เอเจนซีส์ - สวิตเซอร์แลนด์ได้ปฏิเสธที่ลงนามข้อตกลงสนธิสัญญาที่จะอนุญาตให้ชาวโครเอเชียสามารถเดินทางเสรีเข้ามาหางานทำในสวิตเซอร์แลนด์
ถึงแม้ทั้งสวิตเซอร์และดครเอเชียได้มีข้อตกลงในหน้าร้อนที่ผ่านมาจะอนุญาตให้ชาวโครเอเชียเดินทางเข้าสวิตเซอร์แลนด์เสรีหลังจากที่โครเอเชียได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่กลุ่มสหภาพยุโรป ทว่า รัฐบาลสวิสได้กล่าวว่ารัฐบาลสวิสไม่สามารถลงนามในข้อตกลงนี้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากมีการทำประชามติเพื่อหาฉันทามติจากประชาชนในสนธิสัญญาการเคลื่อนย้ายเสรีสวิตเซอร์แลนด์-ยุโรปที่ผ่านมา
โดยประชาชนชาวสวิสหนุนกฎหมายการจำกัดจำนวนคนเข้าเมืองจากประเทศในยุโรปด้วยกังวลถึงผลกระทบกับการอพยพเข้าเมืองของชาวยุโรปชาติอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก ถึงแม้ว่าแดนนาฬิกาแห่งนี้มีอัตราการว่างงานต่ำและมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม แม้สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป แต่สวิตเซอร์แลนด์ได้รับเอานโยบายส่วนใหญ่ของอียูมาใช้
รัฐมนตรียุติธรรมของสวิตเซอร์แลนด์ ซิโมเนตตา ซอมมารูกา ได้ต่อสายไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศโครเอเชีย เวสนา ปูซิกเพื่อแจ้งว่า สวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถลงนามเพื่ออนุญาตการเข้าเคลื่อนย้ายเสรีให้กับสมาชิกใหม่ของอียูได้ นอกจากนี้ ซอมมารูกายังได้แจ้งกรุงบรัสเซลส์ว่า ข้อตกลงที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ทำกับกรุงบรัสเซลส์เมื่อปี 2007 ซึ่งอนุญาตให้พลเมืองอียูส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ได้อย่างเสรี ต้องมีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง ฟิลลิป ชวาดเดอร์โฆษกของรัฐมนตรียุติธรรมสวิตเซอร์แลนด์เผย
ประชามติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับรัฐธรรมนูญสวิส ชวาดเดอร์เผยต่อ
อย่างไรก็ตาม ชวาดเดอร์ย้ำว่า ซอมมารูกาจะทำให้แน่ใจว่าชาวโครเอเชียนั้นจะได้รับปฎิบัติอย่างยุติธรรมโดยไม่รู้สึกโดนกีดกัน
และหลังจากผลการลงประชามติของสวิตเซอร์แลนด์ออกมา คณะกรรมาธิการยุโรปขู่จะทบทวนความสัมพันธ์กับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งหมายความว่าอียูอาจจะประกาศจำกัดการค้า หรือใช้มาตรการตอบโต้ด้านอื่นๆ ซึ่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจออาจจะถูกกระทบมากที่สุด เพราะสินค้าส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ครึ่งหนึ่งส่งไปยังตลาดอียู และมีเยอรมันเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุด
ในปัจจุบันนี้ 1 ใน 4 ของประชากรราว 8 ล้านคนในสวิตเซอร์แลนด์เป็นชาวต่างชาติ และในปี 2013 มีผู้อพยพใหม่เดินทางเข้าเมืองร่วม 80,000 คน
ตั้งแต่ปี 2007 พลเมืองอียูร่วม500 ล้านคนมีเสรีภาพภาพในการเดินทางเข้ามาทำงานในสวิตเซอร์แลนด์เหมือนเช่นชาวสวิสที่เป็นผลมาจากกฎหมายที่ผ่านการลงประชามติในปี 2000
แต่ทว่ารัฐบาลพรรคประชาชนสวิส (เอสวีพี) ที่เป็นพรรคสายอนุรักษ์ได้ผลักดันการยกเลิกกฏหมายการเคลื่อนย้ายเสรี โดยกล่าวว่าเป็นการ “ตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง” ของประเทศ
รัฐบาลเอสวีพีและกลุ่มล็อบบียิสต์ทางเศรษฐกิจที่กลัวผลกระทบจากปัญหาในอียู ต่างสนับสนุนให้จำกัดจำนวนผู้อพยพจากยุโรป ทว่าภายใต้ระบบประชาธิปไตยทางตรง การตัดสินใจของรัฐบาลในประเด็นสำคัญๆ จะต้องผ่านการทำประชามติเสียก่อน
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส เลอ-ตองส์ รายงานว่า ประชาชนในเมืองใหญ่และพื้นที่ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสโหวตต่อต้านการจำกัดผู้อพยพยุโรป ในขณะที่ชาวชนบทซึ่งใช้ภาษาเยอรมันสนับสนุนนโยบายนี้
โดยพรรคเอสวีพีชี้ถึงความจำเป็นในการจำกัดผู้อพยพ เนื่องจากปัจจุบันมีพลเมืองอียูเดินทางเข้าสวิตเซอร์แลนด์ปีละราวๆ 80,000 คน ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจผ่อนคลายระเบียบคนเข้าเมืองนั้นประเมินไว้ว่า จะมีแรงงานอียูไหลเข้าเพียง 8,000 คนต่อปี รัฐบาลสวิสชี้ว่า แรงงานอียูเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของชาวสวิสเนื่องจากค่าแรงถูกกว่า และการที่ประชากรล้นเมืองยังส่งผลให้ค่าเช่าแพงขึ้น เพิ่มภาระต่อระบบการศึกษา, สาธารณสุข และการคมนาคมของประเทศ