เอเอฟพี/รอยเตอร์ – บรรดาหน่วยงานสอดแนมของออสเตรเลียพยายามลักลอบดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย อีกทั้งยังตั้งเป้าจะดักฟังภริยาของเขา และพวกรัฐมนตรีอาวุโส เอกสารชุดหนึ่งเผยวันนี้ (18 พ.ย.)
เอกสารลับต่างๆ ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ เอบีซี ของออสเตรเลีย และหนังสือพิมพ์การ์เดียน ของอังกฤษ ได้มาจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้แฉโครงการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีของแดนอิเหนา และบุคคลใกล้ชิดในแวดวงอีก 9 คน ตกเป็นเป้าหมายในการสอดแนมของแดนจิงโจ้
การเปิดโปงครั้งนี้ปรากฏขึ้นเมื่อสายสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กำลังด่างพร้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ออสเตรเลียเพิ่งถูกกล่าวหาว่า ลอบสอดแนมอินโดนีเซียในกรณีอื่นๆ และทั้งสองกำลังบาดหมางกันในเรื่องนโยบายรับมือผู้ลี้ภัยที่อาศัยอินโดนีเซียเป็นทางผ่าน เพื่อขึ้นเรือเดินทางมาหาที่พักพิงในออสเตรเลีย
สำหรับคราวนี้ เอกสารเหล่านี้ชี้ว่า หน่วยงานข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ และกรมการสื่อสารทหาร ของออสเตรเลียได้แอบตามรอยยุโธโยโน ผ่านโทรศัพท์มือถือของเขานาน 15 วัน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ เควิน รัดด์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย
รายชื่อเป้าหมายในการสอดแนมยังรวมถึง รองประธานาธิบดี โบเอดิโอโน ซึ่งเพิ่งเดินทางไปเยือนออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว, อดีตรองประธานาธิบดี ยุสซุฟ กัลลา, โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารอินโดนีเซีย รายงานของสื่อออสเตรเลีย และอังกฤษเผย
นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดที่รั่วไหลออกมานี้ ยังประกอบไปด้วย สไลด์นำเสนองาน ซึ่งแสดงรายชื่อพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินโดนีเซีย และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือของพวกเขา โดยมีสไลด์หนึ่งเผยให้เห็นวิธีการที่กรมการสื่อสารทหารพยายามลอบดักฟังการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย กับเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ในไทย ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร
สถานีวิทยุโทรทัศน์เอบีซี ระบุว่าหนึ่งในเอกสารเหล่านี้มีชื่อว่า “ผลกระทบของ 3จี และการอัปเดต” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความพยายามของหน่วยข่าวกรองออสซี่ที่วางแผนจะตามให้ทันกระแสเทคโนโลยี 3จี ที่เพิ่งเปิดตัว ในอินโดนีเซียและทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ มีการระบุช่องทางต่างๆ ในการดักฟัง ตลอดจนรับรองเสนอแนะช่องทางที่ควรเลือกใช้ และนำไปใช้กับผู้ตกเป็นเป้าหมาย ซึ่งในกรณีนี้คือผู้นำของอินโดนีเซีย
เอกสารล่าสุดของสโนว์เดนชุดนี้ ได้รับการนำออกเผยแพร่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังมีรายงานออกมาว่า สถานเอกอัครราชทูตของออสเตรเลียในประเทศต่างๆ เป็นต้นว่า ในจาการ์ตา รวมทั้งกรุงเทพฯ มีส่วนพัวพันกับเครือข่ายสอดแนมอันกว้างขวางที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ซึ่งจุดชนวนให้มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศของแดนอิเหนา ออกมาแสดงท่าทีโกรธเกรี้ยว
ภายหลังจากการเปิดโปงครั้งนั้น หนังสือพิมพ์การ์เดียนยังรายงานเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ได้เพิ่มการจับมือกันดำเนินปฏิบัติการสอดแนมประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2007 ที่เกาะบาหลี