เอเอฟพี - ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันพุธ(20) สั่งระงับความร่วมมือกับออสเตรเลีย ในประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องผู้อพยพแล้ว พร้อมตำหนิพฤติกรรม "สงครามเย็น" ของแคนเบอร์รา ตามหลังมีคำกล่าวอ้างว่าถูกออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์ ทว่า โทนี แอบบอตต์ ผู้นำแดนจิงโจ้ ยืนกรานเสียงแข็งไม่กล่าวคำขอโทษ พร้อมโบ้ยๆรัฐบาลไหนๆก็ทำและอิเหนาเองก็เคยยอมรับสอดแนมผู้อื่นเช่นกัน
ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ยังแถลงด้วยว่าความร่วมมือด้านอื่นๆกับออสเตรเลีย ในนั้นรวมถึงการซ้อมรบทางทหารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง ก็จะถูกระงับชั่วคราวเช่นกัน อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่สุดของรัฐบาลใหม่ของนายโทนี แอบบอตต์ คือเรื่องผู้อพยพ ขณะที่ทางการออสเตรเลีย พยายามยับยั้งการหลั่งไหลของผู้ต้องการลี้ภัยที่ล่องเรือมาจากอินโดนีเซีย
การระเบิดอารมณ์ด้วยความโกรธแค้นครั้งล่าสุดของอินโดนีเซียหนนี้ เป็นผลมาจากเอกสารลับที่เปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้แฉโปรแกรมสอดแนมของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์ของประธานาธิบดีแดนอิเหนา ภรรยาและเหล่าคณะรัฐมนตรีในปี 2009
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อินโดนีเซีย ได้เรียกเอกอัครราชทูตประจำแคนเบอร์รากลับประเทศ ส่วน ยุโธโยโน ก็ตำหนินายแอบบอตต์อย่างรุนแรงบนทวิตเตอร์ต่อพติกรรมที่ขาดการสำนึกผิด
ถ้อยแถลงระงับความร่วมมือต่างๆในวันพุธ(20) มีขึ้นตามหลังการประชุมฉุกเฉินที่ทำเนียบประธานาธิบดี และ ยุโธโยโน กล่าวด้วยความฉุนเฉียวว่า "โดยส่วนตัว และในนามของอินโดนีเซีย การดักฟังโทรศัพท์ของออสเตรเลีย เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะนี่มันไม่ใช่ยุคสงครามเย็นแล้ว" พร้อมระบุต่อว่าความร่วมมือทางการทหาร ในนั้นรวมถึงปฏิบัติการร่วมยับยั้งคนลอบเข้าเมืองจะถูกระงับจนกว่าทุกอย่างจะได้รับการขจัดไปหมดแล้ว
ด้านนายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเสริมว่าถ้อยแถลงของประธานาธิบดีหมายถึงว่าทุกความร่วมมือเกี่ยวกับประเด็นคนลอบเข้าเมืองจะหยุดไว้ก่อน "ทุกอย่างได้ถูกระงับไว้เพราะออสเตรเลียชอบที่จะรวบรวมข้อมูลในแนวทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย" เขากล่าว
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนายยุโธโยโน ถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของนายแอบบอตต์ ซึ่งเพิ่งก้าวสู่อำนาจในเดือนกันยายน ด้วยนโยบายเข้มข้นต่างๆนานาในการยับยั้งการหลั่งไหลมายังออสเตรเลียของเรือผู้ลี้ภัย ในนั้นคือการผลักดันเรือเหล่านั้นมุ่งหน้ากลับไปยังอินโดนีเซีย
ในแต่ละปีผู้อพยพหลายพันคน ส่วนใหญ่จากอิหร่านและอัฟกานิสถาน มักล่องเรือที่ทำจากไม้อันเปราะบางไปยังอินโดนีเซีย เพื่อข้ามทะเลไปยังออสเตรเลีย และโดยปกติแล้วคนเหล่านั้นต้องจ่ายเงินกับพวกพาลักลอบเข้าเมืองจำนวนมากด้วย ขณะที่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีหลายร้อยคนต้องมาเสียชีวิตระหว่างการเดินทางที่สุดอันตรายนี้
ยุโธโยโน บอกด้วยว่ามีแผนจะส่งหนังสือถึง แอบบอตต์ เป็นการส่วนตัวเพื่อขอให้เขาอธิบายในประเด็นดักฟังโทรศัพท์ "ผมยังหวังและก็มั่นใจว่าออสเตรเลียเองก็หวังเช่นกัน ว่าเราจะสามารถร่วมมือกันได้หลังผ่านพ้นปัญหานี้" ขณะที่นายแอบบอตต์ ก็ออกมาขานรับอย่างรวดเร็วและอย่างสุภาพ รวมทั้งแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและด้วยความจริงใจต่อความลำบากใจอันมีต้นตอจากข้อกล่าวหาสอดแนม
อย่างไรก็ตามเป็นอีกครั้งที่เขาปฏิเสธกล่าวคำขอโทษ แม้ทาง จาการ์ตา ได้ส่งเสียงโกรธเคืองซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อปฏิกิริยาของออสเตรเลีย ทีไม่ยอมกล่าวคำขอโทษหรือออกมาอธิบายอย่างชัดเจนต่อข้อกล่าวหาดักฟังโทรศัพท์
ก่อนหน้านี้ในวันพุธ(20) นายแอบบอตต์ ยังกล่าวต่อรัฐสภาว่า "ผมขอย้ำว่าแม้มีข้อกล่าวหาต่างๆและในอดีตมีการยอมรับในเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นก็ไม่มีการแสดงปฏิกริยาที่มากเกินไป และส่วนตัวผมเองก็ตั้งใจว่าจะไม่แสดงปฏิกริยาที่เกินพอดีเช่นกัน" ดูเหมือนว่าเขาจะอ้างถึงรายงานในสื่อมวลชนออสเตรเลีย ซึ่งอ้างคำกล่าวของอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียที่ออกมายอมรับว่าพวกเขาก็มีปฏิบัติการสอดแนมลักษณะนี้เหมือนกัน พร้อมระบุด้วยว่าทุกรัฐบาลในโลกนี้ต่างก็ดักฟังการติดต่อสื่อสารของชาติอื่นๆเช่นกัน
สถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลีย และหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ได้รับเอกสารลับเผยแพร่โดยนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ระบุว่าประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และคนในแวดวงใกล้ชิดเขาอีก 9 คนว่าเป็นเป้าหมายของการสอดแนมของหน่วยข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ออสเตรเลีย เป็นเวลา 15 วัน ในเดือนสิงหาคม 2009 ช่วงที่นายเควิน รัดด์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้
ส่วนคนอื่น ๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในเป้าหมายถูกสอดแนมยังรวมไปถึงนางแอนี ภรรยาของยุโธโยโนประธานาธิบดีโบเอดิโอโน ซึ่งเดินทางไปออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ก่อน อดีตรองประธานาธิบดียูซุฟ คาลลา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีความมั่นคง และรัฐมนตรีข่าวสาร