xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง” ขี้ข้า “ทักษิณ” สั่ง 1 ทำให้ 10!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาธิปัตย์ออกยกพรรค เดินเครื่องล้างระบอบทักษิณ คนในประชาธิปัตย์มองเกมที่รัฐบาลเปลี่ยนตัว ศอ.รส. มาเป็น สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ต้องการให้เกิดความรุนแรง เพราะสนองทักษิณสุดขั้ว สั่ง 1 ทำให้ 10 ชี้งานนี้ “ปึ้ง” อาจติดคุกแทนทักษิณ ด้านนักวิชาการประเมินรัฐใช้กฎหมายขู่ ยันปิด “บลูสกาย” ไม่ได้ เหตุอำนาจอยู่ที่ กสทช. ส่วนวิธีตัดท่อน้ำเลี้ยงระบุไม่มีใครเขาทิ้งหลักฐานไว้ ส่วนช่องทางหนีของรัฐบาลหากยังหวังพึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศระวัง “ทักษิณ” โดนก่อนคดีกรือเซะ
 สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ
การเปลี่ยนตัวบุคคลที่เข้ามากำกับดูแลหน่วยงานของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จาก พล.ต.อ ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี มาเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มากำกับดูแลงาน ศอ.รส. แทนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 นั้น มีผลต่อวิธีการทำงานของ ศอ.รส. เช่นกัน โดยเฉพาะการจัดการกับกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบทักษิณที่ออกมาในเชิงรุกและกร้าวแข็งมากขึ้น

ทั้งในเรื่องการออกหมายจับแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้านจนทำให้ผู้ชุมนุมสามารถปักหลักได้จนถึงวันนี้ รวมไปถึงผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ที่เป็นแกนหลักในการถ่ายทอด

ที่สำคัญมีการดึงคดีนี้ไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินการอย่างรีบด่วนในข้อหากบฎ

“ธาริต เพ็งดิษฐ์ (อธิบดีดีเอสไอ) มีการประชุมแจ้งให้ทีมงานรับรู้ว่าจะต้องดำเนินการอะไรไว้พร้อมแล้ว มันจะง่ายมาก และ ครม.ยังตั้ง จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นคนของระบอบทักษิณ เข้ามานั่งเป็นกรรมการดีเอสไอ”

แหล่งข่าวบอกว่า การได้จุลสิงห์มานั่งเป็นกรรมการดีเอสไอ จะยิ่งทำให้คดีของบรรดากบฏเหล่านี้ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น เพราะมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาชี้แนวทางข้อกฎหมายในการจัดการได้อย่างรอบคอบ รวดเร็วในทุกแง่ทุกมุม

ขณะเดียวกันนายสุรพงษ์ ในฐานะกำกับดูแล ศอ.รส. ยังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำแผน และประสานงาน มี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นประธาน คณะที่ 2 คือคณะกรรมการการกฎหมาย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน คณะที่ 3 เป็นคณะกรรมการดูแลประชาชน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน สุดท้ายเป็นคณะกรรมการประสานด้านการข่าวและสารสนเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เป็นประธาน

อย่างไรก็ดี การจัดการม็อบครั้งนี้ นายสุรพงษ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก็พยายามอย่างยิ่งที่จะดึงต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง จนเกิดกระแสข่าวลือออกมาว่ารัฐบาลมีไพ่ใบสุดท้ายให้มีการเตรียมการภายใต้การแนะนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ว่าหากมีการนองเลือดและรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพลี่ยงพล้ำจะมีการใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เพราะวันนี้รอเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยลงนามก็จะมีผลบังคับใช้ได้ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยคนในตระกูลชินวัตรได้ด้วย

เอาทูตเป็นตัวประกัน

ดังนั้นปฏิบัติการในเชิงรุกของรัฐบาลที่เปลี่ยนตัวผู้ดูแล ศอ.รส. มาเป็นนายสุรพงษ์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ทำงานตอบสนองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนิดถวายหัวมาโดยตลอด และด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวและพร้อมดำเนินการตามกฎหมายที่รัฐบาลกุมไว้ในมือ

