xs
xsm
sm
md
lg

​เผยเทคนิคล่าให้ได้ “ทางช้างเผือกตกมัน”

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกด้วยเทคนิคการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว และยิงแสงแฟลชชุดที่ 2 เพื่อเก็บฉากหน้า (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll + Takahashi Teegul Sky Partrol / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 117 sec)
ในช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้นกระแสการล่าช้างเผือกที่เริ่มโผล่ทางทิศตะวันออกในช่วงก่อนรุ่งเช้ากันเต็มหน้าเฟสบุ๊คกันเลยทีเดียว และในคอลัมน์นี้หากผมไม่พูดเรื่องการถ่ายภาพทางช้างเผือกเห็นทีจะตกกระแส ดังนั้นคอลัมน์นี้เรามาดูเทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกอย่างไรให้ได้ภาพ ช้างเผือกที่ดุเดือด เรียกว่า “ช้างตกมัน” ก็ได้ครับ


จากที่ผมได้ติดตามดูผลงานการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้ มีอยู่หลายภาพที่ถ่ายมาได้สวยมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ ภาพที่ยังไม่สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกออกมาได้ดุเดือดมากเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นสถานที่ที่มีท้องฟ้าเคลียร์และมืดพอสมควร วันนี้เรามาดูว่าสาเหตุที่ช้างของท่านไม่ดุนั้น น่าจะมาจากสาเหตุอะไรกันบ้างครับ

​สำหรับใครที่คิดว่าการถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ดุเดือดนั้น ต้องมีกล้องดิจิทัลแบบฟลูเฟรม และต้องมีเลนส์ไวแสงราคาแพงๆ นั้น ขอบอกว่าไม่จำเป็นถึงขนาดนั้นครับ ขอเพียงแค่เราหาสถานที่ที่มีท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ปราศจากแสงรบกวนได้เท่านั้น แล้วเราจะมาก้าวข้ามขีดจำกัดของอุปกรณ์ด้วยเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กันในคอลัมน์นี้ เพียงเราทำความเข้าใจกับกล้องและลักษณะของสิ่งที่เราจะถ่ายก่อนเราก็จะสามารถปรับตั้งค่าการถ่ายภาพได้อย่างเหมาะสมครับ




ทำความเข้าใจเกี่ยวกับใจกลางทางช้างเผือกกันก่อน
ภาพถ่ายบริเวณใจกลางทางช้างเผือกด้วยเทคนิคการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว โดยจะสามารถสังเกตเห็นทั้งกระจุกดาว เนบิวลาสว่าง อยู่ทั่วบริเวณใจกลางทางช้างเผือก รวมทั้งเนบิวลามืด Rho Ophiuchus ที่อยู่ใกล้กับดาวแอนทาเรส ด้านบนของภาพได้อีกด้วย (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll + Takahashi Teegul Sky Partrol / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 50 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 137 sec)
ใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) คือใจกลางหรือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ข้างในประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย เช่น กระจุกดาว เนบิวลา รวมทั้งหลุมดำด้วย ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความสวยงาม และเหมาะที่จะเฝ้าดูในช่วงฤดูร้อน โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม เราจะเห็นทางช้างเผือกพาดยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ฟ้าทิศเหนือจรดทิศใต้ เรียกได้ว่าเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเรามองจากโลกก็ว่าได้

​สำหรับประเทศไทยนั้น การสังเกตใจกลางทางช้างเผือก จะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู โดยปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ ไม่สูงมากนัก หากใครที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศก็จะมีโอกาศสังเกตใจกลางทางช้างเผือกได้ค่อนข้างดีกว่า เนื่องจากทางภาคใต้จะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ได้มากกว่าทางภาคเหนือค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าหลายองศาเลยทีเดียว เพราะยิ่งทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามากเท่าไหร่ ก็จะหลีกหนีอุปสรรคของมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าได้มากเท่านั้น ทำให้สังเกตทางช้างเผือกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

​ในช่วงนี้ตั้งแต่เวลาตี 4 โดยประมาณให้สังเกตกลุ่มดาวแมงป่องทางทิศตะวันออก ซึ่งเมื่อเริ่มเห็นดาวแอนทาเรส บริเวณหัวใจแมงป่อง ก็สามารถเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้กันแล้วครับ ซึ่งในเวลาประมาณตี 5 เราก็จะเริ่มเห็นดาวศุกร์ที่ค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้าตามขึ้นมาอยู่ทางด้านซ้ายของบริเวณใจกลางทางช้างเผือก พร้อมๆ กับจะมีแสงจักรราศี (Zodiacal Light) และจะตามมาด้วยแสงทไวไลท์ตามลำดับ

​สำหรับช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนตุลาคม โดยเราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกเป็นแนวผาดบริเวณกลางฟ้าในช่วงดึกของเดือนดังกล่าว

เทคนิคและวิธีการ
​คำนึงถึงช่วงเวลา และตำแหน่งของทางช้างเผือก ก่อนการถ่ายภาพ จากที่กล่าวข้างต้นว่าในช่วงนี้ ใจกลางทางช้างเผือกนั้นจะเริ่มโผล่จากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาตี 4 โดยประมาณให้สังเกตกลุ่มดาวแมงป่องทางทิศะวันออก ซึ่งเมื่อเริ่มเห็นดาวแอนทาเรส บริเวณหัวใจแมงป่อง ก็สามารถเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้กันแล้วครับ ซึ่งในเวลาประมาณตี 5 เราก็จะเริ่มเห็นดาวศุกร์ที่ค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้าตามขึ้นมาอยู่ทางด้านซ้ายของบริเวณใจกลางทางช้างเผือก พร้อมๆ กับจะมีแสงจักรราศี (Zodiacal Light) และจะตามมาด้วยแสงทไวไลท์ตามลำดับ
ตำแหน่งแนวทางช้างเผือกบริเวณใจกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ในช่วงก่อนรุ่งเช้าทางทิศตะวันออก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้
ดังนั้นช่วงเวลาและตำแหน่งที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น ก็ควรเริ่มถ่ายภาพเมื่อเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกเต็มตัวได้เลย และต้องรีบถ่ายให้เสร็จก่อนที่แสงจักรราศีจะสว่างขึ้น ซึ่งจะเป็นแสงที่พุ่งเป็นแท่งสามเหลี่ยมผ่านบริเวณใจกลาง ส่งผลทำให้แนวใจกลางทางช้างเผือกสว่างกว่าบริเวณอื่น และกระทบถึงรายละเอียดของส่วนอื่นก็จะถูกแสงจักรราศีกลบรายละเอียดไปได้ครับ
แสงจักราศี (Zodiacal Light) เป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆที่ปรากฏบนท้องฟ้า ที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงก่อนแสงทไวไลท์ขึ้นของทิศตะวันออก และยามค่ำคืนหลังจากที่แสงทไวไลท์ของทิศตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้วโดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี (Ecliptic)  โดยปกติความ สว่างจะน้อยกว่าทางช้างเผือก เกิดขึ้นจากอนุภาค ของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือ ฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสง จากดวงอาทิตย์ รายละเอียดแสงจักรราศี (Zodiacal Light) ตามลิงค์ :  http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000006234)
​เมื่อเราทราบกันแล้วว่าช่วงเวลาในการถ่ายภาพทางช้างเผือกที่ให้รายละเอียดดีที่สุดคือ ช่วงก่อนที่แสงจักรราศีและแสงทไวไลท์จะรบกวน ต่อไปนี้เรามาดูกันว่าเทคนิคในการถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ดุดันดัน มีรายละเอียดที่ดีนั้น ต้องปรับตั้งค่าหรือมีวิธีการอย่างไรกันบ้าง

การปรับตั้งค่า
​ในการปรับตั้งค่าในการถ่ายภาพนั้น จริงๆแล้วการที่กล้องของเราสามารถใช้ค่าความไวแสงสูงๆ ได้นั้นก็ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ แต่หากใช้สูงมากไปก็ใช่ว่าจะดีเสมอไปครับ

​1. RAW File ถ่ายภาพด้วย Raw File เสมอ เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภายในภายหลัง เนื่องจากการ Process ภาพทางช้างเผือกให้มีรายละเอียดนั้น จำเป็นต้องมีการปรับดึงรายละเอียดในส่วนต่างๆ ค่อนข้างมาก

​2. รูรับแสงกว้างที่สุด ​เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุด เช่น F/1.4 หรือ F/2.8 หรือกว้างที่สุดที่เลนส์ของเรามี

​​3. ปรับค่า White Balance ​ไว้ที่อุณหภูมิ 3700-4000 K เนื่องจากแนวทางช้างเผือกประกอบด้วย กระจุกดาว เนบิวลาสว่าง อยู่ทั่วบริเวณใจกลางทางช้างเผือก รวมทั้งเนบิวลามืด ที่มีสีสันแตกต่างกันไป ดังนั้นเพื่อให้ภาพถ่ายสามารถแสดงรายละเอียดของส่วนต่างๆ ได้เราจึงต้องลองถ่ายแล้วปรับค่า White Balance ที่เหมาะสมกับกล้องของเราก่อนว่าให้รายละเอียดที่ดีหรือไม่

โดยค่านี้ถือเป็นสูตรตั้งต้น มิใช่สูตรตายตัว เราต้องปรับตามสภาพแวดล้อมของจริงครับ จะยึดสูตรนี้เป็นสูตรตายตัวก็คงไม่ได้ แต่ใช้เป็นสูตรตั้งต้นได้ครับ

