xs
xsm
sm
md
lg

ส่งสัญญาณ “โหวตโน” กันทั้งประเทศ! ดีกว่าปล่อยให้ “ปูแดง” จัด “ผี” แอบใช้สิทธิเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทางสองแพร่งของคนไทย ควรจะเลือกไปลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่ “3 นักวิชาการ” ชี้ข้อดีและข้อเสียของการไปหรือไม่ไปเลือกตั้ง เชื่อการเดินเข้าคูหา “โหวตโน” มีผลดีรักษาสิทธิเลือกตั้ง แต่รัฐบาลจ้องจะใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรม แต่ถ้าเราจะใช้สิทธิ “โนโหวต” ไม่ไปเลือกตั้ง ระวังเจอ “ผี” สวมสิทธิเลือกตั้งได้ และถูกโจมตีเป็นพวกนอนหลับทับสิทธิ์!

ใกล้มาทุกทีแล้ว สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มกราคมนี้ และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์

อีกไม่กี่วันนี้แล้ว

แม้ฝ่ายแกนนำ กปปส. โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.จะประกาศไว้ว่าศึกการเมืองครั้งนี้จะต้องจบก่อนการเลือกตั้ง โดยต้องทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รักษาการนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และจะต้องไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเป็นเป้าหมายหลัก

แต่กระนั้น ก็เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่น่าจะยอม “ละทิ้ง” อำนาจในเชิงผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรลาออกเสียง่ายๆ ตามคำเรียกร้อง แถมยังมีข้ออ้างมากมายที่จะยังทำให้เวลาของการเดินไปสู่วันเลือกตั้งเดินหน้าต่อไป

คำถามก็คือว่า เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งมีจุดยืนแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิตามรัฐธรรมนูญเราต้องไปเลือกตั้งหรือไม่ และถ้าไม่ไปก็เป็นการแสดงพลังอย่างหนึ่งเหมือนกันหรือไม่ ผลดี ผลเสียของทั้ง 2 ประการคือ “โหวตโน-โนโหวต” เป็นอย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีกลุ่มเข้ามาสนับสนุนให้ประชาชนไปเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ด้วยการรณรงค์ติดริบบิ้นขาว จุดเทียน หรือชูป้าย Respect My Vote ก็ยิ่งทำให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่จะไปสนับสนุนการเลือกตั้งของรัฐบาล แล้วผู้ต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำอย่างไร ไปหรือไม่ไปเลือกตั้ง อันไหนดีกว่ากัน!
รศ.ดร.เจษฎ โทณะวณิก
“ผมคิดว่าควรไปเลือกตั้ง­-28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร ก็ต้องไป”

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ผมคิดว่าเราควรไปเลือกตั้ง ด้วยเหตุผล 3 ข้อคือ

1.การไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะ 3 ประการหลักได้แก่ จะเสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว., จะเสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. และเสียสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน โดยสิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น

2.เสียสิทธิในการแสดงพลังผ่านการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้การแสดงพลังผ่านตัวเลขการเลือกตั้ง โดยสามารถไปกาโนโหวตได้ แม้การกาโนโหวตจะทำให้เสียสิทธิเลือกตั้งคน 1 คนไป และไม่มีคนที่จะกล่าวอ้างได้ว่ามีผู้แทนราษฎรที่คุณเลือกเข้าไป แต่ข้อดีคือได้แสดงพลังว่า ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะเลือกคนเลวมาก เลวกลางๆ หรือเลวน้อยอีก แต่คือไม่เอานักการเมืองเลย ไม่ประสงค์จะลงคะแนน

โดยในมาตรา 88 และมาตรา 89 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2550 นี้ ยังระบุอีกว่าในเขตที่มีพรรคเดียว จะชนะการเลือกตั้งได้ จะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่โหวตโน (บัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง) ดังนั้นถ้ามีโหวตโนจำนวนมากกว่า กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่อีกรอบ ถ้ารอบที่ 2 โหวตโนยังเยอะกว่าอีก กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งในรอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย หากผู้สมัคร ส.ส.ยังได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าโหวตโนก็ถือว่าได้เป็น ส.ส.ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก

“ดังนั้นผมคิดว่าควรไปเลือกตั้งนะ ถึงแม้จะอยู่ใน 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ต้องไปบอกว่าจะมาใช้สิทธิ เพื่อแสดงพลัง”

ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง สิ่งที่ได้แน่ๆ คือได้สู้ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นเนื้อแท้ คืออำนาจอธิปไตยอยู่ในมือประชาชน แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ที่แสดงพลังได้เช่นกันจากการเลือกตั้ง
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง
“ควรไปเลือกตั้ง-โหวตโน”

อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ประเด็นของการไปเลือกตั้งที่สำคัญคือการ “โหวตโน” หมายความว่าไปเลือกตั้งเพื่อแสดงสิทธิ ซึ่งในบัตรเลือกตั้งจะมีช่องหนึ่งที่เขียนว่า “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” ซึ่งมักจะอยู่บริเวณมุมด้านล่างขวาของบัตรเลือกตั้ง โดยโหวตโนกับโนโหวตมีความหมายไม่เหมือนกัน การโหวตโน คือการแสดงเจตนาว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ทั้งพรรคการเมือง และคน เป็นการแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้ง ในเชิงทฤษฎีแล้วถือว่าเป็นการต่อต้านการเลือกตั้งโดยสันติวิธี และเป็นไปตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ

โหวตโน ข้อดีคือจะมีการบันทึกไว้ในข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสถิติ ว่ามีการใช้สิทธิไม่เลือกใครมากกว่าหรือน้อยกว่าผู้ที่ลงคะแนนเลือก ซึ่งเป็นการแสดงออกที่เป็นนัยทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ในแง่พรรคการเมืองจะมาอ้างเสียงข้างมากก็จะลำบาก แต่ข้อเสียคือรัฐบาลรักษาการชุดนี้จะนำมาอ้างในทันทีว่าประชาชนเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ดังนั้นคนที่รณรงค์ให้คนไปเลือกตั้งแต่โหวตโนต้องตอบให้ได้ว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่มาแสดงสิทธิตามวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

วิธีนี้ จะทำให้ประชาชนไม่เสียสิทธิทางการเมืองใดๆ ด้วย

ขณะที่ “โนโหวต” คือการตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้งเลย ก็แสดงออกทางนัยทางการเมืองได้เหมือนกันว่าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง และจะมีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของ กกต.เช่นกัน ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงคนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนี้จำนวนมาก และอาจมากกว่าคนไปใช้สิทธิ

แต่ข้อเสียจะมี 3 ประการสำคัญ คือ ประการแรก จะแยกไม่ออกว่าเป็นการโนโหวต หรือการนอนหลับทับสิทธิ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องคนละเรื่องกัน ซึ่งประเด็นนี้จะไปมีปัญหาที่การตีความของศาล ที่อาจจะตีความไม่เหมือนกันได้ ประการต่อมาจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า คืออาจมีคนสวมสิทธิไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้แทนได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ที่มีส่วนรู้เห็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และประการที่สาม การไม่ออกไปใช้สิทธิจะเสียสิทธิทางการเมือง ทั้งสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว., สิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และสิทธิที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว., สิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

ส่วนข้อกังวลของประชาชนตอนนี้คือถ้าไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิในส่วนของการลงชื่อถอดถอนรัฐมนตรี หรือลงชื่อไม่เห็นด้วยในประเด็นทางความมั่นคงต่างๆ เช่น เขาพระวิหารหรือไม่นั้น ในส่วนนี้ตนมองว่า ที่ผ่านมาการใช้สิทธิถอดถอนของภาคประชาชน หรือระบบเข้าชื่อนั้น ไม่ค่อยได้ผลอยู่แล้ว ไม่ควรไปสนใจมากนัก

แต่สำหรับตนแล้ว มองว่าควรไปเลือกตั้ง แล้วลงคะแนนที่ช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือโหวตโนจะดีกว่า เพราะข้อเสียน้อยกว่า และแก้ไขได้หากรัฐบาลจะอ้างว่าคนเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ค้านได้
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ
“ไม่ควรไปเลือกตั้ง รัฐบาลเตรียมอ้างความชอบธรรม”

