ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะที่เมืองไทยกำลังเผชิญกับความร้อนระอุของอุณหภูมิที่แผดเผาจนแทบจะมอดไหม้ สายลมแห่งความเย็นในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิก็ได้นำพาให้มีโอกาสเหินฟ้าไปสัมผัสอากาศสบายๆ ของเมืองท่าที่สำคัญของจีนที่ชื่อว่า “หนิงโป”
เป็นการเดินทางที่อาจกล่าวได้ว่า UNSEEN ก็คงจะไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อมัคคุเทศก์ชาวจีนให้ข้อมูลยืนยันว่า มีคนไทยจำนวนไม่มากนักหรืออาจจะแทบไม่มีเลยที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสแอ่งอารยธรรมและความงดงามตามธรรมชาติบนเส้นทางสายนี้
หนิงไห่ 1 ใน 3 ยอดน้ำพุร้อนของจีน
จาก “เซี่ยงไฮ้” 1 ใน 4 มหานครซึ่งขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางจีน อันประกอบด้วยปักกิ่ง เทียนจิน ฉงชิ่งและเซี่ยงไฮ้ รถบัสของคณะเดินทางที่นำโดย “บมจ.ซีพี ออลล์” และ “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ได้บ่ายหน้านำเรามุ่งหน้าผ่านสะพานอ่าวหังโจว ซึ่งเป็นสะพานกลางทะเลที่มีความยาวถึง 35 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่เมืองหนิงโป เมืองท่าสำคัญซึ่งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน
เป้าหมายของการเดินทางในวันนี้คือ บ่อน้ำพุร้อนหนิงไห่ หนึ่งในสามของบ่อน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศจีน โดยใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงครึ่งถึง 4 ชั่วโมงจากเซี่ยงไฮ้ด้วยระยะทางราว 350 กิโลเมตร
ด้วยความที่บ่อน้ำพุร้อนหนิงไห่ตั้งอยู่ในเขตเมืองหนิงไห่ เมืองที่ไกลจาก ตัวเมืองหนิง โปไปราว 76 กิโลเมตร และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แวดล้อมไปด้วยภูเขาและป่าไม้ ทำให้ที่นี่มีความเงียบสงบและเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิเบาๆ สลับกับฝนเม็ดเล็กๆ ที่โปรยปรายลงมาสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ที่นี่เหมือนสวรรค์บนโลกมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ทอดตัวลงไปน้ำอุ่นๆ กลางบ่อน้ำร้อนทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ทั้งในร่มและ บ่อกลางแจ้งที่มีผืนฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวระยิบปกคลุมเสมือนหนึ่งหลังคาตามธรรมชาติ
ช่างเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากวันที่ล่องเรือในแม่น้ำหวงผู่เพื่อชม แสง สีเสียงระยิบระยับตระการตาในยามราตรีของนครเซี่ยงไฮ้อันโกลาหลเสียนี่กระไร
ออนเซ็นของญี่ปุ่นให้ความรู้สึกอย่างไร บ่อน้ำพุร้อนหนิงไห่ก็ให้ ความรู้สึกไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ไม่ต้อง “เปลื้องผ้าล่อนจ้อน” เหมือนออนเซ็นเท่านั้น มิพักต้องพูดถึงการให้บริการที่ทางบ่อน้ำพุร้อนจัดเตรียมเอาไว้สำหรับการแช่น้ำร้อนอย่างครบครัน
2 ชั่วโมงเต็มของการแช่น้ำพุร้อนจากธรรมชาติซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ กว่า 20 ชนิด ทำให้ร่างกายสดชื่นและผ่อนคลายจากการเดินทาง กระทั่งทำให้ค่ำ คืนในโรงแรม NINGHAI HOT SPRING HOTEL ซึ่งเป็นโรงแรมที่อยู่ไม่ไกลจากบ่อน้ำพุร้อนและเปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นค่ำคืน ของ การ พักผ่อนที่แท้จริง
เฉียนถง เมืองโบราณที่มีชีวิต
