xs
xsm
sm
md
lg

Macau 2 Day: โชว์สเต็ปโปรตุกีสในดินแดนมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

“เขตบริหารพิเศษ มาเก๊า” เป็นอีกเมืองหนึ่งที่คนไทยมักจะไปเที่ยวกัน ส่วนใหญ่ก็ไปลิ้มลองเสี่ยงดวงเล่นการพนันในกาสิโนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชีย บางคนก็ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพ่วงในทริปเดินทางเมืองชายฝั่งของจีน อย่าง ฮ่องกง ,เซินเจิ้น และ จูไห่ ที่อยู่ทางตอนเหนือของเขตปกครองพิเศษ มีน้อยคนนักที่จะจงใจไปเที่ยวทั้งโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในมาเก๊า

ผมก็เช่นกันครับ ...

อันความจริงแล้ว ช่วงที่ผมเดินทางไปฮ่องกง ผมเลือกซื้อตั๋วเครื่องบินลงที่มาเก๊า เพราะมันราคาถูกกว่าลงที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง และหวังจะได้เที่ยวเมืองนี้ในวันท้ายๆ ของการเดินทาง ก่อนจะบินกลับไทย ซึ่งตอนแรก มาเก๊าก็เป็นเมืองที่ไม่ได้อยู่ในหัวสักเท่าไหร่ เพราะผมไม่ใช่คนเล่นการพนัน เลยไม่ค่อยชอบนัก แต่น้องผู้ร่วมทางบอกผมว่า ต้องลองมาเที่ยวดูไหนๆ ก็ลงเครื่องที่นี่แล้ว ผมจึงเออออห่อหมกโดยให้เขาทำข้อมูลการท่องเที่ยวในเมืองนี้แทน ส่วนผมก็เหมือนเป็นลูกทัวร์ ผลัดกันกับตอนแรกที่ผมเป็นหัวหน้าทัวร์ในฮ่องกง

พูดถึงมาเก๊าก็ต้องเล่าประวัติคร่าวๆ สักหน่อยครับ ตามประวัติศาสตร์ มีการคาดการณ์ว่า มาเก๊าเป็นส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน ราวๆ พ.ศ.๓๒๒ แต่ที่มีการบันทึกไว้คาดว่ามีประชาชนอพยพเข้ามาในช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ เพื่อหนีการไล่ล่าของชาวมองโกล ซึ่งเมืองก็ไม่ได้มีการพัฒนาใดๆ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๐๕๖ ที่จอร์จ อัลวาเรซ (Jorge Alvares) ชาวโปรตุเกส ชาวยุโรปคนแรกที่แล่นเรือมาค้นพบดินแดนจีน ได้เข้ามายังพื้นที่ และโปรตุเกส ก็เริ่มทำการค้ากับจีน โดยในปี พ.ศ.๒๐๗๘ ได้สิทธิ์ในการทอดสมอเรือในอ่าวมาเก๊าเพื่อทำการส่งสินค้า

พ.ศ.๒๑๑๙ สมเด็จพระสันตปาปา เกรกอรี่ ที่ ๑๓ ได้สถาปนาสังฆมณฑลโรมันคาทอลิคในมาเก๊า (the Roman Catholic Diocese of Macau.) ใน พ.ศ.๒๑๖๕ ถูกกองทัพเรือดัตช์โจมตี แต่กองทัพโปรตุเกสก็สามารถขับไล่ออกไปได้ ซึ่งในช่วงที่โปรตุเกสได้ยึดครองอยู่ มาเก๊าเปรียบเสมือนพื้นที่ซึ่งสะสมเก็บและค้าทาสชาวแอฟริกัน พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๐๗ โปรตุเกสได้ยึดครองพื้นที่ทั้งเกาะไทปา และโคโลอาน โดยต่อมาในพ.ศ.๒๔๓๐ จีนได้ยินยอมทำสนธิสัญญายกดินแดนให้แก่โปรตุเกสอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นการตอบแทนที่โปรตุเกสช่วยจีนปราบปรามโจรสลัดในเขตทะเลจีนใต้ ในพ.ศ.๒๔๘๕ ถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรเนื่องจากญี่ปุ่นเคารพในความเป็นกลางต่อการวางตัวของโปรตุเกส จึงเน้นยึดครองแต่แหล่งที่ทำมาหากินของชาวอังกฤษอย่างเดียว แต่มาเก๊าก็ไม่รอดที่จะถูกโจมตีทางอากาศจากกองทัพอเมริกัน

ช่วงสงครามกลางเมืองของจีน มาเก๊าถือเป็นสวรรค์อีกแห่งของชาวจีนผู้ลี้ภัยสงคราม แต่ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๙ ได้เกิดการจลาจลขึ้นภายหลังจากที่อิทธิพลของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนแพร่ขยายมาสู่พื้นที่ ใน พ.ศ.๒๕๑๗ รัฐบาลโปรตุเกสประกาศมอบเอกราชให้แก่ดินแดนอาณานิคมของตนทั้งหมด ในการนี้ โปรตุเกสแสดงเจตจำนงแน่วแน่ที่จะคืนดินแดนมาเก๊าให้แก่จีน และประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่าจีนมีอธิปไตยเหนือมาเก๊า แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนมีภารกิจในการเจรจาเรื่องการส่งมอบฮ่องกง จึงไม่ได้เข้ามาจัดการเรื่องปัญหามาเก๊า โปรตุเกสจึงประกาศรับรองสถานะของมาเก๊าเพียงฝ่ายเดียว

พ.ศ.๒๕๒๒ จีนและโปรตุเกสได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูต จีนได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า ดินแดนมาเก๊าเป็นดินแดนของจีนภายใต้การบริหารของโปรตุเกส และใน พ.ศ.๒๕๓๐ จีนและโปรตุเกสลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Sino-Portuguese Joint Declaration) โดยกำหนดให้ วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นวันส่งมอบมาเก๊าคืนแก่จีน ด้วยการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ โดยมีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน (เรียบเรียงจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย และ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)

ปัจจุบันมาเก๊าใช้เงินมาตราสกุลปาตากาส์ MOP ไอ้เรื่องเงินเนี่ยผมพลาดมาก ที่ดันฉลาดเกินมนุษย์ไปหน่อย ตอนผมบินมาจากไทยเพื่อจะไปฮ่องกง ดันไปแลกตังค์ที่เคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราจากฮ่องกงดอลลาร์ เป็นปาตากาส์มาเก๊า สรุปคือได้เรตที่ต่ำกว่าซื้อในฮ่องกง

พูดถึงในสนามบินต้องขอเล่าอีกเรื่อง ด้วยความฉลาด (น้อย) ของผมอีกล่ะ ที่ตอนจะเข้า ตม.ดันไปเห็นป้ายเขียนประมาณว่า Transit to Hong Kong ไอ้คนที่เพิ่งนั่งเครื่องครั้งแรกอย่างผมก็คิดว่ามันเป็นทางเดินลัดไปถึงท่าเรือได้ ก็เลยเดินไป ผ่านที่ตรวจกระเป๋า ก็งง ตรวจทำไมอีกวะ พอเสร็จเดินไปเรื่อยๆ เฮ้ย มันมาโผล่ไอ้ที่เขาจะบินไปเมืองอื่น ทำไงดีล่ะเนี่ย เราก็พยายามหาตัวช่วย แล้วก็ไปเจอนางฟ้า เอ๊ย แอร์โอสเตสของสายการบินมาเก๊าคนหนึ่งที่เดินอยู่แถวนั้น (ขาว ตัวเล็กๆ น่ารักมาก) เลยขอความช่วยเหลือว่าผมจะไปท่าเรือที่ไปฮ่องกงได้อย่างไร เธอก็ดูตกใจมาก ว่า ผมขึ้นมาบนนี้ได้อย่างไรฟ่ะ ผมก็พูดภาษาอังกฤษแบบมั่วๆ ว่ามาตามทางไอ้ทรานซิทนั่น เธอก็เลยพาผมไปยังจุดหน้าตม.ที่ที่ผมมาถึงในครั้งแรก แล้วก็บอกเส้นทางคร่าวๆ ว่าไปยังไง .... เฮ้อ รอดตายมาได้อีกหนึ่งครา

