ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คดีทุจริตจำนำข้าวเป็นดาบอีกเล่มที่จะเชือด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้หลุดจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีได้ นั่นเพราะเป็นโครงการที่เห็นชัดเจนว่าล้มเหลว และมีการทุจริตในทุกขั้นตอนของโครงการ
คดีนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
ได้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2556 เพื่อให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบและชี้มูลความผิดกรณีทุจริตการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวให้เอกชน
การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบครั้งนี้ได้เรียกร้องให้ตรวจสอบคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวทั้ง 10 คน ที่มีนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานและคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมถึงเอกชน กรณีการขายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลให้แก่โรงสีโดยไม่โปร่งใส
นอกจากนี้ นายแพทย์วรงค์ยังยื่น ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเพิ่มเติมการระบายข้าวแบบจีทูจี ที่เคยยื่นไปก่อนหน้านี้ ที่มีการขายข้าวให้กับบริษัท จีเอสเอสจี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ว่ามีการจดทะเบียนในประเทศไทยหรือไม่ เพราะกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวจะต้องจดทะเบียนในประเทศไทย และได้รับใบอนุญาตในการค้าข้าวด้วย
โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 2 เม.ย.56 นพ.วรงค์ได้ยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการเฉพาะกิจตรวจสอบสัญญาข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ จากการที่บิดเบือนความจริงว่าบริษัทจีเอสเอสจีเป็นรัฐวิสาหกิจจีน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการซื้อขายแบบจีทูจี ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และเป็นการปกปิดความจริงที่ควรต้องเปิดเผยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ต่อมา ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาจากพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าการเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ สนับสนุนว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐได้รับมอบหมายจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และไม่มีการส่งออกข้าวออกนอกราชอาณาจักรจริง
จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ดำเนินการเจรจาทั้งสองฝ่าย รวมถึงผู้รับมอบอำนาจของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาเจรจาด้วย รวมจำนวน 15 ราย
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า ข้าวซึ่งทำการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐได้นำออกขายให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ และจากการตรวจสอบก็พบว่าเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการค้าข้าว นำไปบันทึกบัญชีเป็นต้นทุน รวมถึงการชำระภาษี ได้ความจากสภาวิชาชีพการบัญชี และกรมสรรพากร ว่าเอกสารหลักฐานดังกล่าวไม่สามารถนำไปบันทึกบัญชีและนำไปคำนวณภาษี ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนจะได้ส่งเรื่องนี้ไป
ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหา 15 รายนั้น ประกอบด้วย นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายฑิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว นายอัครพงษ์ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บริษัทจีเอสเอสจี บริษัทไห่หนาน และตัวแทนของหน่วยงานทั้งสองทั้งชาวจีนและชาวไทยคือ นายรัฐนิธ โสจิระกุล นายสมคิด เอื้อนสุภา นายลิตร พอใจซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงมีเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ว่าการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ทราบถึงการท้วงติงและความเสียหายจากการดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้ง อันอาจเป็นมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการสั่งไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอ โดยให้คณะอนุกรรมการไต่สวนชุดเดิม ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
นายวิชา ชี้แจงว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ทุกประเด็นเว้นแต่เพียงมติที่ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปพร้อมกันเลยหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรแจ้งพร้อมกัน เรื่องนี้จึงถือว่า ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่
การที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายบุญทรง และนายภูมิ พร้อมผู้เกี่ยวข้องอีก 15 คน โดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงแต่ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเท่านั้น อาจทำให้หลายฝ่ายผิดหวังไม่น้อย โดย นพ.วรงค์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องแสดงความแปลกใจว่า ได้ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.สอบทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรงในคดีเดียวกัน แต่เหตุใด ป.ป.ช.จึงแยกถูกกันออกมาจากกลุ่มของนายบุญทรง เหตุใดจึงไม่แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปในคราวเดียวกันเลย แต่ถ้าดูภาพรวมก็ถือว่าดีแล้ว ดีกว่าที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่โดนข้อหาอะไรเลย
ทั้งนี้ หากย้อนไปดูคำแถลงของ ป.ป.ช.ก็จะเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่หลุดพ้นข้อกล่าวหา โดยเฉพาะประโยคที่ว่า นายกรัฐมนตรีได้ทราบถึงการท้วงติงและความเสียหายจากการดำเนินโครงการแล้ว แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้ง อันอาจเป็นมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยจะเร่งแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบและใช้สิทธิ์คัดค้านบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่คณะอนุกรรมการไต่สวน และจะเร่งแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป
หากดูตามรูปการณ์และข้อเท็จจริงแล้ว โอกาสที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกแจ้งข้อกล่าวหานั้นมีอยู่สูงทีเดียว เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แม้จะมีการมอบให้ผู้อื่นรับผิดชอบเป็นประธาน กขช.แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีการท้วงติงถึงความไม่โปร่งใสของโครงการนี้จากหลายฝ่าย ไม่เฉพาะจากฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังมีนักวิชาการ พ่อค้า รวมทั้งคนของพรรคเพื่อไทยเอง อย่างนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคนที่เคยร่วมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น
และประเด็นที่เป็นจุดตายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คือ ป.ป.ช.เคยทำหนังสือเตือน ครม.เกี่ยวกับการทุจริตจำนำข้าวว่า หลักเกณฑ์วิธีการระบายข้าวต้องประกาศเปิดเผย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำ และ ป.ป.ช.ได้แนะนำให้ทำด้วยความโปร่งใส แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่สนใจ ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวได้