xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู” อย่ามโน ป.ป.ช.อคติ ไร้อำนาจสอบทุจริตจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภาพนั่งวีลแชร์ ตีหน้าเศร้า เข้าไปชี้แจงความเท็จต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นฉากละครเรียกคะแนนความสงสาร เรียกร้องความเห็นใจจากสังคมอีกครั้งหลังจากปูพื้นปล่อยข้อมูลเบื้องหลังว่าเธอยืนยันจะมาชี้แจงป.ป.ช.ด้วยตัวเองโดยไม่ฟังคำทัดทานของทีมทนายที่ขอให้ส่งแค่เอกสารชี้แจงที่ว่าป.ป.ช.มีอคติและไม่มีอำนาจสอบสวนเธอก็พอแล้ว

เธอพยายามแสดงว่าเธอพร้อมให้ตรวจสอบ แต่พฤติกรรมที่เธอแสดงออกกลับบอกความจริงอีกด้านว่า แท้ที่จริงแล้วเธอกลัวการตรวจสอบจนนั่งไม่ติดและที่ผ่านมาก็อิดออดบ่ายเบี่ยงตลอดมา

เอกสารชี้แจงต่อป.ป.ช. ยิ่งสะท้อนตัวตนของเธอ เพราะออกไปในทำนองต่อว่าต่อขานคณะกรรมการป.ป.ช. ว่ามีอคติ มีความลำเอียง ถึงขั้นใช้คำว่า “ตั้งข้อรังเกียจ” กับนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงโครงการทุจริตจำนำข้าว เพราะกลัวภัยมาถึงตัว เนื่องจากนายวิชานั้น ถือเป็นกระบี่มือหนึ่งของคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้ก็ว่าได้

ดังนั้น ถ้าจะเอาตัวให้รอดจากคดีทุจริตจำนำข้าว อันดับแรกต้องเปลี่ยนตัวคนรับผิดชอบสำนวนคดีเสียก่อน จากนั้นอะไรๆ ก็คงง่ายขึ้น ว่าแล้วกระบวนการดิสเครดิตนายวิชา ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เรียกร้องให้ถอดนายวิชา ออกจากคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงโครงการทุจริตจำนำข้าวถึง 2 ครั้ง โดยร่ายยาวถึงความไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ ก็ลงมติว่าสิ่งที่เธอตีโพยตีพายใส่นายวิชานั้น มันฟังไม่ขึ้น และยืนยันให้นายวิชา ทำหน้าที่ต่อไป หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ นายวิชา เป็นป.ป.ช.น้ำดีที่ไม่ได้มีอคติและมีคุณสมบัติสมบูรณ์ครบถ้วนที่จะทำคดีนี้

แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังไม่ละความพยายามที่จะถอดนายวิชาออกจากการสอบสวนคดีนี้ โดยในวันที่เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2557 นั้น เธอก็ยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งการชี้แจงข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวมีทั้งการส่งเอกสารแก้ข้อกล่าวหา จำนวน 151 แผ่น พร้อมเอกสารประกอบจำนวน 278 แผ่น และชี้แจงด้วยวาจาโดยยืนยันว่า เธอไม่ได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด และยังขอให้คณะกรรมการป.ป.ช. สอบพยานเพิ่มอีก 11 ปาก เพื่อช่วยแก้ข้อกล่าวหาและยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างที่สุด

สำหรับเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาความยาว 151 หน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ร่ายยาวปฏิเสธข้อกล่าวหา ยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเหตุผลแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 โดยอ้างเหตุผลสารพัดสารพันเพื่อเอาตัวรอดจากความผิด

ประเด็นสำคัญๆ ที่เธอชี้แจง ประเด็นแรก กระบวนการรับคำร้องและเริ่มคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดำเนินการตามอำเภอใจ และจงใจฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของป.ป.ช.ว่าด้วยประมวลจริยธรรม เนื่องจากคณะกรรมการป.ป.ช.ทราบว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2556 นายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายวิทยา แก้วภราดัย นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มิได้เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แล้ว จึงไม่มีอำนาจร่วมลงชื่อในการยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องดังกล่าวให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน และดำเนินการเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน

อีกทั้งคำร้องมิได้ระบุรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อ อายุ ที่อยู่ของผู้ยื่นคำร้อง และการใช้อักษรที่พิมพ์ในคำร้องและท้ายคำร้องเป็นคนละแบบทำให้มีข้อพิรุธสงสัยว่ามีการแอบอ้างชื่อ แต่คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่ไต่สวนให้ชัดเจน กลับมีมติให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนตนเองโดยรีบด่วน

ประเด็นที่สอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้อำนาจเกินขอบแห่งอำนาจ กล่าวคือ ป.ป.ช.เคยเสนอแนะนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและให้นำระบบการประกันความเสี่ยงด้านราคามาดำเนินการแทน แต่รัฐบาลมิได้ยกเลิกจึงถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงกับรัฐบาล

ต่อมา เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลระหว่างวันที่ 25 - 27 พ.ย. 2555 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน อ้างว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว จึงต้องร้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ให้ถอดถอนตนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุนี้คณะกรรมการป.ป.ช.จึงมีอำนาจเพียงกรณีนี้กรณีเดียวเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการมีมติให้ไต่สวนโดยอ้างว่านายกรัฐมนตรีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหน้าที่จะเลือกใช้บทบัญญัติมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 มากล่าวหาพร้อมกันทั้งสองกรณี เพราะจะกลายเป็นว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถสั่งให้รัฐบาลดำเนินโครงการตามที่ต้องการได้ตามอำเภอใจ หากไม่ทำตามก็จะถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นผู้กล่าวหาเสียเอง

หากคณะกรรมการป.ป.ช. อยู่ในฐานะเป็นผู้กล่าวหาเสียเองเท่ากับเป็นคู่กรณี จึงไม่มีอำนาจไต่สวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 วรรคสี่ กระบวนพิจารณาอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างร้ายแรงอย่างมีอคติในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกนโยบายแทรกแซงกลไกการค้าข้าว ต้องดำเนินการผ่านผู้ไต่สวนอิสระที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นข้างต้น คณะกรรมการป.ป.ช. แจกแจงว่า ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 บัญญัติว่า ในกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับรายงานจากการไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริงได้เอง เพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

อย่างไรก็ดี แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นผู้กล่าวหาเอง แต่ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ได้มีการยกเว้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้รับการอำนวยความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายดังกล่าว

ประเด็นที่สาม ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ เน้นย้ำมาโดยตลอดเพราะต้องการเปลี่ยนตัวคนรับผิดชอบสำนวนคดี ก็คือ นายวิชา มหาคุณ นั้น เธอได้ร่ายยาวว่า คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมายคือ นายวิชา มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบ ป.ป.ช. เพราะนายวิชา มีสาเหตุโกรธเคืองกับตนได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทำนองชี้นำว่าตนได้กระทำความผิดแล้ว ทั้งที่การไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่มีโอกาสยื่นคำชี้แจงและขอตรวจพยานเอกสาร ตนได้ยื่นคำขอเปลี่ยนตัวกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนฯ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 แต่ถูกยกคำร้อง

ต่อมานายวิชา ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อในทำนองเหน็บแนม กระทบกระเทียบ กระแหะกระแหน ในลักษณะถากถาง ดูถูก เย้ยหยัน และดูหมิ่นตนให้ได้รับความเสียหาย เช่น ให้สัมภาษณ์ว่า “ดิฉันไม่มีเวลา ต้องไปถาง ต้องไปดับไฟป่า ท่านก็ส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมา” รวมทั้งข้อความที่ว่า “ไม่มีใครนั่งอยู่ ขออยู่ขอตายคาประชาธิปไตย” ซึ่งตนเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่ถากถาง ดูถูก เย้ยหยัน และดูหมิ่น จนต่อมาวันที่ 20 มี.ค. 2557 จึงยื่นคำร้องให้นายวิชา ถอนตัวอีกครั้ง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีคำสั่งให้ยกคำคัดค้านในวันเดียวกัน

“การที่ตนตั้งข้อรังเกียจนายวิชา และได้ยื่นคำคัดค้านไปยังคณะกรรมการป.ป.ช. ถึง 2 ครั้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ตนไม่มีความเชื่อมั่นที่จะให้นายวิชา เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวนและกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีของตน....” นางสาวยิ่งลักษณ์ แสดงออกอย่างไม่ปิดบังอำพรางแม้แต่น้อย แถมยังว่า การรับฟังพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงจากนายวิชา เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟังและประกอบในสำนวนเพราะมาจากบุคคลที่มีอคติกับตนและมีปัญหาด้านจริยธรรม

แต่ไม่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ จะตั้งข้อรังเกียจนายวิชา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความพยายามนี้ไร้ผลเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ไม่เห็นคล้อยตามด้วย และยกทิ้งคำร้องทำนองนี้มาแล้วถึงสองครั้ง คราวนี้ก็คงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และนายวิชา ก็ย้ำมาโดยตลอดว่า ป.ป.ช.ทำงานในรูปแบบการไต่สวน ไม่ใช่วิธีการแสดงออกถึงการปรปักษ์กับรัฐบาลแต่อย่างใด

ส่วนเหตุผลข้ออื่นๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็วนเวียนอยู่กับการกล่าวโทษคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า ไม่ให้ความเป็นธรรม รวบรัด รีบร้อนเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับคดีร้องเรียนอื่น โดยคดีของเธอคณะกรรมการป.ป.ช.ใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริงเพียง 21 วัน ก็แจ้งข้อกล่าวหาแล้วและน่าประหลาดใจก็คือ คดีรับจำนำข้าวของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวโดยตรงคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง จึงถือว่ามีข้อพิรุธสงสัยในคุณธรรมทางกฎหมายของกระบวนการแห่งคดี

เรื่องนี้ คณะกรรมการป.ป.ช. แจงว่า ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายบุญทรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว แล้วพบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีนโยบายโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ต่อมาทางคณะอนุกรรมการไต่สวน จึงรายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาและมีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยนำไปรวมดำเนินการกับกรณีร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ดังนั้น การไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้นับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน ไม่ได้ใช้เวลาไต่สวนเพียง 21 วัน แต่อย่างใด