นอกจากนี้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็พยายามใช้ช่องทางของกระทรวงด้วยการเชิญทูตตจากต่างประเทศมาฟังบรรยายสรุปถึงสถานการณ์การเมืองไทยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ธันวาคม 2556 แต่มีการแจ้งยกเลิกก่อน 1 วัน จากนั้นเมื่อทาง กปปส.กำหนดวันนัดเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ นายสุรพงษ์ได้เชิญคณะทูตนานาชาติประจำประเทศไทย 60 ประเทศ ร่วมสังเกตการณ์มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 9 ธันวาคมด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการเดินเกมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น พร้อมๆ กับการดึงเอานานาชาติเข้ามาเป็นเกราะกำบังและเอามาเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล ซึ่งไม่ต่างกับการเอาบรรดาทูตต่างๆ มาเป็นตัวประกันของรัฐบาล เพียงเพื่อหวังสร้างความได้เปรียบให้กับรัฐบาล

ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกวางตัวให้แสดงบทบาทผู้นำที่อ่อนน้อม พร้อมจะลาออกและยุบสภา นับเป็นความแตกต่างกันในท่าทีของบุคคลฝ่ายรัฐบาล ที่กำหนดภาพให้ดูเหมือนพร้อมจะถอยจากการที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาล แต่อีกภาพหนึ่งกลับดูเหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ความเข้มข้นของการต่อต้านรัฐบาลยังถูกเพิ่มเข้าไปอีก หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติลาออกกันทั้งหมดเมื่อ 8 ธันวาคม 2556 หลังจากมีการแยกกันเดินระหว่าง 9 แกนนำที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งเงื่อนไขดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ที่อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรเคยตั้งเงื่อนไขไว้ โดยที่อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรได้ประกาศเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวในวันที่ 9 ธันวาคมนี้

ดังนั้นในวันที่ 9 ธันวาคมนี้นับเป็นการรวมพลครั้งใหญ่อีกครั้งของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่ถนนทุกสายจะเคลื่อนพลไปยังทำเนียบรัฐบาล สัญลักษณ์ในการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจากการปะทะกันของฝ่ายที่ต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาลจึงมีความเป็นไปได้สูง ภายใต้การเปลี่ยนตัวผู้กำกับดูแล ศอ.รส. คนใหม่

สุรพงษ์อาจติดคุกแทนทักษิณ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเปลี่ยนตัวผู้ดูแล ศอ.รส.มาเป็นนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นั้น ถือเป็นการเลือกตัวบุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณเห็นว่าสามารถตอบสนองความต้องการของตัวเขาได้อย่างสุดขั้ว

สอดคล้องกับความเห็นของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ประชาอาจมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาก่อน ดังนั้นอาจมีการยับยั้งชั่งใจในบางเรื่อง จึงไม่เป็นที่ถูกใจ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อสั่งมาให้นายสุรพงษ์ขึ้นทำหน้าที่แทน คนประเภทนี้สั่ง 1 ทำให้ 10 ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ และสิ่งที่จะตามมาคือนายสุรพงษ์อาจจะติดคุกแทนทักษิณ

นายนิพิฎฐ์กล่าวต่อว่า แม้ว่าที่ผ่านมานายสุรพงษ์จะเคยอยู่ในสังกัดของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเราก็รู้ฝีมือกันอยู่ว่ามีความรู้ความสามารถแค่ไหน เมื่อย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยก็ต้องแสดงให้สมบทบาท เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจนกลายเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 รองจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์

เมื่อเข้ามารับผิดชอบใน ศอ.รส. ก็ต้องเดินเครื่องโชว์ว่าดำเนินการได้ตามที่นายต้องการ ข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นเอาผิดได้ยากและยังไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะชี้ได้ว่าการกระทำที่ผ่านมาของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นกบฏ สิ่งที่นายสุรพงษ์ทำเป็นเพียงแค่การเอากฎหมายมาขู่เท่านั้น

“สำหรับข้อกล่าวหาจาก ศอ.รส.นั้น ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย เมื่อกล่าวหากันมาก็ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อสู้กัน” นายชวนนท์กล่าว

นายนิพิฎฐ์ประเมินถึงสถานการณ์จากนี้ไปว่า โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงนั้นต้องยอมรับว่าการจะเปลี่ยนแปลงประเทศโดยไม่รุนแรงเลยเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งคิดว่าการตั้งนายสุรพงษ์ขึ้นมา การต่อสู้จะยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลนั่นเอง

เช่นเดียวกับนายชวนนท์ที่มองว่า โอกาสของการเกิดความรุนแรงก็มีโดยเฉพาะจากกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อาจวางยุทธศาสตร์ไว้ว่าไม่เคลื่อนไหว แต่อาจมีกองกำลังอีกส่วนหนึ่งลอบเข้ามาดำเนินการ