สายๆ หลังปฏิบัติภารกิจส่วนตัวและรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ซึ่งมีให้เลือกสรรทั้งแบบฝรั่งและจีน คณะเดินทางก็โบกมือลาบ่อน้ำพุร้อนหนิงไห่มุ่งหน้าสู่ “เมืองโบราณเฉียนถง” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอหนิงไห่ เมืองหนิงโป เช่นเดียวกัน โดยใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นราว 1 ชั่วโมงครึ่งเห็นจะได้
เมืองโบราณแห่งนี้ เป็นเมืองโบราณที่มีชีวิต
เป็นเมืองโบราณที่ยังคงมีผู้พำนักพักอาศัยอยู่เป็นปกติ มิใช่เป็นเมืองโบราณที่มีแต่อาคารบ้านช่อง แต่ไร้ผู้คน ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมในแนวความคิดอันสอดคล้องและสมดุลของรัฐบาลจีนอย่างยิ่ง
เมืองเฉียนถงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอหนิงไห่ มณฑลเจ้อเจียง สถานที่แห่งนี้ถือได้ว่าโดดเด่นทั้งทางด้านประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมที่หลากหลายและทัศนียภาพอันงดงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองโบราณทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งมณฑลเจ้อเจียง
ตัวเมืองเฉียนถงซึ่งเป็นเมืองโบราณแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1233 ตรงกับศักราชเส้าติ้งในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ นับถึงปัจจุบันนี้รวมแล้วมีอายุยาวนานกว่า 770 ปี
ที่นี่เป็นแหล่งพำนักถาวรของคนตระกูลถงอันเก่าแก่ ดังนั้น ภายในหมู่บ้านจึงมีสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับตระกูลมากมาย อาทิ เรือนสวดมนตร์หมิงจิงถึง ศาลบรรพบุรุษสุกลถง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านซึ่งแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของคนในยุคนั้นสมัยนั้น วัดหุ้ยหมิน เป็นต้น
และที่ต้องแนะนำให้ชิมกันก็คือ น้ำเต้าหู้อร่อยๆ ราคา 1 หยวนที่บอกได้คำเดียวว่า สุดยอด
ตลอดระยะเวลาของการเที่ยวชม เราได้พบเห็นการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านภายใต้หมู่บ้านโบราณแห่งนี้ ทั้งการทำอาหาร การซักผ้า งานศพและอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะความมหัศจรรย์ที่สามารถใช้คำว่า UNSEEN ได้อย่างเต็มปากก็คือ การมีลำธารสายเล็กๆ ไหลผ่านเคียงข้างกับถนนที่ใช้สัญจรไปมาในหมู่บ้านในทุกเส้นทาง ผ่านหน้าบ้านแต่ละหลังได้อย่างงดงามลงตัว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านที่มีอายุกว่า 700 ปีแห่งนี้
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ทราบว่า เมืองเฉียนถงตั้งอยู่บนที่ราบท่ามกลางเทือกเขาอันงดงาม มีลำธาร 2 สายไหลลัดเลาะลงมาจากหุบเขาทางฝั่งตะวันตก ผ่านหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งอารยธรรมโบราณ สัมผัสได้จากมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่แต่ยังดูมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะเอกลักษณ์สำคัญคือ “ทุกบ้านมีคานแกะสลัก ทุกเรือนมีลำธารธรรมชาติ” ซึ่งบรรพบุรุษตระกูลถงได้ใช้ภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมสร้างแนวลำธารจากหุบเขาฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก โดยไหลลัดเลาะผ่านหน้าบ้านแต่ละหลังได้อย่างงดงามลงตัว
ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การปลูกสร้างบ้านเรือนในเฉียนถงนั้นมีรูปแบบผังเมืองรูปทรงคล้ายยันต์ 8 ทิศ ด้วยเหตุนี้เฉียนถงจึงมีทัศนียภาพที่สวยงามและเข้มขลังอย่างน่าอัศจรรย์ สอดคล้องกับคำกลอนประจำถิ่นที่ว่า “สายธารไหลผ่านยันต์ 8 ทิศ ใกล้ชิดยินเสียงธารา น้ำใสไหลรินเรื่อยมา ผ่านทุกชายคาบ้านเรือน”
