xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไต้หวันส่อเค้าเปลี่ยนทิศหลังเลือกตั้งท้องถิ่น หม่า อิงจิ่ว กลายเป็นผู้นำ “เป็ดง่อย”

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีกรุงไทเปจากพรรคอิสระ ดร. เคอ เหวินเจ๋อ ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์(29 พ.ย.) ปราศรัยกับผู้สนับสนุนที่สำนักงานหาเสียงฯในไทเปวันที่ 29 พ.ย. ขณะที่คู่แข่ง เหลียน เซิ่งเหวิน จากพรรครัฐบาลก๊กมินตั๋ง พ่ายแพ้ (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเจนซี--ไต้หวันจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันเสาร์ที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งนี้มีความสำคัญเป็นที่จับตา เพราะบ่งชี้ถึงผู้พิชิตชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้าที่จะจัดในปี 2559

การเลือกตั้งในไต้หวันเมื่อวันเสาร์(29 พ.ย.) เป็นการเลือกตั้งผู้นำระดับเขตเทศบาลพิเศษที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง หรือมหานครของไต้หวัน(Special municipalities) 6 แห่ง การเลือกตั้งเขตเมือง (city)และอำเภอ (county) 16 แห่ง ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรครัฐบาลคือ กั๋วหมินตั่ง (สำเนียงจีนกลาง) หรือก๊กมินตั๋ง พ่ายยับอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์นับจากวันที่ผู้นำเจียง ไคเช็ค นำกองกำลังถอยร่นมาตั้งหลักจัดตั้งรัฐบาลที่ไต้หวันเมื่อปี 2492 หลังแพ้สงครามกลางเมืองแก่ผู้นำคอมมิวนิสต์จีน

ก๊กมินตั๋งสูญเสียเขตอิทธิพลการเมืองไปมากว่าครึ่ง โดยในสนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเขตเทศบาลพิเศษ 6 แห่ง ได้แก่ ไถเป่ย (กรุงไทเป), นิว ไถเป่ย, เถาหยวน, ไถจง, ไถหนัน, และเกาสยง ผู้สมัครฯก๊กมินตั๋งชนะเพียงเขตเดียว และสามารถรักษาฐานอำนาจได้เพียง 5 แห่ง (จาก 16 แห่ง) ในสนามเลือกตั้งเขตเมืองและอำเภอ เทียบการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่แล้ว ก๊กมินตั๋งได้เก้าอี้พ่อเมืองเทศบาลพิเศษถึง 4 เขต และครองที่นั่งผู้นำในเขตเมืองและอำเภอ 11 แห่ง
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี นาง ไช่ อิงเหวิน แถลงกับที่ประชุมข่าวในไทเป หลังจากที่ดีพีพี ชนะอย่างลอยลำ ทั้งในเมืองไถจงตอนกลางของไต้หวัน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายฐานเสียงไปยังภาคเหนือ (ภาพ รอยเตอร์ส)
ก๊กมินตั๋งเสียแม้กระทั่งเก้าอี้พ่อเมืองนครหลวงไทเป ให้แก่ผู้สมัครอิสระ นายแพทย์ เคอ เหวินเจ๋อ โดยผู้ปราชัยคือ นาย เหลียน เซิ่งเหวิน และความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวดที่สุดในสนามเลือกตั้งอีกเขตคือ ที่ไถจง ผู้สมัครฯก๊กมินตั๋ง นาย หู จื้อเฉียง (Jason Hu Chih-chiang) ผู้ครองเก้าอี้นายกเทศมนตรีไถจงมา 3 สมัย ต้องมาแพ้ให้แก่ผู้สมัครฯจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี คือ หลิน จยาหลง (Lin Chia-lung)

ในสนามเลือกตั้งเทศบาลพิเศษ 6 แห่งครั้งนี้ ก๊กมินตั๋งชนะอยู่เพียงที่เดียว คือ นิว ไถเป่ย โดย จู ลี่หลุน (Eric Chu Li-luan) เป็นผู้ชนะฯ แต่คะแนนนิยมของเขาหดหายไปอย่างน้อย 150,000 คะแนน เทียบกับการเลือกตั้งปี 2553 เขาชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง กว่า 1.1 ล้าน

ผู้กำชัยครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี (Democratic Progressive Party/DPP) ซึ่งรณรงค์อิสรภาพไต้หวัน นอกจากรักษาฐานเสียงในเมืองทางใต้ของพรรคฯ ได้แก่ ไถหนัน และเกาสยง ยังได้ที่นั่งเพิ่มที่เถาหยวน และไถจง ทั้งนี้ ชัยชนะในเมืองไถจงซึ่งเป็นเมืองตอนกลางของไต้หวัน จะช่วยให้ดีพีพีแผ่ขยายอิทธิพลจากภาคกลางขึ้นสู่ภาคเหนือ

