xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฏฐาธิปัตย์ “ลุงกำนัน” เงิบบบบบบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นที่ถกเถียง กลายเป็นประเด็น กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งบ้านทั้งเมืองสำหรับความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดของ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”หรือ กปปส.ที่ประกาศจะสถาปนา “รัฏฐาธิปัตย์” หลังรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องมีอันเป็นไปในการประชุมแกนนำ กปปส.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557

“การเดินทางมาครั้งนี้เราจะยึดอำนาจประเทศไทย เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย ดังนั้น วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาลจะไม่สามารถกอดอำนาจไว้อีกต่อไป ซึ่ง กปปส.จะประกาศว่า อำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชนแล้ว และจะถือเป็นวันที่เราจะประกาศความเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ได้อย่างเหมาะสม และคำสั่งของคนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็จะถือเป็นกฎหมาย ซึ่งเรายืนยันว่า เมื่อเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เราจะสั่งยึดทรัพย์คนในตระกูลชินวัตร และห้ามคนในตระกูลชินวัตร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องออกนอกประเทศ และให้มารายงานตัวกับประชาชน อีกทั้งเราจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เป็นของประชาชน จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน โดยตนจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง จากนั้นจะมีการตั้งสภานิติบัญญัติที่เป็นสภาของประชาชน และจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ก่อนที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป”

รัฏฐาธิปัตย์คืออะไร

โอกาสที่จะเกิดขึ้นจริงมีมากน้อยเพียงไร

และถ้าจริงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เกิดขึ้นโดยนายสุเทพมีวัตถุประสงค์อะไร เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง แล้วก็กลับไปเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนเช่นที่คณะรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินดำเนินการและได้มาซึ่งรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2549

หรือเพื่อโค่นล้มและกวาดล้างระบอบทักษิณแล้วเดินหน้าปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เหมือนเช่นที่มวลมหาประชาชนตั้งความหวังเอาไว้

รัฏฐาธิปัตย์ เป็นศัพท์แสงทางการเมือง มาจากภาษาอังกฤษว่า “sovereignty” ซึ่งสามารถสรุปรวมความได้ว่าหมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐหรือการปกครองประเทศ(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทสัมภาษณ์ “คมสัน โพธิ์คง”)

ดังนั้น การประกาศสถาปนาอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพจึงมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่าคือการประกาศตนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยหัวหน้าคณะคือผู้มีอำนาจสูงสุดซึ่งสามารถกระทำการใดๆ ก็ได้ในบ้านนี้เมืองนี้

และส่วนใหญ่การประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะกระทำก็ต่อเมื่อกระทำการสำเร็จแล้วเท่านั้น มิใช่มาบอกกล่าวล่วงหน้าเหมือนเช่นที่นายสุเทพทำอยู่ในเวลานี้

ด้วยเหตุดังกล่าว นี่จึงเป็นก้าวย่างที่น่าจับตามองของนายสุเทพว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรกับการหยิบยกคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ มาใช้ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มอย่างนี้

และมั่นใจได้ว่า การประกาศของนายสุเทพย่อมไม่ใช่เป็นเพราะ “กระสุนลั่น” หรือเป็นการโยนหินถามทางอย่างที่ “นายถาวร เสนเนียม” หนึ่งในแกนนำ กปปส.พยายามกล่าวอ้างโดยเด็ดขาด หากแต่เป็นความตั้งใจปล่อยของออกมา

“เอกนัฎ พร้อมพันธุ์” ลูกเลี้ยงนายสุเทพในฐานะโฆษก กปปส.อธิบายถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “กรณีนี้ต้องดูภาพรวมและดูเงื่อนไขของสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งนายสุเทพก็ปราศรัยเรื่องนี้โดยมาจากกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารัฐบาลสิ้นสภาพจากการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยก็จะตกอยู่ที่ประชาชนตามมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงขณะนั้นก็เหลืออำนาจฝ่ายนิติบัญญัติคือวุฒิสภาทำหน้าที่เสนอทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีและรับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 7 แต่ถ้าวุฒิสภาไม่รับก็อาจจะต้องเป็นอำนาจของประชาชนตามมาตรา 3 โดยวิธีประชาธิปไตยทางตรงที่จะทูลเกล้าฯ นายกฯ และสนองพระบรมราชโองการ จะใช้คำว่าปฏิวัติ อภิวัฒน์ ประชาภิวัฒน์ หรือรัฏฐาธิปัตย์ก็เป็นวาทกรรมที่ใครจะใช้ แต่กระบวนการทั้งหมดก็อยู่ในกระบวนการรัฐธรรมนูญมาตรา 7 อยู่ดี แต่วิธีที่ราบรื่นคงอยู่ที่กระบวนการของวุฒิสภา แต่เงื่อนไขจะเป็นอย่างไรต้องอยู่ที่สถานการณ์ขณะนั้น”

