xs
xsm
sm
md
lg

ถกปฏิรูปวันที่ 2 แนะรื้อใหญ่กฎหมายปราบโกง-ตั้งศาลพิเศษคดีคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีสวนลุมฯ ระดมความเห็นปฏิรูปฯ วันที่ 2 ถกประเด็นคอร์รัปชัน เสนอเพิ่มบทลงโทษทุจริต เร็ว แรง หนัก รื้อกฎหมาย ปิดช่องโกงเชิงนโยบาย เพิ่มอำนาจประชาชน ห้ามฝ่ายการเมือง-คนในกระบวนการยุติธรรมนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีทุจริต ด้าน ผอ.องค์กรต้านคอร์รัปชันแนะเร่งทำก่อนนักการเมืองกลับสู่อำนาจ ไม่แตะทุจริตยุค “มาร์ค”

คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จัดเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยกำหนดหัวข้อเรื่องการปฏิรูประบบตรวจสอบ ปลุกจิตสำนึกคนไทย ขจัดภัยคอร์รัปชั่น ที่ศูนย์เยาวชนสวนลุมพินี โดยในวันนี้ (12 มี.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.เดินทางมามาเปิดเวทีและร่วมฟังด้วย

การเสวนาเริ่มขึ้นโดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันพัฒนามาจากฉ้อราษฎร์บังหลวง เช่น การรีดไถ ส่วย หาค่าคอมมิชชั่น เบี้ยเลี้ยง ที่พัก ของหลวง นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย ที่มาพร้อมกับระบอบทักษิณ โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ จากการคอร์รัปชันในระดับเจ้าหน้าที่รีดไถ พัฒนามาเป็นนักการเมือง, ข้าราชการ และพ่อค้านักธุรกิจ ที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดการทุจริตภายใต้ระบบอุปถัมภ์

นายเจิมศักดิ์ได้เสนอว่า จะต้องปฏิรูปข้อมูลข่าวสารแต่ละโครงการของรัฐที่จะต้องเปิดเผย รวมถึงข้อมูลเจาะลึกที่เกี่ยวกับนักการเมือง ต้องมีระบบตรวจสอบที่เป็นองค์กรตรวจสอบเฉพาะ ต้องมีบทลงโทษที่เร็ว แรง และหนัก

“ที่ผ่านมามีการบิดเบือนนโนบาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา สูญเสียศักยภาพในการพัฒนา ทำให้ประเทศเสียหายมากว่าเงินที่กินและโกงกว่ามาก ดูได้จากในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ทำให้เกิดความเสียโอกาสของประเทศ หรือเรื่องจำนำข้าวที่ชัดเจนมาก ทำให้ตลาดข้าวไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 พังทลายหมด ซึ่งทั้งหมด อยู่ที่องค์ความรู้และการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ” นายเจิมศักดิ์กล่าว

แก้ไขกฎหมายปิดช่องทางทุจริตทางนโยบาย

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตัวแทนจากกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าไทยเป็นสังคมอุดมปัญหา มีการติดสินบนเล็กน้อยตั้งแต่ในครอบครัว การตั้งด่านของตำรวจ มีจำนวนด่านมาก และความถี่สูง ทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นปัญหาต่อวิธีคิด

สำหรับปัญหาทุจริตของประเทศที่มีรากฐานมาจากระบบการเมือง เพราะเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ในทางวิชาการเรียกว่า “ระบบเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุน” มีผลผูกพันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ พรรคการเมืองจะเป็นทุนจากท้องถิ่นที่หากินกับการรับเหมารับโครงก่อสร้างของรัฐ และแชร์โครงการก่อสร้างตามสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลไปตามโควตาจังหวัดต่างๆ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ โดยอ้างระบอบประชาธิปไตยเป็นเสื้อคลุม ถือเป็นระบอบที่ทำลายสังคมอย่างรุนแรง

นายคมสันได้เสนอการแก้ไขกฎหมายที่อาจจะเป็นช่องทางทุจริตทางนโยบาย เช่น พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม สัญญาสัมปทานต่างๆ หรือพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ที่ล้วนเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่หวังประโยชน์

นายคมสันกล่าวต่อว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ควรจะมีการแก้ไข โดยเฉพาะที่มีการปรับงบประมาณท้องถิ่นที่มีการปรับไปเป็นการใช้เป็นงบเฉพาะกิจ ซึ่งจะหมายถึงงบประมาณที่ ส.ส.เอาไปใช้ และทำให้ อปท.ต้องมีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเปอร์เซ็นต์กันในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนกับโครงการของ ส.ส.ที่เสนอผ่านพรรคและรัฐสภา

ขณะที่ปัญหาที่ตามมา คือ ระบบการตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบทั้งหลาย ขณะนี้เกิดปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อระบบการลงโทษ ทั้งการสอบวินัยข้าราชการ ยิ่งส่งผลให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงขึ้น ในระบบอุปถัมภ์แบบนี้ ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการเข้าไปมีส่วนร่วม จะไม่ค่อยเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การแก้ไข นอกจากนั้นภาคเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการเสริมสร้าง ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันด้วยเช่นกัน

เพิ่มอำนาจประชาชน ห้ามฝ่ายการเมือง-ยุติธรรมนั่งบอร์ด รสก.

