นักวิทยาศาสตร์เจอดาวฤกษ์ขนาดไล่เลี่ยดวงอาทิตย์จำนวน 20 ดวง กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากพอที่จะหลุดจากกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้ดาวฤกษ์เหล่านั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
นักดาราศาสตร์รู้จักดาวฤกษ์ที่มีความเร็วสูงมากพอที่จะเคลื่อนที่หลุดออกจากกาแล็กซี หรือดาวฤกษ์ที่มีความเร็วยิ่งยวด (hypervelocity star) ซึ่งปกติดาวฤกษ์เหล่านั้นมักเป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบดาวคู่ (binary stars) แล้วอยู่ใกล้หลุมดำใจกลางกาแล็กซีมาก จนดาวฤกษ์ดวงหนึ่งถูกดูดเข้าสู่หลุมดำ ส่วนอีกดวงในระบบถูกเหวี่ยงด้วยความเร็วสูง โดยนักดาราศาสตร์ได้พบดาวฤกษ์สีน้ำเงินที่มีความสูงนี้แล้ว 18 ดวง
การจะเคลื่อนที่ออกจากกาแล็กซีได้นั้นสเปซด็อทคอมระบุว่า ต้องใช้พลังงานมหาศาล และดาวฤกษ์ที่จะหนีจากกาแล็กซีทางช้างเผือกได้นั้นต้องมีความเร็วถึง 1.6 ล้าน กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมากกว่าความเร็ว 970,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่วัตถุต่างๆ เคลื่อนที่รอบทางช้างเผือก
ทว่า ลอเรน พาลลาดิโน (Lauren Palladino) จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) สหรัฐฯ ได้พบดาวฤกษ์ที่มีความเร็วสูงเช่นเดียวกัน แต่เป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็กที่มีขนาดใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรา และมีองค์ประกอบไม่เหมือนดาวฤกษ์จากใจกลางกาแล็กซีที่ถูกเหวี่ยงออก
สเปซด็อทคอมระบุว่า พาลลาดิโนได้ใช้คลังข้อมูลดาวขนาดใหญ่ที่ชื่อ Sloan Digital Sky Survey เพื่อสร้างเส้นทางเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ แล้วได้พบดาวฤกษ์ที่น่าจะมีความเร็วสูงจนหลุดจากทางช้างเผือกได้ทั้งหมด 20 ดวง
การค้นพบดังกล่าวทีมนักดาราศาสตร์ได้นำเสนอภายในงานประชุมวิชาการของสมาคมดาราศสตร์อเมริกัน (American Astronomical Society) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และตีพิมพ์ลงวารสารดิแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัล (The Astrophysical Journal)
อย่างไรก็ดี พวกเขายังไม่ทราบสาเหตุว่าอะไรให้ดาวฤกษ์เหล่านั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง และยังต้องศึกษาต่อไปอีกนับสิบปี เพื่อพิสูจน์ข้อมูลในทางสถิติและลดความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจมีดาวฤกษ์ในจำนวนนี้บางดวงที่ไม่ได้เคลื่อนที่เร็วอย่างที่ค้นพบในครั้งนี้