xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันผุด “เมืองศูนย์กลางการบิน” บิ๊กโปรเจคกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบ 30 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนในกรุงไทเป เกาะไต้หวัน (ภาพ - เอเยนซี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ความปรารถนาของไต้หวันที่ต้องการเป็น “ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค” ได้บรรลุก้าวแรก หลังมีการอนุมัติจากทางการให้ดำเนินโครงการอันมุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ธุรกิจสายการบินให้เติบโตยิ่งขึ้น

ทางการไต้หวันจะดำเนินการปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนในกรุงไทเปให้เป็น “เมืองศูนย์กลางการบิน” (aerotropolis) ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 7,000 เอเคอร์ หรือราว 17,700 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารเก่าและใหม่รวม 3 หลัง ศูนย์กระจายสินค้า และนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน โดยคาดว่าโครงการปลูกสร้างขนาดใหญที่สุดในรอบ 30 ปีดังกล่าว จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกิดการจ้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

อนึ่ง แผนจัดตั้ง “เมืองศูนย์กลางการบิน” ของไต้หวัน ปรากฏขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 90 โดยการนำเสนอของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งในขณะนั้น แต่ก็มีอันต้องพับเก็บไปหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในปี 2543 ทว่าปัจจุบันไต้หวันที่กลับมาอยู่ใต้การกุมอำนาจของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ๋ว จากพรรคก๊กมินตั๋งตั้งแต่ปี 2551 จึงรื้อฟื้นปัดฝุ่นโครงการใหญ่ยักษ์อีกครั้ง

“การอนุมัติของกระทรวงมหาดไทย (ไต้หวัน) ... นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเดินหน้าโครงการเมืองศูนย์กลางการบินเถาหยวนให้กลายเป็นจริง” อู๋ จื้อหยัง เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นเถาหยวนกล่าว โดยประเมินว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะทุ่มเงินกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 535,000 ล้านบาท) ให้กับโครงการนี้ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะช่วยให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ราว 260,000 ตำแหน่ง และกระตุ้นเศรษฐกิจอันซบเซาให้กลับมาสดใส

ทางด้านฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยวิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งกลวิธียื้อใจประชาชนไต้หวันให้เกิดความลังเลในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เดือน พ.ย.นี้ หลังภาวะเศรษฐกิจชะงักงันได้กลายเป็นเป้าโจมตีการบริหารงานของผู้นำคนปัจจุบัน โดยครั้งหนึ่งไต้หวันได้ชื่อว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจมาแรงที่สุดของเอเชีย กลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 1.48 ในปี 2554 ร้อยละ 2.11 ในปี 2555 และคาดว่าปี 2557 จะเติบโตขึ้นร้อยละ 2.82 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ไต้หวันก็ยังพอกอบโกยกำไรจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้น อันเป็นผลจากการพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างสะพานให้นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลเข้าไต้หวันได้โดยง่าย

ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนได้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเก่าในปี 2556 หลังจากไม่สามารถรองรับนักเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ และวางแผนสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ให้แล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 60 ล้านคนในปี 2573

“ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน” เหวิน หยังซง โฆษกของบริษัทผู้ดูแลสนามบินเถาหยวนกล่าว

นอกจากนั้น การเติบโตของธุรกิจสายการบินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้นักท่องเที่ยวทะลักเข้าสู่เกาะไต้หวัน โดยเฉพาะนักเดินทางรุ่นเยาว์จากฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ซึ่งจากสถิติพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 8 ล้านคน เยือนไต้หวันในปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 3.84 ล้านคนของปี 2551

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ของปี 2556 เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์จากปี 2555 อยู่ที่ 2.85 ล้านคน ก็เป็นผลจากการยกเลิกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไต้หวันที่บังคับใช้มานานนับทศวรรษลงเมื่อราว 4 ปีก่อน

“เราสงสัยว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะสามารถเรียกคืนพื้นที่ครั้งใหญ่ที่สุดได้อย่างไร” สี่ว์ ปั๋วเหริ่น จาก Taiwan Rural Front ถามถึงขั้นตอนเรียกคืนที่ดินมากกว่า 3,000 เอเคอร์ หรือราว 7,500 ไร่ คืนจากประชาชน ขณะเดียวกันชาวไต้หวันจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ราว 8,000 ครัวเรือน หรือ 30,000 คน ก็ออกมาเรียกร้องให้หยุดแผนการทั้งหมด

ทว่า หวง สุยเผิง เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่า พวกเขาเตรียมรับมือกับปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเพิ่มเจ้าหน้าที่เข้าจัดการประเด็นจุกจิกต่างๆ และพูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาผู้คัดค้าน

“หากมองด้านดีในความสำเร็จของโครงการฯ เชื่อว่ากระแสเสียงจากฝ่ายตรงข้ามจะลดน้อยลง”

กำลังโหลดความคิดเห็น