ขณะที่นายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหากลไกการตรวจสอบถูกครอบงำ ทั้ง ป.ป.ช., ปปง., สตง. หรือ ป.ป.ท. ถูกคุกคามหนัก ทำอะไรไม่ได้ สืบเนื่องจากงบประมาณที่ถูกตัดลดลง ขณะที่มีความพยายามนำโครงการที่เข้าข่ายทุจริต ดึงเอาภาคประชาชน มาเกี่ยวมาข้อง เช่น งบประมาณโครงการภัยแล้ง การออกโฉนดหลวงทับที่ชาวบ้าน เพราะเวลาสู้เรื่องคดีกัน ไม่ได้สู้กับกลไกรัฐ แต่กลับกลายเป็นสู้กับประชาชน

นายภิญโญเสนอว่า เราจะต้องทำลายโครงสร้างการทุจริตอย่างไร ทางแก้ปัญหาคือ เพิ่มอำนาจภาคประชาชน และภาคสังคมให้มีอำนาจตรวจสอบมากขึ้น หรือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่พบว่ามีตัวเลขของกลุ่มที่ทุจริต ปีหนึ่งประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาท ดังนั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของภาคประชาชน หากมีความเข้มแข็งจะช่วยตรวจสอบได้มาก รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจการเข้าถึงของภาคประชาชนเพื่อให้มีอำนาจตรวจสอบ หรือเข้าไปเป็นคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อมีอำนาจยับยั้งได้

ขณะเดียวกัน ยังเสนอเรื่องของมาตราการต่อความโปร่งใส โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารของข้าราชการทุกระดับ จะต้องให้ สตง.สามารถเรียกดูและตรวจสอบได้ทุกระดับ ห้ามบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม หรือฝ่ายการเมืองเข้าไปเป็นบอร์ดในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

นายภิญโญยังเสนอว่า สำหรับมาตรการป้องกันในเรื่องที่มีความเสี่ยง เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การอนุมัติ อนุญาต ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้ถูกต้อง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาใช้แทนคนเพื่อลดการใช้ดุลพินิจ ส่วนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาทำได้ไม่มาก เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษคดีคอร์รัปชัน หรือความล่าช้าในกระบวนการนำคนมาลงโทษ คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต้องไม่มีอายุความ เสนอให้ประชาชนมีอำนาจฟ้องร้องได้ต้องกำหนดว่าเป็นคดีไหน หรือเรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต แม้ว่าจำเลยจะหลบหนี รวมถึงให้พิจารณาคดีต่อเนื่อง ไม่ใช่นัดทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เหมือนปัจจุบัน ขณะเดียวกันต้อเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ เช่น การเรียกพยานเอกสาร หลักฐาน ให้อำนาจสืบสวนวิธีพิเศษ คือ การพรางตัวและการดักฟังทางโทรศัพท์ เป็นต้น

ปราบคอร์รัปชันจังหวะที่นักการเมืองยังไม่เข้าสู่อำนาจ

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เสนอว่า สิ่งที่ปฏิบัติได้และเกิดขึ้นจริง ต้องรีบทำ โดยเฉพาะในจังหวะนี้ ที่นักการเมืองยังไม่เข้าสู่อำนาจ ยังช่วงชิงกันอยู่ จะต้องทำกันให้เร็วที่สุด เพราะถ้านักการเมืองนั่งสบายตูดแล้ว แผนเหล่านี้ อาจโดนยืดออกไปได้

“เราต้องทำให้เกิดกระแสในสังคม องค์การต่อต้านคอร์รัปชันขอเสนอเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันตามหลักที่ศึกษามาหลายเรื่องต้องใช้เวลาจำกัด เลือกเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ขยายผลได้ใน 5 แนวทาง เช่น พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สร้างความแข็งแกร่งของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผลักดันมาตรการเรื่องความโปร่งใสที่สอดคล้องกับมาตรวัดคอร์รัปชันโลก (Global Corruption Barometer) และรณรงค์คุณธรรมจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่”

นายมานะเสนอว่า สำหรับการใช้กฏหมายระหว่างประเทศในประเด็นการตามตัว-ส่งตัวคนโกง กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้น กฎหมายฉบับนี้ได้มีการเสนอมานานแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน เพราะกฎหมายฉบับนี้จะเป็นหน้าตาเป็นศักดิ์ศรีของคนไทยที่ต้องช่วยกันผลักดัน ขณะที่จะต้องมีบทลงโทษทางแพ่งและอาญา เช่น อาจลดหย่อนจำคุกลงได้ หากคนคนนั้นเปิดเผยข้อมูลหลักฐานเพื่อสาวไปถึงคนเกี่ยวข้องที่แท้จริง เป็นต้น

ขณะที่ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้มีการนำเสนอแนวทางการปฏิรูป หลังมีการระดมความคิดเห็น โดยเน้นย้ำถึงการผลักดันกลไกในการสนับสนุนวิธีการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยการเร่งปฏิรูประบบการทำงานของรัฐบาล ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการให้ประชาชนมีส่วนรู้เห็นและเป็นไปอย่างโปร่งใส รวมถึงการคัดสรรบุคลากรก่อนเข้าสู่อำนาจรัฐ

นอกจากนี้ ต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และขยายเครือข่ายให้เชื่อมโยงเครือข่ายพลเมืองให้ครอลคลุม 77 จังหวัด 20 กระทรวงภายใน 3 ปี รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาลโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง

สำหรับ เวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศได้วางกรอบเวลาในการนำเสนอแนวทางและข้อคิดเห็นจนถึงเวลา 15.45 น.

ไม่พูดทุจริตยุค “มาร์ค”

เวทีขจัดภัยคอร์รัปชันครั้งนี้สังเกตได้ว่า มีนักวิชาการผู้เข้าร่วมหรือแนวร่วม กปปส.ส่วนใหญ่เสนอข้อมูลการทุจริตในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณและนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการยกตังอย่าง โครงการรับจำนำข้าว ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่ไม่มีการยกตัวอย่างโครงการที่ผิดพลาดจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

















กำลังโหลดความคิดเห็น