xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ศาล รธน.ตอกย้ำเผด็จการรัฐสภา “คมสัน” แนะยื่น กกต.สอบคุณสมบัติ 312 สภาทาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “คำนูณ” เผยคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญชี้ประชาธิปไตยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ต้องไปดำเนินการทางอาญา “ปานเทพ” ชี้ศาลตอกย้ำนิติธรรม แม้ยุบพรรคไม่ได้ก็สานต่อได้ทาง ป.ป.ช.หรือฟ้องศาลอาญาได้โดยตรง แต่ห่วงไม่ทันต่อวิกฤตการเมือง “คมสัน” เผยคำวินิจฉัยยังขาดสาระบางตัว แต่โดยรวมค่อนข้างดี ชี้ขาดคุณสมบัติแล้ว แนะยื่น กกต.วินิจฉัย 312 คน ทำตัวขัดกับคำปฏิญาณ “ไพบูลย์” ชี้นายกฯ ต้องรับผิดชอบรีบขึ้นทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายมีมลทิน



วันนี้ (20 พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้ความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาในคดีที่ ส.ส.และ ส.ว.312 คน ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ว่า คำพิพากษาที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ควรจะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง หลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรค 2 คืออะไร และการกระทำของเสียงข้างมากที่มีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์คืออะไร โดยองค์รวมของคำพิพากษาเสมือนจะบรรยายให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าระบอบเผด็จการของเสียงข้างมาก หรือระบอบเผด็จการรัฐสภาคืออะไร ซึ่งศาลเห็นว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ทั้งนี้ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะกระทำการตามอำเภอใจ กดขี่เสียงข้างน้อย ปิดปากเสียงข้างน้อยโดยที่ไม่รับฟังอะไรเลย โดยภาพรวมศาลบรรยายความหมายของระบอบประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องกำกับด้วยหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนมาก ส่วนคำวินิจฉัยที่เฉพาะตัวคดีนี้ ศาลอธิบายว่าผิดทั้งกระบวนการ ผิดทั้งเนื้อหา โดยด้านกระบวนการตั้งแต่การปลอมร่างรัฐธรรมนูญ การตัดสิทธิ์ผู้แปรญัตติ การกำหนดวันย้อนหลัง การกดบัตรแทนกัน ซึ่งถือว่าผิดหมด และศาลใช้คำที่หนักหนาสาหัสและร้ายแรง ทุจริต

ส่วนด้านเนื้อหาชัดเจนว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แน่นอนที่สุด เพียงแต่ว่านี่คือสิ่งที่ศาลชี้ ส่วนกระบวนการจากนี้ไปก็คือถ้าไปอ่านมาตรา 68 เท่ากับว่าเป็นการชี้สิ่งที่กระทำครั้งนี้ ในการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าผิดอย่างไร ส่วนที่ว่าผู้กระทำความผิดนั้นจะต้องได้รับโทษอย่างไร ก็ต้องเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการดำเนินคดีทางอาญา ส่วนการดำเนินคดีทางอาญาจะไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไปศาลอาญาก็ไปได้หลายทาง แต่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นชัดเจน และรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า มีผลผูกพันทุกองค์กร สมมติว่ามีคดีในศาลใด มีคดีใน ป.ป.ช.คำวินิจฉัยอันนี้แทบไม่ต้องไต่สวนอะไรอีกแล้ว

ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า ขอแสดงความขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้กรุณาวินิจฉัยได้อย่างกล้าหาญมาก เพราะว่าคำวินิจฉัยครั้งนี้ถือเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นประวัติศาสตร์ อธิบายคำว่าเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเผด็จการรัฐสภา ว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยจะชนะแค่การเลือกตั้ง แต่ศาลได้ย้ำคำว่านิติธรรมหลายครั้งมาก ถึงความชอบธรรมในการบริหารโดยเสียงข้างมาก ที่ไม่ใช่ลุแก่อำนาจ ทำทุกอย่างตามอำเภอใจ กลั่นแกล้งเสียงข้างน้อย หรือไปดำเนินการยึดอำนาจทุกอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบได้ ถือเป็นคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สวยงาม งดงามที่สุด และควรจะเผยแพร่ให้ประชาชนให้รับรู้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้

ทั้งนี้ ถ้าจะสรุปโดยเนื้อหาสำคัญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ครั้งนี้ ผิด 2 ส่วนสำคัญ ส่วนที่หนึ่งก็คือ ผิดในขั้นตอนของกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการเสียบบัตรแทนกัน มีการเปลี่ยนญัตติในระหว่างการยื่นเสนอ การปิดอภิปรายก่อนที่จะมีการอภิปรายแปรญัตติในช่วงการสงวนคำแปรญัตติ สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ซึ่งจุดโหว่ของฝ่ายรัฐบาลถือว่าเป็นฝ่ายที่ลุแก่อำนาจจนฮึกเหิม ถึงขั้นทำผิดกฎหมายจนเกิดช่องโหว่มากมาย ก็ทำให้เกิดการวินิจฉัยแบบนี้