ยกข้อหา-แค่ขู่

ด้าน นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ สะท้อนภาพของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไม่แตกต่างจากอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนภาพความไม่ไว้วางใจพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ดังนั้นจึงใช้บุคคลอย่างนายสุรพงษ์ที่เป็นนักการเมืองเต็มตัว ซึ่งที่ผ่านมาตอบสนองความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคืนพาสปอร์ตหรือเรื่องของข้อพิพาทกับประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นมาได้

ส่วนการเตรียมดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น หากเป็นเรื่องของสถานีโทรทัศน์บลูสกาย การปิดคงทำไม่ได้เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงเท่านั้น จึงไม่มีอำนาจในการสั่งปิด

ขณะที่การจะไปตรวจสอบเรื่องผู้ให้ทุนสนับสนุนนั้น ต้องให้กฎหมายการฟอกเงินเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีใครเขาโอนเงินให้กันทางบัญชีครั้งละมากๆ อยู่แล้ว ทุกคนก็หิ้วเงินสดกันมาทั้งนั้น ดังนั้นประเด็นนี้จึงดำเนินการได้ไม่ง่ายนัก หรือความพยายามที่จะใช้ตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชิญทูตเข้ามาสังเกตการณ์นั้น ทูตส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองภายในประเทศ ต่างก็พยายามสงวนท่าทีทั้งสิ้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
แบ่งหน้าที่เล่นตามบทบาท

แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้วางยุทธศาสตร์กำหนดให้แต่ละคนเล่นตามบทที่ได้รับมอบหมาย อย่างนายกรัฐมนตรีน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เล่นบทอ่อน พร้อมถอย หรือพยายามไม่ให้น้องสาวเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อาจถูกดำเนินคดี ซึ่งเห็นจากการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้าสภาฯ น้อยมาก ส่วนคนที่เล่นบทบู๊ไม่สมบทบาทก็ต้องเปลี่ยนตัวอย่างเช่น พล.ต.อ ประชา มาเป็นนายสุรพงษ์

สำหรับภาพกองหนุนอย่างคนเสื้อแดงก็ให้เล่นบทเรียบร้อย เห็นได้จากก่อนหน้านี้เวทีของคนเสื้อแดงจะใช้ถ้อยคำว่าเวทีสุภาพบุรุษ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้เกมเสียงข้างมากในสภาฯ ผ่านทั้งตัวประธานสภาฯ อย่างนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และประธานวุฒิสภาอย่างนายนิคม ไวยรัชพานิช เข้ามาเบรกเกมของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์ในสภาฯ ออกมาดูแล้วใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้อย่างกรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สนามราชมังคลาฯ ที่ผ่านมา แม้จะมีการปะทะกับนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่คนที่ออกมาปฏิบัติการนั้นมีการอำพรางตัวเข้ามาทำร้ายนักศึกษา เพื่อเป็นการตัดตอนว่าเป็นการกระทำของบุคคลเสื้อแดง เรื่องแบบนี้พวกเขาวางแผนกันมาก่อน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อย่าหวังเรื่องศาลระหว่างประเทศ

สำหรับไม้ตายอีกด้านหนึ่งของรัฐบาล หากการปะทะกันของฝ่ายที่ต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาลนั้น รัฐบาลอาจดึงเครื่องมืออย่างศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยการเร่งลงสัตยาบรรณรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาซึ่งอาจเป็นฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลไทย

เรื่องนี้นายชวนนท์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลลงสัตยาบรรณกับศาลอาญาระหว่างประเทศจริง คนที่จะโดนฟ้องร้องก่อนนั่นคือทักษิณ ซึ่งคดีที่กรือเซะ ตากใบนั้นเข้าข่ายของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ลงนามก็เพราะเรื่องนี้

เช่นเดียวกับนักวิชาการจากกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นไม่เข้าข่ายในการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ถ้ารัฐบาลลงสัตยาบรรณเมื่อไหร่ มีคนที่จ้องยื่นเรื่องของทักษิณอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลเพื่อไทยจึงไม่กล้าลงสัตยาบรรณ

ทั้งนี้ขอบเขตในการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศคือ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน แม้ที่ผ่านมากลุ่มเสื้อแดงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งลงนามกับศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้สั่งการในปี 2553 แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่คนเสื้อแดงต้องการ

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าหากเกิดการนองเลือดขึ้นจริงและรัฐบาลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้นั้น รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะงัดไพ่ใบสุดท้ายด้วยการสั่งให้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีต่างประเทศ ลงนามศาล ICC จริงหรือไม่!

กำลังโหลดความคิดเห็น