ด้านกลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ผลการเลือกตั้งฯนี้ สะท้อนว่าผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประท้วงความล้มเหลวของรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมาผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งต้องเผชิญกับกระแสประท้วงการตกลงสัญญาการค้ากับจีน ได้แก่ การลงนามข้อตกลงการค้าในภาคบริการกับปักกิ่ง นอกจากนี้ยังมีกระแสไม่พอใจรัฐบาลหลายๆด้าน ได้แก่ ความวิตกความปลอดภัยด้านอาหาร การปฏิรูปการศึกษา ความเลื่อมล้ำด้านรายได้ ช่องว่างทางชนชั้น
ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว โค้งคำนับ หลังจากที่ประกาศลาออกจากประธานพรรคก๊กมินตั๋ง ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางประจำของพรรคฯในไทเป เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. (ภาพ รอยเตอร์ส)
ผู้นำก๊กมินตั๋ง ตบเท้าลาออก รับผิดชอบความพ่ายแพ้
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำก๊กมินตั๋ง ได้แต่ออกมาแสดงความรับผิดชอบกันอย่างดูพร้อมพรัก

หลังจากที่ผลการเลือกตั้งปรากฏชัดเจนในคืนวันเลือกตั้ง (29 พ.ย.) นายกรัฐมนตรี เจียง อี๋หวา (Jiang Yi-huah) และเลขาธิการพรรคฯ เจิง หย่งเฉวียน (Tseng Yung-chuan) ก็ประกาศลาออก เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ของพรรคฯ และในวันจันทร์(1 ธ.ค.) คณะรัฐมนตรีไต้หวันทั้งคณะ ก็ลาออกอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว แถลงในวันพุธ(3 ธ.ค.) ยืนยันลาออกจากประธานพรรคก๊กมินตั๋ง โดยรองประธานาธิบดี อู๋ ตุนอี้ รักษาการณ์ตำแหน่งประธานพรรคฯ

หม่า แถลงลาออกจากประธานพรรคฯพร้อมกับกล่าวขอโทษผู้สนับสนุนทั้งหมด และว่าการพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นเพราะไม่มีการปฏิรูปพรรคฯอย่างเพียงพอและมิได้ดำเนินการตอบสนองความต้องการของประชาชน

จอร์จ ไช่ เหว่ย (George Tsai Wei) อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมแห่งจีน (Chinese Culture University) ในไทเป ชี้ว่าการลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคฯของหม่า ไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงแห่งการครองอำนาจแบบ “เป็ดง่อย” ของเขา ยังเป็นการเปิดศึกช่วงชิงอำนาจภายในพรรคฯ โดยกลุ่มผู้นำในมุ้งการเมืองต่างๆในพรรคฯที่ไม่พอใจหม่า จะจับมือกันจัดตั้งศูนย์กลางอำนาจ

ผลการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายกระชับสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ แต่ก็จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไม่เท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หลิว กั๋วเซิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเรื่องไต้หวัน มหาวิทยาลัยซย่าเหมิน กล่าว
แต่อาจารย์ อู๋ ซินซิ่ง (Wu Hsin-hsing) แห่งมหาวิทยาลัยหมิงฉวน (Ming Chuan University) ในไทเป ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนไม่มากก็น้อย ว่าประชาชนวิตกต่อนโยบายระหว่างช่องแคบของหม่า “ในสภาพผู้นำ “เป็ดง่อย” หม่าจะชะลอจังหวะก้าวในการเดินหน้านโยบายระหว่างช่องแคบก่อนหมดวาระของเขาในปี 2559”
ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวันชื่นมื่นอย่างเป็นประวัติการณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เมื่อผู้นำก๊กมินตั๋งกลับมาขึ้นครองอำนาจโดยหม่า อิงจิ่ว ชนะการเลือกตั้ง

ประธานาธิบดีในปี 2551 ไม่กี่เดือนต่อมาก็มีการลงนามข้อตกลงที่เปิดยุคใหม่การติดต่อเชื่อมโยงกันโดยตรง 3 ด้าน ได้แก่ การคมนาคมทางอากาศ การเดินเรือขนส่งสินค้า และการไปรษณีย์ ทั้งนี้จีนและไต้หวันเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ตัดขาดการติดต่อโดยตรงมาเกือบ 60 ปี หลังจากที่เจียงไคเช็คพ่ายแพ้สงครามกลางเมือง และหนีมาตั้งรัฐบาลแยกต่างหากที่ไต้หวัน การติดต่อระหว่างสองดินแดนต้องผ่านดินแดนที่สาม

สัมพันธ์จีน-ไต้หวัน บูดเน่าสุดในยุคผู้นำพรรคดีพีพีเป็นประมุขดินแดน ระหว่างที่เฉิน สุ่ยเปี่ยนเป็นประธานาธิบดีสองสมัย รวม 8 ปี (2543-2551) พรรคดีพีพีรณรงค์อิสรภาพไต้หวัน สร้างความโกรธเคืองแก่จีน ซึ่งถือไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง ที่จะต้องกลับมารวมกับชาติกันในที่สุด ผู้นำจีนลั่นหากไต้หวันเคลื่อนไหวอิสรภาพ ก็จะใช้กำลังเข้ายึดดินแดน

ขณะนี้ พรรคดีพีพีเริ่มทอดเงาเหนือทำเนียบผู้นำไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบจะเป็นเหมือนคลื่นกระทบหรือไม่ โปรดติดตามชมกันต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น