xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” เงิบซ้ำ! ศาล รธน.ชี้ “เทือก” ชุมนุมสงบ ไม่สั่งห้าม-เตรียมสางปมแก้ ม.190-กู้ 2 ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง “เรืองไกร” ขอให้สั่ง “สุเทพ” ยุติชุมนุม ชี้เป็นการชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง สั่งรับกรณีภาคประชาชนขอให้วินิจฉัยแก้ไข รธน.ม.190 จำกัดอำนาจรัฐสภาในการเห็นชอบหนังสือสัญญา และวินิจฉัย พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท กรณีมีการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกันขัด รธน.ม.169 วรรคหนึ่ง และ ม.170 หรือไม่ พร้อมเตรียมกำหนดกระบวนวิธีพิจารณา

วันนี้ (11 ธ.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายคมสัน โพธิ์คง คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พรรคเพื่อไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยื่นขอให้วินิจฉัยการที่พรรคเพื่อไทยโดยนายจารุพงศ์ แถลงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.และการที่นายกรัฐมนตรีใช้เวลาไม่ถึง 3 วันนับแต่ได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.จากรัฐสภา นำร่างแก้ไขดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯโดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง และกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่มีมูลกรณีในการทำฝ่าฝืนในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขับไล่ระบอบทักษิณ นำมวลชนกระทำผิดกฎหมายรวมตัวกันเข้ายึดกระทรวงการคลัง ทำการตัดน้ำ ตัดไฟ ข่มขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐให้หยุดปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ เสนอระบบการปกครองใหม่ เช่น การจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีการซื้อเสียง กำจัดการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นสาเหตุให้ ส.ส.เข้ามาแสวงหาประโยชน์ การให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.ได้ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเพื่อให้เป็นตำรวจของประชาชน ทำให้ข้าราชการอยู่ในระบอบคุณธรรมไม่เล่นพรรคเล่นพวก กำหนดให้ปัญหาพื้นฐานเช่นการคมนาคม ความเป็นอยู่ การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะจัดตั้งสภาประชาชนที่มาจากทุกสาขาอาชีพ สร้างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในฝันของประชาชนนั้น เข้าข่ายเป็นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งให้นายสุเทพ เลิกการกระทำที่จะตั้งสภาประชาชน และสร้างนายกฯและรัฐมนตรีในฝัน รวมถึงมีคำสั่งให้นายสุเทพเลิกกระทำการตามฐานความผิดในหมายศาลอาญาที่ 2363/2556 ที่ศาลได้มีออกหมายจับนายสุเทพด้วย

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ส่วนการยึดสถานที่ราชการก็ไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว และสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่มีมูลกรณีเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนประเด็นคำขออื่นไม่จำต้องพิจารณา

นายพิมล ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะตุลาการฯยังได้มีการพิจารณาคำร้องที่นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี กับพวกรวม 314 คน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ดำเนินการเสนอญัตติและร่วมดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จำกัดอำนาจของรัฐสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาของฝ่ายบริหารให้น้อยลง โดยกระบวนการพิจารณาแก้ไขของที่ประชุมรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีการรีบปิดอภิปราย ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองประเทศ และกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เห็นว่ากรณีมีมูลเป็นกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามมารัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง

รวมถึงยังได้มีการพิจารณากรณีประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกรวม 2 คำร้องกรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.. มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่งและมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรมีการกดบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า ทั้ง 2 คำร้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) จึงมีคำสั่งให้รับไว้พิจารณาวินิจฉัย

โดยในส่วนของ พ.ร.บ.เงินกู้นี้ หลังจากนี้คณะตุลาการฯจะมีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาคดีว่าจะต้องมีการเรียกข้อมูลเอกสารหรือต้องเรียกบุคคลใดมาชี้แจงหรือไต่สวนเพิ่มเติม หรืออาจจะต้องมีการเชิญนักวิชาการที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ เนื่องจากในคำร้องมีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการตราร่างพระราชบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของสภาผู้แทนราษฎรมีการกดบัตรแสดงตนแทนกันและลงคะแนนแทนกัน ซึ่งแนวทางการพิจารณาคดีจะเป็นรูปแบบใดคงต้องรอการพิจารณาจากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น