อีกอย่างหนึ่ง คือ แม้จะไม่ใช่ทางเทคนิคหรือขั้นตอนของกระบวนการ แต่ศาลได้วินิจฉัยในเรื่องของหลักวิธีคิด หรือเนื้อหาสำคัญว่าถ้าแก้แบบนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ศาลอธิบายถึงกระบวนการ กลไกถ่วงดุลตรวจสอบว่าจะต้องทำให้เกิดการแยกกันระหว่างฝ่าย ส.ส.กับ ส.ว.เพื่อไม่ให้เกิดการพาดพันกันในการใช้อำนาจถ่วงดุลตรวจสอบ ดังนั้นจึงวินิจฉัยว่ามิชอบด้วยวิธีการที่ซึ่งได้อำนาจมาตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าคำวินิจฉัยครั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เมื่อบอกว่า ตามปกติเมื่อรับคำร้องแล้วก็จะต้องตัดสิน

เมื่อตัดสินก็มีอยู่หลากหลายทางเลือก คือ 1.ให้ยกเลิกการกระทำ แต่ศาลก็ไม่ตัดสินให้ยกเลิกการกระทำ ศาลบอกแค่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะขั้นตอนกระบวนการเสร็จสิ้นกระบวนการทางรัฐสภา ไม่สามารถสั่งให้สมาชิกรัฐสภา 312 คน หยุดการกระทำได้แล้ว เพราะอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ แต่ได้ชี้ชัดว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2.ศาลเห็นว่าขั้นตอนทั้งหลายก็ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เพราะถือว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คนนั้นพยายามให้ได้มาซึ่งอำนาจซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ อันนี้อันตราย เพราะโทษอันตรายอย่างมาก ถือว่ามีการทุจริต มีการฉ้อฉล ศาลก็เห็นว่าถ้าจะทำอย่างนี้เมื่อสั่งให้เลิกการกระทำไม่ได้ จะสั่งให้ใครทำ

ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปกติศาลต้องสั่งให้พรรคการเมืองหยุดการกระทำ และสามารถยุบพรรคได้ ถ้ายุบพรรคได้ก็จะเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรคได้ ซึ่งญัตติครั้งนี้มี ส.ว.ปนด้วย ซึ่งไม่สังกัดพรรคการเมือง และไม่สามารถจะชี้ชัดได้ว่าเป็นมติพรรค เนื่องจากเป็นมติของรัฐสภา เพราะฉะนั้นศาลทำได้แค่สูงสุด ก็คือบอกว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สามารถจะไปถึงขั้นยุบพรรค เมื่อยุบพรรคไม่ได้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็บัญญัติไว้อีกว่าเมื่อยุบพรรคแล้วให้เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย ดังนั้น เมื่อยุบพรรคไม่ได้ก็เลยเพิกถอนทั้งหมดไม่ได้ แต่โทษทางอาญาไม่หายไปไหน สามารถสานต่อได้

“สานต่อได้โดยสมาชิกรัฐสภา 312 คนต้องถูกดำเนินคดีอาญาอย่างแน่นอน ไม่หนทางในการฟ้องต่อศาลอาญาโดยตรง ก็เป็นการฟ้องผ่าน ป.ป.ช.ซึ่งข้อดีของ ป.ป.ช.คือเมื่อชี้มูลความผิดแล้วทั้งหมดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินอีกที ก็คือถูกบทลงโทษทางอาญาทันที นี่คือหนทางสั้นที่สุด แต่ข้อเสียคือ ป.ป.ช.คดีเยอะมาก อีกวิธีหนึ่งที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความเสนอ คือ ยื่นศาลอาญาดำเนินคดีความ คือฟ้องตรงในฐานะที่คิดจะมาเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรืออื่นใด ดำเนินคดีอาญาฟ้องตรง ข้อดีคือดำเนินคดีความโดยทุกคน เป็นปัจเจกบุคคลฟ้องได้หมดทั้งประเทศ ใครก็ได้ ศาลไหนก็ได้ แล้วดูว่าจะสู้ได้ยังไง ข้อแรกเลยคือต้องไปขึ้นทุกศาลเลย แต่ข้อเสียก็มี ก็คือ ต้องเสียเวลาในชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็อาจจะเป็นอีก 10 ปี หรืออีกนานกว่านั้น ซึ่งก็อาจจะไม่ทันการณ์กับวิกฤตทางการเมืองในขณะนี้ เพราะฉะนั้นทุกทางที่ทำได้ ทำหมด ก็ถือว่าคำวินิจฉัยครั้งนี้สุดซอยแล้วเท่าที่ศาลจะพอทำได้ ไม่มีอะไรไปไกลกว่านี้ได้แล้ว ที่คาดหวังกันก่อนหน้านี้เป็นการคาดหวังที่ศาลทำไม่ได้เท่านั้นเอง” นายปานเทพ กล่าว

