xs
xsm
sm
md
lg

เตือนการคว่ำข้อตกลงการค้าจีน-ไต้หวัน จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลไต้หวันฉีดน้ำใส่กลุ่มประท้วงระหว่างการชุมนุมต่อต้านข้อตกลงการค้ากับจีนบริเวณนอกสภาบริหาร หรือสำนักงานคณะรัฐมนตรีในไทเปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2557 หลังจากที่ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วปฏิเสธคว่ำข้อตกลงการค้าฯ (ภาพ เอเอฟพี)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์/ASTVผู้จัดการออนไลน์—บรรดานักวิเคราะห์ชี้ การเผชิญหน้าในไต้หวัน เกี่ยวกับข้อตกลงการค้ากับจีนใหญ่ อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ที่กำลังดีวันดีคืน มีอันต้องติดหล่มหรืออาจถอยหลังเข้าคลอง การเจรจาทางการเมืองระหว่างผู้นำที่กำลังชื่นมื่น ก็อาจต้องชะงักไป

ทั้งนี้ รัฐบาลในปักกิ่งดำเนินการทูตเชิงรุกในการกระชับสัมพันธ์ไต้หวันโดยเสนอข้อตกลงการค้า และหากความเคลื่อนไหวนี้มีอันล้มไป พญามังกรก็อาจต้องทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่

“การประท้วงข้อตกลงการค้าภาคบริการ เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างช่องแคบฯในอนาคต และยังทำให้การเจรจาทางการเมืองใดๆเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น” ซุน ลี่ อาจารย์ประจำสถาบันการศึกษาเรื่องไต้หวันแห่งมหาวิทยาลัยซย่าเหมิน ชี้

ซุนกล่าวต่อว่าผู้นำจีนได้พยายามอย่างมากและผลักดันข้อตกลงต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไต้หวัน แต่ก็ไม่อาจพิชิตจิตใจประชาชนบางกลุ่มในไต้หวัน

สีว์ เสวี่ย ผู้เชี่ยวชาญในสถาบันการศึกษาเรื่องไต้หวันของมหาวิทยาลัยซย่าเหมิน ชี้การประท้วงครั้งนี้ทำลายการผูกมิตรไมตรีระหว่างสองดินแดนที่เคยเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกันมานานกว่ากึ่งศตวรรษ โดยการขัดขวางการรับรองข้อตกลงอย่างถอนรากถอนโคนและรุนแรงเช่นนี้ ได้ทำลายภาพลักษณ์ของเกาะที่ประชาธิปไตยพัฒนาไปมาก

อย่างไรก็ตาม สีว์ชี้ว่าผู้นำจีนก็ควรวางท่าทีรอและดูต่อไป ว่าการประท้วงจะสร้างความเสียหายแก่ความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่แค่ไหน

หลิน เหวินเฉิง ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาเรื่องจีนแผ่นดินใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น กล่าวว่าจีนอาจต้องทบทวนกลยุทธและนโยบายการเข้าหาไต้หวันใหม่ ด้านหม่า อิ่งจิ่ว ก็ถูกกดดันให้ถอนข้อตกลงที่ได้ลงนามไปแล้วกับปักกิ่ง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียด

สิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดคือการผลักดันการเจรจาการเมืองระดับสูงระหว่างปักกิ่งและไทเป จะกลายเป็นเป้าโจมตีในไต้หวันมากยิ่งกว่าข้อตกลงการค้าและธุรกิจ

จีน-ปิแอร์ คาเบสตัน (Jean-Pierre Cabestan) หัวหน้าแผนกรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแบปติสต์แห่งฮ่องกง (Hong Kong Baptist University) กล่าวเขาเชื่อว่าจีนวิตกกังวลการประท้วงในไต้หวันมาก “ทางปักกิ่งกลัวมากว่าการเจรจากับรัฐบาลของผู้นำจากพรรคก๊กมินกั๋ง ที่กำลังประสบความสำเร็จอยู่แล้วนี้ จะชนกับข้อจำกัด” คาเบสตัน กล่าว

ทั้งนี้ จีนและไต้หวันเป็นปฏิปักษ์การเมืองกันมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในจีนปี 2492 ที่กองกำลังผู้นำเจียง ไคเช็ค แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง พ่ายแพ้ และถอยไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน จัดตั้งรัฐบาลแยกต่างหาก ผู้นำก๊กมินตั๋งครองอำนาจรัฐบาลในไทเปกระทั่งปี 2543 ที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีดีพี) ชนะการเลือกตั้งกุมอำนาจรัฐบาลมาสองสมัยภายใต้การนำของเฉิน สุยเปี่ยน สำหรับพรรคดีดีพีมีนโยบายแข็งกร้าวต้องการแยกขาดจากแผ่นดินใหญ่และประกาศอิสรภาพหรืออธิปไตยแห่งไต้หวัน ผู้นำในปักกิ่งซึ่งนับไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่กริ้วโกรธผู้นำดีดีพีที่ท้าทายหลายครั้ง และขู่ใช้กองกำลังบุกยึด หากไต้หวันเคลื่อนไหวอิสรภาพ

เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งและกลับมาครองทำเนียบรัฐบาลในปี 2551 โดยผู้นำหม่า อิ่งจิ่วได้กระชับสัมพันธ์ครั้งประวัติการณ์กับจีน กระทั่งมีการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีนี้ ขณะเดียวกันก็เกิดการเผชิญหน้าในไต้หวันเกี่ยวกับการกระชับสัมพันธ์ทางการเมืองกับจีนใหญ่.


เจ้าหน้าที่ตำรวจ (ขวา) กำลังลากตัวพระพุทธมหายาน (ซ้าย-บน)ที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านข้อตกลงการค้ากับจีนบริเวณหน้าสภาบริหารในเช้าวันที่ 24 มี.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
กลุ่มตำรวจ (บน)กำลังผลักนักศึกษาบนพื้นถนนหน้าสภาบริหารในไทเปวันที่ 24 มี.ค. (ภาพ เอเอฟพี)
กลุ่มนักศึกษานั่งประท้วงต่อต้านข้อตกลงการค้ากับจีนเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ข้างๆเป็นภาพโปสเตอร์ล้อเลียนเสียดสีประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ผู้เดินหน้ากระชับสัมพันธ์การเมืองและเศรษฐกิจกับจีนอย่างไม่หยุดยั้ง (ภาพ เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น