หมอชนบทงัดเหตุผล 12 ข้อ จวก “หมอประดิษฐ” แซบถึงทรวง ขาดความเหมาะสมเป็น รมว.สาธารณสุข และควรพ้นไปจากตำแหน่ง ทั้งทำให้หน่วยงานอ่อนแอลง ทำลายความมั่นคงด้านยา ทำลายตระกูล ส.มีผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดธรรมาภิบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชมรมพทย์ชนบท ได้แจงเหตุผล 12 ข้อ ที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดความเหมาะสมและควรพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนี้
นับตั้งแต่ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปลายปี 2555 ต่อจาก นายวิทยา บูรณศิริ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพและบริการสาธารณสุขทั้งหลายทั้งปวง นับตั้งแต่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัย, ภาคเอกชน, ภาคท้องถิ่น และภาคประชาชน ต่างเฝ้าจับตามองว่ารัฐมนตรีด้อยประสบการณ์ คนใกล้ชิดในเชิงธุรกิจของนายกฯยิ่งลักษณ์คนนี้จะขับเคลื่อนองคาพยพต่างๆ ที่ผูกโยงเข้าเป็นเครือข่ายของระบบบริการสาธารณสุขไปอย่างไร
ผลงาน 8-9 เดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิของวงการหมอทั่วประเทศร้อนระอุไปทั่ว ทั้งการประท้วง, การบอยคอต, การขัดแย้งกันเอง, การสอบสวน, การปลดข้าราชการ ตลอดถึงผลกระทบไปถึงประชาชนตาสีตาสาที่เจ็บป่วย เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอย่างดีว่า นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ มีคุณสมบัติที่น่ากังขาและชวนให้คลางแคลงใจว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ในการที่จะให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่ต้องดูแลสุขภาพของคนไทย 65 ล้านคนในประเทศเช่นนี้ ดังประจักษ์พยานและเหตุผลต่างๆ ซึ่งมีที่มาที่ไป ตามลำดับดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
1.วิธีคิดแบบคนเมืองแบบผู้ดีมีเงิน
นับตั้งแต่จบแพทย์เมื่อปี 2527 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ไม่เคยไปทำงานในต่างจังหวัด หรือภูมิภาคเลย รับราชการใช้ทุนอยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ 2-3 ปี แล้วก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศ กลับมาก็ลาออกจากราชการ ชีวิตคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจ ดูแลบริษัทในเครือของครอบครัว นพ.ประดิษฐ จึงไม่เคยรับรู้ ไม่เคยเข้าใจปัญหาของระบบบริการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค การขาดหายไปจากโซ่ห่วงของความเป็นแพทย์และข้าราชการกว่า 25 ปี ทำให้ นพ.ประดิษฐ ขาดประสบการณ์ และความเข้าใจของบริบทวงการสาธารณสุขไทยอย่างแท้จริง ไม่เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งและศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุข การเข้ามานั่งตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในระดับรัฐมนตรี จึงกลายเป็นความท้าทายที่ นพ.ประดิษฐ อยากลิ้มลอง คำพูดที่ว่าแพทย์ที่ทำงานกว่า 20 ปีในโรงพยาบาลชุมชนเป็นพวกไม่มีที่ไปและคร่ำครึ เป็นการดูหมิ่นดูแคลนวิชาชีพแพทย์ด้วยกัน ตลอดจนเหยียบย่ำแพทย์จำนวนมากที่เสียสละอุทิศตัวทำงานเพื่อชาวชนบทมาโดยตลอด ทำให้เครือข่ายแพทย์ชนบทดีเด่นของศิริราชลงมติไม่ยอมรับวุฒิภาวะของรัฐมนตรีผู้นี้
