ย้อนไปตอนศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ ด้วยคะแนน5 ต่อ 4แกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคเพื่อไทยก็เต้นเป็นเจ้าเข้า ตีโพยตีพายกันยกใหญ่ ถึงขั้นพูดกันไปทั้งพรรคว่าให้เตรียมใจได้เลย เลือกตั้งโมฆะชัวร์ แล้วก็เป็นจริงทุกประการ
อาการตีโพยตีพายเช่นเดียวกันนี้กลับมาอีกรอบ
หลังจากที่แกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรู้ข่าว ตุลาการศาลรธน.มีมติเอกฉันฑ์ให้รับคำร้องที่สมาชิกวุฒิสภารวม 28 คน ที่ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่ม 40 สว.อันนำโดยไพบูลย์ นิติตะวันแกนนำสว.สรรหาได้ร่วมกันยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่
จากเหตุที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการที่ ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกร้องในคดีของถวิล ได้ย้าย ถวิล จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นสำคัญในคำร้องคดีนี้ของกลุ่มส.ว. ก็คือ ผู้ร้องเห็นว่าการโอนย้ายนายถวิล เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ ยิ่งลักษณ์ ได้ย้ายพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรีจากผบ.ตร.มาเป็นเลขาธิการสมช.แทนถวิล แล้วเอาเก้าอี้ผบ.ตร.ใส่พานให้เครือญาติคือพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
ซึ่งผู้ร้อง 28 ส.ว.เห็นว่า เป็นพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและเครือญาติตลอดจนพรรคเพื่อไทยที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่และมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3)
มีผลทำให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
ที่ประชุมตุลาการศาลรธน.พิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการยื่นคำร้องถูกต้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน15 วันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง
ดูจากกระบวนการแล้ว คาดว่า สำเนาดังกล่าวน่าจะไปถึงมือนายกรัฐมนตรีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหรืออย่างช้าอาจเป็นต้นสัปดาห์หน้านี้ และเมื่อนับไปอีก 15 วัน เท่ากับจะสิ้นสุดระยะเวลาการส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาประมาณช่วงปลายๆ เดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกร้องคือยิ่งลักษณ์ ก็สามารถใช้สิทธิในการขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงได้โดยต้องแจ้งเหตุผลความจำเป็นไปให้ศาลพิจารณาว่าสามารถขยายเวลาได้หรือไม่ หากศาลวินิจฉัยแล้วให้ขยายได้ ก็จะนับไปอีกประมาณ 15 วัน
เวลาสิ้นสุดของคดีก็อาจจะอยู่ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 2 หรือ3 ของเดือนพ.ค.แต่หากยิ่งลักษณ์ไม่ยื่นขอขยายเวลาส่งเอกสารคำชี้แจง หรือขอขยายเวลาแล้วศาลไม่ให้ เมื่อครบ 15 วันแล้วก็ต้องดูว่าศาลรธน.จะว่าอย่างไรต่อไป
สำหรับคำร้องคดีนี้ ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่อธิบายให้สังคมเข้าใจได้ยากมาก เนื่องจากเป็นคำร้องที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่โยงกันไปมา หากใครอ่านไม่แตก เชื่อมไม่ถูก รับรองว่าต้องด่าทั้งไพบูลย์และศาลรธน.ที่รับคำร้อง แต่หากอ่านกันให้ละเอียด ดูไปทีละมาตรา แล้วอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดประกอบจะพบว่าเป็นคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาได้ง่ายกว่าคดีเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะด้วยซ้ำ!!!