นอกจากนี้ เฉียนถงยังเลื่องชื่อในด้านศิลปะภาพวาด งานแกะสลัก ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เตียง เก้าอี้ หรือประตู หลังคา ช่องหน้าต่าง ล้วนแล้วแต่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตบรรจงทั้งสิ้น เพราะที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของช่างเขียนภาพและช่างไม้ฝีมือเยี่ยม รวมทั้งบัณฑิตผู้สืบทอดวัฒนธรรมหรูเจีย ตามแนวความคิดขงจื่ออีกนับไม่ถ้วนในแต่ละยุคสมัย จนเป็นที่กล่าวขานของอนุชนรุ่นหลังตลอดมา
เยี่ยมบ้าน “เจียงไคเช็ค” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน
หลังดื่มด่ำและสัมผัสกับกลิ่นอายอารยธรรมจีนที่เมืองโบราณเฉียนถงจน เต็มอิ่ม สายลมแห่งความเย็นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิก็นำพาคณะเดินทางไปเผชิญกับ “บ้านเกิด” บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่ตั้งอยู่ในหนิงโปเช่นกัน
แน่นอน บ้านเกิดของบุคคลสำคัญผู้นั้นจะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจาก “เจียงไคเช็ค” หรือที่ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เจี่ยงเจี้ยสือ” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนในช่วงปี ค.ศ.1948-1949
“วิทยา” มัคคุเทศก์ชาวจีนทำให้คณะเดินทางถึงกับหูผึ่งและหายสลึมสะลือจากอาการง่วงเหงาหาวนอนเมื่อให้ข้อมูลว่า บ้านเกิดของเจียงไคเช็คนั้นตั้งอยู่ใน “ฮวงจุ้ย” ที่ดีมาก คือด้านหลังเป็นภูเขา ด้านหน้ามีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งเมื่อได้เห็นด้วยสายตาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เจียงไคเช็คเกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.1887 ช่วงปลายราชวงศ์ชิง ในครอบครัวพ่อค้าเกลือฐานะดีที่เมืองหนิงโป และแน่นอนว่า บ้านเกิดของเขาจึงใหญ่โตโอฬารสมกับเป็นคหบดีของเมือง
เส้นทางทางการเมืองของเจียงไคเช็คเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1908 ขณะเดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหารชินบุโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ ถงเหมิงฮุ่ย หรือสมาพันธ์เพื่อการปฏิวัติการปกครองของจีนสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.ซุนยัดเซ็น มีสำนักงานอยู่ที่กรุงโตเกียว
เมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็นได้จัดตั้งพรรคปฏิวัติแห่งชาติจีนเพื่อต่อต้านรัฐบาลของหยวนซื่อข่าย เจียงไคเช็คที่เดิมเป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งก็สมัครเข้าร่วม อีกทั้งได้รับมอบหมายให้รวบรวมกำลังพลในจีนจัดตั้งเป็นกองทัพปฏิวัติแถบมณฑลเจียงซู พร้อมกับรับตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังดังกล่าว
นับแต่นั้นมา เจียงไคเช็คก็เริ่มไต่เต้าเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพแห่งพรรคก๊กมินตั๋งที่ ดร.ซุนยัดเซ็นรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง อาทิ ผู้บัญชาการกองทัพ กรรมาธิการทหาร ประธานกรรมาธิการทหาร ฯลฯ ด้านการบริหารพรรคดำรงตำแหน่งกรรมการกลางพิเศษ ประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการถาวรอันเป็นตำแหน่งสูงสุดในพรรค
ปลายปี ค.ศ.1928 กองทัพแห่งพรรคก๊กมินตั๋งประสบความสำเร็จในการยึดครองพื้นที่ตอนเหนือของจีน การได้รับชัยชนะครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสหภาพโซเวียต เจียงไคเช็คในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งและควบตำแหน่งประธานกรรมาธิการทหาร
