ถกเถียงกันพอสมควรกับอำนาจมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ได้ประกาศว่า ทำการยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นรัฐบาลโมฆะแล้ว คือ การให้อำนาจไปสู่ประชาชนโดยตรงอีกครั้ง
ขณะเดียวกันในทางหนึ่งเป็นประเด็นต่อยอดให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 7 นายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยความเป็นจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทาง ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการฝีปากคม อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงประเด็นดังกล่าว รวมไปถึงวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่าจะเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปประเทศได้หรือไม่
- มาตรา 3 ในตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจกลับคืนไปสู่ประชาชนสามารถใช้ได้หรือไม่
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนตามโครงสร้างอำนาจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งประกอบไปด้วย ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการและองค์กรอิสระ แต่ถึงอย่างไรอำนาจที่กล่าวมาก็มาจากประชาชนก่อน ถ้าส่วนใดประพฤติไม่ชอบก็มีสิทธิ์ถูกตรวจสอบ โดยหลักแล้วอำนาจอธิปไตยของปวงชนมาจาก สัญญาประชาคม หมายถึง ทฤษฎีสัญญาประชาคม อันเป็นนัยตามหลักกฎหมายธรรมชาติ มีลักษณะเป็น สำนึกของจริยธรรม ที่ผู้ปกครองควรตระหนักถึง ที่มี โทมัส ฮอบส์ จอห์น ล็อก ฌ็อง-ฌัก รูโซ เป็นคนริเริ่มแนวคิด ประเด็นนี้หมายความว่าหากรัฐบาลใช้อำนาจโดยกดขี่ขมเขงประชาชน หรือใช้อำนาจโดยเห็นแก่ตัวแล้วประชาชนมีสิทธิ์ถอดถอน ซึ่งใช้อำนาจนั้นได้รวมไปถึงใช้กำลังถ้ามีความจำเป็น เนื่องจากรัฐบาลได้ฉีกสัญญาของประชาชนในการใช้อำนาจไม่ชอบ
ขณะเดียวกัน ประชาชนก็อาจตั้งคำถามได้ว่าหากเกิดการเลือกตั้งขึ้นมาอีก นักการเมืองก็จะเข้าสู่แบบเดิมคือเข้ามาโกงกิน ใช้อำนาจไม่ถูกไม่ควร ดังนั้นประชาชนก็อยากที่จะแก้กติกาก่อน โดยปกติรัฐก็ต้องเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา แต่ตอนนี้ประชาชนเห็นว่าขาดการไว้วางใจ กระบวนการจึงต้องย้อนกลับมาสู่ประชาชนเองก็จะเข้าล็อคตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลหมดความชอบธรรมประชาชนมีสิทธิ์ใช้อำนาจตามมาตรา 3ได้
มาตรา 3 จึงสามารถใช้ได้เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลายครั้งที่ฝ่ายเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยก็นำมาอ้างตลอดเวลา ตอนที่ละเมิดอำนาจศาล 9ข้อ ที่ข้อแรกอ้างเลยว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ตอนที่กลุ่มเสื้อแดงไปไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อ้างว่าจะเอาอำนาจกลับคืนมาเป็นของประชาชน กล่าวคือมาตรา 3เป็นหลักการที่จะอธิบายสัญญาประชาชมที่ยกตัวอย่างไป
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหมายถึงประชาชนจะใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง ในเงื่อนไขตามปกติสภาประชาชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ในปัจจุบันเป็นภาวะที่ไม่ปกติเกิดปัญหาทางการเมืองซึ่งประชาชนไม่ยอมรับอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ เนื่องจากองค์กรทั้งสองส่วนแทรกแซงอำนาจตุลาการ ซึ่งประชาชนมองว่ากำลังล้มล้างอำนาจที่จะตรวจสอบอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาชนก็ไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่มิชอบและจึงอยากเรียกคืน แต่เรียกคืนในที่นี้มันเดินไปทางการเมืองที่ค่อนข้างสับสนตามปกติที่ไม่สามารถใช้ได้ ถ้ากลับไปใช้แบบเดิมก็จะเกิดปัญหามาวนที่เดิมอีก เงื่อนไขคือเกิดการยุบสภา นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในการรักษาการ แต่ในประเทศจะขาดผู้บริหารไม่ได้จึงต้องมีการตั้งนายกฯ แต่หากยุบสภาไปแล้วก็ไม่สามารถตั้งนายกฯได้ ดังนั้นประชาชนจึงเสนอช่องทางที่มาจากเขาโดยตรง การเกิดสภาประชาชนจึงติดขัดอยู่ที่เงื่อนไขตรงนี้เพราะยังมีการรักษาการอยู่ แต่อย่างไรเสียสภาประชาชนก็ยังต้องมีนายกฯ แต่ว่าจะยาวนานเท่าใดก็ต้องมี
