xs
xsm
sm
md
lg

กนง.จับตาไตรมาสแรก ลุ้นส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -  ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยการประชุม กนง.ครั้งต่อไป เตรียมพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจช่วง มี.ค.-เม.ย. ก่อนปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ แต่ยังมองในแง่ดีขณะนี้ไม่ถึงขนาดถดถอย ลุ้นปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวได้ และการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว หลังรัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ยันถ้าลดดอกเบี้ยลงอีกคงไม่ได้ผลและสูญเปล่า

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวระหว่างเดินทางไปชี้แจงเรื่องภาวะเศรษฐกิจไทยต่อคณะกรรมาธิการ การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินว่า ธปท.จะปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงจากปัจจุบันคาดไว้โต 2.7% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่จะเข้ามาใหม่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย.57 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ยอมรับว่าอุปสงค์ในประเทศชะลอลงชัดเจน แต่เชื่อว่ายังมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวได้ และการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว หลังรัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วเหตุการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี

    นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แม้จะชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการเร่งตัวขึ้นสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านั้น ธปท.ยังคงติดตามและเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีความเสี่ยงอาจเกิดปัญหาหนี้เสียอย่างใกล้ชิด

    นายประสารยอมรับมีความเป็นไปได้ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/57 จะถดถอยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่คงต้องติดตามไตรมาส 2/57 ว่าจะติดลบหรือไม่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/57
"แม้จะติดลบก็ต้องดูรายละเอียดว่ามีการจ้างงานและภาคธุรกิจยังดำเนินกิจการต่อไปได้หรือไม่ เพราะถ้าปัจจัยต่างๆ ยังเดินหน้าต่อไปได้ ก็ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวล" นายประสารกล่าวและว่า ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ได้อยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 56 จนถึงปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 2% ต่อปีตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และแนวโน้มเศรษฐกิจยังเป็นไปในทิศทางที่ลงมากกว่าขึ้น เพราะในอนาคตยังมีความไม่แน่นอน แต่ทั้งนี้นโยบายการเงินไม่สามารถทดแทนนโยบายการคลังในยามที่มีข้อจำกัดได้ทั้งหมด เนื่องจากสาเหตุของการชะลอทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากภาวะการเงินที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
"หากต้องการให้นโยบายการเงินลดดอกเบี้ยลงอีกจากปัจจุบันอยู่ที่ 2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจใช้ไม่ได้ผลในยามนี้ เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากปัญหาภาวะการเงิน ดังนั้นหากขืนใช้ไปอาจเสียกระสุนแล้วไม่ได้ผล"

    ทั้งนี้ หากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมาจากปัญหาการเมือง ฝ่ายการเมืองควรเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะถ้าใช้นโยบายการเงินเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และ ธปท.ต้องใช้นโยบายการเงินแบบระมัดระวัง เพราะภาวะการเงินโลกกำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ย หลังยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ดังนั้นนโยบายการเงินต้องเตรียมพร้อม เพื่อดูแลภาวะการไหลออกของเงินทุนที่จะกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ.
กำลังโหลดความคิดเห็น