​4. Rule of 400/600 อย่าลืมสูตรการคำนวณจากทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ กับประเภทของเซ็นเซอร์ในการรับภาพของกล้องดิจิตอล เพื่อให้ทางช้างเผือกไม่ยืด รายละเอียดสูตรการถ่ายดาว Rule of 400/600 ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000154287

5. ความไวแสงสูง (High ISO) ที่ยังไม่ทำให้ภาพเกิดสัญญาณรบกวนมากเกินไป ซึ่งจริงๆ แล้วการที่กล้องของเราสามารถใช้ค่าความไวแสงสูงๆ ได้นั้นก็ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ แต่หากใช้สูงมากไปก็ใช่ว่าจะดีเสมอไปครับเพราะเมื่อนำไป Process มากๆ ภาพอาจจะเกิด Banding noise ซึ่งเป็นสัญญาณรบกวนแบบแถบ ซึ่งสัญญาณรบกวนในรูปแบบ Banding Noise จะพบได้ชัดเจนเมื่อใช้ความไวแสงสูง หรือเมื่อมีการปรับเพิ่มความสว่างในพื้นที่เงามืดของภาพของภาพด้วยซอฟแวร์ ดังนั้นควรลองถ่ายภาพด้วยค่าความไวแสงที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสมสูตรการคำนวณ Rule of 400/600 ด้วย

6. ปรับค่า Contrast และค่า Saturation ให้สูงพอประมาณ เพราะการปรับตั้งค่าการถ่ายภาพที่เหมาะสมจากหลังกล้องจะช่วยให้ไฟล์ RAW ที่นำไป Process ในภายหลังไม่ต้องปรับค่ามาก เนื่องจากการปรับค่าที่แรงมากเกินไป มักทำให้ภาพเสีย หรือที่เราเรียกกันว่าภาพช้ำครับ

7. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง

จากข้างต้น ก็เป็นการปรับตั้งค่าต่างๆ ของกล้องดิจิตอลแล้ว ซึ่งเป็นค่าตั้งต้นของการปรับภาพ หลังจากนี้จะเป็นเทคนิคและวิธีการของการถ่ายภาพ โดยผมจะขออนุญาตแยกเป็น 2 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. การถ่ายภาพทางช้างเผือกด้วยวิธี Mosaic หรือวิธี Panorama
ภาพถ่ายทางช้างเผือกด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบพาโนรามาแบบแนวตั้งจำนวน 10 ภาพ แล้วนำมาต่อกันด้วยโปรแกรม Photoshop เพื่อให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 20 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 35 sec / WB : 3800K / Panorama : 10 Images)
รายละเอียดการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามา ตามลิงค์ : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137337
​วิธีการนี้เป็นการถ่ายภาพหลายๆ ส่วนของทางช้างเผือกมารวมกันใน Photoshop หรืออาจถ่ายเป็นแบบพาโนรามาก็ได้ โดยวิธีนี้จะทำให้เราได้ภาพที่มีความละเอียดสูงและมีความยืดหยุ่นต่อการปรับภาพมาก ทำให้เราสามารถขุดรายละเอียดทั้งส่วนของเนบิวลามืดและเนบิวลาสว่าง รวมทั้งกระจุกดาว ออกมาได้โดยที่ไม่ทำให้ภาพช้ำ ​ซึ่งต่างจากการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างภาพเดียว

เราก็จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงสุดเท่าที่กล้องให้มาเท่านั้น เช่น ถ้าเรามีเลนส์ 50 mm. F/1.4 เราก็อาจถ่ายแบบพาโนรามาแบบ 2 แถว แล้วนำมาต่อกัน หรือหากใครที่ใช้เลนส์มุมกว้างอยู่แล้วก็ให้ลองถ่ายภาพแนวตั้งแบบพาโนรามาแล้วนำมาต่อกัน ก็จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้น

