xs
xsm
sm
md
lg

พบ EU มี ‘คอร์รัปชัน’ สูงจน ‘น่าตกใจ’ เบียดเบียน ศก.ปีละ 5.4 ล้านล้านบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนภูมิที่จัดทำโดยหน่วยงานของสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นว่าในส่วนของคำถามที่ถามว่า “ในชีวิตประจำวัน คุณได้รับความกระทบกระเทือนด้วยตนเองจากการคอร์รัปชั่นใช่ไหม?” ของรายงานการสำรวจคราวนี้ ประชาชนผู้ตอบคำถามใน 28 รัฐสมาชิกตอบว่าอะไร ทั้งนี้ประเทศที่ได้สีเข้มที่สุด คือ 60-69%ตอบว่าใช่ ส่วนประเทศที่ได้สีอ่อนที่สุด คือมีเพียง 0-9% ที่ตอบว่าใช่
เอเจนซีส์ - ไม่เพียงประเทศด้อยพัฒนาไกลปืนเที่ยงทั้งหลายเท่านั้นที่เผชิญการทุจริตคอร์รัปชันอย่างรุนแรง แม้กระทั่งรัฐสมาชิกทั้ง 28 ประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ก็ประสบกับปัญหานี้อย่างสาหัส ในระดับที่สร้างความสูญเสียอย่างน่าตระหนกตกใจถึงปีละ 120,000 ล้านยูโร (ราว 5.4 ล้านล้านบาท) หรือ 1% ของจีดีพีอียูโดยรวม ทั้งนี้ตามรายงานการสำรวจของของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่นำออกเผยแพร่ในวันจันทร์ (3 ก.พ.)

รายงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 28 ชาติสมาชิกเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศของตน ซึ่งจัดทำขึ้นมาเป็นครั้งแรกฉบับนี้ ตีแผ่ให้เห็นว่ายุโรปไม่ใช่ภูมิภาคที่ขาวสะอาดที่สุดในโลกอย่างที่คนชอบพูดกัน

ในแวดวงธุรกิจชองอียูมีความเชื่อในวงกว้างว่า วิธีเดียวในการประสบความสำเร็จคือการมีสายสัมพันธ์ทางการเมือง และบริษัทเกือบครึ่งที่ทำธุรกิจในยุโรปชี้ว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหา ขณะที่พลเมืองอียูจำนวนมากคิดว่า ปัญหานี้รุนแรงขึ้นในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เป็นต้นว่า บริษัทเกือบทั้งหมดในกรีซ สเปน และอิตาลี เชื่อว่าปัญหาการทุจริตกำลังลุกลาม ตรงข้ามกับในเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสวีเดน ที่พบปัญหานี้ลดน้อยมาก

สอดคล้องกับดัชนีการคอร์รัปชันขององค์การเพื่อความโปร่งใสสากล ที่ระบุว่า กรีซเป็นประเทศที่มีการทุจริตมากที่สุดในอียูโดยอยู่อันดับที่ 80 ของโลกร่วมกับจีน ส่วนเดนมาร์กมีการคอร์รัปชันน้อยที่สุด

เซซิเลีย มัลสตรอม กรรมาธิการด้านกิจการภายในของอียูที่เป็นผู้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ ให้ความเห็นว่า คอร์รัปชันบั่นทอนความเชื่อมั่นของพลเมืองที่มีต่อสถาบันประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป ลิดรอนรายได้จากภาษีของแต่ละประเทศ และบ่มเพาะองค์กรอาชญากรรม

พลเมืองอียูมากมายเชื่อว่า การลุกลามของคอร์รัปชันนั้น เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจและการเงินในยูโรโซนที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตหนี้

มัลสตรอมเสริมว่า ภาคก่อสร้างที่มักเกี่ยวข้องกับการประมูลงานราชการเป็นธุรกิจที่มีการทุจริตมากที่สุด โดยบริษัทที่ตอบแบบสอบถามเกือบ 80% ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน

กล่าวโดยรวมแล้ว ปัญหาคอร์รัปชันสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจยุโรปถึงปีละ 120,000 ล้านยูโร หรือเกือบเท่าขนาดเศรษฐกิจของโรมาเนีย โดยมัลสตรอมชี้ว่า ตัวเลขนี้เป็นเพียงการประมาณการ และตัวเลขจริงๆ น่าจะสูงกว่านี้ ขณะที่ระดับความรุนแรงของปัญหานี้ถือว่า น่าตระหนกตกใจ และประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนคือ ในยุโรปไม่มีเขตปลอดคอร์รัปชันเลย

รายงานสำรวจฉบับนี้แจกแจงว่า บริษัท 43% ระบุว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหา และในหมู่พลเมืองอียูก็กำลังมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป คนจำนวนมากขึ้นเชื่อว่า ปัญหานี้เลวร้ายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคิดว่า กรีซ อิตาลี ลิทัวเนีย สเปน และสาธารณรัฐเช็กมีการคอร์รัปชันชุกชุมที่สุด

พลเมืองยุโรป 80% ยังเชื่อว่า ความเชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างธุรกิจกับการเมืองนำมาซึ่งการทุจริต

ทางด้านคาร์ล โดแลน จากองค์การเพื่อความโปร่งใสสากล ยกย่องรายงานฉบับนี้ว่า เป็นก้าวย่างสำคัญในความพยายามแก้ไขปัญหาการทุจริตในอียู

โดแลนด์สำทับว่า ปัญหาในยุโรปไม่ใช่แค่การติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไป แต่เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจ และระบุว่า ยุโรปล้มเหลวในการควบคุมผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองในการทำธุรกิจ ทั้งนี้รางวัลสำหรับนักการเมืองที่จัดสรรสัมปทานให้บริษัทต่างๆ หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจก็คือ เมื่อพวกเขาเลิกเล่นการเมองจะได้ตำแหน่งอยู่ในบริษัทเหล่านั้น ไม่ใช่การติดสินบนแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

รายงานฉบับนี้ยังมุ่งตรวจสอบว่า กฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ใช้ได้ผลหรือไม่ รวมทั้งเสนอแนะมาตรการที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม แต่ไม่มีการจัดอันดับประเทศจากระดับความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งไม่ครอบคลุมถึงการทุจริตคอร์รัปชันภายในสถาบันต่างๆ ของอียูเอง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของศาลผู้สอบบัญชี

น่าสังเกตว่า รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมา ไม่นานหลังจากที่ เอเดรียน นาสตาเซ อดีตนายกรัฐมนตรีโรมาเนีย ถูกจำคุก 4 ปีข้อหารับสินบน นับเป็นผู้นำยุโรปคนแรกที่ถูกจำคุกภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปในปี 1989

อียูนั้นแสดงความกังวลออกสื่อมาหลายครั้งเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในโรมาเนียและบัลแกเรีย สองชาติสมาชิกที่ยากจนที่สุด

เดือนตุลาคม 2012 จอห์น ดัลลี ยังถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งกรรมาธิการสาธารณสุขอียู หลังจากผู้ช่วยของเขาถูกกล่าวหาเรียกสินบน 60 ล้านยูโรจากบริษัทบุหรี่ แลกกับการแทรกแซงการแก้ไขกฎหมายยาสูบ
กำลังโหลดความคิดเห็น