รายงานการเมือง
สถานการณ์การเมืองเริ่มออกลูกทรงๆ ต่างฝ่ายต่างรอจังหวะอีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ปรับโหมดเข้าสู่วินาทีวัดใจ ใครอึดกว่ากัน แล้วใครตบะแตกก่อนกัน
กปปส.ของ “กำนันเทือก” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปักหลักยาวไม่มีกำหนดจนกว่าจะชนะ หยิบจับเทศกาล หรือเงื่อนไข ณ ขณะนั้นปรับแผนรุกไล่เป็นระยะเมื่อสบโอกาส
เหมือนกับปัจจุบัน ที่ชูโรงปัญหาโครงการรับจำนำข้าว กวักมือเรียกชาวนามาเป็นพวก ทวงเงิน เปิดโปงขบวนการเขมือบข้าว แล้วเร่งเครื่องไล่บี้จนรัฐบาลออกอาการเซหลายตลบ
เป็นการอยู่ยาวเพื่อรอ “จุดเปลี่ยน” ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อใด
เช่นเดียวกับรัฐบาลรักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในภาวะเมาหมัดจากหลายทิศ ผนวกกับอาการง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่ต่างจากรัฐล้มเหลว ยังท่องคาถาอดทน อดกลั้นไม่ผลีผลามใช้ยาแรง แค่อาศัยศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) เป็นเครื่องมือในการเขียนเสือให้วัวกลัวไปวันๆ ไม่กล้าทำอะไรเกินเลยไปกว่านั้น
สวมบทกอดประชาธิปไตยไว้แน่นๆ เป็นหลักยึดที่เหลืออยู่
ตามปฏิกิริยาที่สะท้อนผ่านท่าทีของ “ขี้ข้าเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. ที่ทำเป็นปากกล้าขาสั่นคำรามจะหวดม็อบรายวัน แต่ยังทำได้แค่เห่าใบตองแห้ง เพราะรู้สันดานกันดี เป็นประเภทใจปลาซิว กลัวคุกขึ้นสมอง ไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาลตอนแก่
ใช้ความ “ปอดแหกตลอดชาติ” เป็นประโยชน์เพื่อถ่วงเวลา
แล้วหันไปเล่น “หมากอึด” เอา โดยหวังว่าม็อบจะราฟืนไปเอง ด้วยตัวเลขยอดมวลชนที่ไม่น่าจะกระเตื้องมากไปกว่านี้ เพราะถือว่าเลย “จุดพีก” มาแล้ว แล้วอาศัยประคองตัวไปวันๆ รอให้ม็อบหาทางลงด้วยเงื่อนไขสถานการณ์ที่บีบบังคับ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า วันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ของทั้งสองฝ่ายคือ “รอ” อย่างเดียว
หลังจากนี้ก็อยู่ที่ว่า สิ่งที่ทั้งคู่ “รออยู่” ของใครจะมาก่อนกัน
ว่ากันตามสถานการณ์ เอาเฉพาะสถานะของรัฐบาล แม้จะมีสภาพเป็นรักษาการ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นแค่ในนาม หยิบจับอะไรไม่ได้ กลไกต่างๆ เป็นอัมพาตทั้งหมด เหลือแค่กองกำลังตำรวจที่ยังพอคอนโทรลได้ ไม่ต่างอะไรจากหายใจไปวันๆ แล้วรอม็อบฝ่อไปเอง
ในขณะที่ กปปส.ของ “กำนันเทือก” ดูจะพอมีความหวัง และไพ่ในมือเหนือกว่า โดยเฉพาะการเล่นงานรัฐบาลทางข้อกฎหมาย ที่เหลือฝ่ายยังเชื่อ ศึกชิงเมืองงวดนี้ คำตอบสุดท้ายยังอยู่ที่ “องค์กรอิสระ” ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ยังเป็นพระเอก แม้จะโดนต่อว่าต่อขานในระยะหลัง
คดีความต่างๆ ที่มี “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เป็นจำเลย ยังรอวันชี้ขาดเป็นกระบุง ทั้งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญรอวันลงมติ หรือคดีเลือกตั้ง ที่ กกต.อาจหยิบมาเล่นงานในภายหลัง
ที่หนักเลยคือ คดีในมือ ป.ป.ช. ที่ดูจะหลากหลายมากกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีนักการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นคดีถอดถอน 308 ส.ส.และ ส.ว. ปมร่วมกันชำเรารัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ที่เดินทางมาเกินครึ่งทาง รอบรรดาลิ่วล้อนักโทษชายแก้ข้อกล่าวหาเสร็จ ก็คงรอมติชี้มูลความผิดได้
หรือกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และพวก 15 คน ปมจีทูจีปลอม ที่รอมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คิดเป็นเส้นทางถือว่า เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว
แต่ที่น่าสนใจสุดคือ กรณีที่ ป.ป.ช.มีมติตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นองค์คณะไต่สวนปม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ระงับยับยั้งจนทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย แม้จะเพิ่งมาตั้งเอาในช่วงหลังสุด แต่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ตั้งนานตั้งเนไม่ขยับขับเคลื่อน แต่มาโพล่งเอาดื้อๆ ตอนช่วงสถานการณ์กำลังเขม็งเกลียว
เป็นปฏิกิริยาที่มีนัยสำคัญ!!
