนี้ บทเรียนดังกล่าวใช้รูปภาพประกอบกับเนื้อหา โดยมีผู้เขียนภาพประกอบ 3 คนคือ เตรียม ชาชุมพร เป็นนักวาดการ์ตูนและนิยายภาพชื่อดังแห่งชัยพฤกษ์การ์ตูน โอม รัชเวชและปฐม พัวพิพล

มานะ รักเผ่าไทย : พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน จึงมีผลการเรียนดี จึงเป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียน ที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6
มานี รักเผ่าไทย : น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนๆ เลือกตั้งให้เธอเป็นรองประธานนักเรียน

ปิติ พิทักษ์ถิ่น : เลี้ยงม้าไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าแก่ แต่ภายหลังก็ตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสิน เป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่ เพื่อทดแทนเจ้าแก่ และตั้งชื่อให้ว่า เจ้านิล

ชูใจ เลิศล้ำ : เป็นเพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่งชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็ก โดยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อแม่ ซึ่งความจริงก็คือ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และต่อมาก็เดินทางกลับมา ตั้งใจจะรับลูกสาวกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกจะอยู่กับย่าต่อไป

นั่นคือเรื่องราวโดยย่อของตัวละครเอกทั้ง 4 ตัวซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์รัชนีที่เด็กๆ ในยุคนั้นสมัยนั้นยังจำได้ดี ก่อนที่กระทรวงศึกษาจะเลิกใช้ในปี 2537 กระนั้นก็ดีแบบเรียนชุดนี้มิเพียงใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังถูกนำไปใช้เป็นหลักสูตรการสอนภาษาไทยในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2524 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

“อาจารย์เป็นผู้มีคุณูปการด้านการศึกษาและวงการภาษาไทยอย่างมาก เคยเป็นครูภาษาไทยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษาในขณะนั้น เป็นครูแนะแนว เป็นพี่เลี้ยงจัดทำแบบเรียนหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2521 ได้แก่ มานะ มานี ปิติ ชูใจ โดยโรงเรียนในประเทศออสเตรเลีย นำหนังสือภาษาไทยชุดนี้ไปเป็นหลักสูตรการสอนภาษาไทยในประเทศออสเตรเลียด้วย” พนอ ธรรมเนียมอินทร์ ผู้จัดและผู้ผลิตรายการสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาซึ่งเคยร่วมงานกับอาจารย์รัชนีทำรายการวิทยุโรงเรียนเพื่อเป็นสื่อให้ครูใช้สอนภาษาไทยทั่วประเทศเล่าให้ฟัง

ด้าน “ประพันธ์ บุญสม” อดีตศึกษานิเทศก์ ผู้ประสานงานสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยที่ใช้แบบเรียนมานะ มานีในสมัยนั้น ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์เป็นหนังสือที่ดีที่สุด ทำให้เกิดความเข้าใจในภาษาไทยได้ง่าย มีประโยชน์อย่างมากต่อการฟัง การพูด การเขียนภาษาไทย ช่วยแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกด้วย ซึ่งน่าเสียดายที่ยกเลิกใช้แบบเรียนนี้ไปแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวน นำตำราที่มีคุณค่ากลับมาใช้เรียนในระดับต่างๆ อีกครั้ง

...ถึงตรงนี้ แม้อาจารย์รัชนีจะจากไปแล้ว แต่เชื่อว่า ผลงานของท่านจะยังคงประทับอยู่ในความทรงจำอย่างไม่รู้ลืม



กำลังโหลดความคิดเห็น