xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอย...ใครเป็นใคร ว่าที่ “3 กกต.-1 ป.ป.ช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานการเมือง

รายชื่อ “ว่าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” และ “ว่าที่กรรมการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ออกมาเมื่อบ่ายวันที่ 15 ต.ค. หลังจากมีการประชุมที่รัฐสภา เห็นหน้าค่าตาทั้งหมดแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ฝากอนาคตฝากความหวังไว้ได้

รายชื่อว่าที่ กกต.3 คน คือ นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 3 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ม.ธรรมศาสตร์ และเลขาธิการพีเน็ต

และ นายประวิช รัตนเพียร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แสดงสปิริตยอมลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินมาลงสมัคร กกต. ทั้งที่สามารถนั่งกั๊กไปก่อนโดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งก็ไม่ผิดกติกาถ้าได้รับเลือกค่อยลาออกก็ได้ เมื่อกล้าเสี่ยงเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ได้รับผลตอบแทนไปอย่างสุดคุ้ม ประวิชเดินเข้ามาเป็น กกต.ด้วยความสง่างาม

ขณะที่ว่า ป.ป.ช.ก็คือ อดีตผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.หมาดๆ คือนายณรงค์ รัฐอมฤต อดีตเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช.ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งมาเมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็มีสิทธิ์ได้กลับเข้าไปทำงานในตึก ป.ป.ช.สนามบินน้ำอีกครั้ง

แม้ตามขั้นตอนกรรมการสรรหาจะต้องส่งชื่อไปให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อที่เสนอไป แต่ดูแล้วโอกาสที่วุฒิสภาจะตีกลับเป็นไปได้น้อยมาก ยิ่งรายชื่อทั้งหมดข้างต้นแต่ละคนก็ถือว่าสอบผ่านไม่ได้มีอะไรเสียหาย เรียกได้ว่าทั้ง 4 คนก็น่าจะเตรียมตัวเข้าไปทำงานในตึก กกต.-ป.ป.ช.ได้เลย

ถึงตรงนี้ ผลงานและการทำหน้าที่ของว่าที่ กกต.ทั้ง 3 คน คือ นายบุญส่ง-สมชัย-ประวิช ที่จะอยู่ในตำแหน่ง 7ปี และนายณรงค์ ที่จะได้เป็น ป.ป.ช. 9 ปีจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองได้ดีที่สุดว่าทำหน้าที่เป็นกลาง เที่ยงธรรมยึดมั่นในความถูกต้อง หลักการและข้อกฎหมายได้อย่างที่สังคมคาดหวังหรือไม่

เพราะแม้บางคนโดยเฉพาะตัวประวิช รัตนเพียรที่ตามข่าวบอกว่าลุ้นหนักเกือบจะว่างงาน เพราะกว่าจะรอดเข้ามาเป็น กกต.ได้ต้องไปเบียดสู้กับคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กันแบบสูสีในรอบท้ายๆ ที่ชิงดำกันถึงรอบที่ 12 จนสุดท้ายประวิชเฉือนไปด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 เสียง

เชื่อว่าหากจะมีเสียงวิจารณ์รายชื่อว่าที่ กกต.ที่ออกมา คนที่โดนวิจารณ์มากสุดก็คงไม่พ้นประวิช เจ้าของมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต หรืออาร์แบค เหตุเพราะต้องถือว่าเป็นว่าที่ กกต.ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดในบรรดาว่าที่ กกต.ทั้ง3 คน รวมถึง กกต.ที่เคยมีมาเลยทีเดียว

เพราะเป็นอดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนาหลายสมัย ก่อนหน้า 19 ก.ย. 49 ก็เคยเป็น ส.ส.ไทยรักไทย เป็นอดีต รมต.ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

จึงเป็นว่าที่ กกต.ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับนักการเมืองจำนวนมาก รู้จักเกือบทุกพรรค ตรงนี้อาจทำให้บางคนติดใจได้ถึงการทำหน้าที่ว่าจะเป็นกลางหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก็จะพบว่าบทบาทการเมืองที่ผ่านมาของประวิชในสมัยอยู่พรรคชาติพัฒนาและไทยรักไทย ก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรเสียหายทางการเมืองถูกมองว่าเป็นนักการเมืองกึ่งๆ นักวิชาการด้วยซ้ำ