- รัฐบาลบอกว่ามาตรา 3 ใช้ไม่ได้และได้ยกมาตรา 171 ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง
รัฐบาลก็บอกว่าจะต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรืออะไรก็ตามที่รัฐบาลยกมาคือการไหลไปตามกระบวนการแบบเดิมที่มีอยู่ แต่ว่าประชาชนที่ออกมาเขาไม่ต้องการแบบนั้น ต้องการให้อำนาจย้อนกลับมาที่ประชาชน ประชาชนก็อยากกำหนดใหม่ เช่นจะตั้งสภาประชาชนว่าทำได้หรือไม่แต่ในเงิ่อนไขปกติที่ผ่านมามันไม่สามารถทำได้
- การที่ต่างฝ่ายมองกฎหมายคนละมุมทำให้เกิดปัญหา
ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่เกิดการโต้เถียงกันแบบนี้สุดท้ายอยู่ที่ว่าประชาชนจะยอมรับหรือเปล่า หลักการของกฎหมายก็คืออยู่ที่ประชาชนยอมรับกฎหมายนั้นหรือไม่ ถ้ากฎหมายออกมาแบบไม่เป็นธรรมประชาชนก็ยอมรับไม่ได้และประชาชนมีหน้าที่ที่จะไม่เคารพกฎหมาย คนที่พูดก็คือโทมัส เจฟเฟอสัน พูดในสมัยที่ประเทศอังกฤษออกกฎหมายภาษีต่างๆที่ประชาชนไม่ยอมรับ แนวคิดนี้เป็นรากฐานของการต่อต้านโดยสันติวิธี ของรัฐธรรมนูญมาตรา 69 อย่างไรก็ดีการใช้รัฐธรรมนูญมันมีมุมทางประวัติศาสตร์ที่เราสามารถจะนำมาใช้ได้หลายอย่าง
- รัฐบาลประกาศยุบสภามาแล้ว สถานการณ์จะไปอย่างไรต่อ
คงต้องเป็นไปในแนวทางนี้ ยกเว้นแต่เกิดถูกปปช.ชี้มูลปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็ตั้งนายกฯใหม่ไม่ได้ การใช้อำนาจต่างๆในทางอื่นก็จะมีปัญหา
- มองสภาประชาชนขณะนี้อย่างไร
คงจะมีแนวคิดอยู่ แต่อาจยังไม่เผยออกมาถ้าเผยออกมาตอนนี้คงจะสับสน มันเป็นจุดอ่อนที่จะโดนโจมตีมากกว่าที่จะเฉลย สู้ถึงเวลาที่ถึงเวลาแล้วเผยออกมาจะดีกว่าจะลดปัญหาการโต้แย้งไปได้เยอะ ขณะนี้เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดสภาประชาชนอยู่ที่เงื่อนไขของประชาชนจะมากน้อยแค่ไหน
- ประเทศอื่นเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้บ้างหรือไม่
เคยเกิดขึ้นแต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องตั้งสภาประชาชน อาทิในปี 1958 ปัญหาการเมืองในประเทศแอลจีเรีย ปัญหาการเมืองประชาชนขับไล่รัฐบาลฝรั่งเศษ จนเกิดการนองเลือดจนรัฐสภาต้องยอมถอย ให้มีการปฏิรูปวางเงื่อนไขตั้งแต่นั้นมาประเทศฝรั่งเศษก็ไม่ได้มีปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนประเทศไทยเกิดปัญหาตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญเดิมก็ยังอยู่ ประชาชนก็จะเอาแบบนี้ รัฐบาลไม่ยอมออกจากอำนาจ ลักษณะแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมใหม่ในบ้านเรา
- หากรัฐบาลไม่ยอมให้เกิดสภาประชาชนเหมือนกับว่าคนเสื้อแดงคงไม่เอาด้วยอาจเกิดปัญหา
ไม่เอาด้วยก็ไม่เป็นอะไร ปัญหาก็คงไม่เกิดหากไม่มีคนไปปลุกให้ลุกขึ้นมา ปัญหาคือออกมาด้วยความรุนแรงถ้าออกมาด้วยสันติ อหิงสาก็ไม่มีใครว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ที่ผ่านมาเขาใช้วิธีความรุนแรงนำมาเสมอ ต้องออกมาให้ถูกหลักการ
-การหยิบยกมาตรา 7 นายกฯพระราชทานจะแก้ปัญหาการเมืองไทยขณะนี้ได้แค่ไหน
