(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Xi and the end of Zhou Yongkang
By Francesco Sisci
08/12/2014
การที่ โจว หย่งคัง อดีตนายใหญ่คุมงานด้านความมั่นคงและอดีตกรรมการประจำของกรมการเมือง ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นการส่งสัญญาณการสิ้นสุดของยุคสมัยซึ่งพวกเจ้าหน้าที่พรรคสามารถที่จะมองเมินผลักไสระเบียบกฎหมายตามใจชอบ และเที่ยวปรับเปลี่ยนสถาบันของรัฐให้สอดคล้องกับความปรารถนาของพวกเขา เส้นทางสายใหม่มุ่งสู่ “หลักนิติธรรม” หรือการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด ซึ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศนำเอามาใช้สายนี้ กำลังส่งผลต่อเนื่องอย่างมหาศาลต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและต่อประเทศจีนด้วย
ปักกิ่ง - โจว หย่งคัง อดีตนายใหญ่ผู้คุมงานด้านความมั่นคง และอดีตสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองระดับสูงสุดของแดนมังกร ได้ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวคราวนี้ ไม่ต่างอะไรกับการที่ สี จิ้นผิง ผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของจีนคนปัจจุบัน ออกมาประกาศการสิ้นสุดของยุคสมัยหนึ่งอย่างเป็นทางการ การที่ โจว ถูกไล่ออกจากพรรคเช่นนี้ หมายความว่าอีกไม่ช้าไม่นานเขาจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลอย่างเปิดเผยในฐานะจำเลยผู้กระทำผิดคดีอาญาร้ายแรง ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองจีนยุคพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ปกครองประเทศ มีกรณีระดับนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น ได้แก่ การจับกุม “แก๊ง 4 คน” ผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในปี 1976 และจากนั้นก็มีการนำตัวพวกเขาขึ้นพิจารณาคดีในศาลในปี 1980
ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีองค์กรบริหารปกครองรวม 3 ชั้นด้วยกัน ไล่เรียงตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงสูงสุด ได้แก่ คณะกรรมการกลาง , คณะกรรมการกรมการเมือง , และคณะกรรมการประจำกรมการเมือง
หลังจากแก๊ง 4 คนเป็นต้นมา เหยื่อระดับสูงสุดที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จากการต่อสู้กันภายในพรรค ไล่กันตั้งแต่ เจ้า จื่อหยาง อดีตเลขาธิการใหญ่และกรรมการประจำกรมการเมือง ผู้สูญเสียตำแหน่งเนื่องจากการไปสนับสนุนพวกนักศึกษาที่ชุมนุมกันในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ต่างก็ถูกปลดถูกถอดจากอำนาจหน้าที่และถูกสอบสวนลงโทษ ทว่าไม่มีใครเลยที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีต่อหน้าสาธารณชน ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เฉิน ซีถง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขากรุงปักกิ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการกรมการเมืองผู้หนึ่งด้วย ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษ ทว่าพันธมิตรของเขาผู้มีตำแหน่งสูงกว่าโดยอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง กลับไม่ได้ถูกเอ่ยถึงแม้กระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม ในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา เฉิน เหลียงอี๋ว์ เลขาธิการพรรคสาขามหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นกรรมการกรมการเมืองเช่นกัน ก็ประสบชะตากรรมอย่างเดียวกัน แต่ หวง จี๋ว์ พี่เลี้ยงของเขาที่เป็นกรรมการประจำกรมการเมือง กลับรอดพ้นความอัปยศของการถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีต่อหน้าสาธารณชน และถูกปล่อยให้สิ้นชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง
มีอยู่ระยะหนึ่งที่ดูเหมือนกับว่า แบบแผนทำนองเดียวกันนี้กำลังจะเกิดซ้ำอีกครั้งหนึ่งสำหรับกรณีของ โป๋ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคสาขามหานครฉงชิ่ง และกรรมการกรมการเมือง เขาถูกนำตัวเผยโฉมต่อหน้าสาธารณชนในศาลเมื่อปีที่แล้ว ทว่าชะตากรรมของโจว ผู้เป็นพี่เลี้ยงคนสำคัญของโป๋ และก็เป็นกรรมการประจำกรมการเมือง กลับอยู่ในความไม่แน่ไม่นอนต่อมาอีกนานทีเดียว ในตอนแรกๆ ดูเหมือนกับ สี จะพึงพอใจเพียงแค่การกระจายข่าวคราวความเคราะห์ร้ายของโจว และให้ความอัปยศกองสุมเอาไว้ที่พวกพันธมิตรของ โจว ในฝ่ายทหาร อันได้แก่ สีว์ ไฉโฮ่ว กับ กัว ป๋อสง 2 อดีตรองประธานคณะกรรมการทหารส่วนกลางของพรรค
มาในขณะนี้ ข่าวการขับ โจว ออกจากพรรค กำลังนำเราย้อนกลับไประลึกถึงช่วงแห่งการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่มีการจับกุมแก๊ง 4 คนเป็นสัญลักษณ์ เวลานี้ก็เป็นช่วงแห่งการสิ้นสุดของยุคสมัยอีกยุคสมัยหนึ่งเช่นเดียวกัน ตัวประธานาธิบดีสีเองก็กล่าวย้ำเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน ทว่ามีความแตกต่างกันอย่างสำคัญระหว่างช่วงสิ้นสุดของยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมในตอนนั้น กับช่วงสิ้นสุดของยุคนี้ในปัจจุบัน ในครั้งนั้น สมาชิกแก๊งผู้ฉาวโฉ่ทั้ง 4 (ได้แก่ เจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน, และ หวัง หงเหวิน แต่ละคนถ้าไม่ใช่อยู่ในระดับกรรมการประจำกรมการเมือง ก็เป็นกรรมการกรมการเมือง) ต่างถูกจับกุมอย่างฉับพลันชนิดไม่ทันให้ระวังตั้งตัว แต่ละคนถูกรวบตัวห่างจากคนอื่นๆ เพียงไม่กี่นาที โดยที่การจู่โจมอันมีชื่อเสียงคราวนั้น วางแผนและดำเนินการโดย วัง ตงซิง อดีตหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของเหมา เจ๋อตง
สำหรับในคราวนี้การจับกุมตัวการใหญ่และบุคคลผู้เกี่ยวข้องดำเนินไปในแบบสโลว์โมชั่น โดยที่มีการรณรงค์อันยืดเยื้อกินเวลาเป็นเดือนเป็นปีซึ่งเวลานี้ก็ยังดำเนินอยู่ ความผิดแผกแตกต่างเช่นนี้บ่งบอกให้เห็นว่า ในปี 1976 นั้น อำนาจของแก๊ง 4 คนยังคงแข็งแกร่งมาก การออกมาเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับพวกเขาภายในพรรค ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก และจะเกิดผลไปในทางไหนก็ไม่มีความแน่นอน ดังนั้น เพื่อกำจัดพวกเขาให้อยู่หมัด พวกพันธมิตรของวัง ตงซิง จึงคิดกันว่าจำเป็นที่จะต้องเข้าจู่โจมอย่างรวดเร็ว ตัวคณะบุคคลเดียวกันนี้เองในที่สุดแล้วก็ลงเอยด้วยการนำเอา เติ้ง เสี่ยวผิง กลับคืนสู่อำนาจ
