xs
xsm
sm
md
lg

แฉกปปส.ไม่แตะสัมปทานน้ำมัน ดอดถกลับพลังงาน ‘ณรงค์’ซัดทุกพรรคเอี่ยวผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” แฉ บุคคลสำคัญ กปปส.แอบประชุมร่วมกับคนของกระทรวงพลังงานและ ปตท.ในสปอร์ตคลับ ไม่เชิญกรรมาธิการ ส.ว. ร่วม “ปิยสวัสดิ์” นั่งประธานเอง ก่อนเชิญภาคประชาชนออกนอกห้อง หลังซักถามหนัก ตั้งคำถาม เป็นที่มา “อรรถวิชช์” ขึ้นพูดเรื่องพลังงาน โดยไม่แตะต้อง “ต้นน้ำ” คือระบบสัมปทานหรือไม่ ด้าน“ณรงค์ โชควัฒนา”จวกวงการพลังงานไทยสุดฉ้อฉล ทุกพรรคมีเอี่ยวผลประโยชน์ แนะวิธีทวงคืนปตท. ต้องควบคุมราคาน้ำมัน ให้หุ้นราคาตก แล้วรัฐบาลซื้อคืน “ไพศาล”เตือนกองทัพเผชิญ 4 กองกำลัง ประเทศจะเหมือนซีเรีย ต้องปฏิวัติเด็ดขาดแบบจอมพลสฤษดิ์ แนะรอง ปธ.วุฒิฯ ทูลเกล้าฯ นายกฯ มาตรา 7


วานนี้ (23 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว(ประมาณวันศุกร์ช่วงเย็นถึงค่ำ) ที่สปอร์ตคลับ ห้องสจ๊วตบอกซ์ บุคคลสำคัญในเวที กปปส.ได้มีการประชุมด้านพลังงานอย่างเงียบๆ โดยไม่เชิญส่วนของคณะกรรมาธิการ ส.ว.(น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) เข้าร่วมด้วย

โดยการประชุมวันนั้นมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน เป็นประธาน มีนางอานิก อัมระนันทน์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายกษิต ภิรมย์ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และนายมนูญ ศิริวรรณ คนของ ปตท.และกระทรวงพลังงาน ฯลฯ
นายปานเทพ ระบุต่อ วันนั้นในช่วงแรกมีภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย เมื่อถามมากเข้า ได้ทราบว่านายปิยสวัสดิ์ก็เชิญออกนอกห้องประชุม อ้างว่าไม่ได้เชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย นี่อาจเป็นที่มาของกรณีที่นายอรรถวิชช์ได้พูดเรื่องพลังงานบนเวที กปปส.ตามที่ได้หารือในการ “จำกัดขอบเขต” ไม่ให้ก้าวไปแตะถึง “ต้นน้ำ” คือระบบสัมปทาน ใช่หรือไม่

“ผมขอถามคนที่ผมกล่าวถึงนี้ว่าเป็นจริงหรือไม่? แล้วเพราะอะไรคุณปิยสวัสดิ์ถึงเป็นประธานในที่ประชุมในวันนั้น?” นายปานเทพกล่าว

นอจากนี้ นายปานเทพ ยังได้โพสต์ภาพเอกสารประกอบการประชุมดังกล่าว พร้อมอธิบายว่า เอกสารประกอบการประชุมของคณะบุคคลสำคัญที่สปอร์ตคลับที่เต็มไปด้วยบุคคลสำคัญ ในพรรคประขาธิปัตย์ กปปส. ปตท. กระทรวงพลังงาน ที่เต็มไปด้วยเอกสาร “ด้านเดียว” ปกป้องระบบสัมปทานที่คุณอรรถวิชช์ ที่เป็น 1 ในที่ประชุม ได้รับอนุญาตให้พูดเรื่องพลังงานบนเวทีหลักของ กปปส.เพียงคนเดียว ซึ่งบังเอิญที่คุณอรรถวิชช์ ปราศรัยนั้นยังคงปกป้องระบบสัมปทานเหมือนเอกสารที่แจกในที่ประชุม และธงของคุณปิยสวัสดิ์ จริงหรือไม่? นี่หรือครับคือสิ่งที่กำลังเรียกว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์?

*** "ณรงค์-ไพศาล"ฉะวงการพลังงานสุดฉ้อฉล

ต่อมา รายการสภาท่าพระอาทิตย์ วันที่ 23 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้ดำเนินรายการ สนทนรากับนายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจและนักวิชาการอิสระ และนายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประเด็นแรกเรื่องทิศทางการปฏิรูปพลังงานไทย โดยนายณรงค์กล่าวว่า ประเทศเรามีน้ำมันที่ อ.ฝางมา 80 กว่าปีแล้ว และเราขุดมานานแล้ว และยังมีน้ำมันอยู่ มีบางคนโกหกว่าค่าขุดเจาะน้ำมันในทะเลวันหนึ่ง 10 ล้านบาท และอ้างว่าเจาะ 10 หลุมจะเจอ 1 หลุม ทั้งที่ ปตท.สผ.ประกาศเองว่าในทะเลอ่าวไทยเจาะ 3 หลุม เจอ 2 หลุม ซึ่งตรงกับข้อมูลของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่บอกว่าในอ่าวไทยเจาะ 10 หลุมจะเจอ 7 หลุม ขณะที่บนบกเจาะ 2 หลุมเจอ 1 หลุม
นอกจากนี้ ยังมีการโกหกอีกว่า ในอ่าวไทยไม่มีน้ำมัน มีแต่แก๊ส ซึ่งเราก็เดินท่อมาขึ้นโรงงานแยกก๊าซที่ระยอง น้ำมันมีน้อย ค่าขุดเจาะก็แพง เพราะฉะนั้นต้องให้สัมปทานในราคาที่ถูก ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครมาขุดเจาะ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการหลอกลวงทั้งหมด เพราะในโลกนี้ที่ไหนมีบ่อแก๊สก็ต้องมีน้ำมันเพราะมันอยู่รวมกันโดยธรรมชาติ ก็มาอ้างว่าเรามีแต่แก๊ส น้ำมันก็มีเป็นกะเปาะเล็กๆ เอาค่าสัมปทานมากไม่ได้ คิดค่าภาคหลวงแค่ 5 เปอร์เซนต์ ถ้าเจอน้อยก็ลดให้อีก 90 เปอร์เซ็นต์ของ 5 เปอร์เซ็นต์นั้น พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเป็นแบบนี้ ซึ่งจะต้องแก้ไข เพราะคนสำรวจก็บอกมีน้อยไว้ก่อน จะได้จ่ายค่าสัมปทานถูกๆ

“ท่อแก๊สเราคิดว่าเรามีท่อเดียว แต่ที่จริงมันยั้วเยี้ยไปหมด วันนี้เรามีโรงแยกแก๊ส 6 โรง เพราะโรงเดียวไม่พอ แต่ทุกหลุมขุดเจาะมีการเผาแก๊สทิ้งเพราะถ้าไม่มีโรงแยกมันเก็บไว้ไม่ได้ ต้องส่งทางท่อไปขาย ซึ่งในอเมริกามีการส่งทางท่อไปขายประชาชขน แต่ของเราไม่ยอมทำโรงแยกแก๊สที่ 7 8 9 เราเผาทิ้งที่หลุมเลยแล้วไปซื้อจากพม่า มาใช้ ขณะที่แก๊สจากพื้นที่ร่วมไทยมาเลเซียเราขายกิโลกรัมละ 66 สตางค์ แต่เราซื้อจากพม่ามากิโลกรัมละ 12 บาท มันเป็นการฉ้อฉ้ผล ผลประโยชน์มหาศาลทางทะเลของประเทศเรามันหายไปไหน”
ขณะเดียวกันประเทศไทยมี 500,000 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) แต่ให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันแก่เอกชนรายหนึ่ง 50,000 ตร.กม. แปลว่า 10 บริษัทก็หมดประเทศแล้ว นอกจากนั้นยังแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไม่จำกัดพื้นที่สัมปทานอีก ในปี 50 สมัยรัฐบาล คมช.และให้พื้นที่สัมปทานเอกชนรายเดียวถึง 1 แสน ตร.กม. ขณะที่พื้นที่ที่มีศักยภาพในการขุดเจาะน้ำมันทั้งประเทศมี 270,000 ตร.กม. แต่ประเทศให้เอกชนรายเดียวเป็นแสน

“การให้สัมปทานนั้น แทนที่จะดูที่ผลประโยชน์ที่เอกชนให้กับรัฐ ใครให้มากที่สุดก็ได้ไป แต่ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แหล่งไหนเจอน้ำมันมากเก็บ 5% แหล่งไหนเจอมากขึ้นไปอีกก็เก็บมากขึ้นหน่อยแต่ไม่เกิน 15% แหล่งไหนถ้าเจอน้อยมากๆ ก็ลดให้ 90% จากอัตรา 5%ภาพรวมประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน เราส่งออกข้าวและยางพารามากที่สุดในโลก คิดมูลค่ารวมกันก็ตกปีละ 3 แสนล้านบาท แต่วันนี้เราส่งออกปิโตรเลีย ปีละ 4 แสนล้านบาทแล้วตามข้อมูลของศุลกากร ทันทีที่รัฐบาลให้สัมปทานเอกชนยังไม่ต้องจ่ายเงินจนกว่าจะสูบน้ำมันออกมาแล้วรัฐก็เก็บ 5-15% ของกำไร แต่ไม่ค้อยได้ เพราะเขาจะหักค่าใช้จ่ายมากมาย และขายราคาถูกให้บริษัทลูก เอากำไรไปซ่อนไว้ที่บริษัทลูก ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองไหนในอดีตที่มีอำนาจรัฐแล้วมาแก้ไขตรงนี้ เราจึงเสียเปรียบตลอด ประเทศอื่นเขาใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตน้ำมัน น้ำมันที่ขึ้นมาจากหลุมเจาะ รัฐได้ไป 80-90% บริษัทขุดเจาได้ 10-20% ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลก 90% ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตทั้งสิ้น แต่ของเรายังเป็นระบบสัมปทาน บ่อน้ำมันก็เป็นของเอกชน เราเข้าไปตรวจสอบก็ไม่ได้ เขาห้ามเข้า เพราะถือเป็นพื้นที่ของเขา เราก็รอเก็บค่าสัมปทานถูก ๆ 5-15% เรื่องแบบนี้ทำไมเราไม่แก้ไข”

นายณรงค์กล่าวต่อว่า ถ้ายังใช้ข้อมูลนี้มาหลอกคนไทยทุกวัน มันน่าเกลียดจริงๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐแทนที่จะดูแลผลประโยชน์ให้รัฐ แต่กลับไปดูแลผลประโยชน์บริษัทขุดเจาะน้ำมัน นอกจากนี้ การให้สัมปทาน แทนที่จะดูผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ กลับไปดูที่ความน่าเชื่อถือด้วยการให้คะแนนด้านต่างๆ เหมือนกับจะล็อกไว้ว่าจะให้บริษัทนี้ ส่วนพ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยม ไทยก็ให้สหรัฐอเมริกามาทำ และจ้างผู้เชี่ยวชาญสวิสมาดู แล้วไปเลียนแบบลิเบียที่เป็นอาณานิคม เอามาเป็นต้นแบบ และมาถึงวันนี้ก็มีแต่แก้ให้เป็นประโยชน์แก่ต่างชาติตลอดเวลา ให้พื้นที่สัมปทานถึง 5 หมื่น ตร.กม. ในโลกนี้ไม่มีใครโง่ขนาดนั้น เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รอบบ้านเราไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา เวียดนาม เขาเปลี่ยนกันหมดแล้ว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไม่มีเลยที่จะใช้ระบบบ้าบอแบบนี้ น่าอายเพื่อนบ้านเขา

ด้านนายไพศาลกล่าวว่า เรามีเวรรกรม ถูกนักการเมืองหลอกต้มจนเปี่อย เรามีพลังงานมากที่สุดในย่านนี้ แต่ทรัพยากรเหล่านี้ถูกปล้นไปให้ต่างชาติมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นถ้าปฏิรูปแล้วต้องยึดพลังงานเป็นของรัฐ อย่าลืม แค่ท่ออย่างเดียวเหลวไหล มันเป็นของชาติอยู่แล้ว ยังจะยกให้เขาอีก แต่ดีว่าศาลปกครองให้ยึดเป็นของแผ่นดิน น้ำมันและแก๊สเป็นของประเทศชาติ ของคนไทยทุกคน จะปล่อยให้เขาปล้นได้ไง ต้องระวังพวกที่แทรกซึมเข้ามาตีกิน ตอนทหารปฏิวัติเขายังเข้ามาได้เลย

“ปตท.วันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ให้เกิดการแข่งขัน แต่อาศัยอำนาจรัฐในการเป็นเจ้าของท่อ ทั้งที่ศาลตัดสินแล้วแต่ยังไม่ส่งคืน อาศัยการผูกขาดนี้เป็นตัวกลางในการฮั้วขึ้นราคา ไปซื้อหุ้นในโรงกลั่นทั้งหมด ยกเว้นทีพีไอที่เจ้าของไม่ยอม แล้วเข้าไปบริหารจัดการฮั้วให้เสร็จ เมื่อ ปตท.ขึ้นราคา บริษัทอื่นก็ขึ้นด้วยกัน ทุกยริษัทจึงร่ำรวยกันหมด จากที่เคยจะเจ๊ง เช่น บางจาก แต่เราก็จะเห็นว่า ปั๊มยี่ห้ออื่นค่อยๆ หายไป แล้วมี ปตท.ขึ้นมาแทน นอกจากนี้ ปตท.มีกำไรหลายแสนล้านบาทแล้วยังไปจดทะเบียนบริษัทในหมู่เกาะไม่เสียนภาษี เช่น บริติช เวอร์จิน เกาะเคย์แมน บริษัทลูกของรัฐไปจดทะเบียนอย่างนั้นไม่ได้ มันฉ้อฉล แต่นักการเมืองที่เข้าไปมีอำนาจรัฐได้ประโยชน์ก็ปล่อยปละละเลย ทุกพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลได้ประโยชน์ทั้งนั้น”

นายณรงค์กล่าวต่อว่า การเอา ปตท.คืนมานั้นง่ายมาก และไม่ควรเอางบประมาณ เอาภาษีของประชาชนไปซื้อ วิธีการคือ ควบคุมราคา ไม่ให้เขาหากำไรโดยมิชอบ ทำให้เขาขาดทุน ไม่ให้กำไรบ้าๆ บอๆ แบบนี้ ถ้าจะจัดการควบคุมราคา หุ้นก็จะตกหมด คนที่ถือไว้ก็จะทิ้งหมด หรือเรียกค่าเสียหายจากการที่ให้ประชาชนเสียประโยชน์ ราคาหุ้นจะตกทันทีเลย รัฐบาลก็ซื้อหุ้นกลับมาได้ง่ายๆ นอกจากนี้ ถ้าจะยึดสัมปทานน้ำมันมาเลยก็ยังทำได้ เพราะบริษัททำผิดกฎหมายที่ไม่แจ้งจำนวนที่แท้จริง ทุกบริษัททำผิดหมด

ขณะที่นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้ามีการปฏิวัติไม่ว่าโดยืทหาร หรือปฦฏิวัติประชาชน ถ้าไม่ทำเพื่อประโยชน์ของชาติก็เสียของเปล่า และไม่ควรที่ประชาชนจะเข้าร่วมด้วย ถ้ายังวนอยู่ในเรื่องประโยชน์ส่วนตัวหรือของพรรคอยู่ ก็ถอยดีกว่า มันปฏิวัติกี่ครั้งแล้ว และเงินมันก็ซื้อกองทัพได้ด้วย ต้องระวังว่ารัฐบาลนี้ อาจปฏิวัติตัวเอง เพราะการนิรโทษกรรม มันทำไม่ได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย มันมีวิธีเดียวคือปฏิวัติตัวเอง ซึ่งอาจจะมีการสร้างความรุนแรงขึ้นมาแล้วใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติตัวเอง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ สร้างรัฐธรรมนูญของตัวเองขึ้นมาใหม่ ให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป

ประเด็นต่อมา รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ได้มีการสนทนาถึงทิศทางการเมือง หลังจากที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ โดยนายไพศาล กล่าวว่า การรอให้มะม่วงหล้นใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่ใช่มะม่วงจริง แต่ถ้าปฏิวัติ ต้องแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำเลย และจะไม่เข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะมีการนัดชุมนุมใหญ้วันที่ 29 มี.ค.นี้แล้ว ขณะที่อีกฝ่ายนัดวันที่ 5 มันใกล้เคียงกับปี 49 แล้ว ต้องคิดว่าสถานการณ์แบบนี้เราจะเตรียมตัวอย่างไร

