xs
xsm
sm
md
lg

ดึง “อียู” ปูทางสร้างความตระหนักวิทย์ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ฌ็อง-พอล แวงเดอลินเดน
ไทย-อียู จับมือเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากยุโรปปูทางสร้างความตระหนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย ด้าน ผอ.สวทช.เผยปัญหาผู้ปกครองยังไม่อยากให้ลูกเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะมองไม่เห็นอนาคต ส่วนผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสเผยยุโรปยังมีปัญหาเรื่องให้ความสำคัญวิทยาศาสตร์ประยุกต์มากกว่าการสร้างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ โครงการร่วมมือหารือทางนโยบายระหว่างไทยและสหภาพยุโรป สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป” เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.56 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมในงานดังกล่าว ซึ่งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์มาบรรยายถึงแนวทางการสร้างความตระหนักวิทยาศาสตร์แก่ประชาชน

ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวถึงการประชุมดังกล่าวว่า ทางสหภาพยุโรป หรือ อียู ต้องการสร้างกรอบความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์กับไทย จึงได้เสนอเรื่องการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นหัวข้อหลักในการประชุม เพื่อให้ทางอียูที่มีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการทำหนังสือ ตำรา หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มาช่วยไทยสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชน

สำหรับปัญหาเรื่องความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยนั้น ผอ.สวทช.กล่าวว่า ไทยยังต้องสร้างครูที่สามารถสอนและถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุกสนาน ไม่เห็นเป็นเรื่องยาก และอีกปัญหาคือผู้ปกครองไทยยังมองไม่เห็นว่า หากให้ลูกหลานเรียนวิทยาศาสตร์แล้วจะไปทำงานทางด้านใด ซึ่งการเปิดรับตำแหน่งด้านวิทยาศาสตร์ควรต้องมีมากขึ้น เมื่อมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ มากขึ้น ก็ทำให้ฐานเงินเดือนของนักวิทยาศาสตร์สูงขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันไทยยังขาดแคลนผู้สร้างเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงต้องสร้างความตระหนักเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ

ส่วน ศ.ฌ็อง-พอล แวงเดอลินเดน (Jean-Paul Vanderlinden) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแวร์ซายส์แซงต์-ก็องแต็ง-ออง-อีฟลีน (University of Versailles Saint-Quenin-en-Yvelines) ฝรั่งเศส กล่าวว่า สำหรับยุโรปนั้นประชาชนทั่วไปตระหนักดีถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ แต่ต้องพิจารณาต่อว่าแต่ละคนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในระดับไหน

โดยส่วนตัว ศ.แวงเดอลินเดน คิดว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายของยุโรปที่เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ประยุกต์มากกว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ต้องพึ่งพิงการพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นอย่างมาก และแม้ว่าอียูจะมีงบเพื่อการวิจัยพื้นฐานแต่ก็ไม่มากนัก และเมื่อขอการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนต่างๆ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร จึงต้องทำให้ประชาชนและนักการเมืองตระหนักว่าต้องลงทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาบรรยายถึงการสร้างความตระหนักวิทยาศาสตร์ให้ผู้กำหนดนโยบายยังเข้าใจถึงปัญหาที่ไทยยังไม่เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากนัก และยังให้ความเห็นในเรื่องวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) ที่เติบโตควบคู่กับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า สำหรับประชาชนในยุโรป ตระหนักดีว่าวิทยาศาสตร์เทียมนั้นไม่ใช่วิทยาศาสตร์แท้ และผลักไปอยู่อีกด้านของวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีปัญหาว่าวิทยาศาสตร์เทียมเริ่มเข้ามาครอบงำประชาชนในรูปแบบของการอ้างอิงศาสนา ซึ่งกลายเป็นเรื่องของลิทธิความเชื่อ

ส่วนวิธีการแยกแยะวิทยาศาสตร์แท้กับวิทยาศาสตร์เทียม ศ.แวงเดอลินเดน กล่าวว่า หากมีใครอ้างตัวว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ อย่าเพิ่งเชื่อในทันที แต่ต้องพิจารณาว่าคนๆ นั้นได้รับการรับรองจากประชาคมวิทยาศาสตร์ว่า เขาคือนักวิทยาศาสตร์จริงๆ และประชาชนต้องไม่มองแค่ภายนอกว่าคนที่สวมชุดกราวน์สีขาวนั้นคือสัญลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ เพราะความเป็นนักวิทยาศาสตร์วัดจากการกระทำ

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสยังให้ความเห็นว่า วิทยาศาสตร์และความเชื่อพื้นฐานในสังคมไม่ควรจะขัดแย้งหรือทำลายล้างซึ่งกัน ยกตัวอย่างเช่น ชาวยุโรปมีความเชื่อทางศาสนาว่าพระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน แต่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง ถึงอย่างนั้นวิทยาศาสตร์ก็ไม่ควรพยายามหักล้างความเชื่อดังกล่าวจนแตกหักกันไปข้าง แต่ควรส่งเสริมกันและกันและเดินคู่กันไปในสังคม

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล






กำลังโหลดความคิดเห็น