xs
xsm
sm
md
lg

เศร้า!ปิดตำนาน นักประพันธ์ มานะ มานี ปิติ ชูใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-วงการหนังสือเรียนไทยเศร้า "อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ" ถึงแก่กรรมอย่างสงบในวัย 82 ปี ปิดตำนานผู้ประพันธ์แบบเรียนสุดคลาสสิก "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" เผยผลงานดังกล่าวยังถูกใช้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน แม้ในไทยจะเลิกใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2537

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ประพันธ์หนังสือ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ซึ่งเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว โดยข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากนายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือโหน่ง นักเขียนคอลัมนิสต์ และนิตยสารอะเดย์ ที่ได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ชื่อ @wongthanong เมื่อเวลา 10.40 น. ของวันที่ 16 เม.ย. ว่า

“อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้เขียน มานะ มานี ปิติ ชูใจ ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อคืนนี้ ขอไว้อาลัยและแสดงความเสียใจกับครอบครัวอาจารย์ด้วยครับ”

ทั้งนี้ จะยังไม่มีพิธีรดน้ำและสวดอภิธรรมศพ เนื่องจากอาจารย์รัชนีได้บริจาคร่างกาย เพื่อใช้ในการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล

นางพรพรรณ ศรีไพรวรรณ บุตรสาว กล่าวว่า แม้จะเกษียณอายุราชการมาหลายปี แต่คุณแม่ก็ยังช่วยงานที่กระทรวงศึกษาธิการอยู่บ้าง มาระยะ 2-3 ปีหลังที่หยุดไป เพราะมีปัญหาทางด้านสุขภาพ และปวดเข่าหากเดินมาก ๆ อีกทั้งช่วงปลายปีที่ผ่านมา คุณแม่ป่วยเข้าโรงพยาบาล มีอาการภูมิแพ้ตนเอง และเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งช่วงต้นปี จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 เม.ย.เข้าโรงพยาบาล เพราะล้มและกระดูกเชิงกรานร้าวและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เม.ย. โดยผลงานล่าสุดของคุณแม่ที่ปรากฎก็คือ หนังสือ “ทางช้างเผือก” ที่ทำร่วมกับทางนิตยสารอะเดย์

"ในฐานะลูกสาวรู้สึกภูมิใจแทนคุณแม่ ที่ทุกคนรักและชื่นชอบแบบเรียน “มานี-มานะ” ซึ่งแบบเรียนนี้ คุณแม่ภูมิใจและท่านมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบการศึกษาภาษาไทย ท่านทำโดยที่ไม่ได้หวังกอบโกยผลประโยชน์ ส่วนตัวแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้แบบเรียนนี้ เพียงแค่ได้ดูได้อ่านบ้าง แต่เพื่อนที่เป็นครูสอนหนังสือเด็กจะพูดให้ฟังเสมอ ๆ ว่าชื่นชอบแบบเรียน เพราะเป็นการสอนให้เด็กเข้าใจในภาษาไทยด้วยคำพูดง่าย ๆ และทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว ๆ ไม่สลับซับซ้อนซึ่งก็รู้สึกดีใจ"นางพรพรรณกล่าว

นายประพันธ์ บุญสม อดีตศึกษานิเทศก์ ผู้ประสานงานสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อ.รัชนี เป็นศึกษานิเทศก์ วิชาภาษาไทย ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 9 ของกรมสามัญศึกษา ที่ผ่านมา ท่านอุทิศตนเพื่อการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างยิ่ง ได้เขียนหนังสือประกอบวิชาภาษาไทยเรื่อง “กระต่ายน้อยและฝนหลวง” ได้ร่วมเขียนหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย และผลงานที่เป็นยกย่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ หนังสือส่งเสริมการอ่านวิชาภาษาไทย ชุดแบบเรียน “มานี-มานะ” ซึ่งเป็นชุดแบบเรียนที่มีคุณค่าและศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย

นอกจากนี้ TLCC เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการไทย นำไปใช้เป็นหนังสือเรียนสอนภาษาไทยให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน และ อ.รัชนี ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียน นักแปล นักกวี และได้รับเลือกให้เป็นนักเขียนยอดเยี่ยม รางวัลนราธิป ปีพ.ศ.2554 ด้วย

"ส่วนตัว แม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกับ อ.รัชนี มาก่อน เพราะท่านเกษียณอายุราชการในปี 2533 ซึ่งตนเพิ่งเป็นศึกษานิเทศก์ แต่ก็มีโอกาสได้พบ อ.รัชนี ในงานของสมาคมฯ อยู่บ่อย ๆ เนื่องจากต้องประสานรวบรวมทำประวัติ และก็มีการโอกาสศึกษางานเขียนของอาจารย์ โดยจากประสบการณ์ที่ได้ติดตามประเมินการสอน ได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยที่ใช้แบบเรียนมานี มานะ ในสมัยนั้น ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์เป็นหนังสือที่ดีที่สุด ทำให้เกิดวามเข้าใจในภาษาไทยได้ง่ายมีประโยชน์อย่างมากต่อการฟัง การพูด การเขียนภาษาไทย ช่วยแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกด้วย ซึ่งน่าเสียดายที่ยกเลิกใช้แบบเรียนนี้ไปแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้กระทรวงทบทวน นำตำราที่มีคุณค่ากลับมาใช้เรียนในระดับต่าง ๆ"

สำหรับอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ เป็นนักเขียนเจ้าของรางวัลนราธิป ปี 2556 ปัจจุบันอายุ 82 ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ซึ่งเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยระหว่างปี พ.ศ.2521 ถึง พ.ศ. 2537 โดยแบบเรียนเล่มดังกล่าวใช้รูปภาพประกอบกับเนื้อหาโดยเขียนภาพประกอบโดย 3 คน คือ เตรียม ชาชุมพร นักวาดการ์ตูนและนิยายภาพชื่อดังแห่งชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวช และปฐม พัวพิมล ต่อมาแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้ ได้ถูกยกเลิกใช้ในการศึกษาเมื่อปี 2537

ต่อมา ในปี 2541 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอละคอนถาปัดของเรื่องนี้ในชื่อ “มานีและชูใจ” และม.ค.2544 นิตยสารอะเดย์ได้นำตัวละครเรื่อง มานะ มานี ปิติ ชูใจ มาเสนออย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี และต่อมาปี 2545 ตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ “ทางช้างเผือก” ขณะที่ในปี 2556 ได้มีการตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ มานีมีแชร์ โดยมีเนื้อหาเชิงเสียดสีการเมืองในอดีตและปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น