xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทีดีอาร์ไอ กับ สถานการณ์การคอร์รัปชั่นในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อนมี เวทีสัมมนา ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ในหัวข้อเรื่อง "ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย"

มีการเสนอผลวิจัยเพื่อเผยแพร่ผลสำรวจและประสบการณ์เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยในปัจจุบัน และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาฐานข้อมูลสถิติและดัชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

มีการเผยแพร่ผลวิจัยหลายเรื่อง เช่น 1. Corruption Indicators โดย ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ 2. ดัชนีการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย: ต่างชาติเขามองเราอย่างไร โดย ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ 3. ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย โดย รศ.ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

4. ตัวอย่างโพล พ.ศ. 2556-2557 ที่เกี่ยวข้องกับทุจริตคอร์รัปชัน โดย ผศ.ดร. สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” 5. ดัชนีคอร์รัปชันบอกอะไรเราบ้าง เกี่ยวกับลักษณะของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย โดย ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. สรุปผลการศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย (ขั้นตอนที่ 2: การศึกษาเชิงปริมาณ) โดย คุณกิตติเดช ฉันทังกูล สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย 7. การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างช่วยป้องกันทุจริตคอร์รัปชันได้หรือไม่ โดย รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ 8. การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและทุจริตคอร์รัปชัน โดย คุณธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ

เริ่มด้วย ดร.เดือนเด่น จากทีดีอาร์ไอ ให้ข้อมูลว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานกว่า 40 ปีจะมีคอร์รัปชั่นลดลง แต่กรณีของไทยไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไทยมีประชาธิปไตยมายาวนาน 80 ปีแล้ว หากนับตั้งแต่ปี 2475 แต่มีประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ จึงยากที่จะนับว่าเรามีประชาธิปไตยมากี่ปี และที่ปัญหาคอร์รัปชั่นไทยไม่ลดลงก็ต้องทบทวนว่าเพราะเหตุใด

แม้ไทยมีองค์กรตรวจสอบความโปร่งใสจำนวนมากแต่คอรัปชั่นนั้นไม่ลดลงจึงต้องทบทวนการทำงานตรวจสอบขององค์กรเหล่านั้นด้วยว่าอิสระจริงหรือไม่ในการทำงาน เนื่องจากยังมีบางองค์กรอิสระที่ต้องพึ่งนโยบายรัฐอยู่ จึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในการทำงาน

ส่วนการคอร์รัปชั่นที่กระทบภาคธุรกิจ พบว่า ปัญหาชัดเจนที่อ้างอิงได้จากดัชนีที่ต่างชาติจัดทำคือ ภาคการเมืองคอร์รัปชั่น ส่วนจุดแข็งคือภาคธุรกิจและการเงิน จึงน่าเสียดายที่การเติบโตของไทยถูกถ่วงน้ำหนักจากภาคการเมือง คอร์รัปชั่นที่เกิดจากภาคการเมืองมาทำร้ายธุรกิจไทย

ขณะที่ “ดร.บุญวรา สุมะโน” นักวิชาการประจำดีดีอาร์ไอ ผู้ให้ข้อมูลผลวิจัยหัวข้อ"ดัชนีการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย : ต่างชาติเขามองเราอย่างไร" ระบุว่า หากอ้างอิงตามดัชนีชี้วัดคอรัปชั่น หรือ ซีพีไอ ที่จัดทำโดยองค์กรวัดความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งจัดอันดับในทุกๆ ปี จะเห็นว่า สถานการณ์คอรัปชั่นในไทยแย่ลงตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2553-2556 ไทยได้รับอันดับแย่ลงตามลำดับคือ อันดับที่ 78, 80, 88 และ 102

ขณะที่ องค์กรวัดความโปร่งใสยังมีดัชนีอีกตัวที่วัดความเห็นประชาชนในประเทศนั้นๆ ที่มีต่อการคอรัปชั่นในประเทศต่างๆ เรียกว่า มาตรวัดคอร์รัปชั่นโลก (Global Corruption Barometer) ซึ่งคำถาม 12 ข้อที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น เช่น คุณเห็นว่าสถาบันใดในประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด และ จากประสบการณ์ของคุณ หน่วยงานภาครัฐใดที่คุณเคยติดสินบน

โดยผลการสำรวจพบว่า “ตำรวจและพรรคการเมือง” เป็นองค์กรที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดในไทยปี 2556 และคนไทยเคยติดสินบนให้ตำรวจมากที่สุดในบรรดาองค์กรรัฐในปีเดียวกัน ขณะที่พรรคการเมืองคอร์รัปชั่นมากสุด ประเมินจ่ายใต้โต๊ะเพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณ

"คอร์รัปชั่นในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะได้อันดับโลกต่ำกว่าฟิลิปปินส์ ทั้งที่ไทยมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และนักธุรกิจนานาชาติมองว่า การคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยที่น่ากังวลในการมาลงทุน”