แถมเลือกไต่สวนเอาเฉพาะกรณีคำร้องขอถอดถอนก่อนคดีอาญา เพราะสามารถรุดหน้าไปได้เร็วกว่า ตรงนี้ยิ่งน่าระทึก เพราะหากเทียบเคียงกับคดีถอดถอน 308 ส.ส.และ ส.ว.ที่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนแล้วแจ้งข้อกล่าวหาได้ คดีนี้ก็ไม่น่าจะกินระยะเวลานานไปกว่านี้
นั่นหมายความว่า การแจ้งข้อกล่าวหาน่าจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้านี้ ยิ่งมีความเดือดร้อนของชาวนามาเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ต้องเร่งเดินหน้า มัวชักช้าจะยิ่งเหมือนซ้ำเติมประเทศ ซึ่ง นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนเองก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า คดีถอดถอนไม่น่าจะเกิน 2 เดือน
ในขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช.ในระยะหลังเองก็น่วมไม่น้อย โดยเฉพาะความเชื่องช้าจนบางครั้งปล่อยคนชั่วลอยนวล แถมมีการปล่อยข่าวดิสเครดิตอย่างต่อเนื่องว่า มีกรรมการบางคนโดนรัฐบาลซื้อแล้ว
นี่จึงเป็นจังหวะดีที่จะกู้ศรัทธาว่าไม่ได้เป็นดังที่มีข่าวลือ
และว่ากันตามสภาพคดีนี้แทบจะเป็นคดีที่สำคัญที่สุดที่จะหยุดความชั่วร้ายของ “รัฐบาลทรราช” ได้ เพราะหากมองไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเอง แม้จะมีคดีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทอยู่ในมือ แต่ก็ทำได้เพียงวินิจฉัยว่า “ถูก” หรือ “ผิด” ไม่สามารถเอาผิดรัฐบาลได้ เว้นแต่จะมีคนนำคำวินิจฉัยไปยื่นให้ ป.ป.ช.อีกทอด ซึ่งก็กินเวลานาน
หรือคดีการเลือกตั้ง หากมีผู้มายื่นให้เป็นโมฆะ และสุดท้ายถ้าผิดจริงก็แค่ไปทำการเลือกตั้งกันใหม่ แต่ “ยิ่งลักษณ์” ยังอยู่เหมือนเดิม
ในขณะที่คดีถอดถอน “ปูกรรเชียง” ปมนำข้าวที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.นั้น มีแรงสะเทือนสูงที่สุด เพราะหาก “9 อรหันต์” มีมติชี้มูลเมื่อใด ตราบนั้นผู้ที่ถูกคมดาบจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวโดยอัตโนมัติ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติว่าถอดถอนหรือไม่
จึงถือเป็นวิธีเดียวในตอนนี้ที่จะบีบ “ปูกรรเชียง” ให้ลุกออกจากเก้าอี้ชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนดแบบอิดออดไม่ได้ และแม้จะไม่ใช่การหยุดถาวร แต่ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว การที่ “ผู้นำประเทศ” โดนชี้มูลว่าทุจริตต่อหน้าที่ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ และผลกระทบของประเทศไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จะทำให้ประเทศไม่ต่างจาก “สุญญากาศ” ซึ่งรัฐบาลเองก็รู้ถึงความน่ากลัวของคดีนี้ดี แต่ยังคงพยายามดื้อแพ่งต่อไป เพราะไม่มีทางเลือก
ดังนั้น จับยามสามตารอได้เลย หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อยาวนานออกไป “ดาบสุดท้าย” ที่จะเป็นตัวชี้ขาดและเป็น “จุดเปลี่ยน” ของศึกชิงเมืองยังคงเป็น ป.ป.ช.