1 ตุลาคม ค.ศ.1949 เหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาประเทศสาธารณรัฐปผระชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ฝ่ายเจียงไคเช็คซึ่งมีฐานที่มั่นในมณฑลเสฉวนได้ลี้ภัยไปเกาะไต้หวันในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยมีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทยอยอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปปักหลักที่ไต้หวันไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน นับเป็นการปิดฉากอำนาจทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ของพรรคก๊กมินตั๋งที่ยาวนานมาสองทศวรรษ(ค.ศ.1929-ค.ศ.1949)
เอาเป็นว่า ใครอยากสัมผัสกับกลิ่นอายของบ้านเจียงไคเช็ค ก็แวะเวียนมาเที่ยวชมได้ รับรองว่าจะได้ตื่นตาตื่นใจกับการปลูกสร้างบ้านเรือน พร้อมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชีวิตของเจียงไคเช็คอย่างเต็มอิ่ม โดยเฉพาะเตียง ห้องและบ้านที่ให้กำเนิดเจียงไคเช็ค รวมทั้งของฝากพื้นถิ่นที่มีให้เลือกซื้อเรียงรายตลอดสองข้างทางสู่บ้านเกิดของเจียงไคเช็คและโรงเกลือที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเท่าใดนัก
หอเทียนอีเก๋อ หอเก็บหนังสือโบราณก้องโลก
และสถานที่สุดท้ายแห่งเมืองหนิงโปที่คณะเดินทางมาเที่ยวชมก็คือ “หอเทียนอีเก๋อ” หรือ “ศาลาเทียนอี” หอเก็บหนังสือของปัจเจกชนที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง โดยเก็บสะสมตำราไว้นับหมื่นนับแสนเล่มเลยทีเดียว
ที่นี่เป็นบ้านของ “ฟ่าน ฉิน”(Fan Qin)เสนาบดีทางทหารคนสำคัญในสมัยราชวงศ์หมิง มีเนื้อที่กว้างขวางราว 31,000 ตารางเมตร ซึ่งนับตั้งแต่ประตูทางเข้าจนถึงประตูทางออก เราจะได้สัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมของจีนมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแกะสลักหินอันมีชื่อเสียงรูปม้า 8 ตัวฝืมือช่างพื้นบ้านที่ชื่อ Hu Shancheng ห้องเก็บหนังสือของฟ่านฉินที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อรักษาหนังสือให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ศาลาหินร้อยห่านในสมัยราชวงศ์หมิงที่ถอดแบบมาจากศาลาไม้โดยสร้างจากหินล้วนๆ และถูกย้ายนำมาจัดแสดงที่นี่ ความยิ่งใหญ่อลังการของ “โรงงิ้ว” สมัยโบราณที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1923-1925
หรือเกี้ยวเจ้าสาวสูง 3 เมตร ยาว 1.5 เมตร กว้าง 95 เซนติเมตร หนัก 2,000 กิโลกรัมที่ชั่วชีวิตของช่างผู้รังสรรค์สามารถสร้างได้แค่เพียงเกี้ยวเดียว และเป็นเกี้ยวเจ้าสาวที่สามารถกล่าวได้ว่า สวยที่สุดแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้
นอกจากนี้ ยังมีสวนสวยในแบบฉบับของจีนโบราณหลายต่อหลายแห่งมีให้ชมตลอดเส้นทางอีกต่างหาก
และแม้จะไม่เก่าแก่เมื่อเทียบกับสถานที่อื่นๆ แต่เด็ดไม่แพ้กันก็คือ “พิพิธภัณฑ์ไพ่นกกระจอก” ซึ่งบันทึกเรื่องราวการก่อกำเนิดของไพ่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนจีนจากฝีมือของ “เฉินหยุนเหมิน” โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เก็บรวบรวมไพ่นกกระจอกรูปแบบต่างๆ เอาไว้ให้ได้ชมกันอย่าละลานตา
เรียกว่า ใครที่ชอบถ่ายรูป รับรองว่า ที่ศาลาเทียนอีแห่งนี้ มีจุดให้เลือกบันทึกภาพอย่างจุใจกันเลยทีเดียว
และทั้งหมดนั้นคือความงดงามแห่งเมืองหนิงโป เส้นทางท่องเที่ยวที่สุดแสน UNSEEN และอยากให้คนไทยได้ไปเที่ยวชมกัน
ลุงอ้วน