2.การทำลายโรงพยาบาลและหน่วยบริการของรัฐให้อ่อนแอลง
จะรู้ตัวหรือเจตนาก็แล้วแต่ นพ.ประดิษฐ ได้สร้างระบบหลายอย่างที่ทำลายโรงพยาบาลของรัฐบาล โดยเฉพาะสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้อ่อนแอลง นับตั้งแต่การ
ก. นำเอาระบบ P for P ซึ่งมีข้อดีอยู่บ้าง ที่จะใช้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่นิยมใช้ในโรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในโรงพยาบาลเล็กๆ มาใช้ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะสร้างปัญหาทำให้ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมสุขภาพและชุมชนต่ำลง ทำให้มีการสมองไหลของแพทย์, ทันตแพทย์ และเภสัชกรออกนอกพื้นที่ ไปทำงานอยู่ในเมืองและภาคเอกชนกันหมดในอนาคต
ข. สนับสนุนนโยบาย Medical Hub อย่างออกนอกหน้า ลดเงื่อนไขและสร้างระบบให้แพทย์ไทยสนใจดูแลคนต่างชาติมากกว่าคนไทย ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มี 2 ระบบ คือ ระบบแรกดูแลคนรวยและคนต่างชาติ กับระบบที่สองจะดูแลคนจนและด้อยโอกาส ซึ่งจะมีการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ กันมากขึ้น เร่งรัดการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนเอื้อเอกชนจนอดสงสัยไม่ได้ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงนโยบาย ปากว่าตาขยิบ สอดคล้องกับรายงานของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่เสนอต่อรัฐบาล
3.การทำลายระบบความมั่นคงด้านยาและวัคซีนของประเทศ
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศแนวหน้าของโลกในการสร้างความมั่นคง และสร้างความสมดุลในการบริหารยาและวัคซีนของโลก มีศักยภาพและความอาจหาญในการต่อกรรับมือกับธุรกิจข้ามชาติที่พยายามแทรกแซง เอาเปรียบและฉวยโอกาสเอากำไรเกินควร การสามารถทำการซื้อยาในรูปแบบ CL (Compulsory Licensing) ขององค์การเภสัชกรรม สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก จนเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ พากันมาศึกษาและเอาเยี่ยงอย่าง
องค์การเภสัชกรรมนับตั้งแต่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการคนปัจจุบันที่ถูกปลดไปหมาดๆ นี้ เข้ามาบริหารได้ทำให้กำไรขององค์การเภสัชกรรมเพิ่มขึ้นหลายพันล้าน ราคายาสำคัญ และยาจำเป็นราคาถูกลง บางอย่างกว่า 100% ต้นทุนต่อหน่วยของการรักษาพยาบาลที่ สปสช.ต้องเป็นผู้จ่ายชดเชยก็ราคาถูกลง ผู้ป่วยโรคไตวายได้รับประโยชน์มากมายจากการซื้อน้ำยาราคาถูกลงและส่งถึงบ้าน
การเข้ามาแทรกแซงและปลด นพ.วิทิต คือการร่วมมือของ นพ.ประดิษฐ, บริษัทยา และกลุ่มทุนเอกชนที่เสียผลประโยชน์ส่วนตัว นับเป็นการทำลายความมั่นคง และธรรมาภิบาลในการบริหารยาและวัคซีนของประเทศอย่างแนบเนียน และสะท้อนจากการอภิปรายของฝ่ายค้านอย่างชัดเจนว่า นพ.ประดิษฐ มีใบสั่งเพื่อยึดองค์การเภสัช เอาผลประโยชน์ให้พวกพ้องอีกองค์กรหนึ่ง