ขณะที่ผลวิจัย” ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย” โดยนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าการทุจริตคอร์รัปชันทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 30 ของต้นทุนทั้งหมด ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการลดลง เกิดความไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนในไทย ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ควรบรรจุการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงสนับสนุนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนอย่างจริงจัง และควบคุมนักการเมืองในฐานะผู้ทุจริตคอร์รัปชันอันดับ 1 ของประเทศให้ได้ โดยหากทำได้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ด้านนายกิตติเดช ฉันทังกูล จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยผลวิจัยของ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ที่ศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย พบว่า ปัญหาการทุจริตยังอยู่ในระดับสูงและยังคงเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจร้อยละ 93 เห็นว่า ความรุนแรงของปัญหายังอยู่ในระดับสูงมาก ขณะที่ร้อยละ 75 ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่า ปัญหาทุจริตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหา เพราะภาคเอกชนมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโดยผู้นำภาคธุรกิจเข้าใจถึงธรรมชาติของการคอร์รัปชันในไทย และเห็นว่า มีผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไม่ดี รวมทั้งทำลายคุณค่าที่ดีทางสังคม

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชน มองว่า การคอร์รัปชั่นในประเทศจะสามารถขจัดสิ้นให้หมดไปได้ควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดปัญหา โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการลดบทบาทอำนาจรัฐให้น้อยลง เพราะการทุจริตส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ โดยไทยควรเอาประเทศอินเดีย เป็นกรณีศึกษา เพราะหลายปีก่อน เคยเป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นสูงมาก แต่ปัจจุบันมีอัตราส่วนที่ลดลงไปเป็นอย่างมาก

ท้ายสุด การสัมมนา ในหัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างช่วยป้องกันทุจริตคอร์รัปชันได้หรือไม่” โดย รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ หัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและทุจริตคอร์รัปชัน” โดย นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ

โดย 2 หัวข้อนี้พบว่า กฎหมายขอองค์กรที่ตรวจสอบกับการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจรติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่จะยังคงอยู่กับคนไทย เพื่อเป็นเครื่องมือคบคุมความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอีกนาน ขณะที่ยังไม่มีองค์กรใดเป็นเจ้าภาพ จัดทำดัชนีความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริง

ส่วนผลวิจัย หัวข้อ“การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและทุจริตคอร์รัปชัน”

ที่ผู้วิจัยตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และข้อมูลจากพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2550 จากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ที่อยู่ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงศึกษาจากการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ : การศึกษาเชิงประจักษ์ โดยข้อหนึ่งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ สำรวจหน่วยงานของรัฐส่วนกลาง 288 แห่ง แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 57 แห่ง(ปรากฎในปี2555 ของสขร.)มีการส่งรายงานจัดซื้อจัดจ้าง 43 แห่ง แต่ไม่ส่งรายงานจัดซื้อจัดจ้างถึง 14 แห่ง แบ่งเป็น 25 % ที่ไม่มีการจัดส่งรายงาน

ทีดีอาร์ไอ ยังได้สำรวจเวปไซด์รัฐวิสาหกิจ ในปี 2556 จากรัฐวิสาหกิจแม่ 57 แห่ง และรัวิสาหกิจลูก 2 แห่ง พบว่า 3 แห่ง อยู่ในระดับดีมาก 17 แห่งอยู่ในเกณฑ์ดี 26 แห่งอยู่ในเกณฑ์ พอใช้ 8 แห่งอยู่ในเกณฑ์ แย่ และพบว่า มี 5 แห่ง อยู่ในระดับแย่มาก

ขณะเดียวกันยังพบว่า รัฐวิสาหกิจที่ไม่เผยแพร่เอกสานจัดซื้อจัดจ้างใด ๆมีถึง5 แห่ง ไม่เผยแพร่ผลการจัดซื้อจัดจ้าง 15 แห่ง และไม่มีหนังสือหรือประกาศเชิญชวน จำนวน 7 แห่ง พบว่า หน่วยงานที่ถูกสำรวจ และได้คะแนนต่ำมาก เรียงลำดับ 5 ต่ำสุด ได้แก่ ไออาร์พีซี ปตท.สผ. สหโรงแรงแรมไทยและการท่องเที่ยว อู่กรุงเทพ และโรงพิมพ์ตำรวจ

สรุปได้ว่า หน่วยงานของรัฐ ยังถูกร้องเรียนเรื่องไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหรือเปิดเผยช้า ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่น เกินร้อยละ 70 หน่วยงานส่วนท้องถิ่น เกินร้อยละ 70% ไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านทางเวปไซด์ แต่เลือกที่จะเผยแพร่ข่าวสั้นผ่านเวปข่าวสื่อมวลชนของรัฐ สุดท้ายรัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง จาก 59 แห่ง (ร้อยละ22) จัดอยู่ในระดับที่แย่ ถึงแย่มาก ในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเวปไซด์

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ นำไปสู่ สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ที่กำลังรุนแรงขึ้น


กราฟและแผนภูมิ ของทีดีอาร์ไอจากการสัมมนาชี้ชัดว่าสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย มีความรุนแรงโดยเฉพาะ ตำรวจและพรรคการเมือง ถูกกล่าวหาว่าเป็นองค์กรที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดในไทยปี 2556


กำลังโหลดความคิดเห็น