จะเห็นได้ว่า นายเอกนัฎกล่าวถึงคำ 3 คำที่เป็นเงื่อนไขของการประกาศใช้รัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพ นั่นก็คือ มาตรา 3 มาตรา 7 และวุฒิสภา ซึ่งคำๆ นี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

มาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 เขียนเอาไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

มาตรา 7 เขียนเอาไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

แปลไทยเป็นไทยคือ หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอันเป็นไปก็จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะไม่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยขาดหายไป และก็จะเหลือเพียงวุฒิสภาที่สามารถทำหน้าที่ได้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งนายสุเทพมองว่า วุฒิสภา ซึ่งขณะนี้มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภาแทนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาซึ่งถูกชี้มูลความผิดและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จะทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีและรับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 7

แต่ถ้าไม่เป็นไปตามเส้นทางที่มีการวิเคราะห์เอาไว้ โดยมีความผันแปรอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าจะสามารถประกาศรับรอง ส.ว.เลือกตั้ง และมีส.ว.ครบ 95% ตามกฎหมายได้หรือไม่ ถ้าได้ ก็หมายความว่า ส.ว.ชุดใหม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามบทบัญญัติแหงรัฐธรรมนูญ เกมก็จะเปลี่ยนแปลงไป และนั่นนำมาซึ่งคำประกาศเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพโดยพยายามยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 7 เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว กปปส.อาจเดินไปไม่ถึงฝั่งฝันและนายสุเทพจะกลายเป็นผู้แพ้

แพ้ทั้งในเกมอำนาจต่อระบอบทักษิณ

แพ้ทั้งในสายตาของมวลมหาประชาชน เนื่องเพราะพิสูจน์แล้วว่า การนำของนายสุเทพตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นความล้มเหลวอันเกิดจากยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ผิดพลาดของนายสุเทพโดยตรง

คำถามมีอยู่แล้ว นายสุเทพมั่นใจได้อย่างไรว่า การประกาศสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ของ กปปส.จะประสบความสำเร็จโดยราบรื่น

นายสุเทพคงลืมนึกไปกระมังว่า นายสุเทพและกปปส.มิใช่เป็นมวลชนกลุ่มเดียวที่เคลื่อนไหวทางการเมือง หากแต่ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงในระบอบทักษิณ ซึ่งถึงแม้จะอ่อนระโหยโรยแรงไปมาก แต่ก็ยังมีอิทธิฤทธิ์ไม่เบา

แล้วสมมติว่า “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ประกาศสถาปนารัฏฐาธิปัตย์โดยอ้างว่าเป็นเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ นายสุเทพจะจัดการอย่างไร

แน่นอน ผู้ที่จะชี้ชะตาของนายสุเทพย่อมหนีไม่พ้นผู้มีอำนาจตามกฎหมายและเป็นกลไกสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งก็คือ “ข้าราชการ” โดยเฉพาะข้าราชการที่มีอาวุธและกำลังอยู่ในมือที่ชื่อ “ทหาร”

การประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงถ้าไม่มีเสียงตอบรับจากทหารและข้าราชการ ซึ่งนายสุเทพก็รู้ดี ไม่เช่นนั้นในระหว่างนี้นายสุเทพคงไม่เดินสายไปหาแนวร่วมกับข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทุกวี่วัน

นายสุเทพมั่นใจได้อย่างไรว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคือมหามิตรที่จะประกาศยืนอยู่เคียงข้างมวลมหาประชาชน

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พลเรือนคนแรกที่กล้าประกาศตัวเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ก็คือ “นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร” ผู้นำสภาปฏิวัติที่แถลงการณ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ และแต่งตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ และสุดท้ายนายประเสริฐถูกจับกุมในข้อหาก่อกบฏในราชอาณาจักร ต้องต่อสู้คดีนานนับสิบปี ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

แน่นอน ในขณะที่ประกาศออกมา นายสุเทพต้องมั่นใจเพราะมองไม่เห็นที่มาและที่ไปเลยว่า ทำไมนายสุเทพถึงได้กล้าเอาชีวิตของตนเองเป็นเดิมพัน เนื่องจากถ้าหากไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์นั้นย่อมหมายถึงการเป็น “กบฏ” ที่มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต นอกเสียจากได้รับสัญญาณบางประการจาก พล.อ.ประยุทธ์