ส่วนกรณี ประธานวุฒิสภา(นายนิคม ไวรัชพานิช) ก็ถูก ป.ป.ช.มูลแล้ว ตอนนี้รองประธานวุฒิฯ ที่ทำหน้าที่รักษาการประธานวุฒิฯ มองว่า ถ้าต้องเสนอนายกฯ มาตรา 7 รองประธานวุฒิฯนั่นล่ะ มีหน้าที่ต้องทำ เพราะคือความรับผิดชอบของรองประธานวุฒิ ที่ต้องทำหน้าที่ประธานวฒิฯ และประธานรัฐสภาด้วย
“ต้องเจรจากันทุกฝ่าย ต้องไปปรึกษาผู้มีขีดความสามารถในการยึดอำนาจ คือ ผบ.เหล่าทัพ ไปขอความเห็น แล้วไปถามพรรคเพื่อไทย แกนหลักของรัฐบาล หรือไปถาม พ.ต.ท.ทักษิณเลยว่าจะเอาอย่างไร แล้วไปพบประธานองคมนตรี ไปถามท่าน รวมทั้งไปพบ กปปส. พบหลายๆ กลุ่มยิ่งดี หลังจากนั้นก็นำความกราบบังคมทูล ซึ่งท่านจะตั้งใครก็แล้วแต่ท่านตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจได้ดี มันก็หยุดการนองเลือดก่อนเดือน เม.ย.ได้ และต้อทำให้ดี ไม่เช่นนั้นจะวุ่นวายไปกันใหญ่”

นอจากนี้ กองทัพกำลังเผชิญกับกองกำลังติดอาวุธและกองกำลังรับจ้างจากต่างด้าวแบบปี 53 ส่วนจะมากหรือน้อยกว่าเดิมไม่รู้ และต้องเผชิญเพิ่มอีก 2 คือกองกำลังอาสาแบบคอมมิวนิสต์ที่คนเสื้อแดงประกาศรับสมัคร เป็นการตั้งกองกำลังท้องถิ่นขึ้นมาต่อสู้กับทหารและกองทัพไทย และขบวนที่ 4 คือการเอากองกำลังก่อความไม่สงบในภาคใต้ แล้ว ฝ่ายความมั่นจะปล่อยให้ 4 ขบวนการนี้ทำบ้านเมืองเป็นซีเรียเป็นอิรักก่อน แล้วบอกว่าท่านเกษียณแล้วอย่างนั้นหรือ

นายณรงค์กล่าวเสริมว่า ทางออกต้องรัฐประหาร ตนไม่เรียกปฏิวัติ คนทำคือกองทัพ ถ้าไม่ทำอะไร กองทัพจะแตกได้ ถ้าทักษิณรัฐประหารตัวเองและซื้อกองทัพได้ ซึ่งจะซื้อได้บางส่วน ไม่ทั้งหมด นั่นจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ตนจึงไม่คิดว่า ทักษิณจะรัฐประหารตัวเองสำเร็จ จะเกิดสงครามกลางมืองประเทศจะเสียหายมหาศาล

ทั้งนี้ คนทำไม่ต้องเป็นเผด็จการแบบจอมพลสฤษดิ์แต่ต้องเข้มแข็ง แล้วจะคืนอำนาจให้ประชาชนคนไทย แบบรัชกาล 7 มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ไม่หน้อมแน้มประนีประนอม นั่นเพราะการขจัดเผด็จการทุนนิยมหรือเผด็จการจากการเลือกตั้ง จะใช้วิธีการที่นิ่มนวลไม่ได้ ถ้าใช้กฎหมายก็สู้กันถึง 3 ศาล มันยาวมาก ต้องรัฐประหาร แต่อาจไม่ต้องเป็นเผด็จการแบบจอมพลสกฤษดิ์ แต่ต้องเข้มแข็ง เหมือนที่สหรัฐอเมริกาทำกีบญี่ปุ่น ทำกับเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง จัดการความชั่วร้ายทั้งหมดให้เด็ดขาด ถึงจะสถาปนาอำนาจประชาชนขึ้นมาได้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ตั้งสภาประชาชน แค่จะตั้งใคร ใครจะตั้งก็ทะเลาะกันแล้ว กองทัพต้องทำหน้ที่ แต่ไม่หน่อมแน้มเหมือนเมื่อก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น