เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - แดนมังกรเฝ้าสังเกตศึกเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงไทเปและสมาชิกสภาท้องถิ่นเกาะไต้หวันกว่า 11,130 ที่นั่งในวันนี้ (29 พ.ย.) อย่างใกล้ชิด โดยบรรดากูรูมองว่าแผ่นดินใหญ่ไม่อาจมองข้ามผลแพ้-ชนะที่อาจกระเทือนการชิงบัลลังก์ประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ในปี 2559 และสายสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ
ผลสำรวจความคิดเห็นชาวไต้หวันชี้ว่า พรรคก๊กมินตั๋ง หรือเคเอ็มที (KMT) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกำลังเผชิญภาวะเสื่อมศรัทธาในการแข่งขันครั้งสำคัญนี้ หลังจากประชาชนรู้สึกผิดหวังและไม่พอใจการบริหารงานของนายหม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
อดีตหัวหน้าสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในนครจังโจว มณฑลฝูเจี้ยน นายเหอ ซีเฮ่า (Ho Hsi-hao) กล่าวว่า ผลสำรวจอันไม่น่าพิสมัยกลายเป็นตัวกระตุ้นพรรคฯ ต้องพยายามชักจูงนักธุรกิจไต้หวันบนแผ่นดินใหญ่กว่า 7 แสนคน กลับไปลงคะแนนเสียงที่บ้านเกิดให้ได้
ขณะที่นายจอห์น เจี่ยง เสี้ยวเหยียน (Chiang Hsiao-yen) รองประธานพรรคฯ ก็จัดทัพเดินขบวนร่วมกับประชาชนสองพันคนในเมืองตงก่วนของมณฑลกวางตุ้งเมื่อวันอาทิตย์ก่อน เพื่อหาเสียงสนับสนุนนายฉอน เหลียน นักการเงิน ลูกชายของประธานทรงเกียรติพรรคฯ ที่ลงชิงตำแหน่งพ่อเมืองไทเป และนายเจสัน หู จื้อเฉียง (Hu Chih-chiang) ผู้ว่านครไท่จงที่ลงแข่งสนามเดิมอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี แม้เหอกล่าวว่านักธุรกิจจำนวนมากส่งสัญญาณจะกลับไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่นายเลี่ยว เหวินหลง (Liao Wen-lung) ประธานสมาคมฯ คนปัจจุบัน กลับบอกว่าแนวโน้มนักธุรกิจจะบินกลับไปนั้นไม่ได้มากนัก
“ตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2555 มีนักธุรกิจกลับไปลงคะแนนราว 2 แสนคน … คราวนี้สัก 5 หมื่นคนก็ถือว่าค่อนข้างดีแล้ว” เลี่ยวกล่าว
นักธุรกิจหญิงชาวไต้หวันคนหนึ่งที่ทำงานอยู่บริษัทผลิตวัตถุดิบอาหารในเมืองตงก่วน แสดงทัศนะคล้ายคลึงกับเพื่อนนักธุรกิจจำนวนมากบนแผ่นดินใหญ่ โดยอู๋ หลี่ฟัง เผยว่า “ฉันคงพลาดการเลือกตั้งครั้งน้ีไป เพราะต้องเคลียร์งานที่โหมเข้ามาช่วงสิ้นปี”
อู๋ชี้ว่าพรรคก๊กมินตั้งสมควรได้รับบทเรียนจากกรณีอื้อฉาววงการอาหาร ที่ตามหลอกหลอนไต้หวันมาตั้งแต่เดือน ก.ย. และจากความล้มเหลวในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
นักวิเคราห์บางส่วนมองข่าวคาวที่แฉบริษัทไต้หวันใช้และขายน้ำมันปรุงอาหารเก่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เคเอ็มทีเสียฟอร์มระหว่างการหยั่งเสียงสำรวจจากชาวไต้หวัน
“หลายสิ่งดูไม่เป็นใจให้กับพรรคก๊กมินตั๋ง แต่ก็พูดยากว่าความเสียหายใหญ่โตแค่ไหน กระทบการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปโดยตรงหรือไม่” หยัง หลี่เซียน นักวิจัยจากสถาบันไต้หวันศึกษาในจีนกล่าว โดยเสริมว่าผลสำรวจยังเป็นตัวทดสอบชาวไต้หวันว่าต้องการความสัมพันธ์แบบไหน อยากให้มันถอยหลังลงคลองหรือไม่
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี (Democratic Progressive Party) พรรคฝ่ายค้านคู่แข่งเคเอ็มทีซึ่งได้รับกระแสนิยมในผลสำรวจ ชูนโยบายแยกตัวเป็นอิสระจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าปักกิ่งมิอาจยอมรับได้ ด้วยถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองและพยายามรวมกลับมาหลังกลายเป็นศัตรูกันตั้งแต่สิ้นสงครามกลางเมืองปี 2492 โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากดีพีพีคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงไทเป ก็จะมีโอกาสมากขึ้นบนเวทีชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอีกสองปีข้างหน้านี้
ด้านเจ้าหน้าที่จีนแผ่นดินใหญ่ที่รับผิดชอบงานความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบยอมรับว่าเป็นกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไต้หวันครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้กระทำการใดเพื่อเข้าไปแทรกแซง ขณะที่นายหม่า เสี้ยวกวง โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันในสังกัดคณะมุขมนตรีจีน (คณะรัฐบาล) ไม่แสดงความเห็นใดๆ ระหว่างงานแถลงข่าวในวันพุธที่ผ่านมา