สำหรับ สี นั้น เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นผู้ควบคุมด้านความมั่นคง (อันที่จริงแล้วเรื่องนี้อยู่ในกำมือของโจว) และก็ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (มันอยู่ในกำมือของ สีว์ ไฉโฮ่ว กับ กัว ป๋อสง ด้วยซ้ำ) ดังนั้นเขาจึงจำเป็นต้องเดินหน้าในเส้นทางที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ เขาเคลื่อนไหวผ่านทางกลไกของพรรค ซึ่งอยู่ในกำมือของเขา และผลักดันให้คืบหน้าอย่างช้าๆ แต่เป็นระบบ โดยไม่ใช่เป็นการเด็ดหัวบุคคลเพียงไม่กี่คน หากแต่เป็นการกำจัดผู้คนทั้งหมดซึ่งไม่ได้ประพฤติตนสอดคล้องกับเส้นทางสายใหม่ นี่เป็นผู้คนจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นคนทีเดียว ดังที่เราได้รับทราบข่าวคราวกันเป็นระลอกเรื่อยมาในตลอดระยะเวลาสองสามปีหลังนี้
ประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่อให้ยึดระเบียบกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ดูจะกลายเป็นทั้งเหตุผลเบื้องลึกและเป็นทั้งผลลัพธ์ของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันภายในพรรคคอมมิวนิสต์คราวนี้ มันเป็นเหตุผลเบื้องลึกก็เพราะว่า ถ้าหากไม่ได้มีการเร่งเครื่องวางพื้นฐานทางทฤษฎีและทางอุดมการณ์กันอย่างสลับซับซ้อนเสียก่อนแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็จะขาดไร้เหตุผลที่เพียงพอ ในการกำจัดบุคคลผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่เหล่านี้ (กล่าวได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์นั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับคริสตจักรคาทอลิก ในแง่ที่ว่าจะทำการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม ก็ต้องอ้างอิงเหตุผลความชอบธรรม ว่าเป็นไปเพื่อเป้าหมายอันลึกล้ำในทาง “เทววิทยา”/อุดมคติ)
ส่วนที่บอกว่ามันเป็นผลลัพธ์นั้น เพราะว่าจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ ทำให้เวลานี้กำลังมีการสถาปนาวิธีการแบบใหม่ ระบบแบบใหม่ขึ้นมา เป็นระบบแห่งหลักนิติธรรม (rule of law) หรือการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด (ในภาษาจีนจะใช้คำว่า yi fa zhi guo เพื่อเป็นการระบุเจาะจงว่ามันเป็นแนวความคิด “rule of law” ของแท้ โดยที่เมื่อมีการแปลภาษาจีนคำนี้เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะใช้คำว่า “rule of law” อย่างชัดเจน ผิดแผกไปจากเมื่อก่อนซึ่งในภาษาจีนจะใช้คำที่กำกวมอย่างคำว่า fa zhi และในพากษ์ภาษาอังกฤษก็แปลด้วยคำว่า “rule by law”) ในระบบนี้แม้กระทั่งผู้เป็นนายใหญ่ทรงอำนาจที่สุดของพรรค ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะต้องขึ้นต่อกฎหมาย
กระบวนการนี้ (เฉพาะเรื่องกระบวนการเท่านั้น) มีความละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่ เหมา เจ๋อตง นำเอามาประยุกต์ใช้ในปี 1942 ณ การประชุมว่าด้วยอุดมการณ์และศิลปะวรรณคดี ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่เมืองเอี๋ยนอาน (เยนอาน) ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี ในตอนนั้น เหมา จำเป็นที่จะต้องกำจัดอำนาจของมอสโก (โดยที่มอสโกแม้จะส่งเงินทองมาช่วยเหลือ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำลังประสบความยุ่งยากลำบากมากมาย แต่ก็ได้เข้ามาบงการจุ้นจ้านจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง) และอำนาจของกลุ่มคนจีนที่ได้รับการฝึกอบรมจากมอสโกจำนวน 28 คน ผู้ได้รับฉายาว่า กลุ่ม “28 บอลเชวิค” เพื่อที่จะสามารถเข้าควบคุมพรรคเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ และเปิดประตูต้อนรับพวกปัญญาชนเสรีนิยมชาวจีน ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในอาการลังเลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ายังสมควรหรือไม่ที่จะให้การสนับสนุนต่อไปแก่พรรคก๊กมิ่นตั๋ง ที่กำลังแสดงความเป็นอนุรักษนิยมยิ่งขึ้นทุกที
ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ เหมาต้องการเปิดกว้างให้เขามีทางเลือกในการมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ในเวลานั้นกำลังไม่พอใจและวางตัวเหินห่างออกมาจากการหนุนหลังพรรคก๊กมิ่นตั๋ง สืบเนื่องจากพรรคนี้แสดงให้เห็นถึงความทุจริตเน่าเฟะร้ายแรงขึ้นทุกที เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของเขาซึ่งมีอยู่หลายๆ ด้านในเวลาเดียวกันเช่นนี้ เหมาจำเป็นที่จะต้องสร้างฐานะ “การครองอำนาจครอบงำในทางวัฒนธรรม” (cultural hegemony) ขึ้นมา (คำๆ นี้มาจาก อันโตนีโอ กรัมชี Antonio Gramsci เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ผู้พัฒนาทฤษฎีเรื่องนี้ขึ้นมาโดยอิสระมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับฝ่ายจีน เมื่อช่วงทศวรรษ 1930) ขึ้นในพรรคและในประเทศ เขาทำเช่นนี้ได้ในตอนนั้นด้วยการย้ำยืนยันถึงหลักการว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” (zhongguo tese)
แนวความคิดนี้ ถ้าหากอธิบายกันด้วยถ้อยคำเข้าใจง่ายๆ แล้ว ก็คือการประกาศว่า เงื่อนไขต่างๆ ในทางเป็นจริงในทางปฏิบัติของประเทศจีน สามารถที่จะถือว่า มีความสำคัญยิ่งกว่าข้อพิจารณาในทางทฤษฎีในทางอุดมการณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอ่านความเป็นจริงในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องเป็นรูปธรรม (ความเป็นจริงในพื้นที่ในตอนนั้น ย่อมหมายถึงพื้นที่ชนบทของจีน ซึ่ง เหมา มีความรอบรู้ความเข้าใจดียิ่งกว่าพวกสหายของเขาที่ต่างเติบโตผ่านการศึกษาในเขตเมืองใหญ่นักหนา) จึงต้องถือเป็นมาตรฐานสำหรับใช้เป็นเกณฑ์วัดผลและเป็นเกณฑ์ในการกำหนดนโยบาย ทั้งนี้ เพียงแค่ด้วยคำนิยามเท่านั้น พวกสหาย 28 บอลเชวิค ที่ได้รับการอบรมจากมอสโก และมีความคุ้นเคยอย่างอุดมสมบูรณ์เกี่ยวกับสหภาพโซเวียต ทว่าเหินห่างการสัมผัสกับเขตชนบทของจีน ก็แทบจะถูกตัดออกจากเกมไปเลย
สำหรับในคราวนี้ สี กำลังใช้มาตรฐานที่แตกต่างออกไป หลักการสำคัญของเขาไม่ใช่ “ลักษณะเฉพาะของจีน” อีกแล้ว หากแต่เป็น หลักนิติธรรม (yi fa zhi guo) ทั้งนี้เขามีเหตุผลอย่างมากมายมหาศาล มารองรับการเปิดการรณรงค์อย่างไร้ความปรานี เพื่อเรียกร้องให้สร้างระบบใหม่ที่มี “การนำเอากฎหมายมาใช้เป็นหลักในการปกครอง” ในเมื่อสถานการณ์ในแดนมังกรกำลังอุดมด้วยพวกเจ้าหน้าที่ของพรรคและสมุนบริวารของพวกเขา ซึ่งเที่ยวบงการชักใยด้วยความลุแก่อำนาจ โดยมองเมินผลักไสระเบียบกฎหมายตามใจชอบ และเที่ยวปรับเปลี่ยนสถาบันของรัฐให้สอดคล้องกับความปรารถนาของพวกเขา