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ คนที่ควรไปเลือกตั้งคือคนกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะการสมัครทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ คือคนกลุ่มที่ควรจะไปลงเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับว่าคนที่ไปเลือกตั้งนั้น ปัจจัยจะอยู่ที่จำนวนคนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่างเช่น คนมีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 40 กว่าล้านคน ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 20 กว่าล้านคน หรือเกินครึ่ง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทันที ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เหมือนที่รัฐบาลมีจุดยืน

“ไม่ต้องดูเนื้อหาเลย คนอาจจะไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย คนอาจจะโนโหวตทั้งหมด หรืออะไรก็แล้วแต่ ผลไม่สำคัญเท่ากับคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่าไร เกินครึ่งหรือไม่”

จากนั้นก็ไปดูในระดับเนื้อหาอีก ถ้าไปเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง แต่มีลงคะแนนโนโหวตสูงกว่า 10 ล้านคน คือสูงกว่าครึ่งหนึ่งของคนไปลงคะแนน ก็สะท้อนความไม่ชอบธรรมของการเลือกตั้งได้เหมือนกัน แต่ปัญหาคือคาดว่ารัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากคนที่ไปเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งไปแล้วมากกว่า เพราะรัฐบาลได้ประโยชน์

“ตอนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ประชาชนใช้สิทธิ 18 ล้านเสียง คนไปโหวตโน 9 ล้านเสียง 1 ล้านกว่าเสียง บัตรเสีย เท่ากับโหวตโนรวมกับบัตรเสียมากกว่าคนใช้สิทธิเลือกตั้งจริง ก็เท่ากับว่าการเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรม แต่รัฐบาลนี้ไม่สนใจ เพราะท่องอยู่ตลอดเวลาว่ามาจากการเลือกตั้ง”

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง หรือคิดว่าต้องปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง โดยเป็นผู้ที่ไม่ต้องการที่จะลงสมัครตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องไปเลือกตั้ง เพราะหากไปก็เท่ากับไปการันตีความชอบธรรมให้รัฐบาล ซึ่งการไม่ไปก็เป็นการแสดงออกถึงนัยทางการเมืองของประชาชน ว่าไม่ต้องการการเลือกตั้งได้เหมือนกัน เมื่อคนไปใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะคล้ายกับเหตุการณ์ในบังกลาเทศ

“จุดนี้จะทำให้การไม่ไปเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลได้สูงมาก”

หมายเหตุ : ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2550

มาตรา 88 ระบุว่า ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือน้อยกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้รับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เฉพาะตําแหน่งที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มากกว่าจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้ง และให้นําความในมาตรา 9 มาใช้บังคับ

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีจํานวนผู้สมัครเท่ากับหรือน้อยกว่าจํานวนตําแหน่งที่ต้องเลือกตั้งใหม่ ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และถ้ามีผู้สมัครผู้ใดได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอีก หรือได้ไม่มากกว่าจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยดําเนินการตามวรรคหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง ถ้ามีจํานวนผู้สมัครเท่ากับจํานวนที่ต้องเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเรียงตามลําดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเลือกตั้งใหม่นั้น โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้สมัครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งภายในระยะเวลาตามมาตรา 8
ในกรณีที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง หากปรากฏว่ามีผู้สมัครน้อยกว่าจํานวนที่ต้องเลือกตั้งใหม่หรือไม่มีผู้สมัคร ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบจํานวนและให้นําความในวรรคสองและวรรคสาม และความในส่วนที่ 5 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง 2. การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 89 ภายใต้บังคับมาตรา 88 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แต่ในเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเรียงตามลําดับลงมาในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น

ในกรณีที่มีผู้สมัครได้คะแนนเลือกตั้งเท่ากันอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลําดับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเลือกตั้งเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้งครบจํานวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งนั้นตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด
ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ขอบคุณภาพ : www.thaivoice.org

กำลังโหลดความคิดเห็น