xs
xsm
sm
md
lg

นศ.ไต้หวันบุกยึดสภานิติบัญญัติ ประท้วงร่างข้อตกลงการค้าไทเป-ปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ประท้วงเข้ายึดห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภากลางกรุงไทเป วันที่ 19 มี.ค. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันยกเลิกการทำข้อตกลงทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะหวั่นอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจของเกาะ (ภาพ เอเอฟพี)
รอยเตอร์ส - ความคืบหน้าเหตุกลุ่มนักศึกษาและประชาชนชาวไต้หวันรวมตัวกัน ณ อาคารรัฐสภา ใจกลางกรุงไทเป เพื่อประท้วงการทำสัญญาการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ของรัฐบาล ล่วงเข้าสู่วันที่ 3 แล้ว โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้บุกยึดห้องประชุมสภานิติบัญญัติ ยืนยันจะปักหลักต่อไปจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง

รายงานข่าว (19 มี.ค.) กล่าวว่า ผู้ประท้วงราว 200 คนได้บุกเข้าห้องประชุมสภานิติบัญญัติตั้งแต่ช่วงเย็นวันอังคาร (18 มี.ค.) ที่ผ่านมา พร้อมกับขับไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามควบคุมสถานการณ์และผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ โดยต้นเหตุการประท้วงเกิดจาก “ข้อตกลงทางการค้าและบริการ” ที่รัฐบาลไต้หวันกำลังดำเนินการเจรจากับจีน ซึ่งพวกเขาหวั่นเกรงว่าจะเป็นช่องโหว่ให้จีนเข้ามามีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไต้หวัน ตลอดจนกุมอำนาจแห่งสภากฎหมายนี้

กลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในโถงประชุมฯ เป็นเวลากว่าสองวันกล่าวกับนักข่าวว่า “พวกเขาต้องการคำขอโทษต่อประชาชนชาวไต้หวันจากประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว และการยกเลิกร่างข้อตกลงที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) กำลังดำเนินการลงทั้งหมด”

ด้านพรรคก๊กมินตั๋งกล่าวว่า การทบทวนร่างข้อตกลงในชั้นต้นจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสัปดาห์นี้ แม้พรรคฝ่ายค้านจะแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนต่อไต้หวันก็ตาม

อนึ่ง ไต้หวันและจีนแยกการปกครองออกจากกันนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2492 โดยผู้นำเจียง ไคเช็ค ที่แพ้สงครามได้ถอยร่นมายังเกาะไต้หวัน จัดตั้งรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน และหวังจะกลับไปยึดคืนแผ่นดินใหญ่ ด้านผู้นำคอมมิวนิสต์ก็ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ระบอบสังคมนิยม รวมทั้งยืนกรานตลอดมาว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่รอการรวมแผ่นดิน แม้จักต้องใช้กำลังก็ตาม
กลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนรวมตัวกันอยู่ด้านนอกอาคารรัฐสภาในช่วงเช้าวานนี้ (ภาพ เอเอฟพี)
อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยเดือน ก.พ. ได้จัดการพบปะพูดคุยระดับรัฐบาลอย่างเป็นทางการในรอบ 60 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยขยับขยายความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันให้ไกลกว่าประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างที่ผ่านๆ มา

ทว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) พรรคฝ่ายค้านของสภาไต้หวัน ยืนกรานจะปกป้องเศรษฐกิจของเกาะจากอิทธิพลจีนแผ่นดินใหญ่ที่มากเกินกว่าจะยอมรับได้ โดยเผยว่าแม้จะขาดแคลนจำนวนที่นั่งในสภา แต่พวกเขาก็จะโหวตคัดค้านข้อตกลงดังกล่าวอย่างสุดกำลัง

ทางด้านนักวิเคราะห์มองว่าการประท้วงไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำข้อตกลงครั้งนี้เท่าไรนัก

“ผมไม่คิดว่าเหตุการณ์นี้จะยับยั้งกระบวนการทั้งหมดได้ เพียงแต่ล่าช้าออกไปหน่อยเท่านั้น” ลู่ หย่าลี่ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีนในกรุงไทเปกล่าว “ข้อตกลงนี้มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไต้หวัน ดังนั้นเชื่อว่ามันยังคงเดินหน้าต่อไป”

“กลุ่มนักศึกษาที่มาชุมนุมเป็นกังวลว่าข้อตกลงฉบับดังกล่าวจะนำพานักศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ไหลบ่าสู่มหาวิทยาลัยในไต้หวัน ซึ่งรุกรานโอกาสในการเข้าถึงทุนการศึกษาและการมีงานทำของคนท้องถิ่น” ลู่กล่าว

“พวกเขาซึ่งไม่ได้เป็นเสียงข้างมากของนักศึกษาไต้หวัน น่าจะถูกชักจูงโดยกลุ่มการเมืองที่อยู่สูงกว่า”

ทั้งนี้ จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน โดยหลังการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายหม่า อิงจิ่ว ในปี 2551 ทั้งสองได้ลงนามในข้อตกลงต่างๆ ตั้งแต่ภาคการขนส่งจนถึงการท่องเที่ยว ซึ่งภายใต้ข้อตกลงฯ ฉบับล่าสุด จีนจะเปิดการบริการ 80 ส่วนให้กับบริษัทไต้หวัน ขณะเดียวกันไต้หวันก็จะอนุญาตการลงทุนจากจีนใน 64 ภาคส่วนทางการค้า
เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าไปภายในห้องประชุมของอาคารรัฐสภา ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้ามาปักหลักตั้งแต่ช่วงเย็นวันอังคารที่ 18 มี.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
ผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งร้องตะโกนขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามบุกเข้ามาภายในห้องประชุม วันที่ 19 มี.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
(ภาพ เอเอฟพี)
กลุ่มผู้ประท้วงนอนหลับพักเอาแรงอยู่บนกองเก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องประชุมของอาคารัฐสภา วันที่ 19 มี.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
กลุ่มนักศึกษานอนเรียงรายบนพื้นห้องประชุมของอาคารรัฐสภาไต้หวัน วันที่ 19 มี.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
(ภาพ เอเอฟพี)
(ภาพ เอเอฟพี)
(ภาพ เอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น