xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันแต่งตั้งหัวหน้าคณะรมต.คนใหม่ ก๊กมินตั๋งยังเคว้งคว้างหลังไร้เงาหม่า อิงจิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวัน โค้งคำนับแสดงการขอโทษต่อบรรดาสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง หลังเขาประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคฯ ในวันพุธ (3 ธ.ค.) ที่ผ่านมา (ภาพรอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ส้มหล่นรองนายกฯ “เหมา จื้อกั๋ว” รับเก้าอี้หัวหน้าคณะรัฐมนตรีไต้หวันชุดใหม่ ด้านพรรคก๊กมินตั๋งยังระส่ำระส่ายหลังไร้เงาหม่า อิงจิ่ว ที่สละตำแหน่งประธานพรรคเซ่นแพ้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งประวัติศาสตร์

รายงานข่าว (4 ธ.ค.) อ้างคำแถลงจากทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันว่า นายเหมา จื้อกั๋ว (Mao Chi-kuo) รองนายกรัฐมนตรี จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แทนที่ดร.เจียง อี้ฮว่า (Jiang Yi-huah) ที่ประกาศลาออกพร้อมกับเจ้าหน้าที่กว่า 80 คน เมื่อวันจันทร์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบความพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ในการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงสุดสัปดาห์ก่อน

“เนื่องจากเหมา จื้อกั๋ว ทำงานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมานาน 1 ปี 10 เดือน มีความคุ้นเคยกับกิจการต่างๆ ของคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างดี ดังนั้น การแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดเก่าและชุดใหม่” โฆษกหญิงประจำทำเนียบฯ กล่าว

เหมา จื้อกั๋ว วัย 66 ปี ที่เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งและการสื่อสารโทรคมนาคม กล่าววานนี้ว่า เขาตัดสินใจรับตำแหน่งต่อ และจะทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของสาธารณะชน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเหมาจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดที่ห้า ภายใต้อำนาจบริหารของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว เพื่อพลิกสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังปะทุขึ้นมา หลังจากพรรคก๊กมินตั๋งเผชิญความเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เถลิงอำนาจในปี 1949
หม่าจับมือกับสมาชิกพรรคฯ หลังประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคอย่างเป็นทางการใันวันพุธ (3 ธ.ค.) ที่ผ่านมา (ภาพรอยเตอร์ส)
“ตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับพรรคฯ ที่ต้องรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง” เกา อี้ว์เหริน (Kao Yu-jen) อดีตประธานสมัชชาท้องถิ่นไต้หวันที่ปัจจุบันยุบตัวไปแล้ว (Taiwan Provincial Assembly) กล่าว

ขณะเดียวกันก็คาดว่าบรรดาสมาชิกพรรคฯ ตัวเต็งเด่นดังคงกำลังเตรียมเชือดเฉือนชิงตำแหน่งผู้นำพรรคฯ หลังหม่าประกาศลาออกอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ผ่านมา

อนึ่ง พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีหม่าเป็นหัวเรือใหญ่ตั้งแต่ปี 2552 คว้าชัยที่นครซินเป่ยซื่อ หรือนิว ไทเป (New Taipei City) เพียงแห่งเดียว จากสนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทั้งหมดหกแห่ง อันได้แก่ ไถเป่ย (ไทเป), ซินเป่ยซื่อ (นิว ไทเป), เถาหยวน, ไถจง, ไถหนัน, และเกาสยง (เกาสง) ในวันเสาร์ (29 พ.ย.) ที่ผ่านมา

ขณะที่การแข่งขันระดับอำเภอและเขตเมือง 22 แห่ง เคเอ็มทีเก็บธงชัยได้แค่ 6 แห่ง จากเดิมก่อนหน้านี้เป็นเจ้าถิ่นอยู่ถึง 15 แห่ง โดยความปราชัยครั้งประวัติศาสตร์นี้สั่นสะเทือนพรรคฯ และชี้วัดสถานะที่น่าเป็นห่วงในการแข่งขันชิงบัลลังก์ประธานาธิบดี ปี 2559

“ก๊กมินตั๋งประสบความตกต่ำอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ในฐานะประธานพรรคผมต้องขอโทษผู้สนับสนุนทุกท่าน … และขอแสดงความรับผิดชอบสูงสุดต่อความปราชัย … ด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคก๊กมินตั๋ง” หม่ากล่าวพร้อมกับโค้งคำนับแสดงความขอโทษนานสิบวินาที ณ ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ วานนี้

ช่วงต่อจากนี้ รองประธานพรรคฯ อู๋ ตุนอี้ (Wu Den-yih) จะเลื่อนขึ้นเป็นประธานพรรคก๊กมินตั้งชั่วคราว โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการคัดเลือกผู้นำพรรคฯ คนใหม่ก่อนสิ้นเดือนหน้านี้
ระหว่างที่หม่ากำลังกล่าวคำแถลงลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคฯ (ภาพรอยเตอร์ส)
ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “หม่า อิงจิ่ว” ประธานาธิบดีไต้หวันอันเป็นที่รักของปักกิ่ง

เกิดวันที่ 13 กรกฎาคม 1950 ณ เกาะฮ่องกง

ปี 1972 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

ปี 1976 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมาย มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

ปี 1977 สมรสกับนางโจว เหม่ยชิง (Chow Mei-ching) มีบุตรีสองคน ได้แก่ หม่า เหวยจง (Ma Wei-chung) และหม่า หยวนจง (Ma Yuan-chung)

ปี 1981 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขากฎหมาย โรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) และเริ่มต้นทำงานเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานลำดับที่หนึ่งแห่งทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน

ปี 1986 รับคำสั่งจากเจียง จิงกั๋ว (Chiang Ching-kuo) ประธานาธิบดีไต้หวันในเวลานั้น ไปทำงานผ่อนปรนข้อบังคับต่างๆ บนความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน-จีน รวมถึงดำเนินการปฏิรูปสภา

ปี 1988 รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการวิจัย พัฒนา และประเมินผล ประจำสภาบริหาร (Executive Yuan) โดยได้รับมอบหมายให้ก่อตั้งคณะทำงานด้านกิจการแผ่นดินใหญ่

ปี 1991 ดำรงตำแหน่งรองประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ และตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋งในสมัชชาแห่งชาติที่สอง

ปี 1993 รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำเนินโครงการรณรงค์ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและยาเสพติด

ปี 1998 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงไทเป (สองสมัยติดกัน) โดยเอาชนะนายเฉิน สุ่ยเปียน คู่แข่งจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี (DPP)

ปี 2005 ดำรงตำแหน่งประธานพรรคก๊กมินตั๋งด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 73

13 ก.พ. 2007 ประกาศตัวเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2008

22 มี.ค. 2008 ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน (ปัจจุบันเป็นสมัยที่สอง)

3 ธ.ค. 2014 ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคก๊กมินตั๋ง

กำลังโหลดความคิดเห็น