xs
xsm
sm
md
lg

คดีจำนำข้าวพ่นพิษ “ยิ่งลักษณ์” เอี่ยวโกง จุดตายทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

ทำท่าจะเป็นจริงอย่างที่คาดกันไว้ จุดตายของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือกรณี “ปัญหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว”

แม้แนวร่วม มวลมหาประชาชน กปปส.จะเป็นส่วนสำคัญในการกดดันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และระบอบทักษิณ จนขยับอะไรแทบไม่ได้ในเวลานี้ แต่สิ่งที่จะทำให้ยิ่งลักษณ์ อยู่หรือไปทางการเมือง น่าจะเป็นเรื่องปัญหาการทุจริต และความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข้าวมากกว่า

ดูแล้วเรื่องนี้ใกล้ความจริงขึ้นมาทุกขณะ... เพราะยามนี้ที่ ยิ่งลักษณ์ กำลังเมาหมัด หาทางออกเรื่องการจ่ายเงินให้กับชาวนาไม่ได้ จนต้องออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เพ้อเจ้อใส่ความการเคลื่อนไหวของชาวนาเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าวันเดียวกันมีคำแถลงจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าคดีทุจริตจำนำข้าวในส่วนของตัวยิ่งลักษณ์ ที่เป็นผลมาจากกรณีที่ประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ ว่ามีพฤติการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน ยิ่งลักษณ์ ว่ามีส่วนกับการปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวโดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่

ผลการพิจารณา ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะองค์คณะไต่สวนได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้มีหนังสือเรียก ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาให้มาพบ และแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบการไต่สวนทุจริต ในวันที่ 27 ก.พ. เวลา 14.00 น.

สรุปก็คือ ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อยิ่งลักษณ์ในคดีทุจริตจำนำข้าวแล้ว เพราะเห็นว่าจากการไต่สวนคำร้องที่เป็นผลพวงมาจากการที่อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องเอาไว้ต่อประธานวุฒิสภาในช่วงการเปิดอภิปรายไมไว้วางใจเมื่อปลายปี 2555 และต่อมา เมื่อ 16 ม.ค. ทางที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นชอบตามที่อนุกรรมการไต่สวนคดีรับจำนำข้าวเสนอเรื่องให้ ป.ป.ช.เห็นชอบให้มีการไต่สวนยิ่งลักษณ์

และเปิดโอกาสให้ ยิ่งลักษณ์ ใช้สิทธิคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน หากเห็นว่ารายชื่ออนุกรรมการไต่สวนคนไหนจะทำหน้าที่โดยไม่เป็นกลาง หรือมีอคติ ซึ่งคดีก็ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่ง ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อยิ่งลักษณ์

ลำดับขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นเรื่องที่ ยิ่งลักษณ์ และฝ่ายกฎหมายจะต้องตั้งหลักสู้คดีต่อไป ซึ่งตามระเบียบของ ป.ป.ช.ก็ยังเปิดช่องให้ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาสามารถขอใช้สิทธิเลื่อนวันการเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ และหากถึงกำหนดไม่เดินทางมาโดยไม่แจ้งเหตุ ป.ป.ช.ก็จะส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปทางไปรษณีย์ โดยส่งไปที่ภูมิลำเนาของยิ่งลักษณ์ต่อไป ทั้งนี้ กรณีของยิ่งลักษณ์ยังไม่ใช่การชี้มูลความผิดที่จะส่งผลทางการเมือง และปมปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า ยิ่งลักษณ์ จะต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการหรือไม่ กระบวนการสู้คดีของ ยิ่งลักษณ์ ยังมีอีกหลายยกที่เปิดช่องให้หายใจได้อยู่

แม้ดูแล้ว เมื่อยิ่งลักษณ์สู้คดีมีการเอาพยานหลักฐานต่างๆ มาสู้ในชั้น ป.ป.ช. จนครบถ้วนกระบวนความ ถามว่ามีโอกาสไหมที่ ป.ป.ช.จะไม่ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ ก็ต้องตอบว่า “มีโอกาส” เพราะหากยิ่งลักษณ์แจงข้อกล่าวหาได้หมดทุกเรื่องจน ป.ป.ช.หมดสิ้นความสงสัย ทาง ป.ป.ช.ก็อาจไม่ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ก็ได้

แต่ในทางการเมือง รวมถึงในแนวทางการวิเคราะห์จากผู้คนจำนวนมาก แม้แต่กับฝ่ายกฎหมายประจำตัวยิ่งลักษณ์ และฝายแกนนำรัฐบาลเพื่อไทย ก็ดูจะเชื่อตรงกันว่า โอกาสที่ ยิ่งลักษณ์ จะรอด มีน้อยกว่าที่จะโดนชี้มูลความผิด

ทั้งนี้ เมื่อไปดูในส่วนของคดีความที่ ยิ่งลักษณ์ เผชิญก็จะพบว่า ป.ป.ช.ได้ให้เหตุผลในการแจ้งข้อกล่าวหาต่อยิ่งลักษณ์ไว้ว่า