ไม่เช่นนั้น นายสุเทพคงไม่หาญกล้ากางปีกปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์อย่างออกนอกหน้าตั้งแต่เริ่มต้นมีการชุมนุมของ กปปส.และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขรมทั้งแผ่นดินจากคำให้สัมภาษณ์ของบิ๊กตู่ที่ประกาศตัวชัดเจนว่า ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อถูกซักถามถึงกรณีที่มีผู้เรียกร้องไม่ให้ยอมรับอำนาจของรัฐบาลรักษาการ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557

“สมมติว่าท่านทำงานในบริษัทหนึ่งและท่านประท้วงเจ้าของบริษัท ถามว่าทำได้หรือไม่ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารของคุณ คุณกล้าไล่เขาออกหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำหน้าที่ของคุณ เมื่อเขาให้ตนทำหน้าที่อะไรก็ทำตามหน้าที่ จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ให้เกินเลย เพราะจำเป็นต้องรักษาสถานภาพของตน เพื่อทำงานทุกงานให้ได้ ส่วนจะผิดหรือถูก จะรับหรือไม่รับก็ต้องไปว่ากันมา”

ในครั้งนั้น นายสุเทพประกาศชัดบนเวทีสวนลุมพินีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2557 ว่า “แค่พูดผิดก็ทำให้ถูกรุมด่า เพราะไปยกตัวอย่างผิด เรื่องเจ้าของบริษัท คนก็ตีความผิด ผมยืนยันจากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 52-53 ได้ว่า เหล่าทัพจำเป็นต้องวางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ผมเห็นใจกองทัพที่ต้องยืนอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ ระหว่างมวลมหาประชาชนกับฝ่ายรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง ผมจึงขอความเป็นธรรม อย่าเพิ่งรีบตำหนิเขา ให้เราคอยดูไปก่อนว่า เมื่อถึงเวลาเขาจะตัดสินใจอย่างไร สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร นี่ก็เหมือนกัน เรากับมันยังสู้กันไม่จบ อย่าเพิ่งตำหนิเขา อย่าตกเป็นเหยื่อคนชั่วที่มาเสี้ยมให้เราแตกกัน ผมเชื่อว่าทหารเป็นมิตรกับประชาชน และยืนข้างเรา ถ้าผมคิดผิด ผมรับผิดชอบเอง ผมการันตีพี่น้องทั้งประเทศ คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และแม่ทัพนายกองส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างแผ่นดิน ยืนอยู่ข้างประชาชน พี่น้องอดใจรอดูฉากจบสุดท้ายก่อน ถ้าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายิ่งลักษณ์ทำผิด ที่ย้ายถวิล เปลี่ยนศรี วันนั้นถ้าทหารยังยืนข้างยิ่งลักษณ์ ผมจะเดินคนเดียวไปหา พล.อ.ประยุทธ์เอง”

ปกป้องทั้งๆ ที่คำว่า “ผมไว้ใจไอ้ตู่มาก” ของนักโทษชายหนีคดีดังกึกก้องเต็มสองรูหูของมวลมหาประชาชน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า คำๆ นี้จะกลายเป็นหมัดที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงนายสุเทพให้เสียรังวัดอยู่ไม่น้อย เนื่องเพราะมีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยตามมาเป็นกระบุงโกย ไม่ใช่เฉพาะแค่ “คนเสื้อแดง” ที่กระดี๊กระด๊าโดดออกมางับเหยื่ออันโอชะกันจ้าละหวั่นหลังตนเองเสียหายชนิดประเมินค่าไม่ได้กับการประกาศแบ่งแยกประเทศจัดตั้ง “สปป.ล้านนา” หากแต่รวมถึงคนกันเองใน กปปส.ที่ “เงิบ” ไปตามๆ กันแนวคิดของนายสุเทพ อาทิ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ที่ถือเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการคนสำคัญ

รวมกระทั่งเสียงตอบรับจาก “มหามิตร” ที่นายสุเทพโอบอุ้มค้ำชูมาโดย ตลอดอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบกที่เผลอทำปืนลั่นเช่นเดียวกับนายสุเทพด้วยการประกาศตนเป็นลูกจ้างในบริษัทตระกูลชินต่อหน้าธารกำนัล