ขณะที่ นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามองในทางวิชาการถือว่ามีประโยชน์ เพราะว่าศาลเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินคดี เช่น การมีดุลยภาพ การสร้างดุลยภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักนิติธรรม ซึ่งศาลวางหลักไว้ค่อนข้างดีว่าหลักนิติธรรมเป็นหลักการที่อยู่เหนือบทบัญญัติ เป็นแนวคิดกฎหมายธรรมชาติ ซึ่งถือว่าศาลวางหลักการได้ดี นอกจากนั้นศาลได้วางหลักอีกหลายเรื่อง เช่น วางหลักอธิบายความในมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญ คือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของบรรดาสมาชิกรัฐสภาว่ามันมีลักษณะอย่างไร เท่ากับเป็นการอธิบายความมาตรานี้ว่าไปถึงเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะไม่นำไปใช้ในแง่ข้อจำกัดบางอย่าง

ทั้งนี้ โดยหลักศาลวางว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเสียดุลยภาพของการใช้อำนาจ เป็นการเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างการปกครองซึ่งไม่ชอบด้วยมาตรา 291 กับมาตรา 68 ก็ถือว่าเป็นการวางบรรทัดฐานที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในเชิงหลักการ เพียงแค่ว่าบางจุดศาลอาจจะมีปัญหาออกมา เช่น การวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค ตนคิดว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยการกระทำว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าศาลก็อาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระทำรายบุคคลของบรรดาสมาชิกรัฐสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แต่ยังไม่ได้ไปถึงพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสั้นไปนิดเดียว ทำให้เป็นจุดหนึ่งซึ่งอาจจะถูกถามได้ว่าทำไมถึงไม่วินิจฉัยมาตรา 68 ไปถึงวรรคสาม ในเชิงวิชาการถือว่าสมบูรณ์ร้อยละ 80 ของคำวินิจฉัยนี้เป็นไปตามหลักวิชา อีกร้อยละ 20 มีคำถามว่ามันยังขาดสาระบางตัว แต่โดยรวมเป็นคำวินิจฉัยที่ค่อนข้างดี เทียบกับหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาถือว่าอธิบายความโดยละเอียดหรือไม่ นายคมสัน กล่าวว่า ถือว่าละเอียดพอสมควรในเชิงหลักการ หลักกฎหมาย หลักการในการปกครอง อธิบายค่อนข้างดี มีการขยายความหรือการวินิจฉัยข้อความให้เข้าใจมากขึ้น สำหรับหลักการต่างๆ ในทางวิชาการถือว่าเป็นที่ยอมรับด้วยดี เมื่อถามว่าคำพิพากษาผู้ร้องสามารถนำไปต่อยอดได้หรือไม่ นายคมสันกล่าวว่า ทุกฝ่ายสามารถเอาไปใช้ได้หมด สามารถบอกได้ว่ารัฐสภาขณะนี้ขาดความชอบธรรมแล้ว การกระทำของบรรดานักการเมืองทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมาก็ยิ่งใหญ่จนกระทั่งใครเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ ก็ถูกตรวจสอบแบบนี้ ประชาชนก็ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นข้อดีของคำพิพากษาแบบนี้

“ความจริงแล้วบรรดาสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภาแล้ว เพราะว่าตอนปฏิญาณว่าตนจะยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วศาลชี้ว่าคุณล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คุณขาดคุณสมบัติไปแล้วนะ การเป็นสมาชิกรัฐสภา ถ้าพูดในเชิงวินิจฉัยไปในแง่ตัวบุคคล ผมว่าลองให้ใครไปยื่นต่อ กกต.วินิจฉัยคุณสมบัติบรรดาสมาชิกรัฐสภา 312 คน เพราะว่าไปเข้าข่ายมาตรา 90 และ 91 ของรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกที” นายคมสัน กล่าวทิ้งท้าย

ส่วน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องรับผิดชอบในฐานะที่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีขึ้นทูลเกล้าฯ โดยอ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่มีเวลาอีก 20 วัน กลับตาลีตาเหลือกทูลเกล้าฯ ตั้งแต่วันแรก ทั้งๆ ที่การกระทำของสมาชิกรัฐสภา 312 คน เป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องไต่สวน ส่วนการแถลงข่าวไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้น ก็ต้องถูกดำเนินคดีอีกข้อหาหนึ่ง หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ และ ป.ป.ช.ชี้มูลตั้งอนุกรรมการหรือใช้คณะ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ไต่สวนเสร็จ หากมีมูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 312 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น