สภาวการณ์เช่นนี้เมื่อพิจารณากันโดยปลอดจากอคติแล้ว ก็คือการขับเคลื่อนประเทศจีนให้ตกลงไปในกับดักแบบสหภาพโซเวียตในยุคของ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 โดยที่ในเวลานั้น กิจการอุตสาหกรรมทรงอำนาจทั้งหลายของโซเวียต (สำหรับในกรณีของจีนปัจจุบันนี้ ย่อมได้แก่พวกวิสาหกิจของรัฐ State-Owned Enterprises หรือ SOEs) กำลังตัดเฉือนแล่ “รัฐ” กันอย่างสนุกสนาน ทั้งทำให้รัฐเต็มไปด้วยความทุจริตคดโกง และทั้งทำให้ประเทศเหลือแต่เปลือกกลวงๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ของผู้ทรงอำนาจไม่กี่คน ในแดนมังกร วิสาหกิจภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์ผลักดันความเจริญเติบโตมาตั้งแต่ช่วงหลังทศวรรษ 1970 กำลังถูกผลักไสให้ออกนอกทางโดยพวกวิสาหกิจของรัฐที่เป็นจอมกินรวบ และมีความเชี่ยวชาญเหลือเกินในการเขมือบกลืนกินการแข่งขันทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้การพัฒนาของจีนชะลอตัวลง
แนวความคิดว่าด้วยหลักนิติธรรม เป็นความพยายามที่จะนำเอามาตรฐานว่าด้วยประสิทธิภาพและการพัฒนากลับคืนมา โดยที่มีการใช้แนวความคิดนี้มาเป็นกรอบซึ่งทำให้เกิดมุมมองใหม่ต่อเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งต่อแนวความคิดว่าด้วยลักษณะเฉพาะของจีน อันเป็นสิ่งที่ได้ถูกนำไปตีความอย่างเปะปะไร้ทิศทางเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมเฉพาะเจาะจงบางอย่างบางประการ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ก็เป็นเพียงการปฏิบัติแบบทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะอะไรนักหนาเลย
ผลสืบเนื่องอันเกิดจากหลักการใหม่ว่าด้วยการใช้กฎหมายมาเป็นหลักในการปกครองนี้ มีอย่างมากมายมหาศาล เวลานี้ หลักการดังกล่าวแทบจะคล้ายๆ กับเป็นไม้เท้ากายสิทธิ์ในมือของ สี ทีเดียว แต่แน่นอนว่ามันก็จะต้องมีผลสืบเนื่องแบบที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากนำเอาหลักนิติธรรมมาใช้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังแล้ว ผู้คนที่นำพาประเทศไปสู่ขอบเหวแห่งความหายนะ (และก็ให้บังเอิญที่ต่างเป็นศัตรูของ สี ทั้งนั้น) ก็จะต้องถูกกำจัดไป โดยต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมายใหม่ๆ ของประเทศ
โจวและพันธมิตรของเขาจะต้องถูกนำตัวมาไต่สวนพิจารณาคดีในศาลต่อหน้าสาธารณชน ทั้งนี้ไม่ใช่กระทำเพื่อให้กลายเป็นตัวอย่าง หากแต่เป็นการโชว์ต่อประชาชนภายในประเทศจีน (และก็โชว์ต่อภายนอกประเทศด้วย เนื่องจากจีนกำลังมีชื่อเสียงเกียรติภูมิในโลกสูงเด่นขึ้นทุกที) ให้มองเห็นถึงระบบใหม่นี้ และก็เป็นการปักแน่นตอกตรึงหลักการซึ่งจะใช้ปกครองประเทศต่อไปในอนาคตนี้ ให้มั่นคงไม่มีโยกคลอน
ในทางเป็นจริงแล้ว คงจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ รวมทั้งความช่ำชองเชี่ยวชาญและสติปัญญาอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว ในการนำเอาหลักการว่าด้วยนิติธรรม เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ในประเทศซึ่งคุ้นเคยกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างไร้ความละอายมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทั้งนี้เมื่อตอนที่ เหมา นำเอาแนวความคิดว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” เข้ามาใช้ในทางปฏิบัติ ก็เป็นเช่นนี้มาแล้ว โดยที่พวกเขาต้องฟันฝ่าความแตกแยกในทางความคิดอุดมการณ์ซึ่งดำรงคงอยู่มาหลายสิบปี รวมทั้งต้องต่อสู้กับลัทธิชาตินิยมแบบเคร่งคัมภีร์ ซึ่งได้ถูกตัดต่อตอนกิ่งจนกลายเป็นอาวุธหนึ่งในการพิทักษ์รักษาระบบความคิดแบบเก่าๆ ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อป้องกันรักษาสถานะเดิม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ที่ผูกติดกับระบบเก่าอย่างเหนียวแน่น และคอยต่อต้านคัดค้านความต้องการที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างลึกซึ้งและอย่างรุนแรง
การสร้างพรรคกันใหม่และการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของพรรคเสียใหม่เมื่อตอนต้นและตอนกลางทศวรรษ 1940, ชัยชนะในสงครามกลางเมืองในตอนปลายทศวรรษ 1940, และจากนั้นก็ระยะปีแรกๆ แห่งการขึ้นครองอำนาจปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1950 ช่วงเวลาเหล่านี้ได้เป็นประจักษ์พยานของความพยายามอย่างมโหฬารที่จะขุดรากถอนโคน (โดยบางครั้งก็ดำเนินไปอย่างน่าตื่นใจและรุนแรงยิ่ง) ประดานิสัยเก่าๆ และพวกผลประโยชน์ที่ผูกติดฝังแน่นอยู่กับระบบเก่าทั้งหลาย
ระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป เราคงจะได้มองเห็นกระแสผลักดันทำนองเดียวกัน ถึงแม้ในคราวนี้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนอาจจะจำกัดวงอยู่แค่เพียงภายในพรรค และไม่ได้ขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างทั่วทั้งสังคม ในทางเป็นจริงแล้ว ในครั้งนี้สังคมจีนและวิสาหกิจภาคเอกชนของจีน มีความกระตือรือร้นอย่างที่สุดที่จะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปต่างๆ ขณะที่ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปเหล่านี้จะเริ่มต้นและชี้นำโดยพรรค แต่ก็ยังคงถูกบางส่วนบางแวดวงของพรรคเองต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง
ทว่าในทันทีที่มาตรฐานใหม่ต่างๆ เหล่านี้ ปักหลักมั่นคงแล้ว มันก็จะมีชีวิตของมันเองโดยเป็นอิสระแม้กระทั่งจากผู้คนที่เป็นผู้สถาปนามันขึ้นมาในตอนแรก เป็นต้นว่า สาระสำคัญของหลักการว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” อันได้แก่ ความจำเป็นที่จะต้องยอมรับผลในทางปฏิบัติและสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏออกมา ได้หวนกลับมาเล่นงานตัว เหมา เจ๋อตง เสียเอง ในกรณีการรณรงค์ “ก้าวกระโดดใหญ่” ในตอนปลายทศวรรษ 1950 ทั้งนี้ ในเวลานั้น เพื่อนมิตรและผู้สนับสนุนของ เหมา ได้เข้าพบเขาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า แนวความคิดแสนวิเศษของเขาในเรื่องการเร่งรัดผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการปลุกระดมประชาชนนั้น ในความเป็นจริงกลับใช้ไม่ได้ผลเลย มันไม่ได้ทำให้ประชาชนมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ตรงกันข้ามกลับทำให้พวกเขาอดอยากล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
การตอบโต้แรกสุดของ เหมา ต่อการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ย่อมไม่อาจที่จะเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับทฤษฎีว่าด้วยการตรวจสอบจากสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ (เพราะนี่คือแกนกลางทางอุดมการณ์ซึ่งทำให้เขาก้าวขึ้นครองอำนาจ) หากแต่ต้องเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพวกผู้ส่งสารเหล่านี้มีความสุจริตจริงใจ เพื่อที่จะได้ปฏิเสธสารที่พวกเขาส่งมาเสียด้วย ครั้นเมื่อสารเช่นนี้ กลับปรากฏออกมาอย่างมากมายท่วมท้นเสียจนกระทั่งไม่สามารถที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับได้อีกต่อไปแล้ว เหมาก็จำเป็นต้องสละอำนาจอันแท้จริงออกไปในตอนต้นทศวรรษ 1960 เหลือไว้เพียงตำแหน่งในทางเกียรติยศ
อย่างไรก็ตาม เขายอมกระทำเช่นนั้นด้วยความคับข้องใจ, เต็มไปด้วยความระแวงสงสัยว่าพวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขานั้นไร้ความซื่อสัตย์และไร้ความจงรักภักดี และด้วยเหตุนี้แหละ ในเวลาต่อมาเขาจึงได้ก่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นในตอนกลางทศวรรษ 1960 โดยพุ่งเป้าเล่นงานพวกอดีตเพื่อนมิตรของเขาเหล่านี้เอง ความเคลื่อนไหวอันใหญ่โตมโหฬารคราวนั้น เท่ากับปฏิเสธไม่ยอมรับการนำเอาหลักการ “ลักษณะเฉพาะของจีน” มาใช้ในทางปฏิบัติกันเลย และขับดันจีนให้เข้าสู่อาณาจักรทางทฤษฎีอย่างใหม่ ซึ่งแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีการแตะต้องสัมผัสกับความเป็นจริงเลย ต่อจากนั้น เหมา ก็ได้สถาปนาฐานะ “การครองอำนาจครอบงำในทางวัฒนธรรม” ขึ้นมาใหม่ ทว่าในครั้งนี้กลายเป็นการครอบงำซึ่งเอาแต่อิงอยู่กับการใช้อำนาจอย่างโต้งๆ หยาบๆ ของเขา และการล่วงละเมิดอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์โดยมิชอบด้วยความโหดร้ายทารุณเท่านั้น ไม่ใช่บนพื้นฐานของความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริง --และด้วยเหตุนี้เอง การครอบงำเช่นนี้จึงประสบความล้มเหลวอย่างน่าสังเวชหลังจากครองอำนาจอยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ
หลังจาก เติ้ง เสี่ยวผิง กลับคืนสู่อำนาจ เขาก็โฟกัสไปที่หลักการว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” นี่คือคำประกาศทางการเมืองและทางความคิดอุดมการณ์ของการหวนคืนไปสู่ลัทธิเหมาเจ๋อตงดั้งเดิมของปี 1942 แต่ต่อต้านคัดค้านลัทธิเหมาเจ๋อตงแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมในระยะหลังๆ ที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง เติ้งกระทำเช่นนี้ได้ด้วยการบังคับใช้แนวทางมุ่งผลในทางปฏิบัติที่ เหมา เคยใช้อยู่ แถมยังเพิ่มน้ำหนักให้เข้มข้นมากขึ้นอีก รวมทั้งเน้นย้ำว่า สิ่งที่จำเป็นอันดับแรกสุดก็คือดูว่าผลในทางปฏิบัติออกมาเป็นอย่างไร (ดังคำพูดของ เติ้ง ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายกว้างขวางที่ว่า “ไม่สำคัญหรอกว่าแมวมันสีขาวหรือสีดำ ขอให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน”) ไม่ใช่ไปคิดถึงหลักการเคร่งคัมภีร์ที่มีแต่ความว่างเปล่า
ทฤษฎีว่าด้วยหลักนิติธรรมที่ สี กำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ มีความคล้ายคลึงกับการเน้นย้ำของ เติ้ง ในตอนนั้น กล่าวคือ เป็นความพยายามอย่างน่าตี่นใจที่จะอิงอาศัยจิตวิญญาณของเหมา ในยุคปี 1942 เป็นความพยายามที่จะดูดซับจิตวิญญาณดังกล่าว และเดินหน้าต่อไปให้เลยพ้นไปจากเหมา ทั้งนี้ สี ต้องการที่จะสถาปนาหลักตรรกวิทยาอย่างใหม่, เทววิทยาอย่างใหม่ ซึ่งไปไกลเกินกว่าบรรดาทฤษฎีในยุคแห่งการสร้างพรรค ที่ได้ครอบงำพรรคเรื่อยมาตั้งแต่ปีที่มีการจัดประชุมที่เอี๋ยนอาน (เยนอาน) คราวนั้น มันเป็นความพยายามอย่างมโหฬารที่จะนำเอาชีวิตใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม ให้เข้ามาแผ่ซ่านกระจายไปในพรรค อย่างไรก็ดี ดังที่หลักการว่าด้วย “หยิน” และ “หยาง” ของจีนได้สอนเราไว้ ไม่มีสิ่งใดที่ดำตลอดหรือว่าขาวตลอด สำหรับหลักการว่าด้วยหลักนิติธรรมนี้ เมื่อถูกนำเอามาใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ก็จะเหมือนกับการปล่อย “ยักษ์จินี่” ให้ออกจากขวดแก้วที่เคยขังมันไว้ ยักษ์ตนนี้จะมีชีวิตของมันเองและมีหลักตรรกวิทยาของมันเอง (ทำนองเดียวกับการเรียกร้องให้ “ตรวจสอบกับสภาพความเป็นจริงในทางปฏิบัติ” ในอดีตที่ผ่านมา)
สี จะต้องพยายามชี้นำการนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ ให้ดำเนินไปในหนทางที่สงบราบรื่นและเน้นหนักสติปัญญา แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามที เขาเกิดมีความพยายามที่จะต่อต้านคัดค้านหลักตรรกวิทยาของมันแล้ว เขาก็คงจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทำนองเดียวกับที่ เหมา เคยประสบอยู่เมื่อตอนที่การรณรงค์ “ก้าวกระโดดใหญ่” ล้มเหลวไม่เป็นท่า ในกรณีของ สี ดูเหมือนว่าเขาจะตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และกำลังนำตัวเองเข้าขึ้นต่อกฎเกณฑ์เดียวกันกับที่เขาเรียกร้องต่อชาวสหายของเขา
ไม่ใช่จำกัดเฉพาะต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ สภาวการณ์เช่นนี้ยังอาจส่งผลสืบเนื่องอย่างมากมายมหาศาลต่ออนาคตของประเทศจีนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาที่หลักการว่าด้วยการตรวจสอบผลในทางปฏิบัติ กับ หลักการการใช้กฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง เรียกร้องให้ต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นใจ ในโครงสร้างการเมืองภายในของแดนมังกร
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ทำงานอยู่กับ ศูนย์เพื่อยุโรปศึกษา (Center for European Studies) ของ มหาวิทยาลัยประชาชน (People's University) ในกรุงปักกิ่ง ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในที่นี้เป็นของตัวเขาเอง และมิได้มีความเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับที่ทำงานของเขา
Xi and the end of Zhou Yongkang
By Francesco Sisci
08/12/2014
การที่ โจว หย่งคัง อดีตนายใหญ่คุมงานด้านความมั่นคงและอดีตกรรมการประจำของกรมการเมือง ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นการส่งสัญญาณการสิ้นสุดของยุคสมัยซึ่งพวกเจ้าหน้าที่พรรคสามารถที่จะมองเมินผลักไสระเบียบกฎหมายตามใจชอบ และเที่ยวปรับเปลี่ยนสถาบันของรัฐให้สอดคล้องกับความปรารถนาของพวกเขา เส้นทางสายใหม่มุ่งสู่ “หลักนิติธรรม” หรือการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด ซึ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศนำเอามาใช้สายนี้ กำลังส่งผลต่อเนื่องอย่างมหาศาลต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและต่อประเทศจีนด้วย
ปักกิ่ง - โจว หย่งคัง อดีตนายใหญ่ผู้คุมงานด้านความมั่นคง และอดีตสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองระดับสูงสุดของแดนมังกร ได้ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวคราวนี้ ไม่ต่างอะไรกับการที่ สี จิ้นผิง ผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของจีนคนปัจจุบัน ออกมาประกาศการสิ้นสุดของยุคสมัยหนึ่งอย่างเป็นทางการ การที่ โจว ถูกไล่ออกจากพรรคเช่นนี้ หมายความว่าอีกไม่ช้าไม่นานเขาจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลอย่างเปิดเผยในฐานะจำเลยผู้กระทำผิดคดีอาญาร้ายแรง ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองจีนยุคพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ปกครองประเทศ มีกรณีระดับนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น ได้แก่ การจับกุม “แก๊ง 4 คน” ผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในปี 1976 และจากนั้นก็มีการนำตัวพวกเขาขึ้นพิจารณาคดีในศาลในปี 1980
ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีองค์กรบริหารปกครองรวม 3 ชั้นด้วยกัน ไล่เรียงตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงสูงสุด ได้แก่ คณะกรรมการกลาง , คณะกรรมการกรมการเมือง , และคณะกรรมการประจำกรมการเมือง
หลังจากแก๊ง 4 คนเป็นต้นมา เหยื่อระดับสูงสุดที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จากการต่อสู้กันภายในพรรค ไล่กันตั้งแต่ เจ้า จื่อหยาง อดีตเลขาธิการใหญ่และกรรมการประจำกรมการเมือง ผู้สูญเสียตำแหน่งเนื่องจากการไปสนับสนุนพวกนักศึกษาที่ชุมนุมกันในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ต่างก็ถูกปลดถูกถอดจากอำนาจหน้าที่และถูกสอบสวนลงโทษ ทว่าไม่มีใครเลยที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีต่อหน้าสาธารณชน ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เฉิน ซีถง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขากรุงปักกิ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการกรมการเมืองผู้หนึ่งด้วย ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษ ทว่าพันธมิตรของเขาผู้มีตำแหน่งสูงกว่าโดยอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง กลับไม่ได้ถูกเอ่ยถึงแม้กระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม ในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา เฉิน เหลียงอี๋ว์ เลขาธิการพรรคสาขามหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นกรรมการกรมการเมืองเช่นกัน ก็ประสบชะตากรรมอย่างเดียวกัน แต่ หวง จี๋ว์ พี่เลี้ยงของเขาที่เป็นกรรมการประจำกรมการเมือง กลับรอดพ้นความอัปยศของการถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีต่อหน้าสาธารณชน และถูกปล่อยให้สิ้นชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง
มีอยู่ระยะหนึ่งที่ดูเหมือนกับว่า แบบแผนทำนองเดียวกันนี้กำลังจะเกิดซ้ำอีกครั้งหนึ่งสำหรับกรณีของ โป๋ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคสาขามหานครฉงชิ่ง และกรรมการกรมการเมือง เขาถูกนำตัวเผยโฉมต่อหน้าสาธารณชนในศาลเมื่อปีที่แล้ว ทว่าชะตากรรมของโจว ผู้เป็นพี่เลี้ยงคนสำคัญของโป๋ และก็เป็นกรรมการประจำกรมการเมือง กลับอยู่ในความไม่แน่ไม่นอนต่อมาอีกนานทีเดียว ในตอนแรกๆ ดูเหมือนกับ สี จะพึงพอใจเพียงแค่การกระจายข่าวคราวความเคราะห์ร้ายของโจว และให้ความอัปยศกองสุมเอาไว้ที่พวกพันธมิตรของ โจว ในฝ่ายทหาร อันได้แก่ สีว์ ไฉโฮ่ว กับ กัว ป๋อสง 2 อดีตรองประธานคณะกรรมการทหารส่วนกลางของพรรค
มาในขณะนี้ ข่าวการขับ โจว ออกจากพรรค กำลังนำเราย้อนกลับไประลึกถึงช่วงแห่งการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่มีการจับกุมแก๊ง 4 คนเป็นสัญลักษณ์ เวลานี้ก็เป็นช่วงแห่งการสิ้นสุดของยุคสมัยอีกยุคสมัยหนึ่งเช่นเดียวกัน ตัวประธานาธิบดีสีเองก็กล่าวย้ำเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน ทว่ามีความแตกต่างกันอย่างสำคัญระหว่างช่วงสิ้นสุดของยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมในตอนนั้น กับช่วงสิ้นสุดของยุคนี้ในปัจจุบัน ในครั้งนั้น สมาชิกแก๊งผู้ฉาวโฉ่ทั้ง 4 (ได้แก่ เจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน, และ หวัง หงเหวิน แต่ละคนถ้าไม่ใช่อยู่ในระดับกรรมการประจำกรมการเมือง ก็เป็นกรรมการกรมการเมือง) ต่างถูกจับกุมอย่างฉับพลันชนิดไม่ทันให้ระวังตั้งตัว แต่ละคนถูกรวบตัวห่างจากคนอื่นๆ เพียงไม่กี่นาที โดยที่การจู่โจมอันมีชื่อเสียงคราวนั้น วางแผนและดำเนินการโดย วัง ตงซิง อดีตหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของเหมา เจ๋อตง
สำหรับในคราวนี้การจับกุมตัวการใหญ่และบุคคลผู้เกี่ยวข้องดำเนินไปในแบบสโลว์โมชั่น โดยที่มีการรณรงค์อันยืดเยื้อกินเวลาเป็นเดือนเป็นปีซึ่งเวลานี้ก็ยังดำเนินอยู่ ความผิดแผกแตกต่างเช่นนี้บ่งบอกให้เห็นว่า ในปี 1976 นั้น อำนาจของแก๊ง 4 คนยังคงแข็งแกร่งมาก การออกมาเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับพวกเขาภายในพรรค ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก และจะเกิดผลไปในทางไหนก็ไม่มีความแน่นอน ดังนั้น เพื่อกำจัดพวกเขาให้อยู่หมัด พวกพันธมิตรของวัง ตงซิง จึงคิดกันว่าจำเป็นที่จะต้องเข้าจู่โจมอย่างรวดเร็ว ตัวคณะบุคคลเดียวกันนี้เองในที่สุดแล้วก็ลงเอยด้วยการนำเอา เติ้ง เสี่ยวผิง กลับคืนสู่อำนาจ
สำหรับ สี นั้น เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นผู้ควบคุมด้านความมั่นคง (อันที่จริงแล้วเรื่องนี้อยู่ในกำมือของโจว) และก็ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (มันอยู่ในกำมือของ สีว์ ไฉโฮ่ว กับ กัว ป๋อสง ด้วยซ้ำ) ดังนั้นเขาจึงจำเป็นต้องเดินหน้าในเส้นทางที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ เขาเคลื่อนไหวผ่านทางกลไกของพรรค ซึ่งอยู่ในกำมือของเขา และผลักดันให้คืบหน้าอย่างช้าๆ แต่เป็นระบบ โดยไม่ใช่เป็นการเด็ดหัวบุคคลเพียงไม่กี่คน หากแต่เป็นการกำจัดผู้คนทั้งหมดซึ่งไม่ได้ประพฤติตนสอดคล้องกับเส้นทางสายใหม่ นี่เป็นผู้คนจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นคนทีเดียว ดังที่เราได้รับทราบข่าวคราวกันเป็นระลอกเรื่อยมาในตลอดระยะเวลาสองสามปีหลังนี้
ประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่อให้ยึดระเบียบกฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง ดูจะกลายเป็นทั้งเหตุผลเบื้องลึกและเป็นทั้งผลลัพธ์ของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันภายในพรรคคอมมิวนิสต์คราวนี้ มันเป็นเหตุผลเบื้องลึกก็เพราะว่า ถ้าหากไม่ได้มีการเร่งเครื่องวางพื้นฐานทางทฤษฎีและทางอุดมการณ์กันอย่างสลับซับซ้อนเสียก่อนแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็จะขาดไร้เหตุผลที่เพียงพอ ในการกำจัดบุคคลผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่เหล่านี้ (กล่าวได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์นั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับคริสตจักรคาทอลิก ในแง่ที่ว่าจะทำการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม ก็ต้องอ้างอิงเหตุผลความชอบธรรม ว่าเป็นไปเพื่อเป้าหมายอันลึกล้ำในทาง “เทววิทยา”/อุดมคติ)
ส่วนที่บอกว่ามันเป็นผลลัพธ์นั้น เพราะว่าจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ ทำให้เวลานี้กำลังมีการสถาปนาวิธีการแบบใหม่ ระบบแบบใหม่ขึ้นมา เป็นระบบแห่งหลักนิติธรรม (rule of law) หรือการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด (ในภาษาจีนจะใช้คำว่า yi fa zhi guo เพื่อเป็นการระบุเจาะจงว่ามันเป็นแนวความคิด “rule of law” ของแท้ โดยที่เมื่อมีการแปลภาษาจีนคำนี้เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะใช้คำว่า “rule of law” อย่างชัดเจน ผิดแผกไปจากเมื่อก่อนซึ่งในภาษาจีนจะใช้คำที่กำกวมอย่างคำว่า fa zhi และในพากษ์ภาษาอังกฤษก็แปลด้วยคำว่า “rule by law”) ในระบบนี้แม้กระทั่งผู้เป็นนายใหญ่ทรงอำนาจที่สุดของพรรค ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะต้องขึ้นต่อกฎหมาย
กระบวนการนี้ (เฉพาะเรื่องกระบวนการเท่านั้น) มีความละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่ เหมา เจ๋อตง นำเอามาประยุกต์ใช้ในปี 1942 ณ การประชุมว่าด้วยอุดมการณ์และศิลปะวรรณคดี ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่เมืองเอี๋ยนอาน (เยนอาน) ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี ในตอนนั้น เหมา จำเป็นที่จะต้องกำจัดอำนาจของมอสโก (โดยที่มอสโกแม้จะส่งเงินทองมาช่วยเหลือ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำลังประสบความยุ่งยากลำบากมากมาย แต่ก็ได้เข้ามาบงการจุ้นจ้านจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง) และอำนาจของกลุ่มคนจีนที่ได้รับการฝึกอบรมจากมอสโกจำนวน 28 คน ผู้ได้รับฉายาว่า กลุ่ม “28 บอลเชวิค” เพื่อที่จะสามารถเข้าควบคุมพรรคเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ และเปิดประตูต้อนรับพวกปัญญาชนเสรีนิยมชาวจีน ผู้ซึ่งกำลังอยู่ในอาการลังเลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ายังสมควรหรือไม่ที่จะให้การสนับสนุนต่อไปแก่พรรคก๊กมิ่นตั๋ง ที่กำลังแสดงความเป็นอนุรักษนิยมยิ่งขึ้นทุกที
ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ เหมาต้องการเปิดกว้างให้เขามีทางเลือกในการมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ในเวลานั้นกำลังไม่พอใจและวางตัวเหินห่างออกมาจากการหนุนหลังพรรคก๊กมิ่นตั๋ง สืบเนื่องจากพรรคนี้แสดงให้เห็นถึงความทุจริตเน่าเฟะร้ายแรงขึ้นทุกที เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของเขาซึ่งมีอยู่หลายๆ ด้านในเวลาเดียวกันเช่นนี้ เหมาจำเป็นที่จะต้องสร้างฐานะ “การครองอำนาจครอบงำในทางวัฒนธรรม” (cultural hegemony) ขึ้นมา (คำๆ นี้มาจาก อันโตนีโอ กรัมชี Antonio Gramsci เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ผู้พัฒนาทฤษฎีเรื่องนี้ขึ้นมาโดยอิสระมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับฝ่ายจีน เมื่อช่วงทศวรรษ 1930) ขึ้นในพรรคและในประเทศ เขาทำเช่นนี้ได้ในตอนนั้นด้วยการย้ำยืนยันถึงหลักการว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” (zhongguo tese)
แนวความคิดนี้ ถ้าหากอธิบายกันด้วยถ้อยคำเข้าใจง่ายๆ แล้ว ก็คือการประกาศว่า เงื่อนไขต่างๆ ในทางเป็นจริงในทางปฏิบัติของประเทศจีน สามารถที่จะถือว่า มีความสำคัญยิ่งกว่าข้อพิจารณาในทางทฤษฎีในทางอุดมการณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอ่านความเป็นจริงในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องเป็นรูปธรรม (ความเป็นจริงในพื้นที่ในตอนนั้น ย่อมหมายถึงพื้นที่ชนบทของจีน ซึ่ง เหมา มีความรอบรู้ความเข้าใจดียิ่งกว่าพวกสหายของเขาที่ต่างเติบโตผ่านการศึกษาในเขตเมืองใหญ่นักหนา) จึงต้องถือเป็นมาตรฐานสำหรับใช้เป็นเกณฑ์วัดผลและเป็นเกณฑ์ในการกำหนดนโยบาย ทั้งนี้ เพียงแค่ด้วยคำนิยามเท่านั้น พวกสหาย 28 บอลเชวิค ที่ได้รับการอบรมจากมอสโก และมีความคุ้นเคยอย่างอุดมสมบูรณ์เกี่ยวกับสหภาพโซเวียต ทว่าเหินห่างการสัมผัสกับเขตชนบทของจีน ก็แทบจะถูกตัดออกจากเกมไปเลย
สำหรับในคราวนี้ สี กำลังใช้มาตรฐานที่แตกต่างออกไป หลักการสำคัญของเขาไม่ใช่ “ลักษณะเฉพาะของจีน” อีกแล้ว หากแต่เป็น หลักนิติธรรม (yi fa zhi guo) ทั้งนี้เขามีเหตุผลอย่างมากมายมหาศาล มารองรับการเปิดการรณรงค์อย่างไร้ความปรานี เพื่อเรียกร้องให้สร้างระบบใหม่ที่มี “การนำเอากฎหมายมาใช้เป็นหลักในการปกครอง” ในเมื่อสถานการณ์ในแดนมังกรกำลังอุดมด้วยพวกเจ้าหน้าที่ของพรรคและสมุนบริวารของพวกเขา ซึ่งเที่ยวบงการชักใยด้วยความลุแก่อำนาจ โดยมองเมินผลักไสระเบียบกฎหมายตามใจชอบ และเที่ยวปรับเปลี่ยนสถาบันของรัฐให้สอดคล้องกับความปรารถนาของพวกเขา
สภาวการณ์เช่นนี้เมื่อพิจารณากันโดยปลอดจากอคติแล้ว ก็คือการขับเคลื่อนประเทศจีนให้ตกลงไปในกับดักแบบสหภาพโซเวียตในยุคของ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 โดยที่ในเวลานั้น กิจการอุตสาหกรรมทรงอำนาจทั้งหลายของโซเวียต (สำหรับในกรณีของจีนปัจจุบันนี้ ย่อมได้แก่พวกวิสาหกิจของรัฐ State-Owned Enterprises หรือ SOEs) กำลังตัดเฉือนแล่ “รัฐ” กันอย่างสนุกสนาน ทั้งทำให้รัฐเต็มไปด้วยความทุจริตคดโกง และทั้งทำให้ประเทศเหลือแต่เปลือกกลวงๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ของผู้ทรงอำนาจไม่กี่คน ในแดนมังกร วิสาหกิจภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์ผลักดันความเจริญเติบโตมาตั้งแต่ช่วงหลังทศวรรษ 1970 กำลังถูกผลักไสให้ออกนอกทางโดยพวกวิสาหกิจของรัฐที่เป็นจอมกินรวบ และมีความเชี่ยวชาญเหลือเกินในการเขมือบกลืนกินการแข่งขันทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้การพัฒนาของจีนชะลอตัวลง
แนวความคิดว่าด้วยหลักนิติธรรม เป็นความพยายามที่จะนำเอามาตรฐานว่าด้วยประสิทธิภาพและการพัฒนากลับคืนมา โดยที่มีการใช้แนวความคิดนี้มาเป็นกรอบซึ่งทำให้เกิดมุมมองใหม่ต่อเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งต่อแนวความคิดว่าด้วยลักษณะเฉพาะของจีน อันเป็นสิ่งที่ได้ถูกนำไปตีความอย่างเปะปะไร้ทิศทางเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมเฉพาะเจาะจงบางอย่างบางประการ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ก็เป็นเพียงการปฏิบัติแบบทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะอะไรนักหนาเลย
ผลสืบเนื่องอันเกิดจากหลักการใหม่ว่าด้วยการใช้กฎหมายมาเป็นหลักในการปกครองนี้ มีอย่างมากมายมหาศาล เวลานี้ หลักการดังกล่าวแทบจะคล้ายๆ กับเป็นไม้เท้ากายสิทธิ์ในมือของ สี ทีเดียว แต่แน่นอนว่ามันก็จะต้องมีผลสืบเนื่องแบบที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าหากนำเอาหลักนิติธรรมมาใช้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังแล้ว ผู้คนที่นำพาประเทศไปสู่ขอบเหวแห่งความหายนะ (และก็ให้บังเอิญที่ต่างเป็นศัตรูของ สี ทั้งนั้น) ก็จะต้องถูกกำจัดไป โดยต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมายใหม่ๆ ของประเทศ
โจวและพันธมิตรของเขาจะต้องถูกนำตัวมาไต่สวนพิจารณาคดีในศาลต่อหน้าสาธารณชน ทั้งนี้ไม่ใช่กระทำเพื่อให้กลายเป็นตัวอย่าง หากแต่เป็นการโชว์ต่อประชาชนภายในประเทศจีน (และก็โชว์ต่อภายนอกประเทศด้วย เนื่องจากจีนกำลังมีชื่อเสียงเกียรติภูมิในโลกสูงเด่นขึ้นทุกที) ให้มองเห็นถึงระบบใหม่นี้ และก็เป็นการปักแน่นตอกตรึงหลักการซึ่งจะใช้ปกครองประเทศต่อไปในอนาคตนี้ ให้มั่นคงไม่มีโยกคลอน
ในทางเป็นจริงแล้ว คงจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ รวมทั้งความช่ำชองเชี่ยวชาญและสติปัญญาอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว ในการนำเอาหลักการว่าด้วยนิติธรรม เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ในประเทศซึ่งคุ้นเคยกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างไร้ความละอายมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทั้งนี้เมื่อตอนที่ เหมา นำเอาแนวความคิดว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” เข้ามาใช้ในทางปฏิบัติ ก็เป็นเช่นนี้มาแล้ว โดยที่พวกเขาต้องฟันฝ่าความแตกแยกในทางความคิดอุดมการณ์ซึ่งดำรงคงอยู่มาหลายสิบปี รวมทั้งต้องต่อสู้กับลัทธิชาตินิยมแบบเคร่งคัมภีร์ ซึ่งได้ถูกตัดต่อตอนกิ่งจนกลายเป็นอาวุธหนึ่งในการพิทักษ์รักษาระบบความคิดแบบเก่าๆ ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อป้องกันรักษาสถานะเดิม ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ที่ผูกติดกับระบบเก่าอย่างเหนียวแน่น และคอยต่อต้านคัดค้านความต้องการที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างลึกซึ้งและอย่างรุนแรง
การสร้างพรรคกันใหม่และการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของพรรคเสียใหม่เมื่อตอนต้นและตอนกลางทศวรรษ 1940, ชัยชนะในสงครามกลางเมืองในตอนปลายทศวรรษ 1940, และจากนั้นก็ระยะปีแรกๆ แห่งการขึ้นครองอำนาจปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1950 ช่วงเวลาเหล่านี้ได้เป็นประจักษ์พยานของความพยายามอย่างมโหฬารที่จะขุดรากถอนโคน (โดยบางครั้งก็ดำเนินไปอย่างน่าตื่นใจและรุนแรงยิ่ง) ประดานิสัยเก่าๆ และพวกผลประโยชน์ที่ผูกติดฝังแน่นอยู่กับระบบเก่าทั้งหลาย
ระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป เราคงจะได้มองเห็นกระแสผลักดันทำนองเดียวกัน ถึงแม้ในคราวนี้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนอาจจะจำกัดวงอยู่แค่เพียงภายในพรรค และไม่ได้ขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างทั่วทั้งสังคม ในทางเป็นจริงแล้ว ในครั้งนี้สังคมจีนและวิสาหกิจภาคเอกชนของจีน มีความกระตือรือร้นอย่างที่สุดที่จะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปต่างๆ ขณะที่ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปเหล่านี้จะเริ่มต้นและชี้นำโดยพรรค แต่ก็ยังคงถูกบางส่วนบางแวดวงของพรรคเองต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง
ทว่าในทันทีที่มาตรฐานใหม่ต่างๆ เหล่านี้ ปักหลักมั่นคงแล้ว มันก็จะมีชีวิตของมันเองโดยเป็นอิสระแม้กระทั่งจากผู้คนที่เป็นผู้สถาปนามันขึ้นมาในตอนแรก เป็นต้นว่า สาระสำคัญของหลักการว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” อันได้แก่ ความจำเป็นที่จะต้องยอมรับผลในทางปฏิบัติและสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏออกมา ได้หวนกลับมาเล่นงานตัว เหมา เจ๋อตง เสียเอง ในกรณีการรณรงค์ “ก้าวกระโดดใหญ่” ในตอนปลายทศวรรษ 1950 ทั้งนี้ ในเวลานั้น เพื่อนมิตรและผู้สนับสนุนของ เหมา ได้เข้าพบเขาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า แนวความคิดแสนวิเศษของเขาในเรื่องการเร่งรัดผลักดันให้ประเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการปลุกระดมประชาชนนั้น ในความเป็นจริงกลับใช้ไม่ได้ผลเลย มันไม่ได้ทำให้ประชาชนมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ตรงกันข้ามกลับทำให้พวกเขาอดอยากล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