9 เมษายน 2557

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ชัดเจนที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ก่อนเดินทางไปติดตามสถานการณ์ภาคใต้หลังเกิดเหตุระเบิดที่จังหวัดยะลาว่า “เขาตั้งได้หรือยัง ถ้ายังไม่ได้ ก็อย่าไปคิด และสื่อบอกเอกว่าผิดกฎหมายและตั้งไม่ได้ จะมาถามให้เสียสมองทำไม”

ชัดเจนและตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย ชนิดที่ทำให้นายสุเทพ “เงิบ” เป็นครั้งที่ 2 ในชั่วระยะเวลาไม่กี่วัน

อย่างไรก็ดี ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตอบในลักษณะนี้ เพราะไม่ต้องใช้สมองครุ่นคิดอะไรมากนักก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า รัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพเป็นเรื่องอันตราย หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายเพียงใด แต่จะเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากถ้าหากคนที่รอวันเกษียณอย่าง พล.อ.ประยุทธ์จะตอบชัดถ้อยชัดคำว่า สนับสนุนแนวความคิดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 9 เมษายน แตกต่างจากคำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ยังแทงกั๊กว่าเป็นภาษากฎหมายต้องตีความ อาจเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวที่สำคัญยิ่งของ “มหามิตร” แห่งระบอบทักษิณ และมหามิตรของ “ทหารไทย” นั่นก็คือการที่ “นายแดเนียล รัสเซล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยและคณะได้เดินทางเข้าพบและหารือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยอ้ายปึ้ง-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เข้าร่วมหารือด้วยได้ออกมาเปิดเผยว่า นายแดเนียล รัสเซลได้นำหนังสือของนายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มายื่นให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองของไทยและไม่ต้องการให้มีการยึดอำนาจหรือปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาคงไม่แฮปปี้ พร้อมกันนั้นสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ไทยเดินไปในแนวทางประชาธิปไตย ใช้การเจรจาแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดความรุนแรง

นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เที่ยวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังประกาศชัดเจนว่า เป็นกลางและไม่ได้อยู่ข้างนายสุเทพ

“ผมไม่ได้เข้าข้างสุเทพหรือณัฐวุฒิหรือจตุพร หรือใครทั้งนั้น ทหารต้องทำหน้าที่ไป แต่ในวันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร ซึ่งทหารก็ต้องมาทำ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เป็นอันว่า การประกาศรัฏฐาธิปัตย์และความหวังที่จะให้ทหารยืนอยู่ข้าง กปปส.ของนายสุเทพถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยจากพล.อ.ประยุทธ์มหามิตรของลุงกำนัน

คำถามมีอยู่ว่า แล้วนายสุเทพจะทำอย่างไรกับ พล.อ.ประยุทธ์

คำถามมีอยู่ว่า แล้วมวลมหาประชาชน กปปส.จะทำอย่างไรกับ พล.อ.ประยุทธ์

นายสุเทพและมวลชน กปปส.ยอมไม่ได้กับระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วทำไมถึงอดทนแล้วอดทนเล่ากับผู้ชายที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น หนทางเดียวที่จะสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ได้จึงวกลับไปสู่มือของ “วุฒิสภา” อีกครั้ง ซึ่งก็คงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดว่า จุดจบของเรื่องนี้เป็นไปอย่างไร เพราะทำไปทำมาอาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่ฝันเอาไว้ว่าจะรอมะม่วงหล่น แถมยังมีทีท่าว่าอาจจะต้อง “เงิบ” และรอต่อไปอีกหลายเพลา

แต่ที่แน่ๆ คือความฝันในการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะใช้ช่องทางของวุฒิสภาหรือนายสุเทพเป็นอันจบลง เพราะทุกเส้นทางพิสูจน์มีเป้าประสงค์เดียวกันคือตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไป ส่วนการปฏิรูป....เอาไว้ค่อยว่ากันในภายหลัง

ขณะที่กล่าวสำหรับตัวนายสุเทพก็คงต้องหนีไม่พ้นที่จะถูกดำเนินคดีจากฝีมือของขี้ข้าระบอบทักษิณ ซึ่งเวลานี้ร้องเจี๊ยวจ๊าวแย่งกันสร้างผลงานให้เข้าตานายใหญ่กันอย่างละหวั่น ส่วนจะมีจุดจบเช่นเดียวกับนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร พลเรือนคนแรกที่กล้าประกาศสถาปนารัฏฐาธิปัตย์หรือไม่นั้น อีกไม่นานคงรู้กัน

และนาทีนี้ คำว่า “เงิบ” คงเป็นคำที่ให้นิยามสำหรับความรู้สึกของนายสุเทพที่เหมาะสมและลงตัวที่สุด


สุเทพ เทือกสุบรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น