เอเอฟพี - รัฐบาลไต้หวันลาออกทั้งคณะในวันจันทร์ (1 ธ.ค.) หลังจากพรรครัฐบาลประสบความปราชัยย่อยยับที่สุดในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อวันเสาร์ (29 พ.ย.) จนนายกรัฐมนตรี เจียง อี๋หวา ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบไปก่อนหน้านี้
พรรคก๊กมิ่นตั๋งซึ่งเป็นมิตรกับปักกิ่งถูกตัดทอนอำนาจลงทั่วไต้หวันจากศึกเลือกตั้งครั้งสำคัญเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี เจียง อี๋หวา ประกาศลาออกแสดงความรับผิดชอบทันที ไม่กี่ชั่วโมงหลังทราบผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญก่อนหน้าศึกชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2016
การลาออกของ นายเจียง เป็นผลให้คณะรัฐมนตรี 81 ราย ของไต้หวันก็ต้องสิ้นสุดสถานะอย่างเป็นทางการในตอนเช้าวันจันทร์ (1 ธ.ค.) เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คณะรัฐบาลปัจจุบันจะทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้รับเลือกจากนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ขณะที่คาดว่า ประธานาธิบดี หม่าอิง-จิว จะแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
“ตอนนี้คณะรัฐมนตรีเข้าสู่ช่วงเวลารักษาการ ผมวิงวอนพวกคุณทำหน้าที่ไปจนกว่าคณะรัฐบาลใหม่ได้รับการแต่งตั้ง และหวังว่ามันจะไม่ใช้เวลานานนัก” นายเจียงกล่าว
พวกนักวิเคราะห์มองว่า นายหม่า ต้องเผชิญกับความยากลำบากเกี่ยวกับตัวเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ด้วยตอนนี้พรรคเดโมเครติก โปรเกรสซีฟ ปาร์ตี (ดีพีพี) ซึ่งต่อต้านจีน อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ทั้งนี้ คาดหมายว่า นายหม่า ก็จะลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเช่นกัน
ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนี้ ปรากฏว่า ก๊กมิ่นตั๋งที่เคยครองอำนาจเป็นผู้ปกครองนครสำคัญ 4 แห่งจากจำนวนทั้งสิ้น 6 เมืองของไต้หวันนั้น สามารถรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนที่นั่งในสภาของเมืองและเทศมณฑลทั่วประเทศก็ลดน้อยลงมาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง และโดยภาพรวมแล้วพรรคได้คะแนนเสียงไปเท่ากับ 40.7% ขณะที่พรรคเดโมเครติก โปรเกรสซีฟ ปาร์ตี (ดีพีพี) ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ได้ไป 47.5%
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องเป็นคนที่สามารถสื่อสารและตกลงกับฝ่านค้านในประเด็นระดับชาติทั้งหลายแหล่” วินด์สัน เฉิน นักวิจารณ์การเมืองระดับอาวุโสแสดงความเห็น “ในขณะเดียวกัน เขาหรือเธอคนนั้นก็ต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อเดินทางพัฒนาเศรษฐกิจ”
พรรคก๊กมินตั๋งกำลังดิ้นรนต่อสู้กับความกลัวของชาวไต้หวันที่มีต่อการขยายอิทธิพลของจีนบนความสัมพันธ์อันอบอุ่น นับตั้งแต่นายหม่าขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2008 เศรษฐกิจชะลอตัวและเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น
ไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ได้แบ่งแยกออกจากกันในปี 1949 ภายหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ชนะ และพรรคก๊กมิ่นตั๋งเป็นผู้แพ้ ทั้งนี้ ปักกิ่งประกาศเรื่อยมาว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และจะต้องกลับมารวมกับแผ่นดินแม่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่เพิ่มทวีขึ้นไปมากในยุคที่ เฉิน สุยเปี่ยน แห่งพรรคดีพีพี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวันตั้งแต่ปี 2000 - 2008 โดยที่ปักกิ่งระแวงว่าดีพีพีเป็นพวกที่ต้องการประกาศให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช
ทว่า ตั้งแต่ หม่า แห่งก๊กมิ่นตั๋งขึ้นครองอำนาจโดยประกาศหลักนโยบายหันมาเป็นมิตรกับแผ่นดินใหญ่ สายสัมพันธ์ที่เคยเย็นชาต่อกันก็กลับอบอุ่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเยือนไต้หวันกันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แต่เมื่อความสัมพันธ์แนบชิดกันมากขึ้น สาธารณชนไต้หวันก็กลับเกิดความหวาดผวาอิทธิพลของจีน และวิตกว่าไต้หวันจะต้องพึ่งพาอาศัยแผ่นดินใหญ่ในทางเศรษฐกิจมากเกินไป บรรยากาศเช่นนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงของประชาชนที่นำโดยนักศึกษาเมื่อต้นปีนี้ เพื่อคัดค้านการที่ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่จะทำข้อตกลงการค้าทางด้านบริการอย่างขนานใหญ่ โดยที่พวกนักศึกษาได้เข้ายึดรัฐสภาไต้หวันเอาไว้ถึง 3 สัปดาห์ และทางการไต้หวันต้องยอมระงับเรื่องนี้
ความพ่ายแพ้ของก๊กมิ่นตั๋งในคราวนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการแสดงความไม่ไว้วางใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ต่อนโยบายสนิทสนมกับจีน นอกเหนือจากความไม่พอใจของประชาชนต่อสภาพเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว อีกทั้งยังเกิดกรณีอื้อฉาวเรื่องความปลอดภัยทางอาหารหลายๆ กรณีต่อเนื่องกัน