รอยเตอร์ – ชาวอินโดนีเซียหลายร้อยคนไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตออสเตรเลียในกรุงจาการ์ตา และจุดไฟเผาธงชาติแดนจิงโจ้ วันนี้(21) ขณะที่ความสัมพันธ์ 2 ประเทศกลับสู่ภาวะตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีจากกระแสข่าวที่ว่าประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน และภริยา ถูกหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียแอบดักฟังโทรศัพท์ โดยที่รัฐบาลแคนเบอร์ราก็ไม่มีแม้กระทั่งคำขอโทษ
ผู้ประท้วงอิเหนาราว 200 คนเดินเท้าไปยังสถานทูตออสเตรเลีย ซึ่งเคยถูกลอบวางระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตไป 10 รายเมื่อปี 2004 เพื่อเรียกร้องให้ออสเตรเลียขออภัยอย่างเป็นทางการต่อสิ่งที่ได้กระทำกับผู้นำเพื่อนบ้าน ขณะที่ประธานาธิบดี ยุทโธโยโน ก็สั่งลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับแคนเบอร์ราไปหมาดๆ เมื่อวานนี้(20)
ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งในเมืองยอกยาการ์ตาก็ได้นำธงชาติออสเตรเลียมาจุดไฟเผาระบายความแค้นเช่นกัน แต่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนอย่างที่ตำรวจคาดการณ์
ทางฝั่งออสเตรเลียก็ได้ประกาศคำแนะนำสำหรับประชาชนที่จะเดินทางไปอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวแดนจิงโจ้นิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากนิวซีแลนด์ พร้อมเตือนให้พลเมืองจิงโจ้ในแดนอิเหนาเฝ้าระวังสวัสดิภาพของตนเองให้มากขึ้น
เมื่อวานนี้(20) ยุทโธโยโน ได้แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เรื่องการระงับความร่วมมือทั้งด้านการทหารและข่าวกรองกับออสเตรเลีย รวมไปถึงการสกัดกั้นผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความยุ่งยากรำคาญใจต่อทั้ง 2 ประเทศมานาน
รายงานของสื่อซึ่งจุดกระแสความไม่พอใจไปทั่วสังคมอินโดนีเซียนั้นมีที่มาจากเอกสารลับของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งเปิดโปงว่า หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียเคยดักฟังโทรศัพท์ผู้นำอิเหนา, สตรีหมายเลขหนึ่ง และรัฐมนตรีอาวุโสอีกหลายคน ในปี 2009
ฮัตตา ราจาซา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ระบุว่า เวลานี้ข้อพิพาทกับแดนจิงโจ้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ คีตา วีรจาวัน เอ่ยเตือนวานนี้(20)ว่า รัฐบาลอาจทบทวนความสัมพันธ์ด้านการค้ากับออสเตรเลียด้วย
การค้าระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียมีมูลค่าราว 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว โดยอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจำพวกเนื้อวัว และวัวเป็นๆ จากออสเตรเลียรายใหญ่ที่สุด ขณะที่แคนเบอร์ราก็เป็นตลาดส่งออกอันดับ 10 ของแดนอิเหนา
ในส่วนของความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียยืนยันว่ารัฐบาลได้ระงับความร่วมมือทุกด้านแล้ว รวมไปถึงภารกิจปราบปรามกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์และแก๊งค้ามนุษย์ที่ตำรวจทั้ง 2 ชาติเคยทำงานร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลียไม่ยืนยันว่าข่าวการดักฟังโทรศัพท์ผู้นำอินโดนีเซียเป็นความจริงหรือไม่ และปฏิเสธที่จะขอโทษอย่างเป็นทางการ เพียงแต่แสดงความเสียใจที่ข่าวนี้สร้างความอับอายต่อ ยุทโธโยโน และครอบครัวเท่านั้น