ทั้งนี้ที่หลายคนโดยเฉพาะฝ่ายไพบูลย์ในฐานะผู้ร้องบอกว่า คำร้องคดีนี้ น่าจะได้ข้อยุติโดยเร็ว เหตุก็เพราะว่า ข้อเท็จจริงต่างๆ เรื่องการย้ายถวิล ศาลปกครองกลางได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล-พยานเอกสารต่างๆ ไปหมดแล้ว จนมีคำพิพากษาออกมา อีกทั้งศาลปกครองสูงสุด ก็มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง เท่ากับมีการสกีนกันมาหมดแล้วในชั้นศาลปกครอง
การวินิจฉัยของศาลรธน.ต่อจากนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยใน “ข้อกฎหมาย”เป็นหลักว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากการเป็นนายกฯ ตามคำร้องหรือไม่
อาจสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า นอกจากรัฐธรรมนูญจะห้ามไม่ให้ส.ส.-ส.ว.ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นส.ส.-ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการที่อยู่ในมาตรา 266 แล้ว
ก็ปรากฏว่าในรธน.มาตรา 268 ก็ยังห้าม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เช่นกัน เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ หาไม่เช่นนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจะต้องสิ้นสุดลง เพราะถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 268
ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ในคำร้องของ 28 ส.ว.ดังกล่าว ยกคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาร้องต่อศาลรธน.ว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแล้วว่าการย้าย ถวิล เป็นการย้ายโดยมิชอบ กลุ่มผู้ร้องคือ 28 ส.ว.จึงขอให้ศาลได้วินิจฉัยด้วยว่า ยิ่งลักษณ์ จะต้องพ้นสภาพการเป็นนายกฯไปด้วยหรือไม่ เพราะการย้ายถวิลดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นการย้ายตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและเครือญาติตลอดจนพรรคเพื่อไทยที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่ ซึ่งกลุ่มผู้ร้องพยายามบอกว่า
ยิ่งลักษณ์ ย้ายถวิล เพื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ที่เป็นเครือญาติ จึงน่าจะเข้าข่ายที่ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นสภาพการเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีไปเพราะฝ่าฝืนรธน.มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3)
ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าว จะอิงรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา ที่ก่อนหน้านี้ คำนูณ สิทธิสมานส.ว.สรรหากลุ่มเดียวกับไพบูลย์ นิติตะวัน ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คตัวเองอธิบายข้อกฎหมายเรื่องนี้ แบบง่ายๆ จะทำให้เข้าใจคดีนี้ได้ง่ายมากขึ้น ก็ขอยกข้อควาที่ส.ว.คำนูณ โพสต์ไว้มาดังนี้ ซึ่งต้องค่อยๆ ดูไปทีละอันแล้วจะพอเข้าใจได้เป็นอย่างดี
“มาตรา 182 (7) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ... กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269
มาตรา 180 (1) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ... ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182
มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง"
อ่านทั้ง 4 มาตราดังกล่าวแล้ว จะเห็นด้วยกับความมั่นใจของพวกกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ร่วมกันลงชื่อในคำร้องดังกล่าวหรือไม่ที่ต่างก็เชื่อว่า นี่คือ “หมัดน็อค-ยิ่งลักษณ์”ของจริง หาใช่คดีรับจำนำข้าวในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะหากศาลรธน.วินิจฉัยเปรี้ยงว่ายิ่งลักษณ์ต้องสิ้นสภาพการเป็นนายกฯ ตัว ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องเก็บของออกจากตึกสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะทันทีเลย
ทั้งนี้ ไพบูลย์ ที่ระยะหลังขึ้นเวทีกปปส.ถี่ยิบ บอกว่า เมื่อถึงตอนนั้น ยิ่งลักษณ์ไม่อยู่แล้ว ก็จะเปิดช่องให้มีการเลือกนายกฯเฉพาะกาล ตามมาตรา 7ของรัฐธรรมนูญ”ได้ในช่วงปลายเดือนเม.ย.หรือพ.ค. โดยวุฒิสภาจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีแทนสภาผู้แทนราษฏรเพราะถือว่าเมื่อนายกฯสิ้นสภาพไปแล้ว ครม.ทั้งคณะแม้จะรักษาการอยู่แต่ถือว่าสิ้นสภาพไปด้วยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตามที่ไพบูลย์ นิติตะวัน ยกมาว่า วุฒิสภาสามารถเลือกนายกฯได้ และรัฐบาลไม่สามารถเอารองนายกฯขึ้นมารักษาการแทนยิ่งลักษณ์ได้ พวกรัฐบาลเพื่อไทยคงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ อาจถึงขั้นแตกหักกันเลยตอนนั้น
รัฐบาลคงยื่นศาลรธน.ขวางการเลือกนายกฯคนกลางแน่นอน แม้ตอนนี้อาจมีบางคนยังมองว่าแม้ศาลรธน.จะรับคำร้องแต่ก็รับเพราะการยื่นมาถูกหลักเกณฑ์ แต่ก็ไม่แน่อาจยกคำร้องก็ได้ เพราะการรับคำร้องกับการวินิจฉัยคดีเป็นคนละส่วนกัน ยังไง ยิ่งลักษณ์ ก็ยังมีโอกาสรอดสูง
ความเห็นที่ต่างกันตรงนี้ ทั้งหมดก็อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละคน บางคนอาจบอกว่าดูแล้ว ไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบที่จะทำให้ ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพการเป็นรักษาการนายกฯ ก็เป็นสิทธิที่จะเห็นแตกต่างกันไป
แต่เชื่อได้ว่า ทั้งก่อนและหลังศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยออกมา กระบวนการกดดันศาลรธน.คงออกมาอย่างหนัก เพราะล่าสุด สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.ก็ประกาศแล้วว่า เมื่อรู้ว่าศาลรธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยวันไหน วันนั้นคือวันนัดชุมนุมใหญ่ของกปปส. และคาดว่า เสื้อแดงก็คงไม่ยอม จะนัดชุมนุมใหญ่ก่อนหรือหลังศาลรธน.มีคำวินิจฉัยด้วยเช่นกัน
ช่วงสงกรานต์ ขอให้พี่น้องชาวไทยรีบไปเที่ยวไปหาความสุขกันให้เต็มที่ เพราะหมดจากสงกรานต์ สถานการณ์การเมืองอาจเข้าช่วงแตกหัก