ยิ่งบทบาทตอนเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะเห็นได้ว่ามติหรือเรื่องสำคัญๆ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาตรวจสอบท้วงติงรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลเพื่อไทยหลายเรื่องก็ไม่เป็นที่พอใจของคนในพรรคเพื่อไทยอย่างมากตรงนี้จึงน่าจะทำให้ความกังขาในตัวประวิช ว่าเมื่อเป็นกกต.ไปแล้วจะทำหน้าที่ได้เป็นกลางหรือไม่ คลายลงไปบ้างไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายในตัวอาจารย์คมสัน โพธิ์คง ซึ่งบทบาทที่ผ่านมาถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าพูดกล้าคิดแตกต่างกับนักวิชาการจำนวนมากในเวลานี้ ที่ทำตัวเป็นไทยเฉย หรือไม่ก็ไปรับใช้นักการเมืองและคนในรัฐบาลเพื่อหวังตำแหน่ง

แต่ก็ไม่เป็นไร โอกาสวันข้างหน้ายังมี อายุยังน้อยยังมีเส้นทางให้เติบโตได้อีก

ก็ดูตัวอย่างนักวิชาการรุ่นพี่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กว่าจะได้มาลุ้นเป็น กกต.ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็ต้องทำงานพิสูจน์ตัวเองมาไม่น้อยในฐานะอดีตเลขาธิการพีเน็ต หรือมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นองค์กรกึ่งๆ เอ็นจีโอภาคประชาชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนระบอบประชาธิปไตยและ สอดส่องดูแลการเลือก ตั้งให้สุจริต และเที่ยงธรรม

จนทำให้นายสมชัยกลายเป็นสัญลักษณ์พีเน็ตควบคู่ไปกับ พล.อ.สายหยุด เกิดผล มาตลอดหลายปี การได้รับเลือกเป็นว่าที่กกต.ครั้งนี้หลายคนจึงมองว่าเหมาะสมไม่น้อย

เช่นเดียวกับการที่กรรมการสรรหา ทั้ง 6 คนที่ประกอบด้วย นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการสรรหา นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนายกู้เกียรติ์ สุนทรบุระ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก และนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดส่งชื่อมา

ได้ลงมติเลือกนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นว่าที่ กกต.อีกคนหนึ่ง ทำให้รายชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 3 คน มีคนที่อยู่ในสายนักกฎหมายเต็มตัวอย่างนายบุญส่ง เข้ามาด้วยจึงเป็นการเติมเต็มที่ถือว่าลงตัวพอสมควร

เช่นเดียวกับการที่กรรมการสรรหา ป.ป.ช. ที่มีดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหา ที่ได้เลือกนายณรงค์ รัฐอมฤต ด้วยคะแนน 3 คะแนน เฉือนเต็งหนึ่ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังที่ได้ 1 คะแนนจึงกลายเป็นมติ 3 ต่อ 1

ที่บอกว่าเหมาะสมแม้คนส่วนใหญ่จะเสียดายที่ นางสุภาซึ่งสังคมเชียร์กันมากอยากให้ไปเป็น ป.ป.ช.หลังเห็นบทบาทการเป็นข้าราชการที่มีความกล้าในการให้ข้อคิดเห็นที่ไปทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่พอใจกับเรื่องการท้วงติงการดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าวเท่าที่ดูไม่เคยเห็นมีข้าราชการคนไหนกล้าเช่นนี้ผนวกกับเห็นว่า ป.ป.ช.น่าจะมีกรรมการที่มาจากสายพวกกระทรวงการคลัง-งบประมาณ-การตรวจสอบบัญชีเข้าไปนั่ง เป็นกรรมการ ป.ป.ช.กันบ้างเพื่อจะได้มีคนรู้เรื่องพวกนี้ไปเป็น ป.ป.ช.ทำงานเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรที่ ป.ป.ช.รับตรวจสอบไว้หลายเรื่องทั้งโครงการในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยและสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ

กระนั้นเมื่อมติออกมาเช่นนี้ก็ต้องยอมรับ เพราะสำหรับตัว นายณรงค์ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ประวัติการทำงานที่ผ่านมาก็ถือว่าใช้ได้พอสมควรแม้คนจะเสียดายในตัวนางสุภากัน แต่ณรงค์ก็เป็นลูกหม้อของสำนักงาน ป.ป.ช.ทำให้รู้ระบบงานของ ป.ป.ช.ดีจึงจะทำให้เมื่อเข้าไปทำงานแล้วจะไปสานต่อภารกิจต่างของ ป.ป.ช.ได้เลยไม่ต้องเรียนรู้งานอะไรใหม่ให้เสียเวลา

สรุปรวมถือว่ารายชื่อว่าที่ กกต.-ป.ป.ช.ที่เคาะกันมาถือว่าสอบผ่านใช้ได้ บางคนอาจโดนวิจารณ์กันบ้าง ก็ต้องให้โอกาสการทำงานกันไป
กำลังโหลดความคิดเห็น