xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอิเหนาประกาศทบทวนสัมพันธ์ ฉุนออสซี่ ‘ไม่ขอโทษ’ ที่ดักฟังโทรศัพท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย(ซ้าย) และประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย(ขวา)
เอเจนซีส์ - อินโดนีเซียออกมาเตือนชัดๆ ในวันอังคาร (19 พ.ย.) ว่ากำลังทบทวนความร่วมมือที่มีอยู่กับออสเตรเลีย สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาที่ระบุกันว่าแคนเบอร์ราแอบดักฟังโทรศัพท์ของประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องแดนจิงโจ้ให้ทำอะไรมากกว่านี้เพื่อเยียวยาแก้ไข ภายหลังจากนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ พูดแก้เกี้ยวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย อีกทั้งปฏิเสธไม่ยอมขอโทษ

ตัวยุโธโยโนเองได้ทวิตด้วยข้อความแสดงความโกรธเคืองหลายต่อหลายรอบในวันอังคาร โดยระบุว่าสายสัมพันธ์ที่จาการ์ตามีอยู่กับแคนเบอร์ราได้เสียหายไปแล้ว และ “ผมขอตำหนิถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่มองว่า การดักฟังโทรศัพท์ในอินโดนีเซียเป็นเรื่องเล็กน้อย โดยปราศจากความสำนึกผิดแต่อย่างใด”

“การกระทำของสหรัฐฯ และออสเตรเลียสร้างความเสียหายอย่างมากต่อการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับอินโดนีเซีย” ผู้นำอิเหนาทวีตต่อ โดยอ้างอิงถึงข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ที่ว่า อเมริกาและออสเตรเลียใช้สถานทูตในจาการ์ตาเป็นศูนย์สอดแนม

ประธานาธิบดีแดนอิเหนาสำทับว่า อินโดนีเซียต้องการคำตอบอย่างเป็นทางการและสามารถเข้าใจได้จากออสเตรเลีย พร้อมประกาศว่า จะทบทวนข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีอันเนื่องมาจากการกระทำที่สร้างความเจ็บปวดนี้

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (18) จาการ์ตาได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนกลับจากกรุงแคนเบอร์รา หลังจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ออสเตรเลีย (เอบีซี) และหนังสือพิมพ์การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานข่าวว่า หน่วยข่าวกรองแดนจิงโจ้พยายามดักฟังโทรศัพท์ยุโธโยโนนาน 15 วันในเดือนสิงหาคมปี 2009 ระหว่างที่เควิน รัดด์ จากพรรคแรงงาน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย โดยสามารถดักฟังโทรศัพท์ได้อย่างน้อย 1 สาย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดต่ำสุดในกราฟความสัมพันธ์ที่ผันผวนเป็นทุนเดิมระหว่างสองประเทศ นับตั้งแต่ปี 1999 ที่ออสเตรเลียนำกองกำลังสหประชาชาติเข้าสู่ติมอร์ตะวันออก ภายหลังการเลือกตั้งนองเลือดในประเทศเล็กๆ ที่อยู่ประชิดกับแดนจิงโจ้และแดนอิเหนาแห่งนั้น และอินโดนีเซียตอบโต้ด้วยการฉีกสนธิสัญญาความมั่นคง 4 ปีกับออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาทั้งสองชาติได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวใหม่

สำหรับประเด็นขัดแย้งใหม่นี้ เอบีซีและการ์เดียนรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลลับจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสซี) ที่ระบุว่า กรมการสื่อสารทหารของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองของแดนจิงโจ้ ได้ดักฟังโทรศัพท์ยุโธโยโน ไม่เพียงเท่านั้นยังแอบดักฟังโทรศัพท์ของ คริสเตียนี เฮราวาติ ภรรยาของประธานาธิบดี ตลอดจนรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 8 คน

ที่แคนเบอร์รา นายกรัฐมนตรีแอ็บบอตต์ แสดงการรับทราบในหลักการเกี่ยวกับการรวบรวมข่าวกรอง โดยไม่ยืนยันหรือปฏิเสธรายงานดังกล่าวโดยตรง

แอ็บบอตต์ยังแถลงต่อรัฐสภาในวันอังคารว่า ตนเสียใจที่รายงานดังกล่าวทำให้ยุโธโยโนกระอักกระอ่วน แต่ปฏิเสธที่จะขอโทษหรืออธิบายตามที่อินโดนีเซียร้องขอ เนื่องจากความมั่นคงของชาติกำหนดให้รัฐบาลต้องทำดีที่สุด และรัฐบาลของตนจะสนับสนุนแนวทางรัฐบาลชุดก่อนๆ

“ออสเตรเลียไม่ควรถูกคาดหวังให้ขอโทษสำหรับขั้นตอนที่เราดำเนินการเพื่อปกป้องประเทศทั้งในขณะนี้และในอดีต เฉกเช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ควรถูกคาดหวังให้ขอโทษสำหรับขั้นตอนเดียวกันนี้ที่พวกเขาปฏิบัติไป

“หน้าที่แรกของรัฐบาลทุกประเทศคือปกป้องประเทศและส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ นั่นคือเหตุผลที่รัฐบาลของทุกประเทศเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวกรองโดยที่ทราบว่า ประเทศอื่นๆ ทั้งหมดก็ทำเช่นเดียวกันนี้”

อย่างไรก็ตาม คำแถลงเช่นนี้ของเขายังไม่อาจทำให้ยุโธโยโนพึงพอใจ โดยที่ จูเลียน ปาชา โฆษกของผู้นำอิเหนา ออกมาแถลงทันควันว่า ท่านประธานาธิบดี “เสียใจ” กับการแถลงเช่นนี้ของแอ็บบอตต์ ซึ่งทั้งไม่ได้ขอโทษและไม่ได้อธิบายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่ระบุในรายงานข่าวของสื่อต่างๆ

ความขัดแย้งทางการทูตครั้งนี้นับเป็นบททดสอบแรกๆ สำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของแอ็บบอตต์ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน และกำลังวิตกกังวลในการรักษาสัมพันธ์ที่ดีกับอินโดนีเซียก่อนที่แดนอิเหนาจะเลือกผู้นำคนใหม่ในปีหน้า

แคนเบอร์รานั้นต้องการขยายความร่วมมือกับจาการ์ตาเพื่อสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดนของผู้ที่ต้องการลี้ภัย ซึ่งอาศัยอินโดนีเซียเป็นฐานในการเดินทางต่อไปออสเตรเลีย

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเคยเรียกตัวเอกอัครราชทูตในแคนเบอร์รากลับเมื่อปี 2006 เพื่อประท้วงที่ออสเตรเลียยอมรับผู้ลี้ภัย 42 คนจากปาปัวตะวันตก ซึ่งเป็นจังหวัดขบถของอินโดนีเซีย

เกร็ก ฟีลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ออสเตรเลีย-อินโดนีเซียจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศขณะนี้ถึงจุดต่ำสุดนับจากปี 1999 และมีโอกาสแย่กว่าเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตอบโต้ของแคนเบอร์รา
กำลังโหลดความคิดเห็น