xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับ “จีดีพี” ไตรมาส 1/57 ติดลบ แต่ยังไม่เลวร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้ ศก.ไทยยังไม่เลวร้าย แม้ว่า “จีดีพี” ไตรมาส 1/2557 จะติดลบ แต่ยังไม่เลวร้าย เนื่องจากอัตราว่างงานยังต่ำ และธุรกิจยังเดินหน้าตามปกติ พร้อมเกาะติดไตรมาส 2 หากยังติดลบอาจเข้าสู่ภาวะ ศก. ถดถอยทางเทคนิค ลั่นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะต้องดูที่เนื้อแท้ของ ศก. เป็นหลัก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 โดยต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2557 ก่อน หากออกมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะต้องดูที่เนื้อแท้ของเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากการจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การว่างงานต่ำ และการประกอบธุรกิจยังดำเนินปกติ เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อเนื่องได้ และมีแนวโน้มที่อาจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ดังนั้น ไม่อยากให้น้ำหนักกับนิยามของคำว่าเศรษฐกิจถดถอย โดยดูจากจีดีพีที่ติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาสมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ธปท. จะพิจารณาปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลง จากปัจจุบันคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมีนาคม-เมษายน 2557 ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบใหม่ วันที่ 18 มิถุนายน 2557 แต่จากข้อมูลเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขการบริโภคและการลงทุนยังชะลอตัวลง แต่การส่งออกดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าดีขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวมีสัญญาณดีขึ้นเช่นกัน หลังจากรัฐบาลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ส่วนนโยบายการเงินจะผ่อนคลายต่อไปหรือไม่ ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ต้องดูว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาจากปัญหาเรื่องใด หากมาจากปัญหาการเมือง ฝ่ายการเมืองควรไปเจรจากันเพื่อหาทางออก เพราะถ้าใช้นโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกก็จะไม่เป็นผล เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการเสียกระสุนโดยไม่มีประโยชน์ ธปท. ต้องใช้นโยบายการเงินแบบระมัดระวัง เพราะภาวะการเงินโลกกำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ย หลังยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ดังนั้น นโยบายการเงินต้องเตรียมพร้อม เพื่อดูแลภาวะการไหลออกของเงินทุนที่จะไหลกลับไปยังสหรัฐฯ และนโยบายการเงิน ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้สารพัดโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น