xs
xsm
sm
md
lg

จุดยืนของ ผบ.ทบ.กับการปรับยุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 สะท้อนวิธีคิดและมุมมองของผู้นำเหล่าทัพหลายประการต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ทางการเมืองกลุ่มของทุกกลุ่มการเมืองและความรู้สึกของผู้คนที่เกิดขึ้นจากก็มีหลากหลาย บางคนรู้สึกผิดหวัง บางคนรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และบางคนรู้สึกโล่งใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ แกนนำของมวลมหาประชาชนจะต้องปรับกระบวนทัศน์ในการต่อสู้ครั้งนี้เสียใหม่ และเชื่อมั่นในพลังประชาชนให้มากขึ้น

ผมสรุปประเด็นหลักที่ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์และตีความถึงนัยที่แฝงมากับคำสัมภาษณ์ ได้ดังนี้

1.การไม่สนับสนุนความรุนแรงและขอให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง
โดย ผบ.ทบ.มองว่าความรุนแรงทำให้บ้านเมืองเกิดความชะงักงัน ไม่ก้าวหน้า ดังนั้นหากให้บ้านเมืองก้าวหหน้าต้องหยุดใช้ความรุนแรง การกล่าวเช่นนี้ของ ผบ.ทบ. เท่ากับยอมรับความจริงว่าการต่อสู้ทางการเมืองในระยะเวลาที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความรุนแรง แน่นอนว่า ผบ.ทบ.คงไม่อาจปฏิสธข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีหลักฐานเป็นจำนวนมากที่ประจักษ์แก่สายตา

แต่สิ่งหนึ่งที่ ผบ.ทบ.ละไว้ไม่กล่าวเกี่ยวกับความรุนแรงคือ ใคร กลุ่มใดที่ก่อความรุนแรง ทั้งที่ผมเชื่อว่าทางกองทัพมีข้อมูลข่าวสารเพียงพอที่สรุปได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้นเป็นฝีมือของใคร ที่จริง ผบ. ทบ.ควรระบุให้ชัดว่าออกมาเลยว่า กลุ่มที่ก่อความรุนแรงมีความสัมพันธ์กับระบอบทักษิณและรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์หรือไม่ การเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในที่สาธารณะคงจะไม่เกิดผลใดๆที่จะทำให้กลุ่มที่ก่อความรุนแรงยุติ หากจะให้ได้ ผบ.ทบ. ควรจะคุยกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยตรง และเรียกบรรดาสมุนของระบอบทักษิณที่วางแผนก่อความรุนแรงมาคุยด้วยให้รู้เรื่องกันไปเลย

2.การประกาศว่าจะสร้างความปลอดภัย
ผู้นำเหล่าทัพและตำรวจมีมติว่าจะร่วมมือกันเพื่อทำให้ประชาชนทุกฝ่ายปลอดภัย อันที่จริงเรื่องการสร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหน้าที่โดยตรงของตำรวจอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาตำรวจทำหน้าที่ไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิง เหตุผลหนึ่งที่มีการวิเคราะห์กันคือ ตำรวจจำนวนหนึ่งรู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือ มีส่วนร่วมกับกลุ่มโจรก่อการร้ายเสื้อแดงในการสร้างความรุนแรงเสียเอง เรื่องนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นจำนวนมากที่ปรากฏต่อสาธารณะย่างชัดเจน ซึ่ง ผบ.ตร.จะต้องตอบคำถามต่อสังคมให้กระจ่าง

ส่วนในทางกองทัพนั้นก็ได้ดำเนินการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนอยู่บ้างตามสมควร และทำให้ศักยภาพการสร้างความรุนแรงของกลุ่มก่อการร้ายเสื้อแดงลดลงจำนวนหนึ่ง แต่กระนั้นก็ตามทหารไม่อาจกระทำการในเชิงรุกเพื่อจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้นให้หมดสิ้นได้ เพราะยังไม่มีอำนาจหน้าที่จะกระทำ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะประกาศกฏอัยการศึก ซึ่ง ผบ. ทบ. ก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ทำ ดังนั้นกลุ่มก่อการร้ายก็ยังคงรวมกลุ่ม วางแผน ปฏิบัติการป่วนเมือง และเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ต่อไป

อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ดี การที่ผู้นำเหล่าทัพเชิญ ผบ.ตร. มาร่วมคุยและมีมติร่วมกันว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ก็หมายว่า ผบ.เหล่าทัพกระตุ้นให้ตำรวจเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อป้องกันเหตุร้ายให้มากขึ้นอย่างครอบคุมทั่วถึง

แต่เรื่องนี้เราก็ต้องไม่มองในแง่ดีจนเกินไปเพราะว่ามีบทเรียนเชิงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ หลายจังหวัด หลายสถานการณ์บ่งบอกว่า การทำงานของตำรวจจำนวนมากเป็นไปอย่างมีอคติและใช้กฎหมายแบบเลือกฝ่าย เช่น ในการเลือกตั้ง นักการเมืองจำนวนไม่น้อยอาจจะเคยประสบกับเหตุการณ์ที่ว่าหากตำรวจสนับสนุนผู้สมัครคนใด ตำรวจก็จะจ้องจับผิดผู้สมัครคู่แข่ง และปล่อยให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนซื้อเสียงได้อย่างเสรี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า หากตำรวจปฏิบัติการณ์คุ้มครองความปลอดภัย ก็อาจทำแบบมีอคติดังที่เคยเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในอดีต

3.ความขัดแย้งเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารที่ต้องไปหาทางแก้ปัญหาให้ได้
การมองความขัดแย้งแบบนี้มีความหมายว่า ทหารต้องการวางตัวเป็นกลางไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับระบอบทักษิณ ผบ.ทบ.ยังย้ำว่า อย่าไปคาดหวังว่าทหารจะทำอะไร และตนเองไม่ต้องการเป็นพระเอกคนเดียว

เหตุผลของกล่าวเช่นนี้มาจากการมองว่า หากทหารแสดงท่าทีใดๆออกมาชัดเจนแล้วจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจและนำไปโจมตีได้ กล่าวคือหากแสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็จะทำให้ฝ่ายเสื้อแดงนำไปวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น อันที่จริงในปัจจุบันเสื้อแดงก็วิจารณ์ผบ.ทบ.และกองทัพอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเหตุผลนี้ดูจะไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไรนักต่อการกำหนดจุดยืนของทหาร

เหตุผลถัดมาคือ ผบ.ทบ.ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำ กปปส.ดังนั้นหากจะแสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจนก็ดูเหมือนเป็นการหักหาญน้ำใจอีกฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป ด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆที่นิยมรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าหลักการและความถูกต้อง การกำหนดท่าทีแบบนี้จึงเป็นทางออกหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากใช้กันยามเมื่อบุคคลที่ตนมีความสัมพันธ์ขัดแย้งกัน

4.การอุปมาอุปมัยในเชิงการยอมรับว่าทหารเป็นเสมือนลูกจ้างรัฐบาล ดังนั้นลูกจ้างจะไล่นายจ้างหรือปฏิเสธอำนาจของนายจ้างไม่ได้ การอุปมาอุปมัยเช่นนี้เท่ากับว่า ผบ.ทบ.ยังคงยอมรับอำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาล และจะไม่ออกมาร่วมกับ กปปส. ในการเคลื่อนไหวปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณและประชาชนที่ไม่เอาระบอบทักษิณเรียกร้อง

การแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนของ ผบ.ทบ. เช่นนี้เท่ากับว่าดับความหวังและความฝันของแกนนำ กปปส.และมวลชนฝ่าย กปปส. ซึ่งเรียกร้องและคาดหวังที่จะให้ทหารสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการโค่นล้มระบอบทักษิณ ประชาชนบางกลุ่มถึงกับตีความว่า จุดยืนแบบนี้ไม่ต่างกับการสนับสนุนระบอบทักษิณนั่นเอง แต่ผมคิดว่าจุดยืนที่ผบ.ทบ.แสดงออกมาเป็นจุดยืนส่วนตัวของท่าน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดยืนร่วมกันของทหารทั้งหมด เพราะมีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าบรรดานายทหารระดับรองลงมามีจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณอย่างชัดเจน และให้การสนับสนุนประชาชนอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจาระบบกองทัพเป็นระบบการบังคับบัญชาที่เข้มงวดเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และยึดวินัยเป็นหลัก ดังนั้นการแสดงจุดยืนแบบนี้ของ ผบ.ทบ.จึงอาจเป็นการบั่นทอนกำลังใจและจิตสำนึกแห่งความถูกต้องของบรรดาทหารจำนวนมากได้

5.การประกาศให้ยึดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การประกาศเช่นนี้แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องที่ดูเหมือนธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาไป เพราะว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรีกำลังถูกพิจารณาคดีจากศาลรัฐธรรมนูญและจาก ปปช. ซึ่งหากองค์กรทั้งสองตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดตามฟ้อง ก็จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สิ่งที่ตามมาคือ สมุนบริวารของระบอบทักษิณ และมวลชนอันธพาลเสื้อแดงก็จะออกมาปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก่อการจลาจล และก่อการร้าย ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการวางแผนเตรียมการเอาไว้แล้ว ยิ่งกว่านั้นก็มีความเป็นไปได้สูงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดื้อด้านปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะดูเป็นเรื่องตลก เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรของรัฐ

คำถามคือว่า หากมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทางผบ. ทบ.จะว่าอย่างไร จะยังคงยอมรับอำนาจหรือยอมเป็นลูกจ้างของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อไปหรือไม่ หรือว่าจะเปลี่ยนจุดยืน และหาก ผบ.ทบ.มีท่าทียอมรับอำนาจยิ่งลักษณ์ต่อไป บรรดานายระดับรองๆลงมาจะมีท่าเหมือนกันหรือไม่ อาจยังเป็นปริศนาอยู่

จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าในการกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชน แกนนำ กปปส. โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณจำเป็นต้องทบทวนความสัมพันธ์กับ ผบ.ทบ. ท่านนี้ ความหวังที่จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการประกาศจุดยืนข้างประชาชนและปฏิเสธรัฐบาลอำนาจรัฐบาลนั้น เห็นทีจะต้องเลิกหวังและเลิกฝันได้แล้ว ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงความหวังที่จะให้ทหารสนับสนุนการปฏิวัติประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมตราบเท่าที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็น ผบ.ทบ.อยู่

ดังนั้นหากแกนนำ กปปส. ประสงค์ที่จะทำให้การโค่นล้มระบอบทักษิณสำเร็จ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน และรัฐสภาของประชาชนได้ จะต้องคิดหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่ๆ ออกมาใช้ และจะต้องเชื่อมั่นในพลังประชาชนมากกว่าที่ผ่านมา

โอกาสของประชาชนน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความผิดตามฟ้อง ขอให้เตรียมการรับสถานการณ์นี้เอาไว้ และวางแผนให้ดี อย่าให้ชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนที่เสียสละในการต่อสู้ครั้งนี้ต้องสูญเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น