กลับเข้ามาเรื่องของเราครับ ผมกลับมายังมาเก๊าอีกครั้งในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เป็นวันที่ ๗ ของการเดินทางในทริปฮ่องกง-มาเก๊า เรานั่งเรือเร็วจากท่าที่ฝั่งจิมซาจุ่ย มาลงท่าเรือฝั่งมาเก๊า อ่อ ลืมบอกไป เขตบริหารพิเศษนี่เขามีทั้งหมด ๓ เกาะ คือส่วนมาเก๊า ที่ติดกับเขตจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ของจีน ,เกาะไทปา (Taipa) อยู่ตรงกลาง สนามบินนานาชาติจะอยู่ที่นี่ และเกาะโคโลอาน (Coloane) อยู่ทางใต้สุด มีเรื่องประหลาดอย่างหนึ่งคือ ตั๋วทั้งขาไปและขากลับเป็นเลขเดียวกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้จองล่วงหน้า และผู้ให้บริการเดินเรือเป็นคนละบริษัท และที่สำคัญคือ พอผมกลับมาสลากกินแบ่งงวดนั้น ก็ดันออกเลขที่นั่งนี้ด้วย (แต่ผมไม่ได้ซื้อ) ...

พอเรือมาถึงที่หมาย เราก็มั่งหน้าไปหาโรงแรมที่พัก ย่าน Avenida de Almeida Ribeiro ซึ่งโชคดีที่เขาให้เช็กอินก่อนได้ เลยวางกระเป๋าแล้วรีบมาที่ “ซากประตูโบสถ์เซนต์ปอล Ruins of St.Paul's” ที่อยู่ในย่านจัตุรัสเซนาโด้ (Senado Square) ให้ทัน ๑๑ โมงเช้า เพื่ออะไร ? เพราะว่าเขาจะมีการแสดง “โชว์เต้นรำแบบโปรตุกีส” ครับ

ผมไม่ทราบว่าเขาทำการแสดงเต้นรำพื้นเมืองหน้าประตูโบสถ์กันตั้งแต่ปีไหน รู้เพียงแต่ว่าจะมีเฉพาะแค่วันอาทิตย์เท่านั้น เห็นว่าเป็นกิจกรรมเพื่อบูชาต่อพระเจ้าของชาวคริสต์ และผมโชคดีมากที่ไปทันการแสดง ตอนไปถึงนี่คนมามุงกันใหญ่เลยครับ ยืนชมพลางถ่ายทั้งรูปทั้งวิดีทัศน์เก็บไปฝากกัน ระหว่างนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยกันไม่ให้ผู้ชมล้ำเข้าไปในเขตที่เขาเต้น เหมือนกำลังทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ยังไงอย่างงั้น ผู้เต้นก็มีทั้งชาวยุโรป ผมคาดว่าเป็นโปรตุกีส กับชาวจีน หลายวัย แลดูสนุกสนานกัน

พอการแสดงจบผมก็ไม่พลาดที่จะขอถ่ายรูปคู่กับนักแสดงสาวชาวโปรตุกีสที่งามที่สุดอีกแล้ว เราอาจจะเชื้อชาติเดียวกันก็ได้ เพราะพ่อผมเป็นชาวอโยธยา (ไม่น่าจะเกี่ยวนะครับ) (หาดูความหื่นของผมย้อนหลังได้ในเว็บอินสตราแกรมของผมยูสเซอร์เนม @Tamonlife)
ซากประตูโบสถ์เซนต์พอล และการเต้นรำแบบโปรตุกีส ส่วนด้านล่างเป็นศาลเทพเจ้านาจา และกำแพงเก่า
ส่วนประวัติของซากประตูโบสถ์เซนต์ปอลนี้ ในสมัยก่อนคือด้านหน้าของโบสถ์มาแตร์เดอิ ก่อสร้างราว พ.ศ.๒๑๔๕ - ๒๑๘๓ แต่ต่อมาถูกไฟไหม้ใน พ.ศ.๒๓๗๘ และซากของวิทยาลัยเซนต์ปอลที่อยู่ถัดไปจากโบสถ์ ทั้งโบสถ์มาแตร์ เดอี เดิม วิทยาลัยเซนต์ปอล และป้อมปราการเป็นสิ่งปลูกสร้างของพระนิกายเยซูอิต คือซากโบราณสถานของวิทยาลัยเซนต์ปอลที่เป็นหลักฐานของมหาวิทยาลัยแบบตะวันตกแห่งแรกในตะวันออกไกลที่มีหลักสูตรการสอนที่ละเอียด ซึ่งทุกวันนี้ด้านหน้าของซากประตูโบสถ์ ก็เป็นสัญลักษณ์ของแท่นบูชาของเมือง