4.การเอื้อประโยชน์กลุ่มคนรวย และสร้างภาระกับคนยากจน คนด้อยโอกาสในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทยาซึ่งขณะนี้ธุรกิจดีขึ้นมาก เพราะยอดการสั่งซื้อขององค์การเภสัชกรรมลดลง โรงพยาบาลเอกชนและกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังต้องการการขยายตัว และลงทุนอย่างก้าวกระโดด การยอมรับกติกาของกลุ่มธุรกิจยาข้ามชาติในการประชุมนานาชาติที่เจนีวาในเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใดกล้ากระทำมาก่อน เพราะทำให้ถูกเอาเปรียบซื้อของแพง เพราะมีการผูกขาด การเป็นทาสทางสิทธิบัตรไปโดยปริยาย
5.การทำลายองค์กร ส.ต่างๆ ในระบบสุขภาพของประเทศไทย
ก. ยึด สวรส.โดยแต่งตั้งผู้อำนวยการซึ่งเป็นพวกพ้อง (มีประวัติด่างพร้อย ถูกสอบสวนเรื่องจริยธรรม, ลอกวิทยานิพนธ์ และทำผิดระเบียบมหาวิทยาลัย) ขึ้นมา เพราะสั่งให้หันซ้าย หันขวาได้
ข. การแทรกแซง สพฉ.และบังคับให้ทำเฉพาะงานวิชาการ เท่ากับบีบให้ สพฉ.อยู่ภายใต้ร่มอาณัติของกระทรวงสาธารณสุขที่รัฐมนตรีกำกับดูแลเบ็ดเสร็จทั้งหมด จนไม่สามารถช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว เหมือนก่อนหน้านี้ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ค. การแทรกแซงการทำงานของ สปสช.นับตั้งแต่การบีบให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยอมรับคนของตน 2 คน เข้าทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เป็นรองเลขาธิการ สปสช.เป็นการวางแผนย้าย สปสช.กลับเข้าไปอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบอำนาจในการจัดการงบประมาณอีกครั้ง
ง. การแทรกแซง สช.และ สสส.โดยมีทีท่าของบประมาณไปใช้ตามที่ตนเห็นชอบ และการแทรกแซงบอร์ดของทั้งสองหน่วยงาน โดยเสนอให้มีคณะกรรมการกำกับนโยบาย องค์กรอิสระด้านสุขภาพ มาครอบการทำงานอย่างเป็นอิสระของบอร์ด
6.การรื้อระบบหลักประกันสุขภาพไทย
ในระยะหลัง นพ.ประดิษฐ มีทีท่าส่งสัญญาณจะรื้อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยใหม่ ในลักษณะ “รื้อแรงเปลี่ยนเร็ว” นับตั้งแต่
ก. การนำเงินเดือนทั้งหมดของผู้ให้บริการ ไปผูกกับเงินค่าหัวของ สปสช.ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์มากขึ้น และนำความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจถดถอยไปฝากไว้กับระบบที่ดูแลคนจน
ข. การพยายามรื้อระบบการร่วมจ่าย ให้มีการจ่ายมากขึ้นกว่าเดิม (ซึ่งของเดิมการเก็บ 30 บาท หรือไม่ ก็ยังแก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ)
ค. การส่งสัญญาณจะใช้ระบบการชดเชยแบบ Unit Cost แทนระบบ DRG ซึ่งประหยัดและคุ้มค่าใช้จ่ายได้ดีอยู่แล้ว เพื่อเอื้อต่อเอกชนเข้ามาแข่งขันแต่ขอให้ ประชาชนร่วมจ่ายกับเอกชนโดยเอาฐานที่ นพ.ประดิษฐ์คิดกำหนดราคา มาเป็นฐาน
7.ความคลุมเครือในการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจครอบครัว ธุรกิจเอกชนของพวกพ้อง และผลประโยชน์ชาติ
เป็นที่ทราบกันดีว่าในระยะไม่กี่เดือนมานี้ เครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ นพ.ประดิษฐ มีการเติบโตเร็วมาก มีการออกหุ้นใหม่ในตลาดหลักทรัพย์อย่างก้าวกระโดดจนแซงหน้าคู่แข่งรายอื่นๆ ที่เคยคู่เคียงกันมา การฉวยโอกาสใช้การลงทุนและการปรับตัวใหม่ๆ ในภาคบริการด้านสุขภาพเป็นประโยชน์ที่ครอบครัวและพรรคพวกจะได้รับประโยชน์ เป็นสิ่งที่ นพ.ประดิษฐ ไม่สามารถเคลียร์ตัวเองต่อสาธารณชนได้
8.การมีผลประโยชน์เกื้อกูลทับซ้อน
