เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - พบหลักฐาน มีการขาย “พาสปอร์ตบัลแกเรีย” ในราคาเพียง 8 ล้านบาท เปิดช่องให้บรรดานักธุรกิจ-กลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้ฟอกตัวเองกลายเป็นพลเมืองเต็มขั้นของสหภาพยุโรป (อียู)
รายงานข่าวของสื่อดังเมืองผู้ดี “เทเลกราฟ” ซึ่งแอบส่งผู้สื่อข่าวของตนปลอมตัวเข้าไปสืบข้อมูลขบวนการขาย “หนังสือเดินทาง” ในบัลแกเรีย ระบุว่าขณะนี้การถือครองพาสปอร์ตบัลแกเรียสำหรับชาวต่างชาติสามารถทำได้อย่างง่ายดายขอเพียงมีเงินราว 150,000 ปอนด์ หรือราว 8.05 ล้านบาท โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ หรือทำงานในบัลแกเรียก่อน แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวของเทเลกราฟซึ่งปลอมตัวเป็นผู้แทนของนักธุรกิจชาวอินเดียรายหนึ่งเผยว่า ขณะนี้ชาวต่างชาติซึ่งมิใช่พลเมืองของสหภาพยุโรป สามารถถือครองหนังสือเดินทางของชาติสมาชิกอียูอย่างบัลแกเรียได้แล้ว ขอเพียงเดินทางเข้ามาในบัลแกเรียเพียง 48 ชั่วโมง และยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับบริษัทนายหน้าซึ่งมีเอี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลบัลแกเรีย
ข้อมูลจากรายงานเชิงสืบสวนของผู้สื่อข่าวเทเลกราฟระบุว่า แม้แต่บุคคลที่มีประวัติอาชญากรรมที่เคยถูกทางการอังกฤษปฏิเสธการเข้าประเทศก็ยังสามารถเข้าถึงการมีหนังสือเดินทางของบัลแกเรียไว้ในครอบครองได้ ซึ่งเท่ากับว่านับจากนี้บรรดาอาชญากรข้ามชาติ รวมถึงพวกนักการเมืองที่มีประวัติทุจริตจากทั่วโลก สามารถกลายเป็นพลเมืองตามกฏหมายของสหภาพยุโรปได้อย่างถูกต้อง และมีสิทธิ์ในการเดินทางเข้าออกประเทศสมาชิกทั้ง 28 แห่งของอียูได้อย่างเสรี หากมีพาสปอร์ตบัลแกเรียในครอบครอง
บัลแกเรียมิใช่สมาชิกอียูชาติแรก ที่มีความพยายามในการแสวงหาผลประโยชน์กับการขายหนังสือเดินทางของตน เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลมอลตาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ อเบลา และนายกรัฐมนตรี โจเซฟ มุสแคต ได้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว หลังเสนอแผนการหารายได้เข้าประเทศ ด้วยการขายสถานะความเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป (EU citizenship) ให้กับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจในสนนราคา 650,000 ยูโร (ราว 29.3 ล้านบาท) โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศก่อน ขอเพียงแค่มีเงินจำนวนดังกล่าวก็สามารถได้รับสถานะพลเมืองอียูจากรัฐบาลมอลตาภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน
อย่างไรก็ดี แผนหารายได้เข้าประเทศดังกล่าวของทางการมอลตา ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกอียูตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2004 ถูกตำหนิจากอียูและสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงในยุโรปที่เกรงว่าพวกนักการเมืองที่มีประวัติการทุจริตจากทวีปอื่นๆ รวมถึงสมาชิกองค์กรอาชญากรข้ามชาติจะใช้ช่องทางนี้ในการ “ฟอกตัวเอง” และมีสิทธิ์ต่างๆ ในทางสังคมและทางกฎหมายเช่นเดียวกับพลเมืองของ 28 ชาติสมาชิกอียู
หลังถูกกดดันหนัก รัฐบาลมอลตาได้ยอมบรรลุข้อตกลงกับคณะผู้แทนเจรจาของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อปรับมาตรการหารายได้ดังกล่าวเสียใหม่ ด้วยการกำหนดให้ผู้ที่สนใจซื้อสถานะพลเมืองอียูจากมอลตาจะต้องเข้ามาพำนักในมอลตานานอย่างน้อย 1 ปี จึงจะมีสิทธิ์ขอรับสถานะพลเมืองอียู ขณะเดียวกัน รัฐบาลมอลตาก็ต้องสร้างความมั่นใจว่า บุคคลต่างชาติที่ได้รับสถานะพลเมืองอียูจากมอลตาไปแล้วนั้น จะต้องไม่กลายเป็น “ตัวก่อปัญหา” ให้กับอียูในภายหลัง
ขณะที่ นางวิเวียง เรแด็ง ประธานด้านนโยบายกระบวนการยุติธรรม สิทธิขั้นพื้นฐานและพลเมืองของสหภาพยุโรป ออกมายืนยันว่าสหภาพยุโรปขอเน้นย้ำกับชาติสมาชิกว่า สถานะความเป็นพลเมืองอียู จะต้องไม่ถูกนำออกขายอย่างโจ่งแจ้งเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองใดๆ ของประเทศสมาชิก