ซากประตูโบสถ์นี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของมาเก๊าไปแล้ว ไม่ว่าใครจะมาก็ต้องถ่ายรูปคู่ ด้านหน้าจะมีหุ่นรูปปั้นเหล็กคู่รักชายชาวยุโรปกับสาวจีน ให้นักท่องเที่ยวได้ยืนถ่ายรูปเป็นฉากสวยๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่ผมจะมาถึงแล้วเจอกับบรรดามวลมหาประชาชนคนหลายชาติเยอะจนถ่ายรูปยากไปหมด

ด้านหลังของประตูโบสถ์ปูนเราจะเห็นการขุดเจาะให้เห็นร่องรอยของชั้นปูนด้วย และถ้าเดินออกไปทางด้านข้างก็จะพบกับ “ส่วนของกำแพงเมืองเก่า (Section of the Old City Walls)” ซึ่งถูกก่อสร้างใน พ.ศ.๒๑๑๒ แบบโปรตุเกสเดิมรอบท่าเรือที่มีการตั้งถิ่นฐานแบบเดียวกันกับในในแอฟริกาและอินเดีย ส่วนของกำแพงเก่านี้ เป็นหลักฐานของการผสมผสานระหว่างเทคนิคและวัสดุในท้องถิ่นโดยเฉพาะของแข็งที่เรียกว่าชูนัมโบซึ่งเป็นส่วนผสมที่ละเอียดระหว่างดินเหนียว ดิน ทราย ฟางข้าว หินบด และเปลือกหอยที่อัดกันจนแน่นเป็นชั้นๆ และถ้าเดินไปอีกก็จะพบกับ “ศาลเจ้านาจา (Na Tcha Temple)” ที่สร้างเพื่อการสักการะเทพเจ้านาจา ใน พ.ศ.๒๔๓๑ เป็นศาลเจ้าจีนโบราณเล็กๆ ถ้าเข้าไปด้านในจะมีพิพิธภัณฑ์ด้วย

ผมเดินออกจากจตุรัสเซนาโด้ มุ่งหน้าไปที่เกาะโคโลอานทางตอนใต้สุด ซึ่งผมปรับจากแผนเดิมเพราะมีเวลาเยอะน่าจะเก็บในโซนที่ไปยากก่อน การเดินทาง (ถ้าศึกษามา) ก็ไม่ยาก ส่องป้ายรถเมล์จะมีบอกว่าสายต่างๆ ไปที่ไหนบ้าง ตรงนี้อยากให้บ้านเราช่วยรีบทำเถอะครับ จะได้เป็นคุโณปการแก่คนเดินทางจริงๆ พอขึ้นรถเมล์ก็คล้ายๆ ฮ่องกงคือไม่มีกระเป๋า เราหยอดตังค์ใส่ตู้ มีป้ายไฟอัจฉริยะบอกว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นภาษาจีน อังกฤษ และโปรตุกีส ก็ช่วยลดเรื่องหลงได้ (บ้าง)

แต่จุดแรกที่เราไปถึงใน “เกาะโคโลอาน” กลับเป็นร้านอาหารโปรตุกีสที่ชื่อ Restaurante Espaco Lisboa ครับ ด้วยความที่อยากรู้เหลือเกินว่าไอ้อาหารโปรตุเกสเนี่ยมันเป็นยังไง ก็เลยสั่งมาซะเยอะ แต่กินกัน ๒ คน จนผู้จัดการซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ ถึงกับถามผมว่า ชัวร์หรือ? ผมก็อื้มมมม แล้วเป็นไงล่ะ หึๆๆ
อาหารโปรตุเกส ร้าน Restaurante Espaco Lisboa เกาะโคโลอาน
ผมมีความเชื่อที่ว่า ไปที่ไหนต้องกินอาหารถิ่น ไปอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสก็ต้องกินอาหารของพวกเขา ที่มาเสิร์ฟอย่างแรกคือขนมปังแข็งๆ อันนี้ไม่ได้สั่ง แต่เป็นออเดิร์ฟของทางร้าน มาพร้อมกับมะกอกดองและเนย ตอนแรกก็ตกใจแต่เขาบอกให้เอามาทานกับหอยลายผัดน้ำมันมะกอกกระเทียม วิธีกินไม่ยาก แค่ทาเนย ใส่มะกอก แล้วเอาเนื้อหอยใส่ แล้วอ้าม เข้าปาก ก็อร่อยแปลกๆ ดี ตัวหอยก็ธรรมดาครับ แต่น้ำซุปเค็มๆ ดี มีเลมอนมาให้บีบเพื่อรสเปรี้ยวนิดๆ ไม่เลวร้าย

จานต่อมาคือไส้กรอกหมู มาแบบไฟลุกในโถรูปหมู พอไฟดับน้าฟิลิปปินส์แกก็หั่นโชว์ เอิ่ม คือ มันเหมือนกุนเชียงบ้านเฮามากๆ รสชาติเค็มๆ แต่ไม่หวานมาก ตามมาด้วยเครื่องดื่ม ไวน์โปรตุเกสใส่ด้วยผลไม้ ที่สั่งมาเป็นเหยือก ผมไม่ใช่คอไวน์เลยไม่รู้ว่ามันขนาดไหน แต่ก็อร่อยและมึนได้พอควร ต่อด้วยทอดมันปลาคอด มันเหมือนปลาบดผสมมันและแป้งทอด เนื้อปลาพอแบะออกมาเห็นชัด ตามมาด้วยข้าวอบเป็ดย่าง คือข้าวคลุกเป็ดย่างและแฮมแล้วเอาไปอบด้านบนจะกรอบๆ ออกแนวข้าวตากแดด ส่วนข้าวด้านในจะหอมกลิ่นเครื่องเทศและเนื้อเป็ดที่แน่นขนัด ปิดท้ายด้วยไก่แอฟริกัน ไก่หมักพริกปาปริก้า แล้วเอาไปทอดราดซอส จานนี้ก็แปร่งๆ เหมือนจะเผ็ดก็ไม่มาก จะเค็มก็ไม่ใช่

แต่สรุปบิลมาก็ไม่ต้องกินมื้อเย็นเลยล่ะครับ ฮ่าๆๆ

แล้วก็ออกเดินทางต่อ สถานที่ท่องเที่ยวในแถบนี้ ที่คุณน้องแนะนำก็คือ “โบสถ์เซนต์ฟรานซิส ซาเวียร์ (Chapel of St. Francis Xavier)” ที่อยู่ริมทะเล ด้วยเหตุผลที่ว่า ..... เห็นมันอยู่ในซีรี่ย์เกาหลี

ด้านหน้าโบสถ์มีร้านขายอาหารด้วย ก็แปลกดี เรื่องราวของโบสถ์นี้ค่อนข้างจะยาวนานเหมือนกันครับ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ ตามสไตล์บาโรก ตั้งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะในการสู้รบกับโจรสลัดในพ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งในโบสถ์มีพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวคริสต์ในเอเชีย กล่องบรรจุพระธาตุสีเงินคือกระดูกจากแขนของเซนต์ฟรานซิส เซเวียร์ ซึ่งเดินทางมาชายฝั่งจีนหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นและเสียชีวิตลงในพ.ศ.๒๐๙๕ บนเกาะซานฉวน ของจีน

