เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - จีนเผยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามช่องแคบไต้หวัน หวังรุกคืบความสัมพันธ์ให้มากขึ้น ขณะที่ไต้หวันกลับปฏิเสธเด็ดขาด บอก “จีนคิดเองเพียงฝ่ายเดียว”
รายงานข่าวกล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งเผยผลการอนุมัติ “แผนการก่อสร้างเครือข่ายเส้นทางหลวงแห่งชาติจีน (2556-2573)” ของสภาแห่งรัฐ หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของจีนได้เสนอขึ้นมาเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการก่อสร้าง 'ทางหลวงข้ามช่องแคบไต้หวัน' จำนวน 2 แห่ง ที่หากประสบผลสำเร็จก็จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนา “ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ” (Cross-strait relations) ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะไต้หวันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ทางหลวงข้ามช่องแคบไต้หวันเส้นที่หนึ่ง จะเริ่มต้นจากกรุงปักกิ่ง ผ่านเทียนจิน เหอเป่ย ซานตง เจียงซู อันฮุย เจ้อเจียง และปลายทางที่เมืองฝูโจวของมณฑลฝูเจี้ยน ก่อนจะบรรจบกับทางหลวงข้ามช่องแคบฯ ที่พุ่งตรงไปยังกรุงไทเปของเกาะไต้หวัน
ส่วนเส้นที่สอง จะเริ่มต้นจากเมืองเฉิงตูของมณฑลเสฉวน ผ่านหูหนัน เจียงซี และปลายทางที่เมืองซย่าเหมินของมณฑลฝูเจี้ยน ต่อไปยังเกาะจินเหมินที่อยู่ใต้การปกครองของไต้หวัน และบรรจบกับทางหลวงข้ามช่องแคบฯ ที่ตรงไปยังเมืองเกาสุงทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเส้นทางหลวงข้ามช่องแคบดังกล่าว จะใช้ตัวสะพานหรืออุโมงค์ลอดใต้ทะเลเป็นตัวเลือกในการก่อสร้าง แต่นักวิเคราะห์บางแห่งแนะนำว่า “อุโมงค์ลอดใต้ทะเล” เป็นช่องทางการสัญจรที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่า โดยตัวอุโมงค์หลักจะมีความยาว 122 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองผิงถันของมณฑลฝูเจี้ยนกับเมืองซินจู๋ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน
อนึ่ง หากอุโมงค์ฯ ความยาว 122 กิโลเมตรนี้ดำเนินการก่อสร้างสำเร็จ ก็จะรั้งตำแหน่งอุโมงค์ลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในโลกอีกด้วย โดยแซงหน้าอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ-ฝรั่งเศสถึงเกือบ 3 เท่าเลยทีเดียว
ไต้หวันเหยียบเบรก ไม่คิดร่วมด้วย บอก “จีนคิดเอาเองฝ่ายเดียว”
หลังจากกระแสข่าวการอนุมัติโครงการฯ เผยแพร่สู่วงสังคมมากขึ้น สภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน ได้เผยผ่านเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ว่า “แผนการก่อสร้างทางหลวงข้ามช่องแคบไต้หวันเป็นการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่จากจีนแผ่นดินใหญ่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น”
“บนพื้นฐานความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบและความปลอดภัยแห่งรัฐ ไต้หวันยังไม่มีแผนงานใดๆ ที่มีความซับซ้อนและอาจส่งผลต่อความอ่อนไหวทางการเมืองในระดับสูงเช่นนี้”
หวัง กงอี้ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยตั้นเจียงของไต้หวัน กล่าวว่า “นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนคิดทำสิ่งต่างๆ อยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ อาจเป็นความต้องการของรัฐบาลจีนที่เพียงอยากโชว์ความสามารถและพลังอำนาจเท่านั้น”
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านของไต้หวันอย่างพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี (DPP) ยังแสดงการคัดค้านโครงการทางหลวงข้ามช่องแคบไต้หวัน ทั้ง 2 แห่งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเส้นทางซย่าเหมินของจีน-เกาะจินเหมินของไต้หวัน โดยให้เหตุผลว่าอาจเป็นการเล่นตามแผนรวมแผ่นดิน และเปิดช่องให้รัฐบาลปักกิ่งนำกองกำลังทหารเข้ามายังเกาะไต้หวันได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า หากทางหลวงข้ามช่องแคบฯ สามารถดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จ ไม่เพียงส่งผลต่อทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเฉพาะเกาะจินเหมินของไต้หวัน ที่มีนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวกว่า 400,000 คนต่อปี ซึ่งรัฐบาลเกาะจินเหมินประเมินว่า อาจเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 3 เท่าตัว แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาจสูงถึง 4 แสนล้านหยวน (ราว 2 ล้านล้านบาท)