xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ไต้หวันแพ้ยับเลือกตั้งท้องถิ่น นายกฯ ลาออก-กระทบสัมพันธ์ปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตรีผู้หนึ่งซึ่งกำลังถือธงชาติไต้หวัน แสดงความเสียใจ ภายหลังที่ ฌอน เหลียน ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการนครไทเป ของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ณ สำนักงานรณรงค์หาเสียงในกรุงไทเปเมื่อวันเสาร์ (29)
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - พรรคก๊กมิ่นตั๋งที่เป็นรัฐบาลปกครองไต้หวัน ประสบความปราชัยย่อยยับที่สุดในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อวันเสาร์ (29 พ.ย.) ส่งผลทำให้นายกรัฐมนตรี เจียง อี๋หวา ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และคาดกันว่า ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ก็จะลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคในอีกไม่กี่วันข้างหน้า รวมทั้งจะสร้างความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงให้แก่ความสัมพันธ์ที่กำลังกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนี้ปรากฏว่า ก๊กมิ่นตั๋งที่เคยครองอำนาจเป็นผู้ปกครองนครสำคัญ 4 แห่งจากจำนวนทั้งสิ้น 6 เมืองของไต้หวันนั้น สามารถรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนที่นั่งในสภาของเมืองและเทศมณฑลทั่วประเทศก็ลดน้อยลงมาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง และโดยภาพรวมแล้วพรรคได้คะแนนเสียงไปเท่ากับ 40.7% ขณะที่พรรคเดโมเครติก โปรเกรสซีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ได้ไป 47.5%
เคอ เหวินเจ๋อ ผู้สมัครอิสระที่ได้รับการหนุนหลังจากพรรคดีพีพี ที่เป็นฝ่ายค้าน ชูมืออย่างยินดีภายหลังทราบผลการเลือกตั้งว่า เขาชนะได้เป็นผู้ว่าการนครไทเปคนใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครของก๊กมิ่นตั๋งพ่ายแพ้ในการชิงเก้าอี้ผู้ว่าการกรุงไทเป โดยได้คะแนนเสียง 41% ขณะที่ผู้ชนะได้แก่ เคอ เหวินเจ๋อ ผู้สมัครอิสระที่ได้รับรับการหนุนหลังจากดีพีพี ได้ 57% ทั้งนี้ ก๊กมิ่นตั๋งครองอำนาจที่เมืองหลวงต่อเนื่องเรื่อยมาถึง 16 ปีแล้ว และเท่าที่ผ่านมา ผู้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวันทุกๆ คนต่างเคยเป็นพ่อเมืองไทเปมาก่อนทั้งสิ้น

ไม่กี่ชั่วโมงหลังทราบผลการเลือกตั้ง ได้มีการนำลวดหนามมาติดตั้งที่ด้านบนประตูโลหะของสำนักงานใหญ่พรรคก๊กมิ่นตั๋งในเมืองหลวงไทเปอย่างรีบด่วน ขณะที่มีผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งชุมนุมกันอยู่ด้านนอกโดยพากันตะโกนให้ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ๋ว ลงจากตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี เจียง อี๋หวา ของไต้หวัน โค้งคำนับขณะประกาศลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากพรรคก๊กมิ่นตั๋งของเขาพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อวันเสาร์ (29)
ภายในสำนักงานใหญ่ นอกจากนายกรัฐมนตรีเจียง และ เจิง หย่งเฉวีย เลขาธิการพรรคก๊กมินตั๋ง ประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการปราชัยคราวนี้แล้ว ประธานาธิบดีหม่าก็โค้งคำนับแสดงความเสียใจ อีกทั้งเป็นที่คาดหมายกันว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคในการประชุมคณะกรรมการกลางของพรรควันพุธ (3ธ.ค.)นี้

ทั้งนี้ การสละเก้าอี้ประธานพรรคจะไม่กระทบกระเทือนการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา อีกทั้ง หม่า ก็กำลังอยู่ในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายตามกฎหมาย ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2016

ไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ได้แบ่งแยกออกจากกันในปี 1949 ภายหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ชนะ และพรรคก๊กมิ่นตั๋งเป็นผู้แพ้ ทั้งนี้ ปักกิ่งประกาศเรื่อยมาว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และจะต้องกลับมารวมกับแผ่นดินแม่

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่เพิ่มทวีขึ้นไปมากในยุคที่ เฉิน สุยเปี่ยน แห่งพรรคดีพีพี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวันตั้งแต่ปี 2000-2008 โดยที่ปักกิ่งระแวงว่าดีพีพีเป็นพวกที่ต้องการประกาศให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช

ทว่า ตั้งแต่ หม่า แห่งก๊กมิ่นตั๋งขึ้นครองอำนาจโดยประกาศหลักนโยบายหันมาเป็นมิตรกับแผ่นดินใหญ่ สายสัมพันธ์ที่เคยเย็นชาต่อกันก็กลับอบอุ่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเยือนไต้หวันกันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อความสัมพันธ์แนบชิดกันมากขึ้น สาธารณชนไต้หวันก็กลับเกิดความหวาดผวาอิทธิพลของจีน และวิตกว่าไต้หวันจะต้องพึ่งพาอาศัยแผ่นดินใหญ่ในทางเศรษฐกิจมากเกินไป บรรยากาศเช่นนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงของประชาชนที่นำโดยนักศึกษาเมื่อต้นปีนี้ เพื่อคัดค้านการที่ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่จะทำข้อตกลงการค้าทางด้านบริการอย่างขนานใหญ่ โดยที่พวกนักศึกษาได้เข้ายึดรัฐสภาไต้หวันเอาไว้ถึง 3 สัปดาห์ และทางการไต้หวันต้องยอมระงับเรื่องนี้

ความพ่ายแพ้ของก๊กมิ่นตั๋งในคราวนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการแสดงความไม่ไว้วางใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ต่อนโยบายสนิทสนมกับจีน นอกเหนือจากความไม่พอใจของประชาชนต่อสภาพเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว อีกทั้งยังเกิดกรณีอื้อฉาวเรื่องความปลอดภัยทางอาหารหลายๆ กรณีต่อเนื่องกัน
ประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน (ขวา) โค้งคำนับในระหว่างการแถลงช่าวพร้อมกับพวกเจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ภายหลังพรรคปราชัยยับเยินในการเลือกตั้งท้องถิ่นวันเสาร์ (29)
ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงคาดหมายกันว่าความปราชัยยับเยินอย่างนี้ อาจจะบีบบังคับให้พรรคก๊กมิ่นตั๋งต้องตรวจสอบทบทวนนโยบายว่าด้วยจีนของตนอีกครั้งหนึ่ง

“ก๊กมิ่นตั๋งไม่น่าจะผลักดันสายสัมพันธ์ (ที่มีอยู่กับจีน) ให้เดินหน้าต่อไปอีก ถ้าหากพวกเขาไม่ได้วาดหวังที่จะประสบความเพลี่ยงพล้ำครั้งมโหฬารอีกครั้งในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีปี 2016” ติง ซือฟัน อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ ในกรุงไทเป ให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพี

“ในเวลาเดียวกัน จีนก็ไม่น่าจะยินดีผ่อนปรน และเสนอผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังให้อีก ในการเจรจาหารือกับฝ่ายไต้หวัน” เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคดีพีพีมีโอกาสสูงที่จะขึ้นครองอำนาจในปี 2016 อาจารย์ติงกล่าวต่อ

ทางด้าน จาง อู่เอ้อ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตจีนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยตั้นเจียง ในไทเป บอกว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ดำเนินมา 2 เดือนในฮ่องกง น่าจะมีส่วนทำให้อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านปักกิ่งในไต้หวันเข้มข้นมากขึ้น

“การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง อาจจะมีผลกระทบอย่างอ้อมๆ ต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ออกเสียงในไต้หวัน และเพิ่มทวีความรับรู้ความเข้าใจในทางลบต่อปักกิ่ง” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจของไต้หวันกำลังชะลอตัว ก็ทำให้เป็นเรื่องลำบากสำหรับรัฐบาลของเกาะแห่งนี้ไม่ว่าชุดใดก็ตาม ที่จะปฏิเสธโจ่งแจ้งไม่ยอมทำข้อตกลงทางการค้ากับจีน และแม้กระทั่งพวกนักการเมืองที่อยู่นอกพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าปฏิเสธไม่ยอมเจรจาทางการค้าใดๆ กับปักกิ่ง

อาจารย์ติง แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไต้หวันกับจีนนั้น “ไมมีทางเลยที่จะพลิกทวนกระแสได้อีกแล้ว”

แม้กระทั่ง ไช่ อิงเหวิน หัวหน้าพรรคดีพีพีคนปัจจุบัน ก็ได้ปรับลดจุดยืนของพรรคในเรื่องความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ให้แข็งกร้าวน้อยลง ภายหลังที่เธอได้รับเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ตอนต้นปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น