ตอนแรกพระธาตุจะต้องนำไปเก็บไว้ที่ญี่ปุ่น แต่เกิดการเบียดเบียนทางศาสนาขึ้นจึงทำให้โบสถ์ตัดสินใจที่จะเก็บพระธาตุไว้ในเซนต์ปอล ในตอนแรกพระธาตุถูกนำไปเก็บไว้ที่เซนต์โจเซฟ และพ.ศ.๒๕๒๑ พระธาตุถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่ ทั้งนี้กรณีที่ชาวคริสต์ในญี่ปุ่นถูกสังหารในพ.ศ.๒๑๔๐ - ๒๑๘๐ ได้มีการนำกระดูกของมาเทอร์สและกบฎบางคนนำมาเก็บไว้ที่เซนต์ปอล แต่หลังจากที่ไฟไหม้โบสถ์ กระดูกถูกรวบรวมไปไว้ในที่นี่เมื่อพ.ศ.๒๕๑๗ ล่าสุดเห็นว่าพระธาตุไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นยังคงนิยมมาสักการะกระดูกของเพื่อนร่วมชาติอยู่ตลอด

บนถนนเส้นนี้ อาคารมีทั้งแบบปัจจุบันและแบบสมัยก่อน ถ้าเดินไปจนสุดเราจะพบกับ “วัดตำกุง (Tam Kung Miu)” ผมเรียกว่าศาลเจ้าดีกว่า เป็นศาลบูชาเทพเจ้าตำกุง เทพเจ้าของนักเดินเรือ นอกจากนี้ยังมีเรือมังกรจำลองขนาดสี่ฟุตที่ทำจากกระดูกปลาวาฬด้วย ภายในศาลเจ้าก็เหมือนศาลทั่วไปที่ได้เห็นในฮ่องกงครับ

แต่ที่แปลกคือตรงหน้าต่างมีอ่างทองเหลืองใส่น้ำ มีคนไปมุงเยอะแยะเลย เขาทำอะไรกัน มีคนพยายามเอามือไปถูที่ขอบอ่าง ถูไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะมีเสียงเวิ้งๆๆ แล้วน้ำก็จะค่อยๆ พุ่งออกมา โอ้ว มันมหัศจรรย์มากเลยซาร่า แต่ถ้ามองกันตามวิทยาศาสตร์เข้าใจว่ามันอาศัยแรงเสียดสีวิ่งเป็นคลื่นเสียงผ่านน้ำจนเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมา (เด็กสายศิลป์อธิบายฟิสิกส์ ถ้าผิดพลาดสายวิทย์โปรดชี้แนะ) อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลย ผมก็ลองเล่นกันจนนักท่องเที่ยงอเมซซิ่งเลย
ภาพบน โบสถ์เซนต์ฟรานซิส ซาเวียร์ ภาพใหญ่ล่าง ศาลเจ้าตำกุง และภาพล่างซ้ายทาร์ตไข่ ลอร์ดสโตว์
ผมเดินกลับมาเส้นทางเดิมเพื่อจะตามหาร้านทาร์ตไข่สุดดังที่ชื่อ “ลอร์ดสโตวส์ (Lord Strow's bakery)” เปิดขายกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ว่ากันว่าเป็นต้นตำรับของทาร์ตไข่สไตล์โปรตุกีสในมาเก๊าเลยทีเดียว ที่ใช้แป้งพัพฟ์ทำเป็นฐานรองเนื้อไข่และครีม ลักษณะคล้ายๆ ที่เคเอฟซีบ้านเราขายแต่อร่อยกว่ามาก แป้งฐานกรอบนุ่ม เนื้อครีมละเมียดละมุน หอมหวาน ผมซึ่งไม่ชอบกินอาหารที่มีกลิ่นไข่แรง แต่อันนี้ต้องยอมเลย กลิ่นไข่ชัดแต่ไม่คาว ที่สำคัญซื้อข้ามคืนมาฝากน้องๆ ที่กอง บก.ให้อุ่นกินกันยังชมว่าอร่อยอยู่ ที่สงสัยก็คือทำไมต้องหน้าไหม้ เขาบอกต้องอบให้น้ำตาลที่โรยบนทาร์ตไหม้จะได้หน้าจะได้กรอบและหอม

ซื้อฝากกันพองบประมาณแล้วเราก็ออกเดินทางกลับ จริงๆ เกาะโคโลอานยังมีอีกหลายสถานที่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหาดฮักซา หรือหาดทรายดำที่ผมไม่ได้ไป เนื่องจากเวลาที่งวดเข้ามาจึงต้องรีบลี้ไปยังจุดเริ่มต้นของการมา....

อ่านต่อฉบับหน้า...
กำลังโหลดความคิดเห็น