ในเอกสารชี้แจงต่อป.ป.ช. เธอยังโอดครวญว่า การรับฟังพยานบุคคลปากของนายอภิสิทธิ์ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นนักการเมืองในสังกัดพรรคคู่แข่งทางการเมือง และมีนโยบายเรื่องข้าวที่แตกต่างกัน การกล่าวอ้างว่า มีข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตทุกขั้นตอนและขาดทุนกว่า 2 แสนล้าน ล้วนเป็นการคาดการณ์ในจินตนาการทั้งนั้น

หากติดตามเรื่องจำนำข้าวมาอย่างใกล้ชิด จะรู้ว่าการคาดการณ์ในจิตนาการ น่าจะเป็นพฤติกรรมของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มากกว่าด้วยเหตุที่ว่า รายงานการปิดบัญชีจำนำข้าว ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตรวจสอบ และรายงานการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชัดเจนว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริต และขาดทุนเกือบ 3 แสนล้าน กระทั่ง สตง.ส่งหนังสือให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้เสียใหม่ นี่คงบอกได้ว่าใครกันแน่ที่ชอบมโน

ส่วนการตรวจพยานหลักฐานนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เธอบอกว่า กรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงให้เธอแค่ 12 รายการ จำนวน 49 เท่านั้น ส่วนพยานหลักฐานอื่นๆ อ้างว่าไม่มี แต่นายวิชาได้ไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่แสดงว่ายังมีเอกสารเกี่ยวกับการขายข้าวแบบจีทูจีที่ไม่ได้ให้มา อีกทั้งในเอกสาร 49 แผ่นนั้น เอกสารลำดับที่ 8 - 9 นั้นไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ และนายวรงค์ ให้เฉพาะใบปะหน้าและคำอภิปรายนายอภิสิทธิ์ 1 หน้า และใบปะหน้ากระทู้ถามของนายวรงค์ 1 หน้า ไม่มีเอกสารประกอบ


“อีกทั้งเมื่อนำเอกสารทั้ง 49 แผ่นไปตรวจสอบกับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่มีเอกสารใดๆ เกี่ยวข้องกับข้อหาในอันที่จะทำให้ตนเข้าใจข้อหาได้ดี จึงขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่นายวิชาอ้างว่า คดีดังกล่าวได้ไต่สวนมาเป็นปีแล้ว และขัดแย้งกับมติในการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 อันแสดงว่าเพิ่งมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวน ….”

การกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่มีการให้ทนายความของตนตรวจพยานหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ถ่ายเอกสาร จำนวน 49 แผ่น มอบให้ทนายความของตนเท่านั้น จึงถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปิดบังซ่อนเร้นพยานหลักฐานเพื่อไม่ให้ตนได้เข้าใจข้อหาได้ดี และเพื่อไม่ให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้องอันเป็นการเอาเปรียบในเชิงคดี นอกจากนี้ ลำพังเพียงข้อมูลที่ปรากฏในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และตามภาพถ่ายเอกสาร 49 แผ่น ที่เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบให้นั้น ก็ไม่เป็นการเพียงพอที่จะชี้ว่าตนเองมีมูลความผิดใดๆ

เธอพูดเอง เออเอง และสรุปเอาดื้อๆ ว่า พยานหลักฐานแค่นี้ไม่พอจะชี้มูลความผิดเธอแม้แต่น้อย

แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ช่วยทบทวนความจำให้เธอตื่นจากมโนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เคยอนุญาตให้ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าตรวจพยานหลักฐานแทนเนื่องจากมีพฤติการณ์พิเศษ และได้คัดถ่ายเอกสารหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้ไปจำนวน 49 แผ่น ซึ่งได้ครอบคลุมการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ยกเว้นเอกสารบางรายการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอยู่แล้ว เช่น เอกสารของป.ป.ช.ที่ศึกษาโครงการจำนำข้าว เอกสารของสตง. คำแถลงของนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ และคัดถ่ายไปจำนวน 280 แผ่น ก่อนที่จะถึงกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 3 วัน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาเอง และไม่ทำให้รูปของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าเพิ่งได้รับเอกสารเพียง 3 วัน ทำให้ไม่อาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ทันนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

การโต้ตอบระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับคณะกรรมการป.ป.ช. คงมีอีกหลายยกจนกว่าจะมีการชี้มูลคดีนี้ ซึ่งการดิ้นรนจนเฮือกสุดท้ายนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะหลายคดีเริ่มงวดเข้ามาและส่อเค้าว่าเธอจะตกเก้าอี้ไปพร้อมๆ กับครม.ยกคณะในอีกไม่ช้านี้ แม้ว่า คณะกรรมการป.ป.ช.จะมีมติให้สอบพยานเพิ่มอีก 3 ปาก จากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอมา 11 ปาก และให้ยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา และยังไม่ฟันธงลงไปว่าจะชี้มูลความผิดในสิ้นเดือนเม.ย.นี้หรือไม่ ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น