เนื่องจาก ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช. เคยได้รับหนังสือจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ส่งถึงยิ่งลักษณ์ก่อนหน้านี้ ทักท้วงว่าโครงการรับจำนำข้าวจะก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการทุจริตทุกขั้นตอน และทุกกระบวนการในการดำเนินการ

รวมถึงยังได้รับทราบข้อมูลจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และรายงานผลการดำเนินโครงการจากประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ว่า เสียหาย 2 แสนล้านบาท รวมถึงการที่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่ได้รับเงินอีกจำนวนมาก ประกอบกับมีหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงยิ่งลักษณ์ ให้ทบทวนและยุติโครงการดังกล่าว ซึ่งตัวนายกฯ สามารถยับยั้งได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน

แต่กลับยืนยันทำโครงการต่อไป...

จึงเป็นเจตนาของยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ที่จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทาง ป.ป.ช.จึงได้มีมติให้เรียกยิ่งลักษณ์มาพบ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ต่อตัว “ยิ่งลักษณ์” ไปเปรียบเทียบกับมติของ ป.ป.ช.เมื่อ 16 ม.ค. ที่แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ กับพวก ที่รวมถึงบริษัทเอกชนด้วยก็จะพบว่า ประเด็นในการแจ้งข้อกล่าวหาจะแตกต่างกันไปตามความเกี่ยวข้องของแต่ละคน

คือในส่วนของยิ่งลักษณ์นั้น แน่นอนว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช.ก็จะดูภาพรวมของโครงการรับจำนำข้าวในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่แม้จะไม่ได้นั่งเป็นประธานประชุม กขช. เพราะได้มอบหมายให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่แทน แต่ก็ต้องรับผิดชอบในฐานะประธาน กขช.โดยตำแหน่ง และในฐานะผู้นำรัฐบาลที่เป็นผู้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา

เมื่อมีเสียงท้วงติง หรือมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดว่าโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหา มีการนำเสนอข้อมูลว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริต และมีเสียงเตือนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายกฯ มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาที่จะยับยั้งโครงการได้ แต่กลับไม่ทำ จึงต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาไป

แต่ในส่วนของการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ บุญทรง และพวก เมื่อ 16 ม.ค. ตามมติ ป.ป.ช.จะพบว่า ทาง ป.ป.ช.ได้ตั้งสำนวนเอาผิดไว้ว่า เมื่อ ป.ป.ช.มีการสอบสวนการทำธุรกรรมโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละขั้นตอน เช่น การระบายข้าว-สัญญาจีทูจี การขายข้าวระหว่างไทยกับจีน ที่ ป.ป.ช.สอบสวนแล้วมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ไม่ใช่กรณีซื้อขายตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และไม่มีการส่งข้าวออกนอกราชอาณาจักรจริง ตามที่กล่าวอ้าง รวมไปถึงบริษัทที่เป็นคู่สัญญาจีทูจีกับไทย ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นตัวแทนในการค้าข้าวอย่างมีอำนาจเต็มจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งในการทำธุรกรรมพบว่าใช้เอกสารที่ไม่ชอบตามกฎหมาย เป็นความเท็จ

คือ ในส่วนของบุญทรงกับพวก รวมประมาณ 17 ราย ที่ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องทำนองว่า ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหามีส่วนร่วมรู้เห็นกับการขายข้าวในโครงการแบบจีทูจี ที่เชื่อได้ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ซ่อนเงื่อน นิติกรรมอำพราง ส่อทุจริต

แต่กรณีของ ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องของการเมื่อได้รับรู้ว่า โครงการมีปัญหา มีการทุจริต และก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณประเทศ แต่กลับไม่ทบทวนและยับยั้ง ปล่อยให้มีการกระทำเกิดขึ้นอีก

หรือพูดประสาชาวบ้านคือ รู้ว่าเสียหายแทนที่จะหยุด แต่กลับปล่อยเลยตามเลย

ถามว่า ข้อกล่าวหาของยิ่งลักษณ์หนักไหม ก็ต้องตอบว่าอ่วมแน่ แม้จะไม่โดนแจ้งข้อกล่าวหาในเรื่องการมีส่วนรู้เห็นการทำสัญญาจีทูจีปลอม เหมือนกรณีของบุญทรง แต่ก็เป็นความผิดลักษณะว่า ยิ่งลักษณ์ คือคนเปิดประตูให้มีการทุจริต ทำให้ประเทศเสียหาย ซึ่งหากยิ่งลักษณ์รีบปิดประตู ความเสียหายนี้ก็จะไม่เกิดหรือเกิด แต่จะน้อยกว่าที่เป็นอยู่

จากนี้สถานะทางการเมืองของยิ่งลักษณ์สาหัสยิ่งขึ้น หลังมีปมเรื่องคดีของ ป.ป.ช.เข้ามาในช่วงเวลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น