กรณีเงินสนับสนุนองค์กรภาครัฐที่องค์การเภสัชกรรมจะต้องจ่ายให้กับหน่วยบริการ และภาคีผ่านสปสช.จำนวน 75 ล้าน นพ.ประดิษฐ เป็นผู้บีบให้เลขาธิการ สปสช.ทำหนังสือแจ้งองค์การเภสัชกรรมให้เปลี่ยนเส้นทางเดินของเงินเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ส่อเจตนาว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงทับซ้อนอยู่ หาก นพ.ประดิษฐ์ อยู่ในตำแหน่งนานกว่านี้ เชื่อว่าการจัดซื้อครุภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ก็คงจะมีข่าวอื้อฉาวตามมาอีกแน่นอน
9.การขาดธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมือง
ก. มีการนำวาระเข้าบอร์ดของ ส.ต่างๆ โดยไม่ผ่านตามขั้นตอนปกติ (ซึ่งจะต้องผ่านกรรมการกลั่นกรอง และอนุกรรมการย่อยต่างๆ) นพ.ประดิษฐ์ มีการสั่งการตรงอย่างไม่ชอบมาพากลหลายครั้ง เข้าข่ายลักไก่ ปิดตาตีแมว
ข. การเลื่อนประชุมต่างๆ ตามอำเภอใจ โดยไม่เคารพกติกาและรูปแบบธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิมๆ ที่หากประธานไม่ว่าง อาจมอบหมายผู้ทรงคุณวุฒิท่านใดทำหน้าที่ประธานแทนได้
ค. การขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีท่าทีหงุดหงิด ใจร้อน ก้าวร้าว และไม่ให้เกียรติข้าราชการประจำ หรือแพทย์รุ่นที่อาวุโสกว่า
10.การชักนำบุคคลที่ฉ้อฉล และมีมิจฉาทิฐิเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมือง
เช่น กรณีประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเคยมีเรื่องถูกสอบทุจริต กรณีผู้อำนวยการ สวรส.ซึ่งขาดคุณสมบัติด้านจริยธรรมด่างพร้อย การสั่งให้ DSI ไปสอบสวน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยไม่ใช้กลไกหรือขั้นตอนปกติก่อน แสดงเจตนาของการ “รังแกคนดี” และยืมดาบฆ่าบัณฑิต, การเลือกปฏิบัติในกรณีช่วยเหลือพวกพ้อง
11.การไม่เป็นที่ยอมรับของข้าราชการในส่วนภูมิภาค
นพ.ประดิษฐ์ ไม่พร้อม, ไม่เต็มใจ, ไม่ติดดิน ที่จะลงไปในพื้นที่ส่วนภูมิภาค เพราะไม่ชอบ “ต่างจังหวัด” จึงเลือกที่จะ “เสวยวัง” อยู่ในกรุงเทพฯตลอด ปล่อยให้ รมช.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลงพื้นที่เป็นหลัก ขณะนี้ไปที่ไหนก็ถูกขึ้นป้าย แต่งดำ ประท้วงทั่วประเทศไปหมด ไปแจกรางวัลที่ไหนก็มีคนบอยคอต ไม่ยอมรับ เข้าข่าย “มีตำแหน่ง แต่ไม่มีศักดิ์ศรี”
และ 12.ทำให้เกิดความ “แตกแยกร้าวฉาน” ในกระทรวงสาธารณสุข อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แพทย์โรงพยาบาลชุมชนกับแพทย์โรงพยาบาลจังหวัด ไม่เคยมีเรื่องขัดแย้ง ยกม็อบขึ้นป้ายสู้กัน จัดม็อบชนม็อบ จัดม็อบที่สั่งได้มาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง อดีตปลัดกระทรวงหลายท่านต้องออกมาให้สัมภาษณ์ จนสับสนอลหม่านไปทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศว่าจะได้มาตรฐานและคุณภาพเหมือนแต่ก่อนหรือไม่
นี่คือเหตุผล 12 ข้อที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ขาดความเหมาะสมและชอบธรรมที่จะทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป ขอให้พี่น้องสาธารณชนและท่านทั้งหลาย จงโปรดได้ใช้วิจารณญาณว่าจะยอมให้คนที่มีมิจฉาทิฐิขนาดนี้ เข้ามาทำลายสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้บุกเบิก แผ้วถางก่ออิฐอย่างเหนื่อยยาก และก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงหรือไม่