(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Q&A: Interview with Roderick MacFarquhar on Mao’s Last Revolution
By Initium Media
17/05/2016
โรเดอริก แมคฟาร์กูฮาร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ให้สัมภาษณ์ อินิเชียม มีเดีย สื่อออนไลน์ภาษาจีนในฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่ง เหมา เจ๋อตง เริ่มต้นขึ้นมาในวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 เขาชี้ให้เห็นทั้งเหตุผลเบื้องลึกที่ทำให้ เหมา ก่อการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินคราวนั้น และผลกระทบกระเทือนซึ่งความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายถึง 10 ปีครั้งนั้น มีต่อประเทศจีนและคณะผู้นำจีน
เมื่อเร็วๆ นี้ อินิเชียม มีเดีย (Initium Media) สื่อออนไลน์ภาษาจีนซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ฮ่องกง ได้สัมภาษณ์ โรเดอริก แมคฟาร์กูฮาร์ (Roderick MacFarquhar) [1] ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของ เหมา เจ๋อตง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 มือเก่าด้านจีนที่โดดเด่นยิ่งผู้นี้ เป็นเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “The Origins of the Cultural Revolution” ที่มีอิทธิพลสืบต่อมาอีกยาวนาน และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Mao's Last Revolution” ร่วมกับ ไมเคิล เชินฮาวส์ (Michael Schoenhals) นักจีนวิทยาชาวสวีเดน ผลงานชิ้นหลังมุ่งที่จะอธิบายว่าทำไม เหมา จึงเปิดฉากก่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมา และเขาใช้วิธีการใดในการวางแผนบงการการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินคราวนั้นซึ่งได้คร่าชีวิตชาวจีนไปหลายล้านชีวิต แมคฟาร์กูฮาร์ มีความคิดเห็นว่าช่วงเวลาหลายปีแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายและการนองเลือดดังกล่าว คือการอาบย้อมความน่าตื่นใจให้แก่สัจธรรมของคำพังเพยเก่าแก่ของจีนที่ว่า “เมื่อความสุดโต่งต่างๆ มาพบบรรจบกัน” ภายในปรากฏการณ์ที่สูงตระหง่านง้ำอยู่ในประวัติศาสตร์และการเมืองของจีน
ถาม: การปฏิวัติทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบกระเทือนต่อจีนอย่างไรบ้าง?
ตอบ: การปฏิวัติทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบกระเทือนต่อจีนอย่างเป็นเฉพาะเจาะจงมาก ไม่เพียงแค่กระทบกระเทือนในทางภาพรวมทั่วไปเท่านั้น มองในทางภาพรวมทั่วไปแล้ว มันกระทบกระเทือนจีนในแง่ที่ว่า มันก่อให้เกิดความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมโหฬาร, การเข่นฆ่ากันอย่างมโหฬาร, และการต่อสู้รบรากันอย่างมโหฬาร ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธด้วย ตัวอย่างเช่นที่เมืองฉงชิ่ง พวกเขาสู้รบกันโดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารทีเดียว แล้วมันทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนตกอยู่ในภาวะหมดความน่าเชื่อถือและแทบถึงกับแตกสลายไป มีช่วงเวลาที่ยาวนานถึงราว 3 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังกำลังทำงานอยู่ในจีน เหลืออยู่เพียงแค่พรรคคอมมิวนิสต์ของประธานเหมาและเพื่อนร่วมงานในระดับสูงสุดอีกไม่กี่คนเท่านั้น ชีวิตในพรรคเป็นอันดับสูญไป ดังนั้นเมื่อมองในทางภาพรวมทั่วไปแล้ว การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้นำพาความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายอย่างใหญ่โตมโหฬารมาสู่ประเทศจีน
ทว่าเมื่อมองถึงผลกระทบกระเทือนที่เฉพาะเจาะจง เรื่องที่เฉพาะจงที่สุดก็คือ การปฏิวัติทางวัฒนธรรมวาดภาพให้เห็นจริงถึงสุภาษิตคำพังเพยที่ เหมา ชอบหยิบยกขึ้นมาพูดบทหนึ่ง ที่ว่า “เรื่องดีๆ สามารถออกมาจากเรื่องเลวๆ” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็คือ ความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายมากมายเหลือเกิน และเวลาสำหรับการสร้างให้จีนเกิดความทันสมัยก็ต้องสูญเสียไปอย่างมากมายเหลือเกิน การสร้างประเทศจีนให้ทันสมัยนี่แหละ จริงๆ แล้วก็เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวคอมมิวนิสต์จำนวนมากที่สุดเข้ามาร่วมกับพรรคย้อนหลังไปได้จนถึงช่วงทศวรรษ 1920 ทีเดียว นั่นคือ พวกเขาต้องการที่จะสร้างประเทศจีนที่แข็งแกร่งขึ้นมา แล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นมาหรือเปล่า? จากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม พวกเขากลับทำลายประเทศจีนลงไป พวกเขากลับกำลังฉีกกระชากจีนออกมาเป็นชิ้นๆ ดังนั้นผมคิดว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้บังคับให้คณะผู้นำที่รอดชีวิตมาได้ โดยคนที่โดดเด่นที่สุดย่อมเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง แต่ยังมีคนอื่นๆ อีกด้วยนะ ซึ่งเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงขึ้นมาว่า พวกเขาต้องหันมาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ไปในทางด้านตรงข้าม ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศชาติก็จะต้องจบสิ้น และพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะต้องจบสิ้น
ดังนั้น การปฏิวัติทางวัฒนธรรมจึงเกิดผลในทางดีขึ้นมาประการหนึ่ง ในแง่ที่ว่ามันปลดปล่อยความคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง แม้กระทั่งความคิดของ เฉิน หยุน [2] ในบางระดับ ให้หลุดออกมาจากพวกคำพูดติดปากของลัทธิมาร์กซ์-ลัทธิเลนิน-ความคิดเหมาเจ๋อตง ในอดีต และเข้าไปสู่เส้นทางสายใหม่ๆ นั่นจึงทำให้เกิดคำคมที่มีชื่อเสียงของเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งยืมมาจากพวกชาวนาจีน ที่ว่า “แมวสีไหนไม่สำคัญหรอก ขอให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน” อะไรๆ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น หากมันทำให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวขึ้นมาได้
ถาม: ในหนังสือของคุณเขียนเอาไว้ว่า “บาปแต่กำเนิด” (“original sin”) ของ เหมา เจ๋อตง นั่นเอง ที่เป็นตัวริเริ่มทำให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมา นี่หมายความว่าอย่างไร ?
ตอบ: มันก็ไม่ใช่การค้นพบใหม่อะไรของผมนะ มันอยู่ในลักษณะนี้มากกว่า คือเมื่อมีหลักฐานต่างๆ เพิ่มขึ้นมาสะสมมากขึ้นมา ในขณะที่ผมค้นคว้าผ่านช่วงระยะเวลาหลายๆ ปีก่อนจะถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น ก็มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นๆ ว่า เหมา กำลังปลุกปั่นสร้างเหตุการณ์ต่างๆ และกำลังเคลื่อนย้ายสิ่งต่างๆ ไปในทิศทางที่เลวร้าย ผมคิดว่า และจริงๆ แล้วเมื่อตอนที่ผมได้รับการฝึกอบรมทีแรกสุดในแวดวงวิชาการนี้เมื่อช่วงทศวรรษ 1950 นั้น สิ่งซึ่งสร้างความประทบใจให้แก่เหล่านักศึกษาผู้ค้นคว้าเรื่องประเทศจีนและลัทธิคอมมิวนิสต์จีนก็คือ ความผิดแผกแตกต่างจากสหภาพโซเวียต ตอนที่สหภาพโซเวียตเริ่มต้นขึ้นมานั้น เค้าฆ่าศัตรูของเค้าเรียบเลย แต่ในจีน เหมา เจ๋อตง ไม่ได้ทำเช่นนั้น
เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก และในความเป็นจริงแล้ว ยกเว้นแต่ข้อยกเว้นไม่กี่กรณีเท่านั้น คณะผู้นำจีนในปี 1966 ก็ถือได้ว่าเป็นคณะผู้นำชุดเดียวกับเมื่อปี 1945 หรือเมื่อ 21 ปีก่อนหน้านั้น ดังนั้น การปฏิวัติทางวัฒนธรรมคือการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากบรรทัดฐานชนิดที่เราได้เคยคาดหมายไว้ว่าจะออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งที่ผมขบคิดก็คือ ความรู้สึกของผมเกี่ยวกับ เหมา ในปี 1945 เมื่อตอนที่เขาเป็นประธานพรรค และเมื่อตอนที่คณะผู้นำชุดใหม่ของพรรคออกมาจากการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 7 นั้น ความรู้สึกของผมอยู่ในลักษณะ (ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ไม่มีการเข่นฆ่าศัตรูไปจนหมดสิ้น) ไม่ใช่เฉพาะตัวผมเท่านั้น เพื่อนร่วมงานของ เหมา เองก็รู้สึกอย่างเดียวกัน เป็นต้นว่า เฉิน อี้ [3] ผมทราบเพราะเขาได้เคยพูดเอาไว้เช่นนั้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้คิดสังหารพวกศัตรูของเขาให้เรียบเลย โดยที่พวกศัตรูตัวร้ายกาจที่สุดของเขาก็ได้แก่ โจว เอินไหล, หลี่ ลี่ซาน[4], และคนอื่นๆ อีกสักคนสองคน อย่างเช่น หวัง หมิง แม้กระทั่ง หวัง หมิง[5] ก็ยังได้รับการยอมรับให้ได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการกลางของพรรคในการประชุมสมัชชา 8 เลย
ดังนั้น ใครๆ จึงต่างมีภาพของเหมาในฐานะเป็นคนที่เป็นจอมเผด็จการผู้มีเมตตาการุณย์ ผู้ซึ่งสามารถสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานของเขา แม้กระทั่งพวกที่เคยเป็นศัตรูในอดีต แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า ในขณะที่ผมติดตามศึกษาพัฒนาการของเขาในตลอดช่วงทศวรรษ 1960 ก็ดูเหมือนมีความชัดเจนขึ้นมาว่า เขามีวิสัยทัศน์ที่แน่นอนมั่นคงอยู่ชุดหนึ่งในเรื่องที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับประเทศจีน และเขาไม่เคยเตรียมตัวพรักพร้อมที่จะยินยอมให้มิตรภาพเหล่านี้, ความเป็นสหายเหล่านี้, ความสนับสนุนของพวกเพื่อนร่วมงานของเขาที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีเหล่านี้ --พวกเขาอยู่ด้วยกันกับ เหมา มา 20-30 ปีแล้วนะ ตั้งแต่สมัยการเดินทัพทางไกล (the long march)[6] และอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายทั้งปวงหลังจากนั้น— ความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกกับผู้คนเหล่านี้ ไม่มีเลยที่จะสามารถป้องกันขัดขวางเขา ไม่ให้กระทำสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับจีน และถูกต้องสำหรับตัวเขา
ผมคิดว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นประเด็นหนึ่ง –และเรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นทุกทีหลังจากที่พวกเขา (คณะผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) พยายามที่จะช่วยชีวิตเศรษฐกิจจีนให้อยู่รอดต่อไปภายหลัง “การก้าวกระโดดใหญ่ (Great Leap Forward)[7] – ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ว่านี้ก็คือ หลิว เซ่าฉี ผู้ซึ่งเคยเป็นฝ่ายซ้ายจัดเหลือเกิน, โจว เอินไหล, และคนอื่นๆ ทั้งหมดต่างมีความคิดเห็นว่า เราต้องรีบทำอะไรบางอย่างที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้กระทั่งการยินยอมกลับมาให้มีไร่นาของครอบครัว (family farming) ขึ้นอีกครั้ง (ในช่วงการก้าวกระโดดใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การชี้นำของเหมา ได้เร่งรัดการยกเลิกไร่นาของครอบครัว หรือก็คือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนในชนบท โดยให้นำเอาที่ดินมารวมกันเป็นกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของหน่วยการผลิต, ของคอมมูนประชาชน -ผู้แปล) ยังคงเรียกมันว่าเป็นระบบสังคมนิยม แต่จริงๆ แล้วมันเป็นไร่นาของครอบครัว (ซึ่งก็คือเป็นระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน) ถึงแม้มีการเรียกขานโดยใช้คำอื่นๆ แต่ทว่า เหมา ไม่ได้เตรียมตัวพรักพร้อมที่จะยอมรับเรื่องอย่างนี้ แล้วผมคิดว่าตรงนี้ยังมีองค์ประกอบในทางส่วนตัวเข้ามาผสมโรงด้วย เพราะประการแรกสุดทีเดียว เขาเป็นสถาปนิกของระบอบสังคมนิยมในปี 1955 เมื่อเขาผลักดันให้ใช้ระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ในทั่วทั้งเขตชนบท และจากนั้นก็เป็นการใช้ระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ในกิจการงานหัตถกรรม และการแปรให้อุตสาหกรรมและการพาณิชย์เป็นกิจการของรัฐ นี่ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเขา และเขาไม่ได้คิดที่จะยอมรับให้สิ่งเหล่านี้ถูกปัดออกไป
ยังมีประการที่สอง ผมคิดว่าเขามีความตระหนักขึ้นมาว่า –อันที่จริงเขาก็ตระหนักในความเป็นจริงนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แล้ว ทว่ายังไม่ถึงกับหนักแน่นจริงจัง— จีนกำลังจะพัฒนาไปตามแบบอย่างของสหภาพโซเวียต โดยมีการใช้แผนระยะ 5 ปีแผนแล้วแผนเล่า และประชาธิปไตยด้านต่างๆ ใช่หรือไม่? ทำเรื่องนี้อย่างช้าๆ และอย่างผ่านการไตร่ตรองรอบคอบ ไม่เหมือนกับ “การก้าวกระโดดใหญ่ ทว่าเขาเข้าไม่ได้กับวิธีช้าๆ เช่นนี้เลย ความถนัดสันทัดของเขา, ความแข็งแกร่งของเขา คือการดำเนินการปฏิวัติ ความแข็งแกร่งของเขาไม่ได้อยู่ที่การบริหารงาน ซึ่งสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ โจว เอินไหล และ หลิว เซ่าฉี ได้ พวกเขาเป็นผู้บริหารงานที่ดีมากๆ ผมคิดนะว่า เขามีความตระหนักขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 ว่า ถ้าหากเศรษฐกิจของจีนสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วยวิถีทางเช่นนี้ มันก็จะกลายเป็นว่า เขาจะกลายเป็นส่วนเกินสำหรับความเรียกร้องต้องการของพรรค ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พรรคจำเป็นต้องมีอีกต่อไป ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจว่าจะต้องเข้าควบคุมวาระการดำเนินไปของพรรคและของประเทศ และทำให้เขายังคงเป็นที่เรียกร้องต้องการ
แต่ที่ผมพูดอย่างนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเขากระทำไปเพียงเพราะเหตุผลที่เป็นความเห็นแก่ตัวนะ ผมคิดว่าเขาก็มีความเชื่อจริงๆ ด้วยว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสหภาพโซเวียต เป็นอันตรายอย่างแท้จริงในประเทศจีน และเขามีความมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะป้องกันขัดขวางไม่ให้มันเกิดขึ้นมาในจีน เพราะถ้าหากเขาเพียงแค่ต้องการกำจัดพวกเพื่อนร่วมงานของเขาเท่านั้นแล้ว เขาก็ควรที่จะยุติแล้วในปี 1967 เพราะเมื่อถึงตอนนั้นคนพวกนั้นก็ถูกโค่นไปหมดแล้ว ทว่าเขาไม่ได้หยุด เขายังคงเดินหน้าต่อ เพราะเขาต้องการใช้ความพยายามในการทำให้จีนปฏิวัติขึ้นมาใหม่ และแน่นอนทีเดียวมันก็ทำให้เกิดความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายตามมา
ถาม:คุณคิดว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นมีต้นกำเนิดที่มาจากไหนบ้าง จะสามารถพูดสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ายังไง?
ตอบ: ผมคิดว่าต้นกำเนิดที่มาของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น จะต้องยกให้แก่สิ่ง 2 สิ่ง ได้แก่ วิสัยทัศน์ของเหมา และความสำนึกของ เหมา เกี่ยวกับฐานะของตัวเขาเองในการเป็นผู้นำของการปฏิวัติคนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้นำของการปฏิวัติคนหนึ่ง เขาปรารถนาที่จะยังคงเป็นผู้กำหนดวาระต่อไป เขาทราบดีว่าถ้าจีนยังคงก้าวหน้าไปตามเส้นทางการใช้แผน 5 ปีฉบับแล้วฉบับเล่าอย่างต่อเนื่องตามแบบของโซเวียตแล้ว นั่นจะทำให้เขากลายเป็นผู้ที่ไม่สอดคล้อง ผู้ซึ่งไม่เป็นที่เรียกร้องต้องการ ทว่ายังมีสิ่งซึ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือ วิสัยทัศน์ของเขา เขามองว่าเนื่องจากสภาวการณ์ทั้งภายในและทั้งจากสหภาพโซเวียต การปฏิวัติจึงอาจจะเสื่อมโทรมลง การปฏิวัติจึงอาจจะสูญสลายไป เขาวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตว่ากำลังเริ่มต้นใช้ลัทธิทุนนิยม ว่ากำลังละทิ้งการปฏิวัติ
แน่นอนทีเดียว มันเป็นเรื่องตลกร้าย ที่จากความพยายามของเขาที่จะป้องกันขัดขวางไม่ให้ลัทธิทุนนิยมมีโอกาสหวนกลับเข้ามาในประเทศจีนนั่นเอง เขาก็กลับทำให้มันกลายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่มันจะต้องหวนกลับเข้ามา เนื่องจากเขาทำลายระบบการวางแผนและระบบรัฐซึ่งทางจีนหยิบยืมก็อปปี้มาจากทางรัสเซียจนยับเยินขนาดนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากต้องมองข้ามน้ำข้ามทะเลไปที่เกาหลีใต้และไต้หวันและสถานที่อื่นๆ และพรรค (คอมมิวนิสต์จีน) ก็ต้องยอมรับวิธีการใหม่ๆ ดังนั้น ต้นกำเนิดที่มาของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น โดยพื้นฐานเลยมาจากความสำนึกของ เหมา ในเรื่องฐานะของเขาเองในการนำการปฏิวัติของจีน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ มาจากวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับประเทศจีน ซึ่งเขามองว่าต้องเป็นศูนย์กลางที่แดงบริสุทธิ์ของการปฏิวัติ และเข้าแทนที่สืบต่อจากรัสเซียซึ่งได้ทรยศต่อการปฏิวัติไปแล้ว
ถาม:คุณคิดว่า เหมามองการปฏิวัติยังไง สำหรับเหมาแล้ว การปฏิวัติหมายความว่าอะไร?
ตอบ: เหมาเป็นคนที่เกลียดความเงียบเชียบ เขารักการปฏิวัติ เมื่อตอนที่เกิดความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายไปหมดตอนปลายปี 1966 ถึงต้นปี 1967 เขารู้สึกเพลิดเพลินสนุกสนานมาก “เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาแล้ว!” เขาพูดอย่างปีติยินดี! เขาชอบแนวความคิดแบบนั้น แน่นอนทีเดียวว่าเป็นเรื่องง่ายดายที่จะชื่นชอบการปฏิวัติ ถ้าหากคุณมั่นอกมั่นใจว่าคุณไม่ได้กำลังจะกลายเป็นเหยื่อคนหนึ่งของมัน แต่เขาชื่นชอบการปฏิวัติเอามากๆ แล้วเขายังมีแนวความคิดทางปรัชญาอย่างนี้ด้วย นั่นคือ ไม่มีอะไรเลยที่อยู่นิ่งๆ ไปตลอดกาล ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเคลื่อนไหวเสมอ นี่แหละคือสิ่งที่เขาชื่นชอบมากเกี่ยวกับแนวความคิดของเฮเกล (Hegel) ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเคลื่อนไหวเสมอ และทุกสิ่งทุกอย่างล้วนบรรจุด้านตรงข้ามของมันเอาไว้ภายในตัวมันเอง เขายังเชื่อด้วยว่าความก้าวหน้าเกิดขึ้นมาได้ก็โดยผ่านการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และการเคลื่อนไหวเข้าไปสู่การปฏิวัติ ...
เขาไม่ได้ต้องการให้การปฏิวัติแบบการปฏิวัติทางวัฒนธรรมหรือการปฏิวัติแบบปี 1949 เกิดขึ้นมาตลอดเวลา แต่ในความเข้าใจของเขานั้น ระบบขุนนางข้าราชการของจีน ฝังรากลึกมากเข้าไปอยู่ในยีนส์ของคนจีน ดังนั้นหลังผ่านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไปอีกสักไม่กี่ปี ถ้าหากเขายังคงมีชีวิตอยู่ ก็จะเกิดความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิวัติกันอีกครั้ง เพราะระบบราชการของจีนนั้นทรงอำนาจเหลือเกิน มันจะเข้าครอบครองและดำเนินการต่างๆ ในวิถีทางที่ไม่ใช่การปฏิวัติ
ถาม:คุณพูดถึงลัทธิมาร์กซ์และแนวความคิดของเฮเกลว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเหมา ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจมาก เพราะคนจีนส่วนใหญ่นั้นคิดว่าความฉลาดทางปัญญาของ เหมา นั้นมาจากปรัชญาดั้งเดิมของจีนเอง คุณมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?
ตอบ: ผมคิดว่าความคิดแบบเหมาอิสต์ ก็มีส่วนประกอบของแนวความคิดแบบลัทธิเต๋ารวมอยู่ด้วยนะ ผมเห็นด้วย แล้วยังมีความคิดเห็นความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับลัทธิขงจื๊อ อยู่ในอะไรบางอย่างซึ่งเขาพูดออกมาเป็นปีๆ ด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า เขาได้รับอิทธิพลจากตะวันตก หรือเขาได้รับอิทธิพลจากความคิดตามประเพณีดั้งเดิมของจีนกันแน่ ต้องไม่ลืมว่า บุรุษผู้นี้คือผู้ที่อ่านอย่างหิวกระหายอย่างไม่รู้จักอิ่มตลอดชีวิตของเขา แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขายังเป็นคนวัยหนุ่มพำนักศึกษาอยู่ที่เมืองฉางซา แนวความคิดทั้งหมดเหล่านี้ต่างพรั่งพรูเข้ามา
ถ้าคุณพิจารณางานเขียนของ พอลเสน โพลล์สัน (Paulsen Pollson) นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้เขียนหนังสือว่าด้วยจริยธรรมในยุคศตวรรษที่ 19 คุณจะพบว่าหนึ่งในสิ่งต่างๆ ซึ่ง เหมา ซึมซับเอาไว้เมื่อตอนที่เขากำลังศึกษาด้วยตนเองอยู่ในเมืองฉางซา ก็คือหนังสือเล่มนี้ เขาอ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนแล้ว และร่องรอยของหนังสือเล่มนี้ก็ปรากฏไปทั่วเลย ความคิดเห็นของเขาจำนวนมากปรากฏอยู่ในงานเขียนต่างๆ ของ เหมา ความคิดเห็นของเขาบ่งบอกให้ทราบว่า เขาเชื่อในเรื่องการเป็นวีรบุรุษ เห็นว่าวีรบุรุษคือคนที่ไม่ควรถูกจำกัดยับยั้ง, ไม่สามารถที่จะจำกัดยับยั้งตนเองได้, ไม่ควรที่จะจำกัดยับยั้งตนเอง ผมไม่คิดว่าความคิดแบบนี้ชัดๆ เลยจะอยู่ในลัทธิเต๋านะ แต่พวกแนวความคิดอย่างสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลง และอยู่ในภาวะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นความคิดลัทธิเต๋าแน่ๆ ตัวภาพสัญลักษณ์ หยิน กับ หยาง เองก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นภาวะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ถาม:ในเรื่องเกี่ยวกับความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวแนวความคิดเรื่องความชอบธรรม (legitimacy) เองก็เป็นแนวความคิดตะวันตกอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ?
ตอบ: ผมไม่คิดว่ามันเป็นแนวความคิดแบบตะวันตกหรอก ความชอบธรรมเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่กำลังครองอำนาจอยู่ ถ้าคุณอยู่ในอำนาจ ประชาชนก็จะยอมรับ ในกรณีของประเทศจีนทุกวันนี้นั้น เนื่องมาจากมีการปฏิวัติ (ในปี 1949) ขึ้นมา มันเป็นการสู้รบที่ยุติธรรมนะ เราควรพูดอย่างนี้ได้ และพวกคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะ พวกชาตินิยม (ก๊กมิ่นตั๋ง) เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ดังนั้นฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงมีสิทธิที่จะอยู่ที่นั่น และประธานเหมา ก็คือบุคคลที่นำพาพวกเขาไปสู่ชัยชนะ ดังนั้น มันจึงเป็นความชอบธรรม ทว่าความชอบธรรมเป็นสิ่งที่เสื่อมสลายได้ การปฏิวัติให้คำมั่นสัญญาบางสิ่งบางอย่าง และในช่วง 30 ปีแรกแห่งการปกครองของ เหมา นั้น เขาไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาเลย การปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้นมาก็จริง แต่แล้วมันก็ลบเลือนไป มีการให้สัญญาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่แล้วมันก็ล้มครืนไปในช่วงเกิดความอดอยาก (สืบเนื่องจากการใช้นโยบาย “การก้าวกระโดดใหญ่”) ครั้นแล้วก็เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมา
ดังนั้น ความชอบธรรมเป็นสิ่งที่สามารถเสื่อมสลายได้ และผมคิดว่าความชอบธรรมนั้นได้เสื่อมสลายไปแล้ว เหมา คือหนึ่งในหลายๆ สิ่งซึ่งพวกเขาไม่ต้องการให้เสื่อมสลายไป เป็นความจำเป็นสำหรับการมีความชอบธรรม และความจำเป็นสำหรับอะไรบางอย่าง แบบที่ หู จิ่นเทา พูดเอาไว้ว่า เพื่อเชื่อมโยงระหว่างพรรคกับประชาชน ความจำเป็นเช่นนี้แหละยังเป็นเหตุผลที่ทำไมพรรคจึงกำลังเกี้ยวพาราสีแนวความคิดที่มีอันตรายเอามากๆ อย่างการใช้ลัทธิชาตินิยม ก็เพราะพวกเขาทราบดีว่าประชาชนจีนนั้นมีความรักชาติมาก ทว่าพวกเขากำลังใช้เรื่องนี้ –โดยที่เห็นชัดว่าคนญี่ปุ่นคือผู้ที่จะต้องนำมาใช้ในการโจมตี— พวกเขากำลังใช้ลัทธิชาตินิยมมาเป็นวิธีหนึ่งในการผนึกกำลังเชื่อมโยงกันระหว่างคณะผู้นำกับมวลชน
แน่นอนทีเดียว เวลาส่วนใหญ่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจหรอกว่าฝ่ายญี่ปุ่นกำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาสนใจอยู่แต่กับการพยายามทำให้ครอบครัวของพวกเขามีกินมีใช้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ถูกรบกวนแทรกแซงจากพวกเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องจ่ายเงินทองเพื่อให้ได้รับบริการทางการแพทย์ หรือไม่ต้องจ่ายเงินทองเพื่อให้ครูบาอาจารย์ของพวกเขามาสอนหนังสือ
แต่ในยามที่เกิดสถานการณ์ยากลำบากขึ้นมา ลัทธิชาตินิยมคือเครื่องมือประการหนึ่ง ทว่ามันเป็นเครื่องมือที่มี 2 คม มีคมอยู่ทั้ง 2 ด้าน เราได้เคยเห็นเรื่องอย่างนี้มาแล้วในปี 1919 ในขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth movement)[8] ถ้ารัฐบาลใดก็ตามกระตุ้นส่งเสริมลัทธิชาตินิยม ทว่าไม่สามารถที่จะเต็มเติมความฝันของประชาชนที่กลายเป็นนักชาตินิยมขึ้นมาได้แล้ว รัฐบาลนั้นก็จะถูกโยนทิ้งไป ดังนั้นมันจึงเป็นอาวุธที่มีคมทั้ง 2 ด้านจริงๆ ในกรณีของประเทศจีนทุกวันนี้ มันเป็นประเด็นของการมี 2 คมขึ้นมา ก็เพราะจีนก็ไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯหรือประเทศต่างๆ สืบเนื่องจากการกระตุ้นส่งเสริมความรู้สึกชาตินิยมอย่างแรงกล้า
ถาม:พรรคคอมมิวนิสต์กำลังพยายามที่จะส่งอิทธิพลต่อการเมืองของฮ่องกงและการเมืองของไต้หวัน คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
ตอบ: ผมคิดว่าทั้ง เหมา และ เติ้ง เนื่องจากพวกเขาต่างมีความเชื่อมั่นตนเองอย่างมากมายมหาศาล พวกเขาก็เลยพรักพร้อมที่จะเลื่อนเวลาในการตัดสินใจสิ่งสำคัญต่างๆ ออกไปก่อน เหมาจะไม่มีความหมกมุ่นกับเรื่องการนำเอาไต้หวันกลับคืนมาหรอก เขาไม่มีความหมกมุ่นกับเรื่องนี้ เขาเคยพูดว่า คุณรู้ไหม สักวันหนึ่งมันก็จะเกิดขึ้นมา (ไต้หวันจะกลับมารวมกับแผ่นดินใหญ่) ส่วน เติ้ง ก็มีท่าทีอย่างเดียวกันนี้ในเรื่องฮ่องกง รอไปก่อนอีกสัก 50 ปีก็ได้ เขาไม่ได้มีความวิตกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง ฮ่องกงเป็นเพียงนครเล็กๆ นครหนึ่งเท่านั้น
มันเป็นนครที่ร่ำรวยมาก เป็นนครที่วิเศษมาก ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ทั้งหมดของประเทศจีนแล้ว มันก็แค่อะไรที่จิ๊บจ๊อยไม่สำคัญเลย เขาจะไม่รู้สึกว่าต้องวิตกกังวล เขาจะปล่อยให้มันเดินหน้าต่อไป ทว่าผมคิดว่าคณะผู้นำจีนนั้นกำลังแสดงให้เห็นถึงอาการที่รู้สึกวิตกกังวล สืบเนื่องจากปัญหาที่ว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนมีความปรารถนาที่จะเห็นฮ่องกงซึ่งมีความเป็นฮ่องกงน้อยลง เนื่องจากเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฮ่องกงนั้นมีอิทธิพลต่อผู้คนทางอีกฝั่งหนึ่งของพรมแดนในมณฑลกวางตุ้ง และกวางตุ้งก็เป็นมณฑลที่สำคัญมากๆ มณฑลหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งสามารถส่งอิทธิพลต่อประชาชนในที่อื่นๆ
ผมหวังจริงๆ ที่จะให้ฮ่องกงยังคงเป็นฮ่องกงต่อไป มันเป็นสถานที่ซึ่งพิเศษไม่เหมือนใคร และเติ้ง เสี่ยวผิง ก็เตรียมตัวพรักพร้อมที่จะปล่อยให้มันยังคงเป็นสถานที่ซึ่งพิเศษไม่เหมือนใครต่อไป ผมหวังว่าคณะผู้นำต่อไปนี้ในประเทศจีนก็จะทำอย่างเดียวกัน แต่ใครจะไปรู้ล่ะ? อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ซึ่งเกิดขึ้นในฮ่องกงมาเป็นปีๆ แล้ว ในบางกรณีก็มองเห็นได้นับตั้งแต่เกิดกรณีเทียนอันเหมินเป็นต้นมา นั่นก็คือ ฮ่องกงสามารถที่จะยืนขึ้นมาเพื่อตัวพวกเขาเอง และท่านผู้ว่าการฮ่องกงก็จะค้นพบเอง ว่าประชาชนฮ่องกงนั้นสามารถที่จะยืนขึ้นมาเพื่อตัวพวกเขาเอง
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2016 โดย ดิ อินิเชียม มีเดีย (The Initium Media) บริษัทสื่อดิจิตอลซึ่งตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง เอเชียไทมส์นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมีการปรับปรุงเพื่อให้กะทัดรัดและกระจ่างชัดเจน
หมายเหตุผู้แปล
[1]โรเดอริก แมคฟาร์กูฮาร์ (Roderick MacFarquhar)เกิดเมื่อปี 1930 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ชำนาญการเรื่องจีน เขายังเคยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ในกองบรรณาธิการเดลี่เทเลกราฟ และผู้สื่อข่าวโทรทัศน์บีบีซี ตลอดจนเป็นนักการเมืองในอังกฤษ โดยเคยเป็นส.ส.อยู่ช่วงสั้นๆ เขาเขียนหนังสือและบทความจำนวนมากว่าด้วยประเทศจีนในยุคสมัยใหม่ และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการคนสำคัญยิ่งในเรื่องการเมืองจีนตั้งแต่ช่วงก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนไปจนถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2]เฉิน หยุน (Chen Yun) (ปี 1905 -1995) เขามีอายุอ่อนกว่า เติ้ง เสี่ยวผิง 1 ปี ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษทีเดียวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1931 เมื่อเขาขึ้นเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะอายุได้ 26 ปี เขาจะมีตำแหน่งในพรรคสูงกว่าเติ้งเรื่อยมา
ถึงแม้เป็นที่รู้จักกันในฐานะความเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” แต่จริงๆ แล้ว เฉินแสดงบทบาทที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้นมาก ทั้งในงานด้านการจัดตั้ง, การตรวจสอบวินัยของพรรคในระดับสูง, การบริหารพื้นที่เมืองใหญ่, และนโยบายพื้นฐานของพรรค เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดตั้งของพรรคในช่วงปี 1937 – 1943 เป็นผู้บุกเบิกวิธีการปลดแอกพื้นที่ตัวเมืองในฐานะที่เป็นผู้นำของเมืองฮาร์บิน และต่อมาก็ในเมืองเสิ่นหยาง เขาเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในระหว่างปี 1949 – 1952 และเป็นผู้นำขององค์การแผนระยะ 5 ปีฉบับแรก เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ส่งเสียงดังที่สุดเพื่อคัดค้าน “การก้าวกระโดดใหญ่” และก็เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทมากที่สุดในการชี้นำงานการปรับปรุงยกเครื่องใหม่ภายหลังจากนั้น หลังจากปี 1978 เขาเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่พูดกับ เติ้ง ในฐานะคนที่เสมอกัน
เฉินหยุนเป็นผู้ที่ระมัดรวัง เชื่อว่าความก้าวหน้าจะมาจากการก้าวเดินก้าวเล็กๆ อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ มากกว่าการกระโดดไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เขาเชื่อในเรื่องพลังของตลาด แต่ก็เห็นว่าตลาดเป็นเหมือนนกที่ควรบินอย่างอิสระอยู่ภายในกรงซึ่งก็คือการวางแผน
ในช่วงปี 1978-1981 เขาช่วยชี้นำนโยบายการตัดลดรายจ่าย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของจีนอยู่บนรากฐานอันหนักแน่นแข็งแรง ก่อนที่จะเริ่มเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว
(ข้อมูลจาก Journal of Contemporary China, Wikipedia)
[3] เฉิน อี้ (Chen Yi) (ปี 1901 – 1972) เป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นผู้นำทางการเมืองคนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน
เฉินเป็นผู้บัญชาการคนหนึ่งของ “กองทัพที่ 4 ใหม่” ในระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ปี 1937 – 1945) และเป็นหัวหอกของการโจมตีตอบโต้ที่ซานตง ในระหว่างสงครามกลางเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสู้รบกับพรรคก๊กมิ่นตั๋ง และต่อมาก็เป็นผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ยังความพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพฝ่ายก๊กมิ่นตั๋งระหว่าง “ยุทธการหวายไห่” และเข้ายึดครองพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซีเอาไว้ได้ในช่วงปี 1948-48 เขาได้รับยศเป็นจอมพลคนหนึ่งของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปี 1955
ภายหลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เฉินได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ ต่อมาก็ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1954-1972 และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ปี 1958-1972
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[4]หลี่ ลี่ซาน (Li Lisan) (ปี 1899-1967) เขาเป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างปี 1928-1930 เขากลายเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของพรรค เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ให้พรรคเร่งรัดก่อการลุกขึ้นสู้ในตัวเมืองและชนบทขณะที่ยังไม่มีความพร้อม และถูกกองทัพก๊กมิ่นตั่งปราบปรามทำลาย เพื่อเป็นการลงโทษ เขาจึงถูก “เนรเทศ” ไปอยู่ที่มอสโก 15 ปี
หลี่เดินทางกลับจีนในปี 1946 และภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีแรงงาน และต่อมาก็ไปนั่งตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง เขาถูกประณามและถูกลงโทษอีกครั้งในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และมีรายงานว่าเขาฆ่าตัวตายหลังจากนั้นไม่นาน
(ข้อมูลจาก Wikipedia, Marxists Internet Archive)
[5]หวัง หมิง (Wang Ming) (ปี 1904 -1974) เขาเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงต้นๆ และเป็นเสมือนเสนาธิการของกลุ่ม “28 บอลเชวิก” หวังเป็นปรปักษ์ทางการเมืองคนสำคัญของ เหมา เจ๋อตง ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยที่เขาคัดค้านสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการเบี่ยงเบนแบบนักชาตินิยมของเหมา ออกจากแนวทางขององค์การคอมมิวนิสต์สากล (โคมินเทิร์น) และจากแนวทางลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ดั้งเดิม ขณะที่ทางฝ่ายเหมาเห็นว่า หวังเป็นพวกปัญญาชนนิยม และพวกนักลัทธิคัมภีร์ ซึ่งเหมาวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ในบทความเรื่อง “ว่าด้วยการปฏิบัติ” และ “ว่าด้วยความขัดแย้ง” อันมีชื่อเสียงของเขา (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[6]การเดินทัพทางไกล (The Long March) (ตุลาคม 1934-ตุลาคม 1935) เป็นการถอยทัพทางทหารของกองทัพแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นกองทัพปลดแอกประชาชนจีน การถอยทัพนี้มีขึ้นเพื่อหลบหลีกการไล่ติดตามของกองทัพพรรคก๊กมิ่นตั๋ง เนื่องจากกองทัพต่างๆ ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในบริเวณภาคกลางและภาคใต้ของจีนต่างแยกย้ายกันเดินทัพถอยไปทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ ดังนั้นการเดินทัพทางไกลจึงไม่ได้มีเพียงสายเดียว แต่การเดินทัพทางไกลสายซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่การเดินทัพสายที่ออกจากมณฑลเจียงซีซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม 1934 ทั้งนี้ กองทหารในสายนี้คือกองทัพด้านที่หนึ่ง อยู่ใต้การนำของคณะกรรมการการทหารที่ไร้ประสบการณ์ และเกือบถูกกองทหารของเจียง ไคเช็ก กำจัดทิ้งไปทั้งกองทัพอยู่แล้ว ทว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งในที่สุดจะอยู่ในการบังคับบัญชาของ เหมา เจ๋อตง และ โจว เอินไหล สามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จโดยที่ต้องถอยทัพอย่างวกวนรวมเป็นระยะทางกว่า 9,000 กิโลเมตรและใช้ระยะเวลากว่า 370 วัน
อย่างไรก็ตาม การเดินทัพทางไกลคือการเริ่มต้นก้าวขึ้นสู่อำนาจของ เหมา เจ๋อตง ซึ่งแสดงความเป็นผู้นำของเขาระหว่างการถอยทัพจนทำให้ได้รับความสนับสนุนจากบรรดาสมาชิกพรรค
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[7] การก้าวกระโดดใหญ่ (Great Leap Forward) เป็นการรณรงค์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระหว่างปี 1958-1961 ที่นำโดย เหมา เจ๋อตง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเร่งรัดเปลี่ยนแปลงประเทศจีน จากการมีเศรษฐกิจแบบชาวนา ให้กลายเป็นเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยดำเนินการเร่งรัดสร้างอุตสาหกรรมและใช้ระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงคราวนั้นกลับเป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน
การก้าวกระโดดใหญ่สิ้นสุดลงด้วยการกลายเป็นความหายนะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบล้านคน
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[8]ขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth movement) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรมที่มุ่งต่อต้านจักรวรรดินิยม ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากการเดินขบวนประท้วงของนักเรียนนักศึกษาในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 เพื่อคัดค้านการที่รัฐบาลจีนแสดงการตอบโต้อย่างอ่อนปวกเปียกต่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ยินยอมให้ญี่ปุ่นได้รับมอบดินแดนต่างๆ ในมณฑลซานตง ซึ่งเยอรมนีเคยบีบบังคับเอาจากจีน การเดินขบวนประท้วงเหล่านี้ได้จุดประกายให้เกิดการประท้วงทั่วทั้งประเทศ และเป็นหลักหมายแสดงถึงการปะทุของลัทธิชาตินิยมจีน
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
Q&A: Interview with Roderick MacFarquhar on Mao’s Last Revolution
By Initium Media
17/05/2016
โรเดอริก แมคฟาร์กูฮาร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ให้สัมภาษณ์ อินิเชียม มีเดีย สื่อออนไลน์ภาษาจีนในฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่ง เหมา เจ๋อตง เริ่มต้นขึ้นมาในวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 เขาชี้ให้เห็นทั้งเหตุผลเบื้องลึกที่ทำให้ เหมา ก่อการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินคราวนั้น และผลกระทบกระเทือนซึ่งความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายถึง 10 ปีครั้งนั้น มีต่อประเทศจีนและคณะผู้นำจีน
เมื่อเร็วๆ นี้ อินิเชียม มีเดีย (Initium Media) สื่อออนไลน์ภาษาจีนซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ฮ่องกง ได้สัมภาษณ์ โรเดอริก แมคฟาร์กูฮาร์ (Roderick MacFarquhar) [1] ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของ เหมา เจ๋อตง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 มือเก่าด้านจีนที่โดดเด่นยิ่งผู้นี้ เป็นเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “The Origins of the Cultural Revolution” ที่มีอิทธิพลสืบต่อมาอีกยาวนาน และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Mao's Last Revolution” ร่วมกับ ไมเคิล เชินฮาวส์ (Michael Schoenhals) นักจีนวิทยาชาวสวีเดน ผลงานชิ้นหลังมุ่งที่จะอธิบายว่าทำไม เหมา จึงเปิดฉากก่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมา และเขาใช้วิธีการใดในการวางแผนบงการการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินคราวนั้นซึ่งได้คร่าชีวิตชาวจีนไปหลายล้านชีวิต แมคฟาร์กูฮาร์ มีความคิดเห็นว่าช่วงเวลาหลายปีแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายและการนองเลือดดังกล่าว คือการอาบย้อมความน่าตื่นใจให้แก่สัจธรรมของคำพังเพยเก่าแก่ของจีนที่ว่า “เมื่อความสุดโต่งต่างๆ มาพบบรรจบกัน” ภายในปรากฏการณ์ที่สูงตระหง่านง้ำอยู่ในประวัติศาสตร์และการเมืองของจีน
ถาม: การปฏิวัติทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบกระเทือนต่อจีนอย่างไรบ้าง?
ตอบ: การปฏิวัติทางวัฒนธรรมส่งผลกระทบกระเทือนต่อจีนอย่างเป็นเฉพาะเจาะจงมาก ไม่เพียงแค่กระทบกระเทือนในทางภาพรวมทั่วไปเท่านั้น มองในทางภาพรวมทั่วไปแล้ว มันกระทบกระเทือนจีนในแง่ที่ว่า มันก่อให้เกิดความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมโหฬาร, การเข่นฆ่ากันอย่างมโหฬาร, และการต่อสู้รบรากันอย่างมโหฬาร ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธด้วย ตัวอย่างเช่นที่เมืองฉงชิ่ง พวกเขาสู้รบกันโดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารทีเดียว แล้วมันทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนตกอยู่ในภาวะหมดความน่าเชื่อถือและแทบถึงกับแตกสลายไป มีช่วงเวลาที่ยาวนานถึงราว 3 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังกำลังทำงานอยู่ในจีน เหลืออยู่เพียงแค่พรรคคอมมิวนิสต์ของประธานเหมาและเพื่อนร่วมงานในระดับสูงสุดอีกไม่กี่คนเท่านั้น ชีวิตในพรรคเป็นอันดับสูญไป ดังนั้นเมื่อมองในทางภาพรวมทั่วไปแล้ว การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้นำพาความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายอย่างใหญ่โตมโหฬารมาสู่ประเทศจีน
ทว่าเมื่อมองถึงผลกระทบกระเทือนที่เฉพาะเจาะจง เรื่องที่เฉพาะจงที่สุดก็คือ การปฏิวัติทางวัฒนธรรมวาดภาพให้เห็นจริงถึงสุภาษิตคำพังเพยที่ เหมา ชอบหยิบยกขึ้นมาพูดบทหนึ่ง ที่ว่า “เรื่องดีๆ สามารถออกมาจากเรื่องเลวๆ” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็คือ ความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายมากมายเหลือเกิน และเวลาสำหรับการสร้างให้จีนเกิดความทันสมัยก็ต้องสูญเสียไปอย่างมากมายเหลือเกิน การสร้างประเทศจีนให้ทันสมัยนี่แหละ จริงๆ แล้วก็เป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวคอมมิวนิสต์จำนวนมากที่สุดเข้ามาร่วมกับพรรคย้อนหลังไปได้จนถึงช่วงทศวรรษ 1920 ทีเดียว นั่นคือ พวกเขาต้องการที่จะสร้างประเทศจีนที่แข็งแกร่งขึ้นมา แล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นมาหรือเปล่า? จากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม พวกเขากลับทำลายประเทศจีนลงไป พวกเขากลับกำลังฉีกกระชากจีนออกมาเป็นชิ้นๆ ดังนั้นผมคิดว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้บังคับให้คณะผู้นำที่รอดชีวิตมาได้ โดยคนที่โดดเด่นที่สุดย่อมเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง แต่ยังมีคนอื่นๆ อีกด้วยนะ ซึ่งเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงขึ้นมาว่า พวกเขาต้องหันมาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ไปในทางด้านตรงข้าม ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศชาติก็จะต้องจบสิ้น และพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะต้องจบสิ้น
ดังนั้น การปฏิวัติทางวัฒนธรรมจึงเกิดผลในทางดีขึ้นมาประการหนึ่ง ในแง่ที่ว่ามันปลดปล่อยความคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง แม้กระทั่งความคิดของ เฉิน หยุน [2] ในบางระดับ ให้หลุดออกมาจากพวกคำพูดติดปากของลัทธิมาร์กซ์-ลัทธิเลนิน-ความคิดเหมาเจ๋อตง ในอดีต และเข้าไปสู่เส้นทางสายใหม่ๆ นั่นจึงทำให้เกิดคำคมที่มีชื่อเสียงของเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งยืมมาจากพวกชาวนาจีน ที่ว่า “แมวสีไหนไม่สำคัญหรอก ขอให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน” อะไรๆ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น หากมันทำให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวขึ้นมาได้
ถาม: ในหนังสือของคุณเขียนเอาไว้ว่า “บาปแต่กำเนิด” (“original sin”) ของ เหมา เจ๋อตง นั่นเอง ที่เป็นตัวริเริ่มทำให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมา นี่หมายความว่าอย่างไร ?
ตอบ: มันก็ไม่ใช่การค้นพบใหม่อะไรของผมนะ มันอยู่ในลักษณะนี้มากกว่า คือเมื่อมีหลักฐานต่างๆ เพิ่มขึ้นมาสะสมมากขึ้นมา ในขณะที่ผมค้นคว้าผ่านช่วงระยะเวลาหลายๆ ปีก่อนจะถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น ก็มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นๆ ว่า เหมา กำลังปลุกปั่นสร้างเหตุการณ์ต่างๆ และกำลังเคลื่อนย้ายสิ่งต่างๆ ไปในทิศทางที่เลวร้าย ผมคิดว่า และจริงๆ แล้วเมื่อตอนที่ผมได้รับการฝึกอบรมทีแรกสุดในแวดวงวิชาการนี้เมื่อช่วงทศวรรษ 1950 นั้น สิ่งซึ่งสร้างความประทบใจให้แก่เหล่านักศึกษาผู้ค้นคว้าเรื่องประเทศจีนและลัทธิคอมมิวนิสต์จีนก็คือ ความผิดแผกแตกต่างจากสหภาพโซเวียต ตอนที่สหภาพโซเวียตเริ่มต้นขึ้นมานั้น เค้าฆ่าศัตรูของเค้าเรียบเลย แต่ในจีน เหมา เจ๋อตง ไม่ได้ทำเช่นนั้น
เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก และในความเป็นจริงแล้ว ยกเว้นแต่ข้อยกเว้นไม่กี่กรณีเท่านั้น คณะผู้นำจีนในปี 1966 ก็ถือได้ว่าเป็นคณะผู้นำชุดเดียวกับเมื่อปี 1945 หรือเมื่อ 21 ปีก่อนหน้านั้น ดังนั้น การปฏิวัติทางวัฒนธรรมคือการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากบรรทัดฐานชนิดที่เราได้เคยคาดหมายไว้ว่าจะออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งที่ผมขบคิดก็คือ ความรู้สึกของผมเกี่ยวกับ เหมา ในปี 1945 เมื่อตอนที่เขาเป็นประธานพรรค และเมื่อตอนที่คณะผู้นำชุดใหม่ของพรรคออกมาจากการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 7 นั้น ความรู้สึกของผมอยู่ในลักษณะ (ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ไม่มีการเข่นฆ่าศัตรูไปจนหมดสิ้น) ไม่ใช่เฉพาะตัวผมเท่านั้น เพื่อนร่วมงานของ เหมา เองก็รู้สึกอย่างเดียวกัน เป็นต้นว่า เฉิน อี้ [3] ผมทราบเพราะเขาได้เคยพูดเอาไว้เช่นนั้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้คิดสังหารพวกศัตรูของเขาให้เรียบเลย โดยที่พวกศัตรูตัวร้ายกาจที่สุดของเขาก็ได้แก่ โจว เอินไหล, หลี่ ลี่ซาน[4], และคนอื่นๆ อีกสักคนสองคน อย่างเช่น หวัง หมิง แม้กระทั่ง หวัง หมิง[5] ก็ยังได้รับการยอมรับให้ได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการกลางของพรรคในการประชุมสมัชชา 8 เลย
ดังนั้น ใครๆ จึงต่างมีภาพของเหมาในฐานะเป็นคนที่เป็นจอมเผด็จการผู้มีเมตตาการุณย์ ผู้ซึ่งสามารถสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานของเขา แม้กระทั่งพวกที่เคยเป็นศัตรูในอดีต แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า ในขณะที่ผมติดตามศึกษาพัฒนาการของเขาในตลอดช่วงทศวรรษ 1960 ก็ดูเหมือนมีความชัดเจนขึ้นมาว่า เขามีวิสัยทัศน์ที่แน่นอนมั่นคงอยู่ชุดหนึ่งในเรื่องที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับประเทศจีน และเขาไม่เคยเตรียมตัวพรักพร้อมที่จะยินยอมให้มิตรภาพเหล่านี้, ความเป็นสหายเหล่านี้, ความสนับสนุนของพวกเพื่อนร่วมงานของเขาที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีเหล่านี้ --พวกเขาอยู่ด้วยกันกับ เหมา มา 20-30 ปีแล้วนะ ตั้งแต่สมัยการเดินทัพทางไกล (the long march)[6] และอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายทั้งปวงหลังจากนั้น— ความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกกับผู้คนเหล่านี้ ไม่มีเลยที่จะสามารถป้องกันขัดขวางเขา ไม่ให้กระทำสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับจีน และถูกต้องสำหรับตัวเขา
ผมคิดว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นประเด็นหนึ่ง –และเรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นทุกทีหลังจากที่พวกเขา (คณะผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) พยายามที่จะช่วยชีวิตเศรษฐกิจจีนให้อยู่รอดต่อไปภายหลัง “การก้าวกระโดดใหญ่ (Great Leap Forward)[7] – ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ว่านี้ก็คือ หลิว เซ่าฉี ผู้ซึ่งเคยเป็นฝ่ายซ้ายจัดเหลือเกิน, โจว เอินไหล, และคนอื่นๆ ทั้งหมดต่างมีความคิดเห็นว่า เราต้องรีบทำอะไรบางอย่างที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้กระทั่งการยินยอมกลับมาให้มีไร่นาของครอบครัว (family farming) ขึ้นอีกครั้ง (ในช่วงการก้าวกระโดดใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การชี้นำของเหมา ได้เร่งรัดการยกเลิกไร่นาของครอบครัว หรือก็คือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนในชนบท โดยให้นำเอาที่ดินมารวมกันเป็นกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของหน่วยการผลิต, ของคอมมูนประชาชน -ผู้แปล) ยังคงเรียกมันว่าเป็นระบบสังคมนิยม แต่จริงๆ แล้วมันเป็นไร่นาของครอบครัว (ซึ่งก็คือเป็นระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน) ถึงแม้มีการเรียกขานโดยใช้คำอื่นๆ แต่ทว่า เหมา ไม่ได้เตรียมตัวพรักพร้อมที่จะยอมรับเรื่องอย่างนี้ แล้วผมคิดว่าตรงนี้ยังมีองค์ประกอบในทางส่วนตัวเข้ามาผสมโรงด้วย เพราะประการแรกสุดทีเดียว เขาเป็นสถาปนิกของระบอบสังคมนิยมในปี 1955 เมื่อเขาผลักดันให้ใช้ระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ในทั่วทั้งเขตชนบท และจากนั้นก็เป็นการใช้ระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ในกิจการงานหัตถกรรม และการแปรให้อุตสาหกรรมและการพาณิชย์เป็นกิจการของรัฐ นี่ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเขา และเขาไม่ได้คิดที่จะยอมรับให้สิ่งเหล่านี้ถูกปัดออกไป
ยังมีประการที่สอง ผมคิดว่าเขามีความตระหนักขึ้นมาว่า –อันที่จริงเขาก็ตระหนักในความเป็นจริงนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แล้ว ทว่ายังไม่ถึงกับหนักแน่นจริงจัง— จีนกำลังจะพัฒนาไปตามแบบอย่างของสหภาพโซเวียต โดยมีการใช้แผนระยะ 5 ปีแผนแล้วแผนเล่า และประชาธิปไตยด้านต่างๆ ใช่หรือไม่? ทำเรื่องนี้อย่างช้าๆ และอย่างผ่านการไตร่ตรองรอบคอบ ไม่เหมือนกับ “การก้าวกระโดดใหญ่ ทว่าเขาเข้าไม่ได้กับวิธีช้าๆ เช่นนี้เลย ความถนัดสันทัดของเขา, ความแข็งแกร่งของเขา คือการดำเนินการปฏิวัติ ความแข็งแกร่งของเขาไม่ได้อยู่ที่การบริหารงาน ซึ่งสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ โจว เอินไหล และ หลิว เซ่าฉี ได้ พวกเขาเป็นผู้บริหารงานที่ดีมากๆ ผมคิดนะว่า เขามีความตระหนักขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 ว่า ถ้าหากเศรษฐกิจของจีนสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วยวิถีทางเช่นนี้ มันก็จะกลายเป็นว่า เขาจะกลายเป็นส่วนเกินสำหรับความเรียกร้องต้องการของพรรค ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พรรคจำเป็นต้องมีอีกต่อไป ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจว่าจะต้องเข้าควบคุมวาระการดำเนินไปของพรรคและของประเทศ และทำให้เขายังคงเป็นที่เรียกร้องต้องการ
แต่ที่ผมพูดอย่างนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเขากระทำไปเพียงเพราะเหตุผลที่เป็นความเห็นแก่ตัวนะ ผมคิดว่าเขาก็มีความเชื่อจริงๆ ด้วยว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสหภาพโซเวียต เป็นอันตรายอย่างแท้จริงในประเทศจีน และเขามีความมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะป้องกันขัดขวางไม่ให้มันเกิดขึ้นมาในจีน เพราะถ้าหากเขาเพียงแค่ต้องการกำจัดพวกเพื่อนร่วมงานของเขาเท่านั้นแล้ว เขาก็ควรที่จะยุติแล้วในปี 1967 เพราะเมื่อถึงตอนนั้นคนพวกนั้นก็ถูกโค่นไปหมดแล้ว ทว่าเขาไม่ได้หยุด เขายังคงเดินหน้าต่อ เพราะเขาต้องการใช้ความพยายามในการทำให้จีนปฏิวัติขึ้นมาใหม่ และแน่นอนทีเดียวมันก็ทำให้เกิดความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายตามมา
ถาม:คุณคิดว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นมีต้นกำเนิดที่มาจากไหนบ้าง จะสามารถพูดสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ายังไง?
ตอบ: ผมคิดว่าต้นกำเนิดที่มาของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น จะต้องยกให้แก่สิ่ง 2 สิ่ง ได้แก่ วิสัยทัศน์ของเหมา และความสำนึกของ เหมา เกี่ยวกับฐานะของตัวเขาเองในการเป็นผู้นำของการปฏิวัติคนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นผู้นำของการปฏิวัติคนหนึ่ง เขาปรารถนาที่จะยังคงเป็นผู้กำหนดวาระต่อไป เขาทราบดีว่าถ้าจีนยังคงก้าวหน้าไปตามเส้นทางการใช้แผน 5 ปีฉบับแล้วฉบับเล่าอย่างต่อเนื่องตามแบบของโซเวียตแล้ว นั่นจะทำให้เขากลายเป็นผู้ที่ไม่สอดคล้อง ผู้ซึ่งไม่เป็นที่เรียกร้องต้องการ ทว่ายังมีสิ่งซึ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือ วิสัยทัศน์ของเขา เขามองว่าเนื่องจากสภาวการณ์ทั้งภายในและทั้งจากสหภาพโซเวียต การปฏิวัติจึงอาจจะเสื่อมโทรมลง การปฏิวัติจึงอาจจะสูญสลายไป เขาวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตว่ากำลังเริ่มต้นใช้ลัทธิทุนนิยม ว่ากำลังละทิ้งการปฏิวัติ
แน่นอนทีเดียว มันเป็นเรื่องตลกร้าย ที่จากความพยายามของเขาที่จะป้องกันขัดขวางไม่ให้ลัทธิทุนนิยมมีโอกาสหวนกลับเข้ามาในประเทศจีนนั่นเอง เขาก็กลับทำให้มันกลายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่มันจะต้องหวนกลับเข้ามา เนื่องจากเขาทำลายระบบการวางแผนและระบบรัฐซึ่งทางจีนหยิบยืมก็อปปี้มาจากทางรัสเซียจนยับเยินขนาดนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากต้องมองข้ามน้ำข้ามทะเลไปที่เกาหลีใต้และไต้หวันและสถานที่อื่นๆ และพรรค (คอมมิวนิสต์จีน) ก็ต้องยอมรับวิธีการใหม่ๆ ดังนั้น ต้นกำเนิดที่มาของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น โดยพื้นฐานเลยมาจากความสำนึกของ เหมา ในเรื่องฐานะของเขาเองในการนำการปฏิวัติของจีน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ มาจากวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับประเทศจีน ซึ่งเขามองว่าต้องเป็นศูนย์กลางที่แดงบริสุทธิ์ของการปฏิวัติ และเข้าแทนที่สืบต่อจากรัสเซียซึ่งได้ทรยศต่อการปฏิวัติไปแล้ว
ถาม:คุณคิดว่า เหมามองการปฏิวัติยังไง สำหรับเหมาแล้ว การปฏิวัติหมายความว่าอะไร?
ตอบ: เหมาเป็นคนที่เกลียดความเงียบเชียบ เขารักการปฏิวัติ เมื่อตอนที่เกิดความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายไปหมดตอนปลายปี 1966 ถึงต้นปี 1967 เขารู้สึกเพลิดเพลินสนุกสนานมาก “เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาแล้ว!” เขาพูดอย่างปีติยินดี! เขาชอบแนวความคิดแบบนั้น แน่นอนทีเดียวว่าเป็นเรื่องง่ายดายที่จะชื่นชอบการปฏิวัติ ถ้าหากคุณมั่นอกมั่นใจว่าคุณไม่ได้กำลังจะกลายเป็นเหยื่อคนหนึ่งของมัน แต่เขาชื่นชอบการปฏิวัติเอามากๆ แล้วเขายังมีแนวความคิดทางปรัชญาอย่างนี้ด้วย นั่นคือ ไม่มีอะไรเลยที่อยู่นิ่งๆ ไปตลอดกาล ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเคลื่อนไหวเสมอ นี่แหละคือสิ่งที่เขาชื่นชอบมากเกี่ยวกับแนวความคิดของเฮเกล (Hegel) ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเคลื่อนไหวเสมอ และทุกสิ่งทุกอย่างล้วนบรรจุด้านตรงข้ามของมันเอาไว้ภายในตัวมันเอง เขายังเชื่อด้วยว่าความก้าวหน้าเกิดขึ้นมาได้ก็โดยผ่านการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และการเคลื่อนไหวเข้าไปสู่การปฏิวัติ ...
เขาไม่ได้ต้องการให้การปฏิวัติแบบการปฏิวัติทางวัฒนธรรมหรือการปฏิวัติแบบปี 1949 เกิดขึ้นมาตลอดเวลา แต่ในความเข้าใจของเขานั้น ระบบขุนนางข้าราชการของจีน ฝังรากลึกมากเข้าไปอยู่ในยีนส์ของคนจีน ดังนั้นหลังผ่านการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไปอีกสักไม่กี่ปี ถ้าหากเขายังคงมีชีวิตอยู่ ก็จะเกิดความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิวัติกันอีกครั้ง เพราะระบบราชการของจีนนั้นทรงอำนาจเหลือเกิน มันจะเข้าครอบครองและดำเนินการต่างๆ ในวิถีทางที่ไม่ใช่การปฏิวัติ
ถาม:คุณพูดถึงลัทธิมาร์กซ์และแนวความคิดของเฮเกลว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเหมา ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจมาก เพราะคนจีนส่วนใหญ่นั้นคิดว่าความฉลาดทางปัญญาของ เหมา นั้นมาจากปรัชญาดั้งเดิมของจีนเอง คุณมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?
ตอบ: ผมคิดว่าความคิดแบบเหมาอิสต์ ก็มีส่วนประกอบของแนวความคิดแบบลัทธิเต๋ารวมอยู่ด้วยนะ ผมเห็นด้วย แล้วยังมีความคิดเห็นความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับลัทธิขงจื๊อ อยู่ในอะไรบางอย่างซึ่งเขาพูดออกมาเป็นปีๆ ด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า เขาได้รับอิทธิพลจากตะวันตก หรือเขาได้รับอิทธิพลจากความคิดตามประเพณีดั้งเดิมของจีนกันแน่ ต้องไม่ลืมว่า บุรุษผู้นี้คือผู้ที่อ่านอย่างหิวกระหายอย่างไม่รู้จักอิ่มตลอดชีวิตของเขา แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขายังเป็นคนวัยหนุ่มพำนักศึกษาอยู่ที่เมืองฉางซา แนวความคิดทั้งหมดเหล่านี้ต่างพรั่งพรูเข้ามา
ถ้าคุณพิจารณางานเขียนของ พอลเสน โพลล์สัน (Paulsen Pollson) นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้เขียนหนังสือว่าด้วยจริยธรรมในยุคศตวรรษที่ 19 คุณจะพบว่าหนึ่งในสิ่งต่างๆ ซึ่ง เหมา ซึมซับเอาไว้เมื่อตอนที่เขากำลังศึกษาด้วยตนเองอยู่ในเมืองฉางซา ก็คือหนังสือเล่มนี้ เขาอ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนแล้ว และร่องรอยของหนังสือเล่มนี้ก็ปรากฏไปทั่วเลย ความคิดเห็นของเขาจำนวนมากปรากฏอยู่ในงานเขียนต่างๆ ของ เหมา ความคิดเห็นของเขาบ่งบอกให้ทราบว่า เขาเชื่อในเรื่องการเป็นวีรบุรุษ เห็นว่าวีรบุรุษคือคนที่ไม่ควรถูกจำกัดยับยั้ง, ไม่สามารถที่จะจำกัดยับยั้งตนเองได้, ไม่ควรที่จะจำกัดยับยั้งตนเอง ผมไม่คิดว่าความคิดแบบนี้ชัดๆ เลยจะอยู่ในลัทธิเต๋านะ แต่พวกแนวความคิดอย่างสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลง และอยู่ในภาวะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นความคิดลัทธิเต๋าแน่ๆ ตัวภาพสัญลักษณ์ หยิน กับ หยาง เองก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นภาวะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ถาม:ในเรื่องเกี่ยวกับความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวแนวความคิดเรื่องความชอบธรรม (legitimacy) เองก็เป็นแนวความคิดตะวันตกอย่างหนึ่งไม่ใช่หรือ?
ตอบ: ผมไม่คิดว่ามันเป็นแนวความคิดแบบตะวันตกหรอก ความชอบธรรมเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่กำลังครองอำนาจอยู่ ถ้าคุณอยู่ในอำนาจ ประชาชนก็จะยอมรับ ในกรณีของประเทศจีนทุกวันนี้นั้น เนื่องมาจากมีการปฏิวัติ (ในปี 1949) ขึ้นมา มันเป็นการสู้รบที่ยุติธรรมนะ เราควรพูดอย่างนี้ได้ และพวกคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะ พวกชาตินิยม (ก๊กมิ่นตั๋ง) เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ดังนั้นฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงมีสิทธิที่จะอยู่ที่นั่น และประธานเหมา ก็คือบุคคลที่นำพาพวกเขาไปสู่ชัยชนะ ดังนั้น มันจึงเป็นความชอบธรรม ทว่าความชอบธรรมเป็นสิ่งที่เสื่อมสลายได้ การปฏิวัติให้คำมั่นสัญญาบางสิ่งบางอย่าง และในช่วง 30 ปีแรกแห่งการปกครองของ เหมา นั้น เขาไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาเลย การปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้นมาก็จริง แต่แล้วมันก็ลบเลือนไป มีการให้สัญญาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่แล้วมันก็ล้มครืนไปในช่วงเกิดความอดอยาก (สืบเนื่องจากการใช้นโยบาย “การก้าวกระโดดใหญ่”) ครั้นแล้วก็เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมา
ดังนั้น ความชอบธรรมเป็นสิ่งที่สามารถเสื่อมสลายได้ และผมคิดว่าความชอบธรรมนั้นได้เสื่อมสลายไปแล้ว เหมา คือหนึ่งในหลายๆ สิ่งซึ่งพวกเขาไม่ต้องการให้เสื่อมสลายไป เป็นความจำเป็นสำหรับการมีความชอบธรรม และความจำเป็นสำหรับอะไรบางอย่าง แบบที่ หู จิ่นเทา พูดเอาไว้ว่า เพื่อเชื่อมโยงระหว่างพรรคกับประชาชน ความจำเป็นเช่นนี้แหละยังเป็นเหตุผลที่ทำไมพรรคจึงกำลังเกี้ยวพาราสีแนวความคิดที่มีอันตรายเอามากๆ อย่างการใช้ลัทธิชาตินิยม ก็เพราะพวกเขาทราบดีว่าประชาชนจีนนั้นมีความรักชาติมาก ทว่าพวกเขากำลังใช้เรื่องนี้ –โดยที่เห็นชัดว่าคนญี่ปุ่นคือผู้ที่จะต้องนำมาใช้ในการโจมตี— พวกเขากำลังใช้ลัทธิชาตินิยมมาเป็นวิธีหนึ่งในการผนึกกำลังเชื่อมโยงกันระหว่างคณะผู้นำกับมวลชน
แน่นอนทีเดียว เวลาส่วนใหญ่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจหรอกว่าฝ่ายญี่ปุ่นกำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาสนใจอยู่แต่กับการพยายามทำให้ครอบครัวของพวกเขามีกินมีใช้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ถูกรบกวนแทรกแซงจากพวกเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องจ่ายเงินทองเพื่อให้ได้รับบริการทางการแพทย์ หรือไม่ต้องจ่ายเงินทองเพื่อให้ครูบาอาจารย์ของพวกเขามาสอนหนังสือ
แต่ในยามที่เกิดสถานการณ์ยากลำบากขึ้นมา ลัทธิชาตินิยมคือเครื่องมือประการหนึ่ง ทว่ามันเป็นเครื่องมือที่มี 2 คม มีคมอยู่ทั้ง 2 ด้าน เราได้เคยเห็นเรื่องอย่างนี้มาแล้วในปี 1919 ในขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth movement)[8] ถ้ารัฐบาลใดก็ตามกระตุ้นส่งเสริมลัทธิชาตินิยม ทว่าไม่สามารถที่จะเต็มเติมความฝันของประชาชนที่กลายเป็นนักชาตินิยมขึ้นมาได้แล้ว รัฐบาลนั้นก็จะถูกโยนทิ้งไป ดังนั้นมันจึงเป็นอาวุธที่มีคมทั้ง 2 ด้านจริงๆ ในกรณีของประเทศจีนทุกวันนี้ มันเป็นประเด็นของการมี 2 คมขึ้นมา ก็เพราะจีนก็ไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯหรือประเทศต่างๆ สืบเนื่องจากการกระตุ้นส่งเสริมความรู้สึกชาตินิยมอย่างแรงกล้า
ถาม:พรรคคอมมิวนิสต์กำลังพยายามที่จะส่งอิทธิพลต่อการเมืองของฮ่องกงและการเมืองของไต้หวัน คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
ตอบ: ผมคิดว่าทั้ง เหมา และ เติ้ง เนื่องจากพวกเขาต่างมีความเชื่อมั่นตนเองอย่างมากมายมหาศาล พวกเขาก็เลยพรักพร้อมที่จะเลื่อนเวลาในการตัดสินใจสิ่งสำคัญต่างๆ ออกไปก่อน เหมาจะไม่มีความหมกมุ่นกับเรื่องการนำเอาไต้หวันกลับคืนมาหรอก เขาไม่มีความหมกมุ่นกับเรื่องนี้ เขาเคยพูดว่า คุณรู้ไหม สักวันหนึ่งมันก็จะเกิดขึ้นมา (ไต้หวันจะกลับมารวมกับแผ่นดินใหญ่) ส่วน เติ้ง ก็มีท่าทีอย่างเดียวกันนี้ในเรื่องฮ่องกง รอไปก่อนอีกสัก 50 ปีก็ได้ เขาไม่ได้มีความวิตกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง ฮ่องกงเป็นเพียงนครเล็กๆ นครหนึ่งเท่านั้น
มันเป็นนครที่ร่ำรวยมาก เป็นนครที่วิเศษมาก ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ทั้งหมดของประเทศจีนแล้ว มันก็แค่อะไรที่จิ๊บจ๊อยไม่สำคัญเลย เขาจะไม่รู้สึกว่าต้องวิตกกังวล เขาจะปล่อยให้มันเดินหน้าต่อไป ทว่าผมคิดว่าคณะผู้นำจีนนั้นกำลังแสดงให้เห็นถึงอาการที่รู้สึกวิตกกังวล สืบเนื่องจากปัญหาที่ว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนมีความปรารถนาที่จะเห็นฮ่องกงซึ่งมีความเป็นฮ่องกงน้อยลง เนื่องจากเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฮ่องกงนั้นมีอิทธิพลต่อผู้คนทางอีกฝั่งหนึ่งของพรมแดนในมณฑลกวางตุ้ง และกวางตุ้งก็เป็นมณฑลที่สำคัญมากๆ มณฑลหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งสามารถส่งอิทธิพลต่อประชาชนในที่อื่นๆ
ผมหวังจริงๆ ที่จะให้ฮ่องกงยังคงเป็นฮ่องกงต่อไป มันเป็นสถานที่ซึ่งพิเศษไม่เหมือนใคร และเติ้ง เสี่ยวผิง ก็เตรียมตัวพรักพร้อมที่จะปล่อยให้มันยังคงเป็นสถานที่ซึ่งพิเศษไม่เหมือนใครต่อไป ผมหวังว่าคณะผู้นำต่อไปนี้ในประเทศจีนก็จะทำอย่างเดียวกัน แต่ใครจะไปรู้ล่ะ? อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ซึ่งเกิดขึ้นในฮ่องกงมาเป็นปีๆ แล้ว ในบางกรณีก็มองเห็นได้นับตั้งแต่เกิดกรณีเทียนอันเหมินเป็นต้นมา นั่นก็คือ ฮ่องกงสามารถที่จะยืนขึ้นมาเพื่อตัวพวกเขาเอง และท่านผู้ว่าการฮ่องกงก็จะค้นพบเอง ว่าประชาชนฮ่องกงนั้นสามารถที่จะยืนขึ้นมาเพื่อตัวพวกเขาเอง
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2016 โดย ดิ อินิเชียม มีเดีย (The Initium Media) บริษัทสื่อดิจิตอลซึ่งตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง เอเชียไทมส์นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมีการปรับปรุงเพื่อให้กะทัดรัดและกระจ่างชัดเจน
หมายเหตุผู้แปล
[1]โรเดอริก แมคฟาร์กูฮาร์ (Roderick MacFarquhar)เกิดเมื่อปี 1930 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ชำนาญการเรื่องจีน เขายังเคยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ในกองบรรณาธิการเดลี่เทเลกราฟ และผู้สื่อข่าวโทรทัศน์บีบีซี ตลอดจนเป็นนักการเมืองในอังกฤษ โดยเคยเป็นส.ส.อยู่ช่วงสั้นๆ เขาเขียนหนังสือและบทความจำนวนมากว่าด้วยประเทศจีนในยุคสมัยใหม่ และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการคนสำคัญยิ่งในเรื่องการเมืองจีนตั้งแต่ช่วงก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนไปจนถึงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2]เฉิน หยุน (Chen Yun) (ปี 1905 -1995) เขามีอายุอ่อนกว่า เติ้ง เสี่ยวผิง 1 ปี ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษทีเดียวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1931 เมื่อเขาขึ้นเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะอายุได้ 26 ปี เขาจะมีตำแหน่งในพรรคสูงกว่าเติ้งเรื่อยมา
ถึงแม้เป็นที่รู้จักกันในฐานะความเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” แต่จริงๆ แล้ว เฉินแสดงบทบาทที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้นมาก ทั้งในงานด้านการจัดตั้ง, การตรวจสอบวินัยของพรรคในระดับสูง, การบริหารพื้นที่เมืองใหญ่, และนโยบายพื้นฐานของพรรค เขาเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดตั้งของพรรคในช่วงปี 1937 – 1943 เป็นผู้บุกเบิกวิธีการปลดแอกพื้นที่ตัวเมืองในฐานะที่เป็นผู้นำของเมืองฮาร์บิน และต่อมาก็ในเมืองเสิ่นหยาง เขาเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในระหว่างปี 1949 – 1952 และเป็นผู้นำขององค์การแผนระยะ 5 ปีฉบับแรก เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ส่งเสียงดังที่สุดเพื่อคัดค้าน “การก้าวกระโดดใหญ่” และก็เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทมากที่สุดในการชี้นำงานการปรับปรุงยกเครื่องใหม่ภายหลังจากนั้น หลังจากปี 1978 เขาเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่พูดกับ เติ้ง ในฐานะคนที่เสมอกัน
เฉินหยุนเป็นผู้ที่ระมัดรวัง เชื่อว่าความก้าวหน้าจะมาจากการก้าวเดินก้าวเล็กๆ อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ มากกว่าการกระโดดไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เขาเชื่อในเรื่องพลังของตลาด แต่ก็เห็นว่าตลาดเป็นเหมือนนกที่ควรบินอย่างอิสระอยู่ภายในกรงซึ่งก็คือการวางแผน
ในช่วงปี 1978-1981 เขาช่วยชี้นำนโยบายการตัดลดรายจ่าย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของจีนอยู่บนรากฐานอันหนักแน่นแข็งแรง ก่อนที่จะเริ่มเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว
(ข้อมูลจาก Journal of Contemporary China, Wikipedia)
[3] เฉิน อี้ (Chen Yi) (ปี 1901 – 1972) เป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นผู้นำทางการเมืองคนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน
เฉินเป็นผู้บัญชาการคนหนึ่งของ “กองทัพที่ 4 ใหม่” ในระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ปี 1937 – 1945) และเป็นหัวหอกของการโจมตีตอบโต้ที่ซานตง ในระหว่างสงครามกลางเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสู้รบกับพรรคก๊กมิ่นตั๋ง และต่อมาก็เป็นผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ยังความพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพฝ่ายก๊กมิ่นตั๋งระหว่าง “ยุทธการหวายไห่” และเข้ายึดครองพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซีเอาไว้ได้ในช่วงปี 1948-48 เขาได้รับยศเป็นจอมพลคนหนึ่งของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปี 1955
ภายหลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เฉินได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ ต่อมาก็ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1954-1972 และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ปี 1958-1972
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[4]หลี่ ลี่ซาน (Li Lisan) (ปี 1899-1967) เขาเป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างปี 1928-1930 เขากลายเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของพรรค เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ให้พรรคเร่งรัดก่อการลุกขึ้นสู้ในตัวเมืองและชนบทขณะที่ยังไม่มีความพร้อม และถูกกองทัพก๊กมิ่นตั่งปราบปรามทำลาย เพื่อเป็นการลงโทษ เขาจึงถูก “เนรเทศ” ไปอยู่ที่มอสโก 15 ปี
หลี่เดินทางกลับจีนในปี 1946 และภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีแรงงาน และต่อมาก็ไปนั่งตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง เขาถูกประณามและถูกลงโทษอีกครั้งในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และมีรายงานว่าเขาฆ่าตัวตายหลังจากนั้นไม่นาน
(ข้อมูลจาก Wikipedia, Marxists Internet Archive)
[5]หวัง หมิง (Wang Ming) (ปี 1904 -1974) เขาเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงต้นๆ และเป็นเสมือนเสนาธิการของกลุ่ม “28 บอลเชวิก” หวังเป็นปรปักษ์ทางการเมืองคนสำคัญของ เหมา เจ๋อตง ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยที่เขาคัดค้านสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการเบี่ยงเบนแบบนักชาตินิยมของเหมา ออกจากแนวทางขององค์การคอมมิวนิสต์สากล (โคมินเทิร์น) และจากแนวทางลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ดั้งเดิม ขณะที่ทางฝ่ายเหมาเห็นว่า หวังเป็นพวกปัญญาชนนิยม และพวกนักลัทธิคัมภีร์ ซึ่งเหมาวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ในบทความเรื่อง “ว่าด้วยการปฏิบัติ” และ “ว่าด้วยความขัดแย้ง” อันมีชื่อเสียงของเขา (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[6]การเดินทัพทางไกล (The Long March) (ตุลาคม 1934-ตุลาคม 1935) เป็นการถอยทัพทางทหารของกองทัพแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นกองทัพปลดแอกประชาชนจีน การถอยทัพนี้มีขึ้นเพื่อหลบหลีกการไล่ติดตามของกองทัพพรรคก๊กมิ่นตั๋ง เนื่องจากกองทัพต่างๆ ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในบริเวณภาคกลางและภาคใต้ของจีนต่างแยกย้ายกันเดินทัพถอยไปทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ ดังนั้นการเดินทัพทางไกลจึงไม่ได้มีเพียงสายเดียว แต่การเดินทัพทางไกลสายซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่การเดินทัพสายที่ออกจากมณฑลเจียงซีซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม 1934 ทั้งนี้ กองทหารในสายนี้คือกองทัพด้านที่หนึ่ง อยู่ใต้การนำของคณะกรรมการการทหารที่ไร้ประสบการณ์ และเกือบถูกกองทหารของเจียง ไคเช็ก กำจัดทิ้งไปทั้งกองทัพอยู่แล้ว ทว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งในที่สุดจะอยู่ในการบังคับบัญชาของ เหมา เจ๋อตง และ โจว เอินไหล สามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จโดยที่ต้องถอยทัพอย่างวกวนรวมเป็นระยะทางกว่า 9,000 กิโลเมตรและใช้ระยะเวลากว่า 370 วัน
อย่างไรก็ตาม การเดินทัพทางไกลคือการเริ่มต้นก้าวขึ้นสู่อำนาจของ เหมา เจ๋อตง ซึ่งแสดงความเป็นผู้นำของเขาระหว่างการถอยทัพจนทำให้ได้รับความสนับสนุนจากบรรดาสมาชิกพรรค
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[7] การก้าวกระโดดใหญ่ (Great Leap Forward) เป็นการรณรงค์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระหว่างปี 1958-1961 ที่นำโดย เหมา เจ๋อตง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเร่งรัดเปลี่ยนแปลงประเทศจีน จากการมีเศรษฐกิจแบบชาวนา ให้กลายเป็นเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม โดยดำเนินการเร่งรัดสร้างอุตสาหกรรมและใช้ระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงคราวนั้นกลับเป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน
การก้าวกระโดดใหญ่สิ้นสุดลงด้วยการกลายเป็นความหายนะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบล้านคน
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[8]ขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth movement) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรมที่มุ่งต่อต้านจักรวรรดินิยม ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากการเดินขบวนประท้วงของนักเรียนนักศึกษาในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 เพื่อคัดค้านการที่รัฐบาลจีนแสดงการตอบโต้อย่างอ่อนปวกเปียกต่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ยินยอมให้ญี่ปุ่นได้รับมอบดินแดนต่างๆ ในมณฑลซานตง ซึ่งเยอรมนีเคยบีบบังคับเอาจากจีน การเดินขบวนประท้วงเหล่านี้ได้จุดประกายให้เกิดการประท้วงทั่วทั้งประเทศ และเป็นหลักหมายแสดงถึงการปะทุของลัทธิชาตินิยมจีน
(ข้อมูลจาก Wikipedia)