2. การถ่ายภาพทางช้างเผือกด้วยวิธีการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว
การติดตั้งกล้องดิจิตอลบนขาตั้งกล้องบนขาตามดาวแบบพกพา ยี่ห้อ Takahashi Teegul Sky Partrol (ซ้าย) และการติดตั้งกล้องบนขาตามดาวของกล้องโทรทรรศน์ (ขวา)
​วิธีการนี้ก็ถือเป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่สามารถตามการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าได้ ซึ่งอาจติดกล้องเป็นขาตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบตามดาว หรือหากไม่มีก็สามารถสร้างขาตั้งกล้องแบบตามดาวเองได้ ที่ผมเคยเขียนไว้ ตามลิงค์ครับ (รายละเอียดการสร้างอุปกรณ์ Barn-door Tracker ที่ทำให้กล้องถ่ายภาพเคลื่อนตามวัตถุท้องฟ้าได้นานขึ้น ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000081049) โดยอุปกรณ์ที่สามารถตามการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้านั้น ผู้ใช้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับการทำ Polar Alignment ที่ถูกต้องและแม่นยำ หรือเรียกง่ายๆ ว่าต้องให้ฐานตามดาวชี้ไปยังขั้วฟ้าเหนือที่ถูกต้องก่อนเสมอ
ภาพตัวอย่างอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบเคลื่อนที่ตามวัตถุท้องฟ้า Barn-Door Tracker
​ด้วยวิธีการถ่ายภาพแบบเคลื่อนที่ตามวัตถุท้องฟ้านี้ จะทำให้เราได้เปรียบในเรื่องของเวลาในการถ่ายภาพที่นานขึ้นโดยที่ดาวไม่ยืด และเมื่อได้เวลานานขึ้นก็จะสามารถใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่ต่ำลงทำให้มีสัญญาณรบกวนที่ต่ำลง ก็จะทำให้เราได้ Signal to Noise ที่ดีกว่าอีกด้วย

*** Signal to Noise พูดแบบง่ายๆ สำหรับการถ่ายภาพก็คือ อัตราส่วนอัตราส่วนระหว่างสัญญาณภาพที่กับสัญญาณรบกวน นั่นเอง ถ้าอัตราส่วน 1:1 แสดงว่า สัญญาณภาพกับสัญญาณรบกวน เท่ากัน จะได้ Signal to Noise เท่ากับ 1 แต่ถ้าอัตราส่วน 2:1 แสดงว่า ได้สัญญาณภาพที่มากกว่าสัญญาณรบกวน 2 เท่า นั่นก็หมายความว่า ยิ่งค่า Signal to Noise สูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีเท่านั้นครับ

​เมื่อเราสามารถลดค่าความไวแสงลง เราก็จะได้ไฟล์ภาพที่ดีกว่าและเนียนกว่าแน่นอนครับ เพราะการใช้ค่าความไวแสงสูงๆ ก็คือการขยายสัญญาณภาพรวมทั้งขยายสัญญาณรบกวนตามมาด้วย นอกจากนั้นยังช่วยตัดปัญหาด้านข้อจำกัดของอุปกรณ์ไปได้เลย ทำให้หมดกังวลเรื่องกล้องเก่าและเลนส์ธรรมดาๆ ไปได้เลย

วิธีนี้จะทำให้กล้องรุ่นเก่าๆ ที่หลายท่านอาจคิดว่าคงถ่ายไม่ได้ดีเท่ากับกล้องรุ่นใหม่ๆ สามารถถ่ายภาพได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ สุดท้ายสิ่งที่ผมมักจะแนะนำเสมอเมื่อเราถ่ายภาพด้วยเวลาเปิดหน้ากล้องนานๆ ก็คือ การถ่ายภาพ Dark Frame ที่การตั้งค่าทุกอย่างเหมือนกับการถ่ายภาพทางช้างเผือก ทั้งเวลา อุณหภูมิ เดียวกัน โดยการปิดฝาหน้ากล้องไว้สัก 4-5 ภาพ เพื่อจะได้นำไปลบสัญญาณรบกวนประเภท Fixed pattern noise ได้อีกด้วย (รายละเอียด เรื่องสัญญาณรบกวน (Noise) ตามลิงค์ : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000086131 )

​จะเห็นได้ว่าในคอลัมน์นี้ผมได้นำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพทางช้างเผือกโดย นำเอาเทคนิคของการถ่ายภาพต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายภาพแบบพาโนรามาเพื่อให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูง การใช้สูตรคำนวณเวลาการถ่ายภาพ Rule of 400/600 เพื่อไม่ให้ดาวยืด รวมทั้งการนำเอาอุปกรณ์ Barn-door Tracker ที่ทำให้กล้องถ่ายภาพเคลื่อนตามวัตถุท้องฟ้าได้นานๆ ก็ทำให้เราสามารถได้เวลาในการถ่ายทางช้างเผือกที่นานขึ้นและสามารถใช้ความไวแสงที่ต่ำลงอีกด้วย ซึ่งก็ให้ผลดีด้านสัญญาณรบกวนที่ต่ำลงอีกวิธีหนึ่ง

​ทั้งหมดนี้ที่ผมได้สรุปมานี้ ล้วนแต่เป็นเทคนิควิธีการที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของอุปกรณ์ไปได้

***(ปล.อย่าตัดสินใจเปลี่ยนกล้องใหม่ ตราบใดที่คุณยังใช้มันไม่เต็มศักยภาพ...เพราะไม่อย่างนั้นแล้วคุณก็จะไม่มีวันก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวคุณเองไปได้) ***

ขอให้สนุกกับการล่าช้างกันนะครับ



เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น