น่าจะแก้ได้ในระดับหนึ่ง โดยที่ว่ามีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนกลางที่เป็นที่ยอมรับ เป็นคนที่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา รู้โจทย์ว่าแต่ละปัญหาคืออะไร อย่างไรก็ตามจะอาศัยกลไกของนายกฯคนกลางอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยกลไลของสภาด้วย นอกจากนั้นต้องนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กระบวนการยุติธรรม ซึ่งโครงสร้างตรงนี้สำคัญยิ่งกว่าตัวนายกฯ ต้องจัดโครงสร้างการมีส่วนร่วมให้สมดุล ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับต่างๆต้องยอมรับว่าการออกแบบไม่ได้ดีนัก
- สถานการณ์มาถึงขณะนี้การปฏิรูปดูจะยากกว่าสมัยก่อน เนื่องจากประชาชนเกิดความแตกแยก
ยากกว่า แต่ว่าข้อดีคือมีจุดเริ่มที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเพื่อต้องการการปฏิรูปพูดเป็นเสียงเดียวกันข้อโต้แย้งก็อาจจะลดลง อยู่ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะยอมแค่ไหน
- การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้หรือยังหากดูในช่วงเวลานี้
ยังไม่เกิดต้องอาศัยระยะเวลาอีก ติดอยู่ที่ผู้มีอำนาจไม่ยอม มองในส่วนของประชาชนต้องยอมรับว่ายังมองปัญหาการเมืองไม่ขาดและตกผลึก ฉะนั้นการคิดโครงสร้าง รูปแบบ ต้องอาศัยผู้มีความรู้มีความสามารถ คนที่เชี่ยวชาญมาออกแบบ อาศัยคนเป็นล้านมาออกแบบไม่ได้เนื่องจากต่างคนต่างความคิดเห็น ประชาชนจึงต้องมอบความไว้วางในให้แก้ปัญหาให้ อย่างไรก็ตามคงจะไม่ใช่เวลาอันใกล้นี้
- สถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป
คาดเดาไม่ได้ เพราะต้องดูรัฐบาลเป็นหลัก ฝ่ายประชาชนกดดันให้ลาออกรัฐบาลก็เลือกหลบเลี่ยงไปเรื่อยๆ จะขอโทษก็ไม่ขอโทษ จะทำอะไรก็ไม่ทำ แม้จะถอยก็ไม่ได้ถอยจริง บอกไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่ก็ไม่เคยให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ขณะนี้รัฐบาลก็ดูเหมือนว่าจะต้องการการเลือกตั้ง ผมมองว่าไม่ได้ได้เปรียบเท่าใดนัก เข้าใจว่าอาจต้องใช้เงินมหาศาลในการเลือกตั้งคราวนี้
- จำนวนคนหลักล้านกับยุบสภา คุ้มค่าแค่ไหน
อยากให้มองว่าประชาชนยังได้ไม่ถึงเป้า การบังคับคนหน้าด้านเป็นเรื่องยากถ้าคนมีจริยธรรมมีคุณธรรมออกไปนานแล้ว
- มองการต่อสู้ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาถูกทางแล้วหรือไม่
เป็นการแสดงออกโดยสันติวิธี แต่จะให้ทำอย่างไรก็คงไม่ได้มากไปกว่านี้ จะว่าไปแล้วคุณสุเทพไม่ได้ล้ำหน้ามวลชนค่อยๆไล่สเต็ปขึ้นมา วิธีที่ประสานกับข้าราชการทั้งหลายก็ดีแต่อาจต้องเป็นทางการ อาจจะได้ประโยชน์ขึ้นมาบ้าง
- การชุมนุมที่ผ่านมาในมุมของประชาชนถือเป็นชัยชนะมากน้อยแค่ไหน
ชนะครึ่งเดียวถ้าชนะเต็มที่คือต้องได้การปฏิรูปประเทศไทย มองว่าที่ผ่านมาเป็นการแสดงออกที่ชัดเจน บันได 3 ขั้น คือกำขัดเครือข่ายบริวารของทักษิณ ชินวัตร เมื่อจัดการแล้วก็ต้องให้รัฐบาลพ้นจากการรักษาการและตั้งสภาประชาชน สุดท้ายคือการปฏิรูปประเทศ ตอนนี้คงผ่านมาครึ่งเดียวประชาชนต้องอดทน การที่ประชาชนออกมาคือการมองเห็นประเด็นปัญหาร่วมกัน มองว่าต่อไปม็อบก็ยังถูกจุดติดอยู่แต่อาจจำนวนไม่ได้มากตามที่ต้องการได้ ต่อไปอาจจะต้องมีข้อรวบรัดในเรื่องต่างๆมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนฝ่ายรัฐบาลเสียกระบวนท่าไปเยอะแต่ก็ยังไม่แพ้
- รัฐบาลมีทางออกทางใดบ้าง
ทางออกของรัฐบาลมันเลยไปหมดแล้ว ยุบสภาก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ทางออกของรัฐบาลมีอย่างเดียวคือยอมทำตามที่ประชาชนเรียกร้องจากการรักษาการแล้วคุณจะอยู่ได้คนหนึ่งเทียบกับหลายๆคนที่อยู่ไม่ได้ หากยังดื้อตาใสเหตุการณ์อาจเดินหน้าไปสู่ความรุนแรงอีกในอนาคตได้