การตอบโต้แรกสุดของ เหมา ต่อการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ย่อมไม่อาจที่จะเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับทฤษฎีว่าด้วยการตรวจสอบจากสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ (เพราะนี่คือแกนกลางทางอุดมการณ์ซึ่งทำให้เขาก้าวขึ้นครองอำนาจ) หากแต่ต้องเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพวกผู้ส่งสารเหล่านี้มีความสุจริตจริงใจ เพื่อที่จะได้ปฏิเสธสารที่พวกเขาส่งมาเสียด้วย ครั้นเมื่อสารเช่นนี้ กลับปรากฏออกมาอย่างมากมายท่วมท้นเสียจนกระทั่งไม่สามารถที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับได้อีกต่อไปแล้ว เหมาก็จำเป็นต้องสละอำนาจอันแท้จริงออกไปในตอนต้นทศวรรษ 1960 เหลือไว้เพียงตำแหน่งในทางเกียรติยศ
อย่างไรก็ตาม เขายอมกระทำเช่นนั้นด้วยความคับข้องใจ, เต็มไปด้วยความระแวงสงสัยว่าพวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขานั้นไร้ความซื่อสัตย์และไร้ความจงรักภักดี และด้วยเหตุนี้แหละ ในเวลาต่อมาเขาจึงได้ก่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นในตอนกลางทศวรรษ 1960 โดยพุ่งเป้าเล่นงานพวกอดีตเพื่อนมิตรของเขาเหล่านี้เอง ความเคลื่อนไหวอันใหญ่โตมโหฬารคราวนั้น เท่ากับปฏิเสธไม่ยอมรับการนำเอาหลักการ “ลักษณะเฉพาะของจีน” มาใช้ในทางปฏิบัติกันเลย และขับดันจีนให้เข้าสู่อาณาจักรทางทฤษฎีอย่างใหม่ ซึ่งแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีการแตะต้องสัมผัสกับความเป็นจริงเลย ต่อจากนั้น เหมา ก็ได้สถาปนาฐานะ “การครองอำนาจครอบงำในทางวัฒนธรรม” ขึ้นมาใหม่ ทว่าในครั้งนี้กลายเป็นการครอบงำซึ่งเอาแต่อิงอยู่กับการใช้อำนาจอย่างโต้งๆ หยาบๆ ของเขา และการล่วงละเมิดอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์โดยมิชอบด้วยความโหดร้ายทารุณเท่านั้น ไม่ใช่บนพื้นฐานของความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริง --และด้วยเหตุนี้เอง การครอบงำเช่นนี้จึงประสบความล้มเหลวอย่างน่าสังเวชหลังจากครองอำนาจอยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ
หลังจาก เติ้ง เสี่ยวผิง กลับคืนสู่อำนาจ เขาก็โฟกัสไปที่หลักการว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะของจีน” นี่คือคำประกาศทางการเมืองและทางความคิดอุดมการณ์ของการหวนคืนไปสู่ลัทธิเหมาเจ๋อตงดั้งเดิมของปี 1942 แต่ต่อต้านคัดค้านลัทธิเหมาเจ๋อตงแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมในระยะหลังๆ ที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง เติ้งกระทำเช่นนี้ได้ด้วยการบังคับใช้แนวทางมุ่งผลในทางปฏิบัติที่ เหมา เคยใช้อยู่ แถมยังเพิ่มน้ำหนักให้เข้มข้นมากขึ้นอีก รวมทั้งเน้นย้ำว่า สิ่งที่จำเป็นอันดับแรกสุดก็คือดูว่าผลในทางปฏิบัติออกมาเป็นอย่างไร (ดังคำพูดของ เติ้ง ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายกว้างขวางที่ว่า “ไม่สำคัญหรอกว่าแมวมันสีขาวหรือสีดำ ขอให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน”) ไม่ใช่ไปคิดถึงหลักการเคร่งคัมภีร์ที่มีแต่ความว่างเปล่า
ทฤษฎีว่าด้วยหลักนิติธรรมที่ สี กำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ มีความคล้ายคลึงกับการเน้นย้ำของ เติ้ง ในตอนนั้น กล่าวคือ เป็นความพยายามอย่างน่าตี่นใจที่จะอิงอาศัยจิตวิญญาณของเหมา ในยุคปี 1942 เป็นความพยายามที่จะดูดซับจิตวิญญาณดังกล่าว และเดินหน้าต่อไปให้เลยพ้นไปจากเหมา ทั้งนี้ สี ต้องการที่จะสถาปนาหลักตรรกวิทยาอย่างใหม่, เทววิทยาอย่างใหม่ ซึ่งไปไกลเกินกว่าบรรดาทฤษฎีในยุคแห่งการสร้างพรรค ที่ได้ครอบงำพรรคเรื่อยมาตั้งแต่ปีที่มีการจัดประชุมที่เอี๋ยนอาน (เยนอาน) คราวนั้น มันเป็นความพยายามอย่างมโหฬารที่จะนำเอาชีวิตใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม ให้เข้ามาแผ่ซ่านกระจายไปในพรรค อย่างไรก็ดี ดังที่หลักการว่าด้วย “หยิน” และ “หยาง” ของจีนได้สอนเราไว้ ไม่มีสิ่งใดที่ดำตลอดหรือว่าขาวตลอด สำหรับหลักการว่าด้วยหลักนิติธรรมนี้ เมื่อถูกนำเอามาใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ก็จะเหมือนกับการปล่อย “ยักษ์จินี่” ให้ออกจากขวดแก้วที่เคยขังมันไว้ ยักษ์ตนนี้จะมีชีวิตของมันเองและมีหลักตรรกวิทยาของมันเอง (ทำนองเดียวกับการเรียกร้องให้ “ตรวจสอบกับสภาพความเป็นจริงในทางปฏิบัติ” ในอดีตที่ผ่านมา)
สี จะต้องพยายามชี้นำการนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ ให้ดำเนินไปในหนทางที่สงบราบรื่นและเน้นหนักสติปัญญา แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามที เขาเกิดมีความพยายามที่จะต่อต้านคัดค้านหลักตรรกวิทยาของมันแล้ว เขาก็คงจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทำนองเดียวกับที่ เหมา เคยประสบอยู่เมื่อตอนที่การรณรงค์ “ก้าวกระโดดใหญ่” ล้มเหลวไม่เป็นท่า ในกรณีของ สี ดูเหมือนว่าเขาจะตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และกำลังนำตัวเองเข้าขึ้นต่อกฎเกณฑ์เดียวกันกับที่เขาเรียกร้องต่อชาวสหายของเขา
ไม่ใช่จำกัดเฉพาะต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ สภาวการณ์เช่นนี้ยังอาจส่งผลสืบเนื่องอย่างมากมายมหาศาลต่ออนาคตของประเทศจีนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาที่หลักการว่าด้วยการตรวจสอบผลในทางปฏิบัติ กับ หลักการการใช้กฎหมายเป็นหลักสูงสุดในการปกครอง เรียกร้องให้ต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นใจ ในโครงสร้างการเมืองภายในของแดนมังกร
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ทำงานอยู่กับ ศูนย์เพื่อยุโรปศึกษา (Center for European Studies) ของ มหาวิทยาลัยประชาชน (People's University) ในกรุงปักกิ่ง ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในที่นี้เป็นของตัวเขาเอง และมิได้มีความเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับที่ทำงานของเขา