xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.โต้ “ปู” ยันให้ความเป็นธรรม ใช้เวลาสอบ 1 ปี 10 เดือน - “ยิ่งลักษณ์” ยอมมาแจงด้วยตัวเองแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.ออกคำชี้แจง “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้รับความเป็นธรรมคดีทุจริตจำนำข้าว ยัน ป.ป.ช.ใช้เวลาสอบ 1 ปี 10 เดือน พร้อมให้เวลาแจ้งข้อกล่าวหา 32 วัน ให้ทนายความผู้ถูกร้องตรวจสอบพยาน หลักฐานสำคัญๆ ในคดีครบตามที่ต้องการ ส่วนการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวนก็เพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมกับนายกฯ ย้ำทำตามหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ไม่ได้เป็นคู่กรณีตามที่นายกฯ กล่าวหา ขณะที่ สนง.ป.ป.ช.ทหาร-ตร. หลายกองร้อย รปภ.เข้ม ล่าสุด“ยิ่งลักษณ์” พร้อมทีมทนาย เดินทางมาชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกคำชี้แจงการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร้องขอถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรณีกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว

คำชี้แจงระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะเกี่ยวกับการทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีร้องขอถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรณีกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยความเร่งรีบใช้เวลาเพียง 21 วันก็มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น ขอเรียนว่าเรื่องนี้เดิมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีนโยบายโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาและมีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง

โดยนำไปรวมดำเนินการกับกรณีร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว

ดังนั้น ในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน ดังนั้นในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ได้ใช้เวลาไต่สวนเพียง 21 วัน แต่อย่างใด

2.) การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ทำให้กลายเป็นคู่กรณีกับผู้ถูกกล่าวหาเสียเอง แทนที่จะเป็นคนกลางที่จะอำนวยความยุติธรรมนั้น ขอเรียนว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 บัญญัติว่า ในกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับรายงานจากการไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามข้อ 1. จึงต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริงได้เอง เพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อย่างไรก็ดี แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นผู้กล่าวหาเอง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ได้มีการยกเว้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้รับการอำนวยความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายดังกล่าว

3.) การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณานั้น

ขอเรียนว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถที่จะดำเนินการไต่สวนทั้งคณะ หรือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือมอบหมายพนักงานไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับฐานะ ระดับของตำแหน่ง และการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหาตามสมควร

ซึ่งในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อคำนึงระดับตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหาตามสมควร จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าจะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น เป็นการคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย

4.) การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าประสงค์จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ว่ามีพยานหลักฐานใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในการกล่าวหา หรือกรณีมีข้อสงสัยที่ยังไม่ชัดเจนเพื่อที่จะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้องนั้น

ขอเรียนว่าการขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเข้าตรวจพยานหลักฐานด้วยตนเอง และตรวจได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา โดยต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือการคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง สิทธิดังกล่าวได้มีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งในกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เคยอนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานแทนผู้ถูกกล่าวหาเนื่องจากมีพฤติการณ์พิเศษ และได้คัดถ่ายเอกสารหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้ไปจำนวน 49 แผ่น ซึ่งได้ครอบคลุมการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือขอตรวจพยานลักฐานเพิ่มเติมจำนวน 19 รายการนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาของเอกสารทั้ง 19 รายการดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบเรื่องตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยให้ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรวจดูและคัดถ่ายให้แล้ว จำนวน 49 แผ่น ยกเว้นเอกสารบางรายการซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปและมีอยู่ที่ตัวผู้ถูกกล่าวหาแล้วหรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกล่าวหาบังคับบัญชาอยู่ เช่น รายงานการวิจัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต เอกสารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มีไปถึงผู้ถูกกล่าวหา คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญที่จะต้องใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงอนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ และคัดถ่ายไปจำนวน 280 แผ่น ก่อนที่จะถึงกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 3 วัน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาเอง และไม่ทำให้รูปของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าเพิ่มได้รับเอกสารเพียง 3 วัน ทำให้ไม่อาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ทันนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

5.) การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าการขอเลื่อนคดีของผู้ถูกกล่าวจะมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด นั้น

ขอเรียนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เคยขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2557 หากนับจากวันรับทราบข้อกล่าวหาถึงวันที่อนุญาตให้ขยายรวมแล้วเป็นเวลา 32 วัน

ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่อนุญาตให้คัดถ่ายไปครั้งแรกจำนวน 49 แผ่นครอบคลุมข้อเท็จจริง ที่จะใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว จึงมีมติไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไม่ว่าจะทำเป็นหนังสือหรือชี้แจงด้วยวาจาภายในกำหนดเดิม คือ วันที่ 31 มีนาคม 2557

ทั้งนี้ หากผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะเพิ่มเติมพยานหลักฐานในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก็สามารถกระทำได้โดยให้ระบุมาในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

ด้าน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้จัดเตรียมสถานที่รองรับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมาชี้แจงข้อกล่าวหาฐานละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ได้จัดกำลังทหาร 2 กองร้อย และตำรวจ 4 กองร้อย รักษาความปลอดภัย รอบพื้นที่ โดยเปิดประตูเพียงด้านเดียว บริเวณประตูข้างติดกับสำนักงานกองสลากฯ พร้อมเพิ่มความเข้มงวดตรวจบุคคลเข้า-ออก

ล่าสุด หน่วยล่วงหน้าชุดรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ในสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และรอการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ว่าในช่วงบ่าย จะเดินทางมาชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตนเองหรือไม่

ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ ได้เข้าทำงานภายในสำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งแต่ช่วงเช้า เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. โดยมีเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

ล่าสุดมีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนายความเดินทางมาชี้แจงข้อกล่าวหากรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ต่อ ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง


































กำลังโหลดความคิดเห็น